วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ประสบการณ์ล่ามจีนและการเดินทางอันยาวไกล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แรกเมื่อศึกษาจีน (ต่อ)

แน่นอนว่าการเดินทางไปเป็นล่ามครั้งแรกนี้ทำได้ไม่ดีมากนัก แต่ที่ได้มาอย่างมากมายคือข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการล่อลวงหญิงของทางการจีน และที่ได้มาอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีความสำคัญยิ่งก็คือ เพื่อนชาวจีน

ทั้งหมดของเพื่อนเหล่านี้เป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีทั้งชายและหญิง เราคบหากันตั้งแต่ ค.ศ.1991 จนถึงทุกวันนี้ อันเป็นวันที่ต่างคนต่างเกษียณไปแล้ว ความสนิทสนมของพวกเรามาจากการทำงานร่วมกัน

งานหลักคือดูแลหญิงจีนที่ถูกล่อลวงไปค้าประเวณีในไทยแล้วถูกช่วยเหลือออกมา โดยหลังจากที่พบในกรณีแรกที่กล่าวไปแล้วก็ยังมีกรณีอื่นๆ ตามมาอีกหลายกรณี

ดังนั้น ด้วยการทำงานที่ต้องประสานกันเพื่อดูแลหญิงจีนเหล่านี้จึงทำให้พวกเราต้องเจอกันทุกปี ปีละมากกว่าหนึ่งครั้ง ตอนที่เจอกันนี้เองที่ความรู้เรื่องจีนได้งอกเงยขึ้นมาอย่างช้าๆ

การงอกเงยของความรู้เรื่องจีนดังกล่าว เกิดจากการที่พวกเราต้องเดินทางไปยังชนบทที่อยู่ทางใต้ของอวิ๋นหนัน เป็นการเดินทางทั้งเพื่อไปส่งหญิงจีนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมา

และเพื่อไปเยี่ยมหญิงจีนที่ถูกส่งกลับมาก่อนหน้านี้

 

เวลานั้นการเดินทางด้วยรถยนต์ไม่สะดวกเท่าทุกวันนี้ เหตุเพราะรถต้องวิ่งไต่เขาลูกแล้วลูกเล่าด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ต้องวิ่งเช่นนี้ก็เพราะถนนมีเพียงสองช่องทาง รถจึงต้องวิ่งสวนกันช่องละคัน ซ้ำยังเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปมาด้วยแล้ว

เพื่อนชาวจีนที่เป็นคนขับจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ผลคือ การเดินทางจากคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของอวิ๋นหนันไปจนถึงเมืองทางใต้อย่างสิบสองปันนา ซึ่งมีระยะทางพอๆ กับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จึงต้องใช้เวลาสามวัน โดยค้างแรมระหว่างทางสองคืน ซึ่งกว่าจะถึงเมืองปลายทางก็ล่วงเข้าสู่ตอนเย็นของวันที่สามไปแล้ว

ปัจจุบันเส้นทางที่เล่ามานี้ไม่ใช้เป็นทางหลักแล้ว ด้วยทางการจีนได้ตัดถนนใหม่ให้เลียบตีนเขาให้มากที่สุด รถจึงไม่ต้องวิ่งขึ้นภูเขาอีกต่อไป และทำให้การเดินทางใช้เวลาพอๆ กับการเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คือใช้เวลาสิบกว่าชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่สามวันดังแต่ก่อน

แต่นับแต่ที่ถนนสายใหม่ดังกล่าวสร้างแล้วเสร็จก็กลับไม่เคยได้ใช้เลย ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ใช้ ให้สาแก่ใจกับที่ครั้งนั้นใช้เวลาสามวัน แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรคือความรู้เรื่องจีนที่งอกเงยออกมาในขณะนั้น?

 

ความรู้ที่ว่านี้คือการได้สัมผัสกับสภาพของชนบทจีน ซึ่งมีตั้งแต่ภาษาที่พูด บ้านที่หลับนอน อาหารที่กิน เสื้อผ้าที่สวมใส่ ฯลฯ ที่ต่างพรั่งพรูเข้ามาเป็นความรู้และความรู้สึก ในที่นี้จะเล่าสักสองเรื่องเป็นตัวอย่าง

เรื่องแรก เมื่อเพื่อนชาวจีนได้ขับรถมาถึงชนบทแห่งหนึ่งก็จอดรถที่ริมทางที่ค่อนข้างเปลี่ยว จากนั้นเพื่อนอีกคนที่เป็นตำรวจในถิ่นนั้นก็แจ้งแก่เราว่า จากจุดที่รถจอดอยู่นี้และถัดไปเป็นท้องนาที่มีภูเขาเป็นฉากหลังนั้น คือบ้านของหญิงจีนคนหนึ่งที่ทางฝ่ายไทยได้ช่วยเหลือเอาไว้ และพวกเราฝ่ายไทยต้องการไปเยี่ยมนั้น

