ศิลปินผู้เสียดสีสังคม ด้วยร่างกายอันล้นเกิน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอกล่าวถึงศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของโลกอีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่าเฟอร์นันโด โบเตโร (Fernando Botero) จิตรกรและประติมากรชาวโคลอมเบีย ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะรูปคนและสัตว์รูปร่างสมบูรณ์ล้นหลามกลมกลึง

เฟอร์นันโด โบเตโร อังกูโล (Fernando Botero Angulo) เกิดวันที่ 19 เมษายน 1932 ที่เมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย

พ่อของเขาเป็นพ่อค้าเร่ ที่เสียชีวิตเมื่อเขาอายุได้ 4 ขวบ เหลือไว้เพียงแต่แม่ผู้เป็นช่างเย็บผ้า และลุงที่คอยดูแลเขาแทน

ถึงแม้เขาจะอาศัยอยู่ห่างไกลจากงานศิลปะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือสถาบันทางวัฒนธรรมอื่นๆ

แต่เขาก็ได้สัมผัส หลงใหล และได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะแบบบาโร้ก ในโบสถ์โคโลเนียล* และวิถีชีวิตในเมืองเมเดยินที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา

ถึงแม้จะมีฐานะยากจน แต่เขาก็ได้รับการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการสนับสนุนของลุง และการได้รับทุนการศึกษา

เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาได้วาดภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ El Colombiano ฉบับวันอาทิตย์ หนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่สำคัญที่สุดของเมืองเมเดยิน ซึ่งเขาใช้ค่าจ้างจากงานวาดภาพประกอบจ่ายค่าเล่าเรียนไฮสกูลที่โรงเรียน Liceo de Marinilla de Antioquia

ในปี 1948 โบเตโรแสดงนิทรรศการศิลปะเป็นครั้งแรกกับศิลปินท้องถิ่นในเมืองเดียวกัน ในช่วงปี 1949 ถึง 1950 เขาทำงานเป็นผู้ออกแบบฉากละคร

ก่อนที่จะย้ายไปเมืองโบโกตาในปี 1951

ที่นั่นเขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์ Leo Matiz, ในปี 1952 เขาร่วมเดินทางกับกลุ่มศิลปินไปยังเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และอาศัยอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในเมืองมาดริด และเข้าเรียนศิลปะในสถาบัน Academia de San Fernando

ในปี 1953 เขาย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่นั่น เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เพื่อศึกษางานศิลปะภายในนั้น

หลังจากนั้นเขาก็ย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เพื่อศึกษางานศิลปะของศิลปินเรอเนสซองส์ชั้นครูที่นั่น

ในช่วงยุค 1950s นี้เอง ที่โบเตโรเริ่มทดลองกับสัดส่วนและขนาดของตัวละครในภาพวาดของเขา เมื่อเขาย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี 1960 เขาพัฒนารูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมา ด้วยการวาดภาพคนและสัตว์ที่มีรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ กลมกลึง ผนวกกับแรงบันดาลใจจากศิลปะท้องถิ่นละตินอเมริกัน ที่ใช้สีสันสดใสฉูดฉาดแบนราบและเส้นตัดที่หนาหนักชัดเจน

เขากล่าวถึงรูปแบบการทำงานเช่นนี้ของเขาว่า “ศิลปินมักหลงใหลในรูปทรงบางอย่างโดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไม คุณทำมันออกมาจากสัญชาตญาณ แล้วค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนมันทีหลังเท่านั้นเอง”

และถึงแม้จะวาดภาพคน สัตว์ และสิ่งของที่เป็นรูปธรรม แต่ในอีกแง่หนึ่งโบเตโรก็ไม่ต่างอะไรกับศิลปินนามธรรม

ด้วยเหตุที่ในแง่พื้นฐานที่สุด เขาเลือกใช้สีสัน รูปทรง และสัดส่วนต่างๆ ในการวาดภาพด้วยการใช้สัญชาตญาณทางสุนทรียะของตัวเอง

โบเตโรโปรดปรานการวาดภาพให้ออกมาดูเรียบเนียนเกลี้ยงเกลา โดยไม่ทิ้งรอยฝีแปรงหรือร่องรอยบนพื้นผิวให้เห็น

ดังเช่นในภาพวาด Presidential Family (1967) ที่นำเสนอภาพของชนชั้นกลางและบุคคลสำคัญทางการเมืองและศาสนา ในรูปกายอ้วนพี

Presidential Family (1967), ภาพจากhttps://mo.ma/2Um0XTo

แฝงนัยยะเชิงเสียดสีว่าคนเหล่านี้สำคัญตนและถือดีจนร่างคับพองล้นเกิน

หรือการนำภาพวาดบุคคลของศิลปินชั้นครูอย่าง ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) รวมถึงศิลปินสเปนชั้นครูในตำนานอย่างเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci), ราฟาเอล (Raphael), ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck), ฟรานซิสโก เดอ โกยา (Francisco de Goya) และดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Vel?zquez) ฯลฯ มาวาดใหม่ในเชิงยั่วล้อ

