รู้จัก ‘นิวซีแลนด์’ในทุกมุม คุยกับทูต ‘ทาฮา แม็กเฟอร์สัน’ สานสัมพันธ์การค้าการศึกษาไทย

คุยกับทูต ทาฮา แม็กเฟอร์สัน สานสัมพันธ์การค้าการศึกษา ไทย-นิวซีแลนด์ (1)

นอกจากมีภูมิประเทศงดงามจนได้รับฉายาว่าเป็น “อัญมณีแห่งซีกโลกใต้” แล้ว

นิวซีแลนด์มีความภูมิใจในประชากรที่หลากหลาย เพราะชาวกีวี (Kiwis) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายยุโรปซึ่งมักเรียกกันว่า “Pakeha” ซึ่งรวมถึงคนเชื้อชาติอื่นๆ ด้วย เช่น เอเชีย

แต่ประชากรกลุ่มที่ไม่ใช่ยุโรปที่ใหญ่ที่สุดกลับเป็นประชากรเมารี (M?ori) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนพื้นเมืองที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแห่งหนึ่งของโลก

ชาวเมารีเรียกนิวซีแลนด์ว่าอาเตอารัว (Aotearoa) หมายถึง “ดินแดนแห่งเมฆยาวสีขาว”

“กีวี” ในนิวซีแลนด์ มีสามความหมาย

อย่างแรกคือ ผลไม้กีวี

อีกความหมายคือ นกกีวี ลักษณะจะคล้ายลูกไก่ แต่มีปีกที่เล็กมากแทบจะมองไม่เห็น ปากค่อนข้างยาว พบที่ประเทศนิวซีแลนด์เท่านั้น

และอีกความหมายก็คือ ชาวนิวซีแลนด์นั่นเอง

การผสมผสานวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์ส่งผลให้เกิดเอกลักษณ์ประจำชาติ วัฒนธรรมชนพื้นเมืองเมารีเป็นองค์ประกอบที่แข็งแกร่งของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมสำหรับชาวนิวซีแลนด์ทุกคนรวมถึงคนที่มีเชื้อชาติอื่น (Pakeha)

เพียงแค่คุณชมท่าเต้น “ฮากา” (haka) ของทีม “ออลแบล๊กส์” (All Blacks) ก่อนเกมรักบี้ คุณก็จะได้เห็นว่า ชาวกีวีภาคภูมิใจในมรดกของพวกเขาอย่างไร

นอกเหนือจากมีทีมรักบี้อันโด่งดัง ไวน์จากองุ่นพันธุ์ดี และผลไม้กีวีอันขึ้นชื่อ นิวซีแลนด์ยังเป็นแดนสวรรค์สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ระดับโลก เช่น The Lord of the Rings, The Hobbit, The Piano, King Kong, The Last Samurai เป็นต้น

อีกทั้งเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง

และยังเป็นประเทศแรกที่ผู้หญิงได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลมากถึง 3 ตำแหน่ง

รวมถึงเรื่องกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นิวซีแลนด์ก็ได้ยอมรับและเปิดกว้าง

จึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่เลื่องชื่อในความเท่าเทียมอย่างมากเลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนิวซีแลนด์มีหลายด้าน

แต่จุดเริ่มต้นความร่วมมือเป็นเรื่องของการศึกษาที่แน่นแฟ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1950

จึงทำให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก และทุกวันนี้ยังคงเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่นักเรียน-นักศึกษาไทยเลือกเดินทางไปศึกษาต่อ

แต่มาเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนทั้งโลกเมื่อ “นิวซีแลนด์” ซึ่งได้ชื่อติดอันดับ 1 ใน 10 ว่าเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้องเผชิญเหตุกราดยิงมัสยิด 2 แห่งที่คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 50 ราย เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เมืองไครสต์เชิร์ช โดยฝีมือคนขาวชาวออสเตรเลียที่เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (White Supremacist) อันมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เพราะผู้ก่อเหตุมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) อย่างรุนแรง

ประกอบกับลักษณะของการก่อเหตุและแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเหยียดผิว ฟาสซิสต์ หรือแม้แต่มีความเกี่ยวข้องกับนีโอนาซีด้วย โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้กระตุ้นให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องเร่งแก้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

