วิรัตน์ แสงทองคำ : “รวมกันเราอยู่” ทางรอดของธนาคารในการจับมือค้าปลีก

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

กรณีธนาคารกำลังเคลื่อนย้ายบริการบางอย่างไปยังร้านสะดวกซื้อ และอื่นๆ

มิใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอย่างที่คิด

 

เครือข่าย

เช่นกรณีประโคมข่าว “ธนาคารไทยพาณิชย์” ผนึกกำลัง “ซีพีออลล์” ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ มุ่งสู่การเป็น Digital Financial Partnership เปิดด้วยบริการแบงกิ้งเอเย่นต์ เพิ่มช่องทางเข้าถึง “บริการธนาคาร” ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศ” (มีนาคม 2562)

ทั้งนี้ พยายามเน้นให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้น

“บริการฝาก-ถอนเงินสดบัญชีเงินฝากไทยพาณิชย์ผ่านระบบดิจิตอลด้วย QR Code ให้ลูกค้าที่มีความต้องการทำธุรกรรมเงินสดหลังเวลาทำการปกติ สามารถเข้าถึง “บริการธนาคาร” ได้อย่างสะดวกขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง”

และระบุไว้ด้วยว่า “จะขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ อาทิ การโอนเงินแบบไม่มีบัญชีปลายทาง การรับโอนเงินต่างประเทศ การเปิดบัญชี บริการด้านสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า”

เรื่องราวข้างต้นดูใหญ่โต เพราะเป็นดีลของบริษัทใหญ่ ในฐานะเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย เกี่ยวข้องกับช่องทางใหม่ของบริการทางการเงิน ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวาง อันเนื่องมาจากสาขาร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

ปรากฏการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ สักพักใหญ่ๆ แล้ว หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิด “ไฟเขียว” ให้ธนาคารสามารถแต่งตั้งตัวแทนหรือ Banking Agent ได้

ภาพที่ควรโฟกัส อยู่ที่ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBnak ในฐานะคู่แข่งสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางใหม่ๆ อย่างแข็งขันเช่นกัน (มีเรื่องราวหลายชิ้นผมเคยนำเสนอ กรณีกสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ ว่าด้วยบทบาทใหม่ธนาคารไทย) เปิดฉากบริการข้างต้นขึ้น เป็นการชิมลางทั้งระบบธนาคารไทยเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว KBank ให้ความสำคัญไปที่เครือข่ายบริการไปรษณีย์ดั้งเดิมของรัฐ กับร้านกาแฟ-ร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน

–สิงหาคม 2561 ประกาศเปิด KBank Service ผ่าน Banking Agent โดยแต่งตั้งบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นรายแรก ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยพร้อมให้บริการในเบื้องต้นจำนวน 964 สาขา จากทั้งหมดมากกว่า 5,000 สาขา

–พฤศจิกายน 2561 KBank Service เปิดบริการรับฝากเงิน ณ ร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น Banking Agent อีกราย “นับเป็นการให้บริการฝากเงินในร้านกาแฟเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” เริ่มต้นที่พีทีที สเตชั่น (สาขาเอกมัย-รามอินทรา)

–มกราคม 2562 KBank Service แต่งตั้งร้านกาแฟอินทนิล (Inthanin) และร้านสะดวกซื้อสพาร์ (SPAR) ในเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันบางจากเป็น Banking Agent เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดบริการรับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร ช่วงแรกให้บริการจำนวน 17 สาขา ก่อนขยายอีกกว่า 170 สาขา ภายในไตรมาส 2 ปี 2562 ทั้งนี้ แถลงด้วยว่า มีแผนที่จะเปิดให้บริการถอนเงินสด และเปิดบัญชีเงินฝากในอนาคต

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับกรณีครึกโครมด้วยดีลไทยพาณิชย์-ซีพีออลล์นั้น ธนาคารกสิกรไทยได้ยกระดับบริการ และมุ่งไปยังเครือข่ายค้าปลีกด้วยเช่นกัน

