อภิญญา ตะวันออก : จารึกรอยชาติพันธุ์ดับสูญ “สะเตียง-กูปรี”

อภิญญา ตะวันออก

ประหนึ่งบทกวีเขมรเก่าที่พรรณนาความยิ่งใหญ่ของตั๊กแตน-วงจรชีวิตตัวแม่ของเหล่าสัตว์ป่าเขมร ที่บ่งถึงธรรมชาติอันสมบูรณ์ในพืชพันธุ์วนาป่าดิบเขมร

บทกวีเหล่านี้ มีปะปนอยู่ในเพลงพื้นบ้านที่ชาวเขมรในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 นิยมร้องรำกันเล่น โดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่-แคแจ็ดเดือนเมษายน

ทำให้ฉันอดนึกถึงสัตว์ประจำถิ่นที่เป็นเหมือนประจำชาติอย่างกูปรี (เขมรเรียกกูเปร็ย) หมายถึงโคไพร-วัวป่าขนาดใหญ่ พบมากบริเวณเขตป่าตะวันออกและตอนกลางของประเทศ ลักษณะมีนอเขากลมกว้างเป็นเกลียวตวัดไปตามลำตัวซึ่งมีขนดำเงางาม ในเพศผู้ชรา จะมีแพรขนสีขาวยาวพู่ระย้ารอบลำคอ สง่างามนักเทียว

เกี่ยวกับบันทึกกูเปร็ยในเขมรนี้ ปรากฏหลักฐานแรกๆ ในพจนานุกรมฉบับสมเด็จพระสังฆราชจวน นาต (พระนามตามศัพท์เดิม) แม้จะถูกโจมว่ามีปัญหาทางนิรุกติศาสตร์ แต่ถูกนำมาปรับปรุงและแพร่หลายปัจจุบันในอินเตอร์เน็ต

ผู้เขียนน้อมรับว่า พระองค์ทรงเป็นเถรวาทชนผู้ดำรงอุปนิสัยเกื้อกูลต่อธรรมชาติ เหตุนี้ตำราของพระองค์จึงเต็มไปด้วยรากศัพท์ทางพฤกษศาสตร์-และสัตว์ประจำถิ่น อรรถรสสวยงามส่วนนี้ ดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนที่เก่ง วรรณศักดิ์ มองข้าม

ว่าตามตรง ฉันเองเคยรำคาญพจนานุกรมฉบับนี้เหมือนกัน โทษฐานที่มันเต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะทางเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดจินตนาการคำอธิบายลักษณะทางกายภาพ มิฉะนั้นแล้ว นี่จะเป็นมรดกงานยิ่งใหญ่ที่คนรุ่นหลังจะได้ศึกษา โดยเฉพาะศัพท์แสงด้านพฤกษศาสตร์ที่ฉันเห็นว่า ดร.เก่ง วรรณศักดิ์ มองข้ามแง่งามธรรมชาติแห่งท้องถิ่นเขมร และตีความทุกอย่างเป็นความมืดมนอนธการ นี่เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการเขมรยุคนั้น

ทั้งที่จริงแล้วแง่งามพิเศษของพจนานุกรมเขมรปฐมฉบับนี้ คืออานิสงส์ต่อขบวนการปฏิวัติ ตั้งแต่ยุคสงครามผ้าเหลืองจนถึงเขมรสาธารณรัฐ (*)

 

กลับมาสู่เรื่องของกูปรีเขมรที่ถูกบันทึกในยุโรปครั้งต้นในปี พ.ศ.2366 ว่า “มีลักษณะเหมือนวัวป่าขนาดใหญ่” (Banteng : Bos sandaicus, D”Alton, 1823) ไม่เพียงเท่านั้น ยังอ้างว่า สัตว์ชนิดนี้มีชื่อว่า “สะติง” หรือ “สะเตียง” ซึ่งในที่นี้ตรงกับชื่อชนชาวเผ่าเขมรกลุ่มหนึ่ง

เป็นไปได้หรือไม่? ว่า เกิดความสับสนต่อชื่อกูเปร็ย/กูปรีมาเป็นชื่อตามนายพรานเขมร ที่ขณะนั้นเชื่อกันว่า คือกลุ่ม “สะเตียง” นั่นเอง (?)