Mona Lisa (1978), ภาพจากhttps://bit.ly/2IAAVcX

โดยให้ตัวละครในภาพมีรูปร่างอวบอั๋นกลมกลึง

สไตล์การวาดภาพอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเช่นนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “Boterismo” หรือรูปแบบที่นำเสนอภาพของร่างกายคนและสัตว์ในรูปกายที่ล้นหลามเต่งตึงจนคล้ายกับลูกโป่งพองลม เพื่อเป็นการเสียดเย้ยและวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง หรือแม้แต่แสดงอารมณ์ขันอันเสียดสีและท้าทายขนบความงามแบบโบราณได้อย่างชวนหัว

ในปี 1973 โบเตโรย้ายกลับไปปารีส และเริ่มต้นทำงานประติมากรรมขนาดใหญ่ แทนการวาดภาพบนผ้าใบ ซึ่งเป็นการขยับขยายความสนใจในการสร้างรูปร่างอันอ้วนท้วนกลมกลึงในภาพวาดของเขาออกมาเป็นสามมิติ

เขาจัดแสดงผลงานประติมากรรมขนาดมหึมาเหล่านี้ในนิทรรศการกลางแจ้งและประสบความสำเร็จอย่างสูงนับตั้งแต่ช่วงปี 1990s

ผลงานของเขาถูกติดตั้งถาวรในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

The Death of Pablo Escobar (1999), ภาพจากhttps://bit.ly/2V0Wvhg

หลังจากหันเหมาทำงานประติมากรรมอยู่ระยะหนึ่ง เขาก็หวนกลับมาวาดภาพอีกครั้ง โดยเริ่มจากการวาดภาพการสู้วัวกระทิงในช่วงปี 1980s ก่อนที่จะเสาะหาแรงบันดาลใจจากเรื่องราวในโคลอมเบียบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ด้วยการสำรวจความรุนแรงและธุรกิจผิดกฎหมาย อย่างอุตสาหกรรมยาเสพติดในประเทศ อาทิ ภาพวาด The Death of Pablo Escobar (1999) ที่แสดงภาพของราชายาเสพติดชื่อดังโคลอมเบีย ปาโบล เอสโกบาร์ ที่กำลังถูกรุมยิงจนตาย เขาบริจาคภาพวาดชุดนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโคลอมเบีย

ภาพวาดนักโทษที่ถูกทรมานในเรือนจําอาบูกราอิบ (2005), ภาพจากhttps://bit.ly/2DeTO1J

หรือในปี 2004 ที่ข่าวการทรมานนักโทษของทหารสหรัฐในเรือนจำอาบู กราอิบ อันฉาวโฉ่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง

โบเตโรตีแผ่เหตุการณ์นี้ออกมาเป็นภาพวาดสีน้ำมันจำนวน 85 ภาพ และภาพวาดลายเส้น 100 ภาพ

หลังจากจัดแสดงนิทรรศการในสหรัฐอเมริกา เขาไม่ได้ขายภาพวาดเหล่านี้เลยแม้แต่ภาพเดียว หากแต่บริจาคมันให้กับพิพิธภัณฑ์แทน

โบเตโรได้รับการยกให้เป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและจดจำมากที่สุดของละตินอเมริกา ถึงแม้จะอยู่ในโคลอมเบียปีละหนึ่งเดือนเท่านั้น แต่เขาก็เรียกขานตัวเองว่าเป็น “ศิลปินโคลอมเบียที่มีความเป็นโคลอมเบียที่สุด”

จากการที่สไตล์การทำงานของเขามีความแปลกแยกแตกต่างและไม่ยึดโยงกับเทรนด์ต่างๆ ในโลกศิลปะอย่างสิ้นเชิง

La desvestidura de Cristo (The undress of Christ) (2011) ภาพโดย Rafaeleduardo127 ภาพจากhttps://bit.ly/2Ddwf9k

ผลงานของโบเตโรได้รับการสะสมโดยพิพิธภัณฑ์ องค์กร และนักสะสมชั้นนำทั่วโลก เขาได้รับรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศจาก Sal?n de Artistas Colombianos ในปี 1958, ในปี 2012 เขาได้รับรางวัล Lifetime Achievement in Contemporary Sculpture จาก International Sculpture Center

ผลงานของเขาปรากฏให้เห็นในหลากหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พาร์ก อเวนิว ในนิวยอร์ก, ช็องเซลีเซ ในปารีส, พิพิธภัณฑ์อิสราเอล ในกรุงเยรูซาเลม รวมถึงในบ้านเรา ถ้าใครอยากเห็นผลงานของจริงของเขา ก็ลองไปดูได้ที่ลานข้างห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี กันได้

ปัจจุบันโบเตโรอายุ 86 ปี เขาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงปารีส และเมืองปิเอตราซานตา อิตาลี

*โคโลเนียล (Colonial) หรืองานศิลปะแบบอาณานิคม ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศมหาอำนาจเข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ แล้วสร้างงานศิลปะ งานออกแบบ หรืองานสถาปัตยกรรมของประเทศตัวเองขึ้นในดินแดนอาณานิคมเหล่านั้น แต่ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นถิ่น ด้วยการผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของประเทศอาณานิคมเหล่านั้นเข้าไปด้วย

Woman with fruit, เมืองบัมแบร์ค, เยอรมนี, ภาพโดย JoachimKohlerBremen, ภาพจากhttps://bit.ly/2DeWfBb

ข้อมูล https://bit.ly/1PmVjZB, https://bit.ly/2SRVPGp, https://bit.ly/2SHIlNP