โลก “Podcast” และ “On demand” ท่ามกลางโจทย์ใหญ่และความเปลี่ยนแปลงของ “สื่อดั้งเดิม”

เทคโนโลยีไม่ได้พลิกโฉมรูปแบบการทำงานของคนในโลกธุรกิจเท่านั้น มันยังทำให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต้องเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเร็ว ธุรกิจยิ่งต้องปรับตัวให้เร็วตามไป

สภาพแบบนี้พบเห็นได้ในธุรกิจหลายประเภท ธุรกิจสื่อสารมวลชนเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สัมผัสบรรยากาศเหล่านี้มาโชกโชน โดยเฉพาะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

“สื่อดั้งเดิม” (Traditional Media) ที่คนส่วนใหญ่ใช้รับข้อมูลข่าวสารกันมาหลายทศวรรษอย่างโทรทัศน์, วิทยุ, สื่อสิ่งพิมพ์ และบิลบอร์ด (สำหรับบางคนอาจจัดกลุ่มครอบคลุมไปถึงภาพยนตร์และอุตสาหกรรมดนตรี) ต่างเผชิญหน้าความท้าทายขั้นที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกหนึ่งครา

ทันทีที่โลกดิจิตอลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเดิม รายชื่อสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทยอยอำลาแผงหนังสือไปตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือยอดผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบสื่อดั้งเดิมเป็นภาพสะท้อนที่บ่งบอกสัญญาณการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี

ขณะที่สื่อดั้งเดิมอีกหลายประเภทก็ไม่ได้อยู่ในสถานะ “ผู้ถือครองช่องทางการสื่อสาร” อีกแล้ว

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วเอื้อให้ “สื่อใหม่” มีที่ทางของตัวเอง สามารถป้อน “ผลิตภัณฑ์” ของตัวเองไปในตลาดได้ง่ายกว่าเดิม

ภาพสะท้อนหนึ่งที่ชัดเจนคือ อัตราการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สื่อใหม่ที่เข้าใจเครื่องมือยุคใหม่ เข้าใจขีดความสามารถของเทคโนโลยีและบริหารจัดการได้ดีพอ พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนระดับเดียวกับสื่อที่เคยครองช่องทางการสื่อสารยุคดั้งเดิม (ในระยะเริ่มต้น) ก็สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อมูลข่าวสารของตัวเองไปถึงกลุ่มเป้าหมาย

เพื่อบรรลุเป้าทั้งแง่การสื่อสารและตอบสนองเชิงธุรกิจได้เช่นกัน

ตัวอย่างอีกกรณีที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วคือ ผู้บริโภคมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นกว่าสถานีโทรทัศน์กลุ่มเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้จำเป็นต้องรับชมเนื้อหาหนึ่งๆ ตามผังรายการเท่านั้น แถมต้องดูผ่านอุปกรณ์ที่รับ “คลื่นสัญญาณสาธารณะ” ได้ด้วย

แต่การเติบโตของเทคโนโลยีสื่อสารนำมาสู่รูปแบบธุรกิจการสื่อสารกลุ่มใหม่หลายอย่าง อาทิ ระบบสตรีมมิ่ง (Streaming) หรือการดึงไฟล์เนื้อหาผ่านอินเตอร์เน็ตมาเปิดรับชมที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ใช้งาน และกลายเป็นรูปแบบการรับเนื้อหาที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างดี

สตรีมมิ่งยุคใหม่ให้บริการในรูปแบบ “On demand” ผู้บริโภคเลือกได้เองว่าจะดึงเนื้อหาอะไร ดึงที่ไหน ดูที่ไหน ดูเมื่อไหร่ (ตราบใดที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งอัตราการเข้าถึงเพิ่มต่อเนื่อง และค่าบริการมีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต)

เมื่อถึงวันที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้เอง มีแหล่ง มีช่องทางให้เลือกรับในสิ่งที่ต้องการเท่านั้น มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะไม่เลือก

ขณะที่สื่อดั้งเดิมยังนำเสนอผ่านรูปแบบ “ผู้ป้อนข่าวสาร” ที่ส่วนใหญ่มักถูกกำหนดโดยผู้ผลิตเท่านั้น มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และช่องทางการเข้าถึง (ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนการผลิตสำหรับสื่อดั้งเดิม) แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นโจทย์น่าปวดหัวสำหรับธุรกิจเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับผู้แข่งขันทุกราย

บริบทที่เอ่ยมาทั้งหมดในข้างต้นเป็นภูมิหลังของธุรกิจ (สื่อ) ใหม่ที่เติบโตต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อนำภาพนี้ไปทาบกับธุรกิจ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ก็น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น