–มีนาคม 2562 “ธนาคารกสิกรไทยร่วมมือกับบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เพิ่มบริการธุรกรรมการเงินในรูปแบบดิจิตอล สามารถชำระเงินด้วย QR Code และรับฝากเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์บิ๊กซีกว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ” ถือเป็นดีลใหญ่เช่นกัน

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดฉากสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มซีพี ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจอิทธิพลไทยมีเครือข่ายเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยจับมือกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มทีซีซี เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่อีกรายของสังคมไทย ซึ่งกำลังดำเนินแผนการใหญ่ สู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างคึกคัก

 

ความหมาย

เชื่อว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยโฟกัสไปยังบทบาทใหม่ๆ ที่น่าเกรงขามมากขึ้นๆ ของร้านสะดวกซื้อ

“ร้านสะดวกซื้อมีเครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศไทย มากกว่าเครือข่ายทั้งหลายทั้งปวงในสังคมธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีมากกว่าสำนักงานของรัฐที่ย่อยที่สุด อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. (มีแค่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ) และอาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้คนมีกิจกรรมมากกว่ามาที่วัดเสียอีก แม้ตามสถิติวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศมีกว่า 3 หมื่นแห่งก็ตาม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละมากกว่า 10 ล้านคน” ผมเองเคยนำเสนอข้อมูลชุดหนึ่งสะท้อนอิทธิพลเครือข่าย 7-Eleven

ว่าไปแล้วกรณี Banking Agent กับภาพนำเสนอตอนต้นๆ เป็นแค่ “จิ๊กซอว์” ชิ้นหนึ่งของความเป็นไปที่น่าตื่นเต้นมากขึ้น ในบรรดาธุรกิจซึ่งมีเครือข่ายทั้งหลาย มิได้จำกัดเฉพาะร้านสะดวกซื้อเท่านั้น

ภาพอันควรโฟกัสอย่างแท้จริงจึงอยู่ที่ธนาคาร กับแผนการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เรื่องราวนั้นเกี่ยวกับสาขาธนาคารโดยตรง ท่ามกลางแผนการลดจำนวนสาขาดั้งเดิมของธนาคารไทยทั้งระบบ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับแผนการเพิ่มช่องทางใหม่ด้วยเทคโนโลยี ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้จุดกระแสความสนใจมาตั้งแต่แผนการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศอย่างครึกโครมเมื่อต้นปีที่แล้ว

สอดคล้องกับปรากฏการณ์ธนาคารระดับโลก อ้างอิง The Banker (นิตยสารการเงินชื่อดังระดับโลกในเครือข่าย Financial Times แห่งสหราชอาณาจักร) บทความนำเสนอเมื่อกลางปีที่แล้ว (หัวข้อ “Constructing the branch of the future.” 1/05/2018) กล่าวถึงปัจจัยสำคัญๆ เกี่ยวข้องแผนการลดต้นทุน อันเนื่องมาจากผลประกอบการธนาคารตกต่ำอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่สำคัญคือความก้าวหน้าธนาคารระบบออนไลน์ ทั้งพฤติกรรมผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองเทคโนโลยีใหม่อย่างดี (หากสนใจรายละเอียด โปรดกลับไปอ่าน “เรื่องสาขาธนาคาร” โดยวิรัตน์ แสงทองคำ มติชนสุดสัปดาห์ มกราคม 2562)

การปรับตัวของธนาคารไทยอ้างอิงกรณีกสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ กับแผนการสร้างเครือข่าย Banking Agent จะกลายเป็นโมเดลที่น่าสนใจเฉพาะสังคมไทยก็เป็นไปได้

 

บทบาทของ Banking Agent ในระดับโลก มักเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) กับสังคมในบางภูมิภาค บางประเทศ ที่บริการทางการเงินยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร

มิติข้างต้น ดูเหมือนธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสนใจเช่นกัน เคยจัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “พลิกโฉม SFIs กับภารกิจที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง (SFIs in The New Edition : Role of Financial Inclusion for Inclusive and Sustainable Growth)” ขึ้น เมื่อ 23 สิงหาคม 2559

