ธุรกิจพอดีคำ : ข้อคิด-เรื่องเล่า “เด็กทุน” กับ “การลาออก”

“เด็กทุน”

“ผมลาออกแล้วนะพี่”

น้องที่รู้จักกันเดินมาบอกว่าลาออกจากบริษัทที่เขาทำงานอยู่ด้วย

“อ้าวหรอ แต่เอ็งติดทุนเขาอยู่รึเปล่า” ผมถาม

ที่เมืองไทย บริษัทใหญ่ๆ มักจะให้ทุนการศึกษาพนักงานไปเรียนต่อต่างประเทศ

โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องกลับมาทำงานที่บริษัทเป็นเวลาเท่ากับที่ไปเรียน

ไม่ต้องใช้เป็นเงิน

แต่ใช้เป็นแรงสมอง ที่นำกลับมาใช้ในการพัฒนาบริษัท

เรียนสองปี ทำงานใช้ทุนสองปีบ้าง

เรียนสองปี ทำงานใช้ทุนสี่ปีบ้าง

ก็แล้วแต่ความ “อนุเคราะห์” ของแต่ละบริษัทกันออกไป

“ผมตัดสินใจจะใช้ทุนเขาครับพี่” น้องบอกผม

การใช้ทุนก็คือ การจ่ายเงินคืนนั่นเอง

อะไรที่เขาลงทุนมาให้ ก็คืนเขาไป

เรื่องเงินนั้นชัดเจน

สัญญาเป็นสัญญา

หมายความว่า ถ้าไม่ชอบใจ

ก็แยกทางกัน

ผมฟังแล้วก็เกิดคำถามในใจ

ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็น “วิศวกร” ครับ

อยู่แท่นน้ำมันกลางทะเล ไปๆ กลับๆ

รวมแล้วก็เกือบสองปีด้วยกัน

พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก

จากสวยมาก เป็นเริ่มจะไม่สวย

เริ่มเบื่อกับชีวิตการเป็นวิศวกร

เลยเริ่มออกหางานอื่นๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร

จับพลัดจับผลู โชคดีมาได้งานในสายงานของ “แผนกลยุทธ์”

หรือที่เขาเรียกชื่อเท่ๆ ว่า “Strategic Planning”

ชื่อนั้นดูดี ราวกับได้เป็น “ขงเบ้ง” แห่งจ๊กก๊ก

ใช้ความคิดเยอะ คิดแล้วทำเองไม่ค่อยได้

จะต้องให้คนอื่นๆ ช่วยกันทำให้สำเร็จ

เพราะฉะนั้นก็จะเกี่ยวข้องกับคนในองค์กรค่อนข้างมาก

ประชุมทั้งวัน ทำสไลด์ทั้งคืน

ได้เรียนรู้งานมากมาย ที่ไม่เคยได้รู้มาก่อนว่า องค์กรเขาทำงานกันแบบนี้นี่เอง

วิศวกรแบบเราที่อยู่บ้านนอกคอกนา ก็ถือได้ว่าเปิดหูเปิดตาไม่น้อยครับ

โชคดีที่สุดก็คือได้ทุนไปเรียนต่อ “บริหารธุรกิจ” ที่ต่างประเทศ

หรือที่ใครๆ เขาเรียกว่า “เอ็มบีเอ (MBA)”

ได้ไปเรียน แถมยังได้เงินเดือนอีก เรียกได้ว่าบริษัทเขาลงทุนกับผมมากมาย

ผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวจีน ที่บ้านไม่ได้มีธุรกิจอะไร

เรื่องการจะไปเรียนเมืองนอกนั้น ไม่เคยได้อยู่ในสมองเลยครับ

สองปีที่ได้โอกาสไปเรียนที่ “อเมริกา” ก็เรียกได้ว่าเป็นสองปีที่เปลี่ยนชีวิตเลยก็ว่าได้

ได้รู้ว่า “กะลา” ของเรามันใบใหญ่ขึ้นได้กว่านี้อีก

เรียนจบก็กลับมาทำงานใช้ทุนครับ

เรียนสองปี ทำงานให้เขาอีกสี่ปี เป็นเหมือนสัญญาที่เซ็นกันไว้

แต่ภายในใจก็ไม่เคยคิดว่าจำใจต้องทำ หรือจะนับวันลาออกแต่อย่างใด

เพราะงานที่บริษัทให้ทำนั้น มันมันส์มากครับ

หลังจากเรียนจบ กลับมาทำงานที่บริษัทวันแรก

หัวหน้าก็บอกเลยว่า แกเอาวิชามาใช้ให้เยอะนะ

และให้ผมนำทีมทำแผนกลยุทธ์ของปีนั้นเลย

การทำแผนกลยุทธ์ของบริษัท เกี่ยวข้องกับคนมากมาย ทำให้ได้รู้จักคนในบริษัทมากขึ้น

รวมถึงได้คุยกับ “ซีอีโอ” บ่อยครั้ง จนเริ่มจะคุ้นตาคุ้นมือกันบ้าง

สบโอกาสดี ผมก็ได้ให้ทำงานที่บริษัทยังไม่เคยมี

นั่นคือการตั้งทีม “นวัตกรรม” คนรุ่นใหม่ในองค์กร เหมือนการทำ “สตาร์ตอัพ” ภายใน

รวมถึงการตั้งกองทุนลงทุนกับบริษัทสตาร์ตอัพภายนอก ที่เรียกว่า “เวนเจอร์ แคปปิตอล (Venture Capital)”