ปัจจุบันประชากรนิวซีแลนด์ราว 5 ล้านคน มีผู้ครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายประมาณ 250,000 คน และคาดว่ามีอาวุธปืนในประเทศราว 1 ล้าน 5 แสนกระบอก

สัปดาห์นี้เราได้รับเกียรติจากนายทาฮา แม็กเฟอร์สัน (His Excellency Taha Macpherson) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อกลางปีที่แล้ว มาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจต่อคนนิวซีแลนด์และทั่วโลก รวมทั้งประเด็นความสัมพันธ์กับไทยในแง่มุมที่สำคัญต่างๆ

“นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเรา และเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในนิวซีแลนด์มาก่อน ที่มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญในย่านชุมชน นั่นคือชุมชนมุสลิม ซึ่งเราเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญของนิวซีแลนด์ เพราะมุสลิมเป็นเพื่อนของเรา เป็นเพื่อนร่วมงานของเรา เป็นเพื่อนบ้านของเรา พวกเขาคือเรา”

ท่านทูตแม็กเฟอร์สันกล่าวว่า “โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้ผู้คนทุกหนทุกแห่งในนิวซีแลนด์ได้มารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนชุมชนมุสลิมของเรา และเพื่อสนับสนุนกันและกัน ทำให้ประเทศของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ได้อยู่อย่างใกล้ชิดกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเมื่ออิหม่ามฟูด้า (Imam Fouda) ที่มัสยิดอัลนูร์ (Al Noor Mosque) ในไครสต์เชิร์ช กล่าวว่า นิวซีแลนด์หัวใจสลาย แต่เราจะไม่พังทลาย และจะไม่ยอมให้ใครมาแบ่งแยกเรา ทำให้เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดของชาติ นับเป็นบาดแผลฉกรรจ์อันสะเทือนใจมาก”

อิหม่ามแห่งมัสยิดอัลนูร์ได้นำละหมาดยุมอะฮ (ยุมอะห์) ในไครสต์เชิร์ชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ในพิธีไว้อาลัยเหยื่อกราดยิง ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายกราดยิงในมัสยิด การละหมาดจัดขึ้นที่ Hagley Park ตรงทางข้ามถนน และห่างประมาณ 100 เมตรจากมัสยิดที่ผู้ก่อการร้ายก่อเหตุสังหารคนละหมาด 50 คน โดยมีประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมละหมาดยุมอะฮ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อิหม่ามยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำทั่วโลกยุติความเกลียดชังด้วยคำพูด และการเมืองแห่งความกลัว

“โลกควรมองไปที่นิวซีแลนด์เพื่อเป็นตัวอย่างของวิธีการตอบโต้กลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด และการโจมตีของผู้ก่อการร้าย โลกสามารถเห็นตัวอย่างของความรักและความสามัคคีในตัวเรา เราเจ็บ แต่ไม่แตกแยก เรายังมีชีวิตอยู่ เราอยู่ด้วยกัน เรามุ่งมั่นที่จะไม่ให้ใครมาแบ่งแยกเรา”

“หลังการก่อเหตุโจมตีในไครสต์เชิร์ช ความปลอดภัยสาธารณะเป็นจุดสนใจหลักสำหรับรัฐบาลของเรา และความปลอดภัยของชุมชนมุสลิมของเรานับเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด รวมทั้งการช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดจากการโจมตีครั้งนี้ เช่นเดียวกับครอบครัวของพวกเขาก็มีความสำคัญสูงสุดเช่นกัน”

“รัฐบาลของเราทำงานอย่างหนัก และขอความร่วมมือทุกประเทศเพื่อแก้ปัญหาการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในการเผยแพร่หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง จากการไลฟ์สดของคนร้ายขณะก่อเหตุไล่ยิงผู้คนภายในมัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช เพื่อป้องกันความโหดร้ายดังกล่าวในอนาคต”

“นายกรัฐมนตรีของเราตอบชัดเจนว่า ผู้โจมตีจะไม่ได้รับชื่อเสียงจากการกระทำอันชั่วร้ายนี้ เราจะไม่เอ่ยนามของเขา แต่เราจะให้เกียรติแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งจะอยู่ในความทรงจำของเรา รวมทั้งผู้กล้าหาญที่พยายามหยุดยั้งเหตุระหว่างการโจมตี”