ทีนี้ควรสังเกตว่า นอกจากกูเปร็ยแล้ว ชาวเขมรยังเรียกโคป่าว่า กรอ-ไบ (krapi) กะ-ทิง (khting) ที่อาจเป็นไปได้ว่า ใกล้เคียงกับคำว่า “สะเตียง” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบแล้วว่า กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นเองที่นักธรรมชาติวิทยาชาวยุโรปเริ่มให้ความสนใจต่อพันธุ์สัตว์ป่าท้องถิ่นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดในช่วงก่อนยุคอาณานิคม

จากนั้นต่อมาในกูปรีที่พบในสยามโดยมิชชันนารีสยามบาทหลวงลาร์นูดี (1189-1899) ผู้บันทึกไว้ว่า “วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2407 หัวกะโหลกของสัตว์ป่าประเภทกระทิงได้ถูกส่งไปในฐานะบรรณาการ “ของขวัญจากราชสำนักสยาม” (Larnaudie, น.11) ซึ่งมีส่วนทำให้นักวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแห่งพิพิธภัณฑ์อ็องรี มิลน์-เอ็ดเวิร์ด นำไปต่อยอดศึกษาและลงทะเบียนกูปรีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มไฟลั่มใหม่ซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก หากสับสนระบุว่า เป็นสัตว์เนื้อที่มาจากประเทศ “อินเดีย”

อย่างไรก็ตาม ราวปี 2414 หรืออีก 7 ปีต่อมา คราวนี้เป็นกูปรีแขฺมร์สัตว์ป่าเอเชียที่ถูกบันทึกว่า ยัง “มีชีวิต” และถูกส่งไปยุโรปครั้งแรกโดยทางเรือ “L”Aveyron” จากไซ่ง่อนถึงฝรั่งเศสที่เมืองตูลูส และนั่นทำให้กูเปร็ย/กูปรีตัวนี้กลายเป็นสมบัติแห่ง “Jardin des Plantes” โรงละครสัตว์นครปารีส ที่ระบุว่า “สัตว์ประเภทเนื้อจากกัมพูชา”

ยี่สิบหกปีต่อมา (2440) เป็นที่เชื่อว่า ยุโรป-ฝรั่งเศสเวลานั้นน่าจะมีกูปรีเขมรไม่ต่ำกว่า 3 ตัว และ 1 ในนั้นถูกเลี้ยงมากว่า 15 ปี

อย่างไรก็ตาม 40 ปีถัดมา (2480) มีงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสาร zoological society โดยศาสตราจารย์อาชิล เออเบ็ง (Achille Urbain) แห่งมหาวิทยาลัยเว็งแวนส์ บทความชิ้นนี้อธิบายถึงลักษณะเฉพาะของโคไพรเขมรชนิดหนึ่งซึ่งจำแนกสปีชีส์เป็นประเภท Bibos Sauveli

พลัน นิยามกูเปร็ยเขมรก็ถูกขยายความในช่วงปลายสมัยอาณานิคมนี้เอง กล่าวคือ เป็นสัตว์ป่าดุร้ายที่ชุกชุมในเขตป่าดงดิบทางตะวันออกของอาณาจักรเขมร (กระแจะ, มณฑลคีรี) ในลาวตอนใต้และภาคตะวันออกของไทย นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในสัตว์ที่ถูกจับไปถวายบรรณาการต่อกษัตริย์ เจ้าผู้ปกครองสยาม เขมร ลาว และเวียดนาม

โดยในกัมพูชานั้น พบว่าเคยมีกูเปร็ยกระทง (หนุ่ม) ถูกนำไปไว้ในเขตพระราชฐานของราชสำนัก ด้านหนึ่ง คือเพื่อเพาะเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์ อีกด้านหนึ่ง เมื่อนับช่วงเวลาอันคาบเกี่ยวแล้ว อาจเชื่อได้ว่าราชสำนักเขมรเคยส่งกูเปร็ยเขมรไปฝรั่งเศส

และเป็นหลักฐานว่ากูปรีสัตว์ป่าดุร้ายเคยเป็นอาคันตุกะบรรณาการของราชสำนักเขมรด้วย

กูปรีจึงถือเป็นสัตว์ป่าที่ทรงอิทธิพลต่อชนชาติเขมร ตั้งแต่ชนเผ่าชาวป่าไปถึงวรรณะกษัตริย์ ไม่เพียงเท่านั้น ในมณฑลคีรีจังหวัดทางภาคตะวันออกซึ่งเคยมีชนกลุ่มหลายเผ่าอาศัยหนาแน่นนั้น ได้ถือกูปรีเป็นสัตว์แห่งความเชื่อของชนเผ่าอีกด้วย

อีกด้านหนึ่ง กูปรียังเคยเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่มีภาพปรากฏอยู่บนธนบัตรเงินเขมรมาแล้ว รวมทั้งดวงตราแสตมป์ที่ 3 อดีตประเทศอินโดจีน (ลาว เขมร เวียดนาม) ล้วนมีกูปรีเป็นตราสัญลักษณ์

 

ความจริง ก่อนที่นักล่าแห่งดงดิบเขมรจะมีบันทึกกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น กูปรีได้ถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกือบนับพันปีมาแล้ว จากประติมากรรมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของปราสาทบายน ซึ่งมีอายุร่วม 800 ปี