บ้านของเธอต้องเดินเท้าเข้าไปจากจุดที่รถจอดโดยใช้เวลาสามวัน พร้อมกันนั้นก็ชี้ไปยังขุนเขาที่มองเห็นลิบๆ รางๆ

จากเหตุนี้ จึงไม่อาจจัดให้เราได้พบเฉพาะหญิงจีนคนนี้ตามที่เราขอ ส่วนหญิงจีนคนอื่นไม่มีปัญหา แม้บางคนจะต้องเดินขึ้นเขาไปหาจนเหนื่อยหอบก็ตาม

เรื่องนี้ทำให้รู้ว่าชนบทจีนช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก และยังมีอีกมากที่ทางการเข้าไปไม่ถึง เหตุประการหนึ่งมาจากชาวบ้านเหล่านี้มีอยู่เพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น การที่จะสร้างระบบสาธารณูปโภคให้เข้าไปถึงจึงไม่คุ้มค่า

อีกทั้งเวลานั้นจีนยังไม่ร่ำรวยดังปัจจุบัน จึงไม่รู้ว่าชาวบ้านจีนเหล่านี้มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไรในเวลานี้

 

เรื่องต่อมา เกิดหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมหญิงจีนที่สิบสองปันนาแล้ว ตกเย็นจึงพักผ่อนด้วยการเข้าไปสัมผัสกับชนชาติไต ชนชาตินี้พูดภาษาไตที่ฟังคล้ายกับภาษาไทยทางภาคเหนือของไทย แต่มีหลายคำที่เป็นภาษาไทยดั้งเดิม

เช่น เมื่อแม่ค้าไตร้องขายเครื่องประดับเงินของตนนั้น ก็จะร้องเชิญชวนให้หญิง (ไทย) ลองใส่ดูด้วยประโยคที่ว่า “อีนางตัวดี ลองเอากำไลนี้ไปใส่ดู”

คำว่า “อีนางตัวดี” มีความหมายแบบดั้งเดิมจริงๆ คำว่า “อีนาง” ไม่มีปัญหาที่ว่าคือผู้หญิง แต่คำว่า “ตัวดี” กลับคือเนื้อตัวที่สวยงาม คือเนื้อตัว “ดี” ดังนั้น หากแปลด้วยภาษาไทยภาคกลางแล้ว คำว่า “อีนางตัวดี” ก็จะมีความหมายประมาณว่าแม่หญิงคนสวยนั้นเอง

เรื่องนี้จึงไม่เพียงทำให้เห็นความหมายเดิมของภาษาไทยเท่านั้น แต่หากคิดให้ลึกซึ้งลงไปแล้วก็ยังมีคำถามอีกว่า เหตุใดคนไทยภาคกลางของเราจึงใช้คำว่า “อีนางตัวดี” เป็นคำที่ไม่สุภาพหรือเป็นคำด่าผู้หญิง?

 

สิ่งละอันพันละน้อยที่ได้จากการลงพื้นที่ในเวลานั้นได้ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ เพราะการเดินทางในลักษณะดังกล่าวหลังจากครั้งแรกแล้วก็ยังมีอีกห้าหกครั้ง จนมีความคุ้นชินเส้นทางที่สุดแสนจะวิบากสายนี้ และทำให้พบว่าชนบทจีนในเวลานั้นยังคงยากลำบากอยู่ไม่น้อย

แต่พอความเจริญเข้าไปถึงแล้วก็ไม่แน่ใจว่าดีขึ้นหรือเลวลง คือถ้าว่าดีขึ้นก็คงดีเพราะสาธารณูปโภคได้เข้าไปถึงแล้ว ทำให้ชาวชนบทมีน้ำ-ไฟใช้ มีถนนหนทางที่สะดวก

แต่ที่ว่าเลวลงก็คือ การล่อลวงหญิงจีนที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะเมื่อความเจริญเข้าไปถึงแล้ว คนแปลกหน้าก็เข้าไปถึงด้วยเช่นกัน คนเหล่านี้อาศัยความซื่อใสใจจริงของหญิงจีนในชนบทเป็นจุดอ่อนในการล่อลวง

แต่ที่ดูแล้วชวนหดหู่ก็คือ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็รณรงค์ให้ชาวบ้านอย่าได้ไว้ใจคนแปลกหน้า และให้แต่ละบ้านทำประตูรั้วและประตูบ้านเพื่อป้องกันขโมยซึ่งเวลานั้นได้เริ่มชุกชุมแล้ว แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าเหตุใดตนต้องทำด้วย ในเมื่อตนอยู่บ้านที่ไม่มีประตูมาหลายชั่วคนแล้ว

ครั้งหนึ่งได้ถามหญิงจีนที่ถูกล่อลวงว่า เหตุใดจึงเชื่อในสิ่งที่คนแปลกหน้าเชิญชวน เธอตอบว่า ชีวิตในชนบทที่เธอเกิดและเติบโตมาไม่เคยมีเรื่องโกหกหลอกลวงมาก่อน ไม่เพียงเธอเท่านั้นที่เชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในชีวิตล้วนมิใช่คนหลอกลวง แต่เชื่อกันทั้งหมู่บ้าน

ดังนั้น เมื่อคนแปลกหน้าชวนเธอไปเที่ยวเมืองไทยเธอจึงไปด้วยความเชื่อเช่นนั้น

 

อีกครั้งหนึ่งเพื่อนตำรวจจีนได้พาไปยังสถานีตำรวจในหมู่บ้านที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง สถานีนี้เป็นอาคารชั้นเดียวและมีขนาดไม่ถึง 16 ตารางวา แต่มีบริเวณรอบๆ สถานีมากพอที่จะปลูกไม้ใหญ่ได้หลายต้น

พลันเข้าไปถึงไม่นานก็มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นผู้ต้องหาคนหนึ่งถูกใส่กุญแจมือ โดยมือที่ไพล่ไปข้างหลังถูกคล้องติดกับต้นไม้ จึงถามเจ้าหน้าที่ว่า เหตุใดจึงไม่นำผู้ต้องหาคนนี้ไปอยู่กรงขังเพื่อให้ได้นั่งหลบแดดหลบลม

เจ้าหน้าที่ตอบว่า โรงพักนี้ไม่มีกรงขัง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหมู่บ้านนี้ไม่เคยมีคดีที่ต้องนำผู้ต้องหาเข้ากรงขังมาก่อน

แต่พอความเจริญเข้ามาได้ไม่นาน การลักเล็กขโมยน้อยก็เกิดขึ้น ส่วนผู้ต้องหาที่เห็นอยู่นั้นกำลังรอเจ้าหน้าที่ในเมืองมารับไป เพราะโรงพักในเมืองจะมีกรงขังแล้วให้เจ้าหน้าที่ที่นั้นดำเนินคดีต่อไป

 

สองตัวอย่างที่เล่ามาข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่า ความหมายของความเจริญน่าจะมีปัญหาอยู่พอสมควร กล่าวคือ การที่ระบบสาธารณูปโภคเข้าไปถึงชนบทน่าจะเป็นการเข้าไปถึงของความเจริญแบบหนึ่ง แต่การเกิดอาชญากรรมขึ้นมาหลังจากนั้นไม่น่าจะเป็นความเจริญ

แต่ในขณะที่ระบบสาธารณูปโภคยังเข้าไปไม่ถึง ชาวบ้านกลับสามารถใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีอาชญากรรมนั้น ก็น่าที่จะนับเป็นความเจริญในแบบหนึ่งได้เช่นกัน

ถ้าเช่นนั้นเราจะนิยามความเจริญว่าอย่างไรดีก็คงขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละคนไป

 

การเดินทางไปลงพื้นที่ที่อวิ๋นหนันตามที่กล่าวข้างต้นยังคงดำรงต่อไปในงานวิจัยอื่น นั่นคือ โครงการวิจัยเรื่อง สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ : ความเป็นจริงและผลกระทบ

งานนี้ศึกษาถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน ไทย เมียนมา และลาว ทั้งสี่ประเทศนี้ต่างก็อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสิ้น โดยในราวต้นทศวรรษ 1990 จีนได้อยู่ในช่วงที่มีนโยบายแสวงหาความร่วมมือในด้านนี้กับประเทศที่อยู่รอบๆ ตน ซึ่งกล่าวเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกับจีนแล้วจะมีอยู่ 15 ประเทศเลยทีเดียว

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะได้ร่วมมือกับทุกประเทศไปเสียหมด เพราะในเวลานั้นมีบางประเทศที่เกิดความไม่สงบภายใน

ส่วนความร่วมมือกับสี่ประเทศดังกล่าวมีการสร้างคำเปรียบเปรยเป็นสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งเวลานั้นคำเปรียบเปรยทำนองนี้ถูกใช้กันเกร่อ คือถ้าเป็นหกเหลี่ยมก็จะมีกัมพูชาและเวียดนามเพิ่มเข้ามา เป็นต้น

ใครที่ประดิษฐ์คำเปรียบเปรยนี้ขึ้นมามักจะได้รับคำชื่นชมว่ามีวิสัยทัศน์ ฉะนั้น คำว่าวิสัยทัศน์จึงเป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้กันเกร่อมากในเวลานั้น และดูจะเกร่อยิ่งกว่าทุกคำ

จนปัจจุบันกลายเป็นคำที่ถูกใช้เป็นปกติไปแล้ว