จิตต์สุภา ฉิน : โซเชียลมีเดียจะเป็นอย่างไรหากไร้ยอดไลก์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

การกดไลก์หรือถูกใจบนโซเชียลมีเดียดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีพิษไม่มีภัย และได้กลายเป็นสิ่งที่เราทำกันอย่างเลื่อนลอยเป็นประจำทุกวันไปแล้ว

แพลตฟอร์มอย่าง Facebook ก็ยิ่งทำให้การกดไลก์เป็นไปได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นด้วยการเพิ่มอารมณ์ต่างๆ เข้าไปในปุ่มเดียวกัน

เมื่อเวลาผ่านไป ยอดไลก์ก็ถูกนำมาใช้เพื่อตัดสินความป๊อปปูลาร์ของโพสต์หรือคนที่โพสต์

ยอดไลก์ที่สูงอาจทำให้วันทั้งวันของคนคนนั้นสดใส

เช่นเดียวกับยอดไลก์ไม่กี่ไลก์ที่ก็อาจทำให้วันเดียวกันนั้นมืดหม่นไปได้ถนัดตา

สำหรับคนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือคนที่มีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดียและมีกลุ่มผู้ติดตามประมาณหนึ่ง

ยอดไลก์นอกจากจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์แล้ว ก็ยังเป็นตัวกำหนดรายได้ได้ด้วย

เอเยนซี่โฆษณามักจะเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่จะใช้งานด้วยการดูจากยอดผู้ติดตามเป็นหลัก เป็นที่มาของการใช้ทางลัดซื้อบริการเพิ่มยอดผู้ติดตามปลอมที่มีให้เห็นกันกลาดเกลื่อน

เมื่อไหร่ที่คุณเห็นเพจไหนมียอดติดตามเป็นแสนเป็นล้าน แต่โพสต์แต่ละครั้งแทบไม่มีใครมาเออออห่อหมกอะไรด้วย ว่างเปล่าราวกับบ้านผีสิง ก็มีโอกาสว่าเพจนั้นเติบโตขึ้นมาบนยอดไลก์ปลอมที่แลกมาด้วยเงินนั่นแหละค่ะ

ภัยเงียบที่แฝงตัวมากับการเสพติดยอดไลก์ค่อยๆ เผยโฉมหน้าของมันออกมาให้เราเห็นมากขึ้น

จนแม้กระทั่งเจ้าของแพลตฟอร์มเองอย่าง Instagram ก็รู้สึกว่าจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้ว

 

มีรายงานออกมาว่า Instagram ทดสอบ “เอายอดไลก์ออก” จากเดิมที่จะมีตัวเลขยอดไลก์รวมทั้งหมดเด่นหราอยู่ใต้ภาพ ตัวเลขนั้นก็จะถูกตัดทิ้งไป และเหลือแค่ชื่อของหนึ่งหรือสองคนที่มากดไลก์ แล้วเขียนว่า “และอื่นๆ” ต่อท้าย คนเดียวที่จะเห็นตัวเลขยอดไลก์โดยรวมได้ก็คือเจ้าของแอ็กเคาต์เองเท่านั้น

สาเหตุที่ Instagram ทดสอบรูปแบบใหม่นี้ก็เพราะว่าอยากให้ผู้ติดตามของแต่ละคนนั้นหันไปสนใจแต่คอนเทนต์หรือสิ่งที่แชร์มากกว่าที่จะไปโฟกัสที่ยอดไลค์ของภาพแต่ละภาพนั่นเอง

ย้อนกลับไปในปี 2016 Kevin Systorm ผู้ก่อตั้ง Instagram เคยบอกเอาไว้ว่า หนึ่งในสาเหตุของการที่เขาสร้าง Instagram Stories ซึ่งก็คือการแชร์ภาพแบบง่ายๆ เร็วๆ มีอายุอยู่แค่ 24 ชั่วโมงขึ้นมานั้นก็เพื่อต้องการจะลดความตึงเครียดที่มาจากยอดไลก์

และเปลี่ยนให้ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรขึ้น

คนที่ใช้ Instagram น่าจะสัมผัสได้ว่าเมื่อไหร่ที่แชร์ภาพใน Stories ผู้แชร์จะมีความเครียดของการต้องคิดแล้วคิดอีกก่อนจะแชร์น้อยลง สนุกกับการแชร์มากขึ้น

และไม่ต้องกังวลว่าจะได้ยอดไลก์เท่าไหร่เพราะฟีเจอร์นี้ไม่แสดงยอดไลก์ แสดงแต่ยอดผู้ชมที่ได้เห็นภาพนั้นๆ ผ่านตาเท่านั้น

 

การเสพยอดไลก์บนโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ เห็นได้จากผลการวิจัยของ Stanford University และ New York University ที่สำรวจผู้ใช้ Facebook กว่า 2,844 คน