รวมทั้งสัตว์ประจำถิ่นอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นแห่งนี้ของยุคนั้น ที่เชื่อว่าได้สร้างแรงบันดาลใจต่อจิตรกรเอกแห่งเมืองพระนคร ที่แวดล้อมสมบูรณ์ไปด้วยผืนน้ำและพงไพร สัญลักษณ์ความลึกลับพิสดาร ต่อบรรดาสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ที่ล้วนดุร้ายเป็นอันตรายต่อผู้บุกรุก ไม่ว่าจะเป็นช้าง เสือ จระเข้ กระทิง นก งู (พญานาค) รวมทั้งแรด (ปราสาทตาพรหม)

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ เหล่าภาพสัตว์ป่าในประติมากรรมนูนต่ำแห่งปราสาทนครวัด อย่างแรกเลยคือจิตรกรรมฝาผนังของแกลเลอรี่ด้านนอกทางทิศตะวันตก ซึ่งภาพสลักเสือโคร่งบริเวณใต้สุดของแกลเลอรี่ที่แสดงให้เห็นว่าสัตว์ป่าดุร้ายชนิดนี้กำลังอยู่ในท่า ฟังคำเทศนาจากมนุษย์ผู้เป็นพราหมณ์ฤๅษี

ไม่ไกลออกไป ยังมีแรด-สัตว์กึ่งดึกดำบรรพ์ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญแห่งอาณาจักรนคร โดยจะเห็นว่าประติมากรรมนูนที่จิตรกรสมัยบายนได้สลักไว้ ได้เห็นถึงความวิจิตรในจินตนาการ สำหรับแรด ซึ่งเป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามและยากต่อการล่าสังหาร แต่ด้านหนึ่งที่นี้ก็พบว่า เหล่าแตรนอทั้งหลายที่ราชสำนักชัยวรมันที่ 7 นิยมคือเขานอแรด

และนี่เอง ที่นักวิจัยเขมรยุคเรอเนสซองส์โดยอัง ชูเลียง, เปรียบ จัน มารา, ซียุน โสเพียริท, กง วิเรียะ ต่างโน้มเอียงไปในทาง “ให้ความสำคัญต่อพลเมืองอาณาจักรเกษตรกรรมที่มีต่อสัตว์ป่า ในเชิงความสัมพันธ์อันชวนฝันต่อประติมากรรม”

และสัมพันธ์เข้ากับชีวประวัติในพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยเฉพาะความชำนาญในการใช้คันธนู ซึ่งปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของชุดประติมากรรมหอศิลป์ทางทิศตะวันออกแสดงภาพถึงการเดินทัพและการล่าไก่ฟ้า ส่วนแกลเลอรี่ชั้นที่ 2 ภาพสลักนกกระยางที่กำลังหนีการไล่ล่าของนายพราน

ตามความเชื่อสัตว์ป่าบางชนิดคือภักษาหารของเหล่าเทวดาและการเซ่นไหว้

เช่นเดียวกับชนเผ่าบายนบางกลุ่มที่สะท้อนทักษะนักล่าอันเป็นเลิศ ในบรรดาชนนักรบท้องถิ่นหลากหลายกลุ่ม ในที่นี้ รวมทั้งชนเผ่า “สะเตียง” (?) ผู้มีลักษณะชาติพันธุ์อันเฉพาะ และเป็นชนเผ่าเขมรที่นักสำรวจยุโรปค้นพบในยุคแรกๆ

คล้อยผ่านมาถึงสหัสวรรษสมัยแห่งความก้าวหน้าในวิทยาการ ทว่าด้านการศึกษาวิจัยชาติพันธุ์วิทยาทั้งสัตว์ พืชพันธุ์พฤกษศาตร์และชนกลุ่มน้อยในเขตป่าดงดิบเขมร ทั้งหมดที่กล่าวมา กลับน่าใจหาย ที่พบว่าล้วนแต่ถูกไล่ล่าและจวนจะสูญพันธุ์เกือบหมดแล้ว

อนุสรณ์ความทรงจำชิ้นเดียวที่ยังเหลืออยู่เวลานี้คือ ประติมากรรมนูนต่ำแห่งปราสาทนครธม

———————————————————————————————-
(*)ซูซานน์ คาร์เปเลส (2433-2511) ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและสำนักพุทธศาสนบัณฑิตกัมพูชา บรรณาธิการพจนานุกรมฉบับนี้ เคยมีความคิดที่จะผลิตปทานุกรมเขมรเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม บุคลากรเกือบทั้งหมดในหน่วยงานของเธอต่อมากลายเป็นนักปฏิวัติที่สร้างคุณูปการต่อขบวนการประชาธิปไตยระหว่างปี พ.ศ.2485-2513