ทำมาเรื่อยๆ มีปัญหาก็แก้กันไป ดีใจที่ได้ทำของใหม่ๆ ให้กับบริษัท

รู้ตัวอีกที ก็ทำงานหลังจากเรียนจบมาห้าปีพอดี เกินเวลาใช้ทุนมาหนึ่งปี

และด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากทำอะไรใหม่ๆ อีก

เมื่อปีที่แล้วผมก็ตัดสินใจลาออกมาทำงานในอุตสาหกรรมธนาคารครับ

เริ่มต้นชีวิตใหม่กันเลยก็ว่าได้

ที่เล่าให้ฟังเสียยาว เพราะจะบอกว่า “ทุนการศึกษา” อันนั้นเปลี่ยนชีวิตผมเลยก็ว่าได้

วันนี้ก็บอกได้เต็มปากว่า ได้พยายามทำหลายๆ อย่างให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

และก็ยังไม่ทอดทิ้งความเป็นตัวเอง ที่อยากจะ “ทดลอง” อะไรใหม่ๆ เรื่อยๆ

เวลาได้ยินน้องๆ ที่ได้ทุนบริษัทไป แล้วตัดสินใจลาออก

ผมพอจะเข้าใจได้ดีเลยทีเดียว

เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ

เขาจะรู้สึกว่า เขาทำอะไรได้มากมายมหาศาล อยากจะทำอะไรเต็มไปหมด ร้อนวิชา

ถ้าองค์กรไม่มีอะไรให้เขาทำ หรือไม่ฟังเสียงเรียกร้องของพวกเขา

และซ้ำถ้าน้องๆ เขาที่บ้านพอจะมีฐานะ

การชดใช้ทุนคืนจึงเป็น “ทางเลือก” ที่ไม่ได้ยากเกินไปนัก

เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในวัยนี้คือ “การเรียนรู้”

เวลาคือสิ่งที่มีค่า หากเสียไปกับทำงานที่ไร้สาระจำเจ

ก็คงจะไม่ฉลาด ที่จะเสียเวลา

สัญญาที่เซ็นกันไป ก็คงจะได้โอกาสเอามาพูดคุยกัน

น้องๆ หลายคนก็ต้องยอมรับนะครับว่า ถ้าคุณไม่ได้มาเป็นเด็กทุนขององค์กร

มีชื่อของเขาที่เป็นองค์กรหมื่นล้าน มีซีอีโอเขียนจดหมายแนะนำให้

ไอ้มหา”ลัยดีๆ ที่คุณเข้าไปได้ในวันนี้ ก็คงจะเป็น “มหา”ลัยในฝัน” กันต่อไป

ในมุมขององค์กรนั้น ก็คงจะมองว่าเป็นการลงทุนที่ “เสียเปล่า”

เชื่อเหลือเกินว่า “เงิน” ที่ลงไปนั้น คงจะไม่เสียดายเท่ากับ “เวลา” ที่คอยประคบประหงมน้องคนหนึ่งให้ได้ไปเรียนต่อ

ช่วยสร้าง “ตัวตน” จากเด็กน้อยที่เพิ่งเรียนจบ

ให้ “ปีกกล้าขาแข็ง” จนมาถึงวันนี้ที่นกน้อยบินออกจากอก

ในวันที่ “เร็ว” ไปยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวดอกผลจากเมล็ดที่หว่านลงไป

เสียใจ เสียดาย หรือเสียหน้า ก็ว่ากันไป ที่ดูแลเด็กเก่งๆ ไว้ไม่ได้

ผมกลับมามองตัวเอง ก็พบว่า

“งานที่สนุก” คือคำตอบทุกอย่าง

ไม่มีใครอยากลาออกครับ ถ้า “งานสนุก” และผลตอบแทนพอไหว ไม่ขี้เหร่

คุณจะรู้ได้ยังไงว่าพนักงานสนุกกับงาน

ก็แค่ลองฟัง “เสียง” ของเขาครับ

ฟังแล้วก็ “แก้ปัญหา” อย่างจริงใจ มิใช่รับไปงั้นๆ เพราะเห็นว่าพนักงานก็ยังติดทุนกันอยู่

คุณอาจจะได้ร่างกายและมันสมอง แต่จิตใจที่ไม่ได้รับการดูแล ก็คงจะเฉาในไม่ช้า

แล้วจะบอกว่า “ประหลาดใจ” ในวันที่เขาลาออก หาเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาพูดในวันที่สาย

ก็คงจะทำให้ “เสียความรู้สึก” กันเปล่าๆ

ไม่มีใครอยากเสียเวลา

ตอนที่อยู่ด้วยกันก็จงทำให้มันเป็นเวลาที่ดี

เวลาที่จากกัน จะได้มองหน้ากันติดว่า ฉันทำดีที่สุดแล้ว

การลาออกนั้น ไม่เคยเป็น “ทางเลือกอันแรก” สำหรับพนักงาน

หัวหน้าที่ประหลาดใจ เมื่อมีลูกน้องมาลาออก

มันสะท้อนให้เห็นชัดถึงความ “ไม่ใส่ใจ” นั่นเอง