ลองให้คนกลุ่มนี้ปิดแอ็กเคาต์ Facebook ของตัวเองไป เลิกใช้เป็นเวลาหนึ่งเดือน แล้วสำรวจสภาพจิตใจดู

พบว่าสภาพจิตใจโดยรวมดีขึ้นหลังจากหยุดใช้ Facebook มีความสุขและความพึงพอใจมากขึ้น

และยังทำให้กิจกรรมอื่นๆ บนอินเตอร์เน็ตลดลงอีกด้วย

ทำให้หันไปใช้เวลาออฟไลน์ได้มากกว่าเดิม

นั่นก็แปลว่าเราต้องยอมรับว่าแม้โซเชียลมีเดียจะมีประโยชน์มหาศาล แต่มันก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เราเครียดได้ เพราะเรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับภาพอันสวยหรูของคนอื่น โดยเฉพาะภาพที่มีคนกดไลก์มากๆ บวกกับเราอาจตกอยู่ภายใต้ความเครียดที่จะคอยเชิญชวนให้คนมากดไลก์โพสต์ของตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย

นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพจิตแล้ว การมีอยู่ของไลก์ก็อาจจะนำไปสู่การเสี่ยงอันตรายได้

ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่ามีอินฟลูเอนเซอร์หรือคนทั่วๆ ไป ที่เอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเสี่ยงๆ

อย่างการปีนเขา ยืมปริ่มริมหน้าผา ทำกิจกรรมเสี่ยงตาย หรือแม้กระทั่งถ่ายเซลฟี่กับสัตว์ป่าที่ดุร้าย

ทั้งหมดนี้ก็ทำเพื่อจุดมุ่งหมายของการเรียกยอดไลก์ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

Instagram ไม่ใช่แพลตฟอร์มเดียวที่กำลังทดลองปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้ลดความตึงเครียดสำหรับผู้ใช้งานลง

มีรายงานว่า Twitter ก็อาจจะกำลังทำอะไรคล้ายๆ แบบนี้ ด้วยการทำให้คนเห็นยอดรีทวีตได้ยากขึ้น

เพื่อไม่ให้ตัวเลขมาเป็นสิ่งชี้วัดและชี้นำพฤติกรรมของคนบนโซเชียลมีเดียอีกต่อไป

 

สําหรับทางด้าน Facebook แม้ว่าจะยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ให้เห็น

แต่ในอังกฤษก็ได้มีการเรียกร้องให้ Facebook เอาปุ่มไลก์ออก สำหรับผู้ใช้ที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี

เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้เด็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าการกดไลก์ของพวกเขาแต่ละครั้งนั้นจะนำไปสู่การที่ข้อมูลส่วนตัวถูกใช้ในการโฆษณา

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องรอดูต่อไปว่า Facebook จะตัดสินใจอย่างไร

อันที่จริงแนวคิดของการลองเอาไลก์ออกก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่แย่สักเท่าไหร่ ไลก์อยู่ควบคู่กับการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียตั้งแต่ต้น และเมื่อเวลาผ่านมาสักสิบปีเราก็ได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่ามันส่งผลกระทบต่อความเครียดของผู้ใช้งานจริงๆ ยอดไลก์ทำให้เราผูกติดกับตัวเลขมากกว่าความสำคัญของเนื้อหา ทำให้เราโหยหาการยอมรับจากคนอื่นแม้จะเป็นการยอมรับจากคนที่เราไม่เคยพบ หรือจะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกในชีวิตนี้ด้วยก็ตาม บางทีการลองเอายอดไลก์ออก อาจจะก่อให้เกิดปรากฏการณ์อะไรบางอย่างที่เรานึกไม่ถึงก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เหมือนกันที่เมื่อยอดไลก์หายไป เราอาจจะรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียลดความน่าสนใจลงก็ได้

สำหรับในตอนนี้ที่ตัวเลขยอดไลก์ยังคงอยู่ หากใครที่ติดตามอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดีย เห็นยอดไลก์สูงๆ แล้วรู้สึกเครียดกับชีวิตเพราะเผลอไปเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วรู้สึกต่ำต้อยกว่า

วิธีที่พอจะแก้ปัญหาได้ก็คือการเลิกติดตามคนที่มักจะนำเสนอภาพชีวิตตัวเองในแบบสวยหรูเกินจะเอื้อมถึงที่อาจจะก่อให้เราเกิดความเครียด และหันไปติดตามคนที่ดูธรรมดาๆ มีชีวิตธรรมดาๆ แต่มีแง่มุมหรือแนวคิดบางอย่างน่าสนใจ

ก็น่าจะช่วยให้เราสามารถลดความเครียดลงได้บ้าง