ชาตินิยมกับสังคมไทย ในยุคโซเชียลมีเดีย การถือความหมายด้านเดียว อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป…

“นักวิชาการ” มองปรากฏการณ์ชาตินิยมกับสังคมไทย ในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ถือความหมายด้านเดียว อาจไม่ได้ผลเหมือนเดิมอีกต่อไป…

คําว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ยังคงใช้ได้ผลเรื่อยๆ เพราะว่าผู้ชนะย่อมเขียนประวัติศาสตร์ให้มารับใช้ตัวเอง และอะไรที่จะมารับใช้ตัวเองได้ก็ต้องกลับไปยึดโยงอยู่กับความเชื่อชุดเก่า หรือทำอย่างไรให้คนหันมาเชื่อในแบบที่พวกเขานิยาม

แม้เราจะเห็นว่าในแวดวงหนังสือมีความหลากหลายมีชุดข้อมูลหลายแบบในทางประวัติศาสตร์ แต่หนังสือที่ประสบความสำเร็จจริงๆ กลับเป็นหนังสือที่ใช้ในโรงเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนจะต้องอ่าน และพอเราถูกสร้างมาตั้งแต่เด็กๆ ต่อให้เราโตไปแล้ว คนส่วนใหญ่ยังเชื่อในชุดข้อมูลที่ตัวเองได้รับตั้งแต่วัยประถมมัธยมอยู่ดี

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล จากคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อธิบายขยายความถึงปรากฏการณ์ “ชาตินิยม” ที่ยังทรงอิทธิพลในความคิดความเชื่อบ้านเรา

ผศ.ดร.อรอนงค์อธิบายว่า ปรากฏการณ์เรื่องชาตินิยมบ้านเราที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย แล้วดำเนินมารูปแบบเดียวอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งตัวเองก็ยังแปลกใจที่บางทีผู้มีอำนาจในบ้านเมืองหรือคนใหญ่คนโตออกมาพูดว่า “เราไม่ค่อยเรียนรู้ประวัติศาสตร์” ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่จริง เพราะที่ผ่านมาเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้านเดียวอยู่ตลอดเวลาแบบนี้

เช่น ชุดความคิดเรื่องความเป็นชาติได้ทุกวันนี้เพราะความเสียเลือดเนื้อของคนกลุ่มหนึ่ง และแบบเรียนแบบนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ และคนส่วนใหญ่ก็ยังยึดโยงอยู่กับความเชื่อชุดนี้ ยังมีความคิดที่แช่แข็งเอาไว้ว่าชาติคืออะไรในความหมายของตัวเอง

ในแวดวงวิชาการจริงๆ แล้วคำว่าชาติมีความหมายที่ลื่นไหลและมีงานศึกษาอยู่มากมายหลายชิ้นว่าชาติคือชุมชน คือคน ชุมชนทางการเมืองหรือถูกสร้างขึ้นมา แต่ในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ ผู้ที่ผ่านการศึกษาภาคบังคับ จะมองคำว่าชาติในองค์รวมถึง 3 ความหมายคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถูกหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

ฉะนั้น การกล่าวหาใครว่าไม่รักชาติ เท่ากับไม่รักสถาบัน

นี่คือตัวอย่างของการยึดความหมายเข้ามาให้เป็นเรื่องเดียวกัน และสิ่งที่ถูกนำมาใช้โดยตลอดและประสบความสำเร็จ คือการไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่าไม่รักชาติ หรือไม่รักเท่าที่ฉันรัก จนคล้ายกับว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ

หรือการอ้างว่าใครทำเพื่อชาติบ้านเมืองมากกว่ากัน ในอดีตคงจะต้องวัดกันด้วยการสละชีวิตปกป้องผืนแผ่นดิน ในยุคนี้คงต้องอ้างตามที่เราเห็นในข่าวที่ดังอยู่ในช่วงที่ผ่านมาว่าใครทำความดีให้ชาติมากกว่ากัน

ยุค Social Media การใช้เรื่องชาติมาเป็นเครื่องมือมีความสำเร็จน้อยลงหรือเปล่า?

ส่วนตัวยังมองว่ายังใช้งานได้สำเร็จเหมือนเดิม แม้ว่าเราจะมี Social Media แต่เขาก็มี ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างใช้เครื่องมือนี้ ประกอบกับแนวโน้มคนมักพร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองจะเชื่ออยู่แล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ถูกนำเสนอออกมาหมุนเวียนในแวดวงที่พวกเขามีความเชื่อยังคงเป็นเรื่องเดิม ในยุคที่มีข่าวคราวมากมายและเขาสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จำนวนมากแต่เขายังคงที่จะเชื่อในเวอร์ชั่นที่เขาจะเชื่ออยู่ดี

อย่างประสบการณ์ส่วนตัวในการสอนประวัติศาสตร์ คนยังอธิบายเรื่องการเสียดินแดนในแบบเดิมๆ แบบเดียวจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนแชร์เป็นประจำ วนมาอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่ามันจะมีทฤษฎีอื่นๆ ที่ยกมาเทียบเคียง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่รับฟัง ไม่สนใจ พร้อมที่จะท่องว่าเราเสียดินแดน 14-15 ครั้งเป็นความเจ็บช้ำใจโกรธแค้น ซึ่งเขาจะเชื่อแบบนั้นก็ได้