เน็ตฟลิกซ์ใช้รูปแบบเทคโนโลยีที่ว่านี้ประกอบกับอาศัยเนื้อหา (ภาพยนตร์-ซีรี่ส์-สารคดี-ทีวีโชว์) ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีฉายเฉพาะในระบบเท่านั้น มาดึงดูดยอดผู้ชมจากสื่อดั้งเดิมไปอยู่ด้วย

เมื่อตัวอย่าง “On demand” มีผ่านทีวีแบบสตรีมมิ่งได้ สื่อดั้งเดิมประเภทอื่นก็ย่อมเผชิญจุดท้าทายไม่ต่างกัน

รอบทศวรรษที่ผ่านมา ตลาด “พอดแคสต์” (Podcast) ในโลกตะวันตกเติบโตจนน่าจับตาไม่แพ้สตรีมมิ่งสายอื่น เจ้า Podcast นี้คือรายการ (ที่มีแต่เสียง) รับฟังผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ฟังสามารถดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้ฟังแบบออฟไลน์ที่ไหนก็ได้ และเมื่อไหร่ก็ได้

อัตราการเติบโตของผู้ฟัง Podcast ในสหรัฐอเมริกาแหล่งต้นทางเทคโนโลยีแห่งใหญ่ของโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทอม เว็บสเตอร์ รองประธานอาวุโสของบริษัทเอดิสัน รีเสิร์ช (Edison Research) เอ่ยปากว่า สถิติการเติบโตของผู้ฟังในปี 2019 อยู่ในอัตราสูงสุดเท่าที่เคยสำรวจมาตั้งแต่ปี 2006

ประชากรในสหรัฐที่มีมากกว่า 300 ล้านคน 51 เปอร์เซ็นต์เคยฟัง Podcast อย่างน้อย 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากสถิติปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 44 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขประชากรในสหรัฐเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด ฟัง Podcast อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน (เก็บข้อมูลการฟังในเดือนก่อนหน้าการสำรวจ) หากแปรตัวเลขโดยประมาณจากสถิตินี้คือมีผู้ฟังรายเดือนเฉลี่ย 90 ล้านคน ส่วนสถิติเมื่อปี 2018 ยังอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4

พฤติกรรมผู้ฟังในปี 2019 ยังพบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของผู้ฟัง Podcast ทั้งหมดในสหรัฐเปิดฟังขณะอยู่ในบ้าน และอีก 22 เปอร์เซ็นต์เปิดฟังขณะอยู่ในรถ (แม้สถิติชี้ว่าคนส่วนใหญ่ยังฟังวิทยุ AM/FM อยู่ แต่เครื่องเสียงในรถส่วนใหญ่เชื่อมต่ออุปกรณ์ส่วนตัวได้ ตัวเลือกการรับสื่อขณะขับรถไม่ได้มีแค่วิทยุอีกแล้ว)

ที่น่าสนใจคือ การสำรวจก่อนหน้านี้พบว่าผู้ฟัง Podcast 80 เปอร์เซ็นต์จะฟังรายการนั้นทุกตอนหรือเกือบทุกตอน ตัวเลขเฉลี่ยจำนวนรายการที่ฟังต่อสัปดาห์อยู่ที่ 7 รายการ ชี้ให้เห็นว่าผู้ฟัง Podcast มีพฤติกรรมบริโภคซ้ำสูง

หากเทียบภาพกับพฤติกรรมการใช้สื่อใหม่อื่นๆ ในช่วงไล่เลี่ยกัน ผลการศึกษาพบว่า ประชากรสหรัฐที่ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) ลดลงประมาณ 15 ล้านรายเมื่อเทียบกับปี 2017

ลักษณะทางประชากรของกลุ่มผู้ฟังก็น่าสนใจในแง่การตลาด กลุ่มผู้ฟัง Podcast ค่อนข้างมีฐานะดีและมีการศึกษา บริษัทนีลเส็นสำรวจเมื่อปี 2017 พบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้ฟัง Podcast เป็นประจำทุกเดือนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขจากสื่อหลายแห่งบ่งชี้ว่า รายการ Podcast ในปี 2018 มีไม่ต่ำกว่า 6 แสนรายการจากทั่วโลก รวมแล้วมีให้เลือกฟังมากกว่า 28 ล้านไฟล์

ใน 6 แสนรายการนี้มีผู้จัดรายการเป็นทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไป เนื้อหาที่จัดมีตั้งแต่เรื่องของเล่นเด็ก ไปจนถึงวิเคราะห์การเมืองหรือศาสนา แต่หมวดที่คนสนใจมากที่สุดในปี 2018 คือรายการตลก ตามมาด้วย “การศึกษา” และข่าวสาร