ท่านทูตแม็กเฟอร์สันเล่าความคืบหน้าด้านกฎหมายว่า

“ตอนนี้สภานิวซีแลนด์ได้ลงมติให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาวุธปืนในประเทศแล้ว หลังเกิดเหตุสังหารผู้คนในมัสยิดที่ไครสต์เชิร์ช การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้จะเป็นการสั่งห้ามอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติแบบที่ใช้ในทางการทหาร โดยระบุให้ผู้ที่ครอบครองอาวุธสามารถขายคืนอาวุธได้”

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Kate Laurell Ardern) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า เป็นวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ และยังได้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศเราเปลี่ยนไปตลอดกาล กฎหมายของเราก็จะเปลี่ยนเช่นกัน ถ้าหากกฎหมายดังกล่าวได้รับการลงนามยินยอมจากผู้สำเร็จราชการในนิวซีแลนด์ ก็จะมีการบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดในเดือนเมษายนนี้

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ทาฮา แม็กเฟอร์สัน เล่าว่า

“เคยมีคำแนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอาวุธปืนในประเทศในอดีต แต่ก็ไม่มีความก้าวหน้า มาถึงตอนนี้ จากเจตจำนงทางการเมืองและอารมณ์ของประชาชนได้มีส่วนสนับสนุนอย่างมาก จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวในที่สุด”

“ผมขอขอบคุณประเทศไทยที่กรุณาส่งข้อความแสดงความเห็นใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การที่ได้รับความสนับสนุนเพื่อนของเราในประเทศไทยและทั่วโลก ได้สร้างความอบอุ่นและประทับใจแก่เรายิ่งนัก”

“ในทัศนะของผม นายกรัฐมนตรีของเรามีความเป็นผู้นำอย่างสูง พรรคการเมืองทุกฝ่ายต่างก็ตอบสนองไปในทางเดียวกัน กลุ่มชุมชนและผู้คนทั้งประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงให้โลกเห็นชัดเจนว่า การโจมตีครั้งนี้แม้จะโดยบุคคลอันตราย แต่เราจะไม่ให้การแสดงที่ชั่วร้ายนั้นมาทำลายคุณค่าของเรา คุณค่าแห่งความหลากหลาย ความมีน้ำอดน้ำทน ความมีเมตตา และการยอมรับผู้คนจากทุกประเทศและทุกศาสนา”

ประวัติเอกอัครราชทูต ทาฮา แม็กเฟอร์สัน

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมโอ๊กแลนด์ (Auckland Grammar School)

ค.ศ. 1996 : สำเร็จระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์และศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ (University of Auckland)

ค.ศ.1996-2000 : เริ่มงานที่กระทรวงต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์ ในแผนกต่างๆ เช่น สำนักเศรษฐกิจ สำนักเอเปค และสำนักอเมริกา เป็นต้น รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายแผนกพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงพัฒนาชาวเมารี

ค.ศ.2000-2004 : รับตำแหน่งเลขานุการโท ที่สถานทูตนิวซีแลนด์ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ค.ศ. 2004-2006 : ปฏิบัติงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายอาวุโส สำนักความมั่นคงระหว่างประเทศและการลดอาวุธ กระทรวงต่างประเทศและการค้านิวซีแลนด์

ค.ศ.2006-2009 : เป็นเลขานุการส่วนตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้านิวซีแลนด์

ค.ศ.2009-2011 : ที่ปรึกษา (การเมือง) สถานทูตนิวซีแลนด์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (รวมการปฏิบัติงานที่สำนักการต่างประเทศและเครือจักรภพ สหราชอาณาจักร 3 เดือน)

ค.ศ.2011-2014 : เป็นเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำตุรกี (มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศอิสราเอล จอร์แดน อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย รวมทั้งรับผิดชอบในความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างนิวซีแลนด์กับฝ่ายปาเลสไตน์)

ค.ศ.2014-2017 : เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายต่างประเทศให้กับสำนักงานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

ค.ศ.2017-2018 : เป็นหัวหน้าสำนักงานนายกเทศมนตรีแห่งเมืองโอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์

ค.ศ.2018-ปัจจุบัน : รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สถานภาพ : สมรสกับนางคริสติน่า (Christina “Chrissy” Macpherson) ไม่มีบุตร-ธิดา