สิ่งที่เกี่ยวเนื่องอย่างน่าสนใจอยู่ที่หัวข้อ “Improving Financial Inclusion through New Channels and Innovative Products A Case Study of Malaysia” (โดย Mr.Kameel Abdul Halim, Deputy Chief Executive of Bank Simpanan Nasional, Malaysia) กล่าวถึงบทบาทธนาคารเฉพาะกิจ ซึ่งมาเลเซียเรียกว่า Development Financial Institutions (DFI)

Bank Simpanan Nasional หรือ BSN บุคลิกธนาคารคล้ายๆ ธนาคารออมสินของไทย เพิ่งก่อตั้งราวๆ 40 ปี สามารถสร้างเครือข่ายให้บริการอย่างกว้างขวางในหลายรูปแบบอย่างน่าทึ่ง ขณะที่ธนาคารออมสินเน้นระบบสาขา จนมีจำนวนสาขามากกว่าธนาคารใดๆ ในประเทศไทยราว 1,500 แห่งทั่วประเทศ

BSN มีเครือข่ายรูปแบบสาขาพียง 403 สาขา (ปี 2559) ขณะเน้นให้ความสำคัญบริการการเงินผ่าน Banking Agent โดยมีเครือข่ายมากกว่า 7,000 แห่ง ถือได้ว่าเป็นสถาบันการเงิน ผู้บุกเบิกเครือข่ายในโมเดล Banking Agent ของระบบธนาคารในประเทศมาเลเซีย ว่าไปแล้วเพิ่งดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อปี 2555 มานี้เอง

จากเอกสารนำเสนอข้างต้นของ BSN ให้ข้อมูลที่น่าสนใจใน 2 ประเด็น

หนึ่ง-ในบรรดาเครือข่ายผ่าน Banking Agent หรือที่เรียกว่า Agent Bank มากกว่าครึ่งหนึ่ง ผ่านช่องทางร้านขายของชำ (Grocery shop)

สอง-ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ต้นทุนการดำเนินการ Agent Bank ถือว่าน้อยกว่าสาขา และแม้กระทั่งบริการเอทีเอ็ม (ATM-Off Premise) ทั้งการลงทุนแรกริ่มดำเนินการและค่าใช้จ่ายต่อปี กล่าวคือ น้อยกว่าสาขาเป็นร้อยเท่า น้อยกว่าเอทีเอ็มเป็นสิบเท่า

กรณีกสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ แม้มิใช่ SFI หรือ DFI แต่ด้วยความหลักแหลม จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ประหนึ่งนำบทเรียนข้างต้นมาปรับใช้ด้วยมุมมองอย่างกว้างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าฐานกว้างมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองแนวทาง “การเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion)” ด้วย

 

ในมุมมองในเชิงปรับตัว ปรับโครงสร้างทางธุรกิจของธนาคารไทยนั้น น่าสนใจกว่า

หนึ่ง-ให้บริการทางการเงินเข้าถึงมากขึ้น เป็นภาพการแข่งขันทางธุรกิจอันคึกคัก ขยายและสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก นั่นคือเป้าหมายสำคัญของธนาคารยุคใหม่ยุคดิจิตอล

สอง-ทดแทนบริการผ่านสาขาซึ่งมีต้นทุนมากกว่ามาก ขณะแผนการลดจำนวนสาขาดำเนินไปอย่างแข็งขัน

อีกปัจจัยที่สำคัญ เป็นจุดเชื่อมที่น่าสนใจที่เรียกกันว่า Online to offline เป็นไปตามโมเดลสำคัญธนาคารยุคใหม่

เรื่องราวนั้นสะท้อนภาพใหญ่ระบบธนาคารไทย จะว่าสำคัญก็สำคัญ จะว่าเป็นแนวโน้มใหม่ของระบบธนาคารไทย ก็อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้

ธนาคาร ธุรกิจรากฐานสำคัญสังคมธุรกิจไทย ยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องปรับตัว