ทั้งหมดนี้คือภาพพัฒนาการของสื่อใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกซีกโลก และแน่นอนว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เริ่มโยกย้ายมาในไทยในรอบปีที่ผ่านมา

โดยกลุ่มสื่อใหม่เริ่มป้อนรายการ Podcast เข้าสู่ระบบ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นทั่วไปในโลก เมื่อมี “ผู้นำทางความคิด” หรือพูดง่ายๆ ว่า “คนดัง” มาใช้งานด้วยแล้ว ก็ยิ่งดึงดูดให้คนอยากเข้ามาลิ้มลอง รายการที่กลายเป็นกระแสในไทยมากที่สุดต้องยกให้ “Good Monday” ของทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

เมื่อบรรยากาศในชุมชน Podcast ของไทยเริ่มคึกคัก เนื้อหาใหม่ในไทยเริ่มทยอยเป็นที่รู้จัก เนื้อหาที่มีในตลาดก็ขยายตัว มีความหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหารายการ Podcast ที่ยังพบเห็นไม่มากนักในไทยน่าจะเป็นหมวด “การศึกษา” ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม เมื่อเทียบกับเนื้อหาในตะวันตกที่แต่ละหมวดหมู่มีมากมาย ไม่ว่าจะหารายการเฉพาะทางที่เจาะลงลึก หรือการศึกษาเบื้องต้น แค่กดค้นหาก็มีให้เลือกหลากหลายตามที่ผู้ฟังต้องการ

ในที่นี้คงต้องยกวลีคลาสสิคที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีว่า “ในทุกโจทย์และปัญหามีโอกาส” สำหรับผู้ฟังที่ค้นหาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่ฟังได้ทั้งแง่มุมเชิงลึกและสำหรับฟังเก็บข้อมูลเป็นความรู้เบื้องต้นแบบเข้าใจง่ายหรือใช้ต่อยอด

รายการแนวนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย มี “ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ที่ต่อยอดจากนิตยสารมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวมอยู่ด้วย

“ศิลปวัฒนธรรม Podcast” คืออีกหนึ่งช่องทางเผยแพร่เนื้อหาในโลกดิจิตอลของนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” นิตยสารที่มีอายุยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ และเป็นอีกกลุ่มสื่อดั้งเดิมที่ขยายตัวมาสู่ช่องทางออนไลน์หลายแพลตฟอร์ม

ในปี 2019 ที่สื่อ Podcast เติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงย่อมเป็นโอกาสสำหรับทั้งผู้ฟังและผู้นำเสนอเนื้อหา ซึ่งจะได้มาทำความรู้จักกันผ่านเนื้อหาสาระจากองค์ความรู้เกี่ยวกับรากเหง้าดั้งเดิม ที่ถูกบรรจุลงในเทคโนโลยีแบบใหม่

ศิลปวัฒนธรรม Podcast” ประเดิมด้วยเนื้อหาที่เข้ากับสถานการณ์และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปในประเด็น “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จำนวน 5 ตอน ว่าด้วยแง่มุมสำคัญต่างๆ ของพระราชพิธี เผยแพร่ทุกวันจันทร์ ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 29 เมษายน

มีผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของไทยอย่าง ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ, ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร และ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้

โดยรับฟังได้ผ่านผู้ให้บริการชื่อดังอย่าง Soundcloud, Podbean, YouTube และ Apple Podcast (ในอนาคตอันใกล้)

https://silpawattanatham.podbean.com/

https://www.youtube.com/channel/UCJjOfXgP1CUCc0XtLd-U0xw

เนื้อหาเหล่านี้ยังจะปรากฏในเว็บไซต์ silpa-mag.com พร้อมเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมอีกมากมายที่ขยายต่อยอดมาจากเล่มนิตยสาร

เมื่อผู้บริโภคมีสิทธิตัดสินใจเองจากตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องรอผู้ผลิตป้อนข้อมูลแบบเดิม นอกจากธุรกิจต้องปรับตัวแล้ว ผู้บริโภคบางส่วนยังต้องเปิดประตูโอกาส ศึกษาค้นหาทางเลือกของตัวเอง

ในที่นี้ กล่าวได้ว่า Podcast เนื้อหาประวัติศาสตร์ของศิลปวัฒนธรรม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ให้ข้อมูลและแง่มุมที่เป็นประโยชน์อย่างมาก หากติดตามกันต่อเนื่อง

อย่างน้อยที่สุด ช่องทางสื่อใหม่ทั้งหลายจะเปิด “ประตูโอกาส” นำผู้ฟังไปสู่ชุมชนดิจิตอลที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล ท่ามกลางโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี