ในมุม ปชช. สิ่งที่แย่ที่สุดคืออะไร ? คำตอบคือ “พฤติกรรมของนักการเมือง”/ทุจริตคอร์รัปชั่น

สวนทาง “ความสุข”

หากมองผ่านชีวิต ภาวะที่เรียกว่า “ความสุข” ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งเดียวกัน เพื่อให้เห็นง่ายกว่านั้นก็ต้องพูดว่า “สิ่งที่อยากให้มี” เป็นอย่างเดียวกับ “สิ่งที่มี”

ชีวิตที่ “สมอยาก” ย่อมสุขสมอารมณ์หมาย

ประเทศชาติก็เช่นกัน สิ่งที่ประชาชนหรืออย่างน้อยคนส่วนใหญ่มีความสุขหากมีอยู่ แล้วในสิ่งนั้นมีอยู่ในความเป็นจริง เมื่อประชาชนมีความสุข บรรยากาศของประเทศก็สงบ รื่นรมย์

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน อะไรที่ประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ๆ ไม่อยากให้มี และไม่มีสิ่งนั้นในความเป็นจริงของประเทศ แรงเสียดทานหรือกดดันจากความไม่ชอบใจก็จะไม่เกิด ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของคนส่วนใหญ่อยู่ในความสงบได้

หากถามว่า ประเทศไทยเราเป็นเช่นนั้นหรือไม่

เรื่องนี้หากมองผ่านการสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “ประเทศไทยในสายตาคนไทย”

มีบางคำถามที่น่าจะเป็นคำตอบได้

เมื่อถามว่า “สิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทยคืออะไร” คำตอบในภาพรวม ร้อยละ 37.47 โหวตให้วัฒนธรรม ประเพณีไทย

ร้อยละ 32.48 ตอบว่า สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วไทย

ร้อยละ 29.35 ตอบว่า รอยยิ้มของคนไทย

ร้อยละ 23.80 ตอบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

ร้อยละ 20.57 ให้คุณค่ากับอาหารไทย

จากคำตอบนี้หมายความว่าอารมณ์ชื่นชมของคนไทยส่วนใหญ่อยู่กับวิถีชีวิตแบบไทยๆ ความสุขของชีวิตเป็นการอยู่กับอะไรต่ออะไรเดิมๆ

ถ้าจะว่าให้ตรงกว่านั้นคือ อยากให้สิ่งเหล่านั้นมีอยู่

ดังนั้น เมื่อตั้งประเด็นขึ้นมาพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังมีอยู่ หรือเหลืออยู่แค่ไหนในสังคมปัจจุบัน

คำตอบต้องมองไปที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วัฒนธรรมของโลกเคลื่อนเข้าเชื่อมต่อ ร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ท่าทีการแสดงออก นิสัยใจคอ และอาหาร ปรับตัวเปลี่ยนแปลงกลืนเข้าหากันอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น

ชีวิตส่วนใหญ่ดำเนินอยู่ในลักษณะผสมผสานความหลากหลาย

นั่นหมายถึงว่าความเป็นจริงกับสิ่งที่ยังอยากรักษาไว้ดูจะไปกันคนละทาง

เช่นเดียวกัน ในคำถามที่ว่า “สิ่งที่แย่ที่สุดของประเทศไทย” คือ

ร้อยละ 52.22 ตอบว่า การเมืองไทย พฤติกรรมของนักการเมือง/ทุจริตคอร์รัปชั่น, ร้อยละ 25.80 ตอบว่า ไม่มีอิสระ ไม่เป็นประชาธิปไตย, ร้อยละ 19.82 บอกว่า ที่แย่คือสภาวะเศรษฐกิจ, ร้อยละ 19.18 ไม่ชอบการขาดจิตสำนึก ไม่รักไม่สามัคคีกัน แตกแยก ทะเลาะกัน, ร้อยละ 15.34 เห็นว่าที่แย่คือสภาพอากาศ มลพิษ ขยะ การจราจร

เหล่านี้คือสิ่งที่ไม่อยากให้มี

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ในความเป็นจริงของประเทศ สภาวะที่ไม่อยากให้มีนี้ เอาเข้าจริงแล้วเป็นไปอย่างที่ไม่อยากหรือไม่

หรือในความเป็นจริง ชีวิตถูกชี้ให้เห็นว่าต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากความชื่นชมยินดี และความเบื่อหน่ายอยากให้สลายหายไปจากสังคมไทยเป็นไปอย่างผลสำรวจของสวนดุสิตโพลนี้

คงพอสรุปได้ว่า ความปรารถนาที่จะให้เป็น กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ดูจะสวนทางกัน

สิ่งที่ประชาชนเห็นว่า “ดีที่สุด” กับเสื่อมสลายลงไปเรื่อยๆ

ขณะที่สิ่งที่เห็นว่า “แย่ที่สุด” กลับดำรงอยู่ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