แต่ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่อยากจะให้เกิดก็คือต้องยอมรับว่าไม่ได้มีชุดความคิดเดียว ยังมีเวอร์ชั่นอื่นยังมีคำอธิบายแบบอื่น ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว อาจจะไม่ต้องเชื่อ แต่ควรเปิดใจสักนิดหนึ่งว่ามันยังมีมุมอื่นซึ่งตอนนี้ในสังคมไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้นเลยด้วยซ้ำ

ทุกกลุ่มทุกฝ่ายยังคงยึดมั่นถือมั่นในประวัติศาสตร์ที่ตัวเองพร้อมจะเชื่ออยู่

อย่างกรณีไฟไหม้วิหารที่ฝรั่งเศสกับการแสดงออกของคนไทยบางกลุ่ม ก็เป็นผลจากแบบเรียนประวัติศาสตร์อย่างไม่รอบด้านพอ เป็นความเจ็บช้ำกับวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสเคยเอาเรือเข้ามาปิด หรือเคยมีส่วนในการยึดดินแดน ซึ่งเข้าใจว่านี่คือความสำเร็จในชุดความเชื่อนี้

ในแวดวงมหาวิทยาลัย หลายคนก็ทราบดีว่ามันไปไกลกว่านั้นแล้ว เราได้สอนเวอร์ชั่นอื่นๆ แต่ในระดับทั่วๆ ไปข้างนอกคนก็ยังพร้อมจะเชื่อข้อมูลเดิมด้านเดียวนี้อยู่ เช่นกรณีพม่าถ้ามีข่าวอะไรขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย ก็จะมีคอมเมนต์ประวัติศาสตร์ที่สำเร็จมากเรื่องเผาเรื่องเสียกรุง มาเอาทองเราไป

ในทางกลับกัน เราไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ประเทศอื่นเขียนถึงเรา อย่างเราไปทำสงครามที่ลาวเราก็ไปเผาเขาอะไรแบบนี้ เราไม่ค่อยพูดถึง หรือไม่อยากจะพูดถึงเท่าไหร่ ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำสงคราม แต่เราก็ยึดมั่นถือมั่นเฉพาะสิ่งที่เราถูกกระทำ

ส่วนตัวมองว่ากระบวนการทั้งหมดนี้มีความจำเป็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องการสร้างชาติขึ้น เพราะต้องการพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนในชาติสามัคคีกัน จากความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดทางการเมือง ถ้าไม่มีอะไรแบบนี้คงจะยาก จึงมีความจำเป็นที่จะทำ แต่เมื่อผ่านมาถึงทุกวันนี้แล้ว ควรยอมรับประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น มันไม่มีอีกแล้วที่จะมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวในทางประวัติศาสตร์ มันเป็นคำพูดที่เชยมากไปนานแล้ว ในแวดวงหนังสือทั่วๆ ไปทุกคนยังเป็นกรอบความคิดนี้อยู่เลย

ซึ่งจะว่าไป ในประเทศเราค่อนข้างมีอาการหนักอยู่ เราอาจจะไม่ค่อยได้อ่านหนังสือมากเท่าไหร่ ไม่มีความหลากหลายในการเปิดรับข้อมูล ไม่ต้องภาษาอื่นเลย แค่ในภาษาไทยเวอร์ชั่นอื่นๆ เราก็ไม่อ่าน เพราะเราจะเชื่อในแบบที่เราเชื่อ

การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ต้องแก้ไขกันทั้งองคาพยพ โดยมีการศึกษาเป็นแกนสำคัญ ซึ่งการปรับหลักสูตรกว่าจะมาถึงมหาวิทยาลัยก็ไม่ทันแล้ว คนเชื่อแบบนั้นไปแล้ว ต่อให้มีการบอกในมุมอื่น คนก็ไม่เปิดรับ

พร้อมมองกรณีเรื่องโจ-จอห์น กับการแสดงออกของกลุ่มวัยรุ่นก็เห็นแนวโน้มว่าดีขึ้น คนรุ่นใหม่เป็นแนวที่จะปฏิเสธอะไรไว้ก่อนและมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเองและอาจจะเป็นกลุ่มที่มีหัวดื้อนิดหนึ่ง บอกมาอย่างนี้ไม่เชื่อหรอกต้องไปหาด้วยตัวเองก่อน เราดูจากผลการโหวตอะไรต่างๆ วัยรุ่น-คนรุ่นใหม่ค่อนข้างมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะคิดได้ด้วยตัวเอง อะไรแบบเดิมๆ วัยรุ่นคงไม่ซื้อหรือไม่โดนใจเท่าไหร่ กรอบเดิมจึงจะใช้ได้ผลเฉพาะกลุ่มคนเดิมที่เข้าวัดไม่สนใจอะไรเท่าไหร่

แล้วถ้ามองดูก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กับเป็นคน 2 กลุ่ม 2 รุ่น ต้องยอมรับว่าอาจจะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไปฟังการปราศรัย ไม่ได้แสดงจุดยืนทาง Social Media

อาจจะเป็นกลุ่มคนที่นั่งดูทีวีอยู่ที่บ้าน รู้สึกว่าสภาพความเป็นอยู่ในทุกวันนี้โอเคดีไม่มีปัญหาอะไร ในช่วง 5 ปีที่ คสช.มีอำนาจก็มั่นคงปลอดภัยดีไม่ได้มีผลกระทบ อยู่แบบนี้ก็โอเคแล้ว

แต่ถ้าเทียบสัดส่วนแล้วเราก็จะเห็นว่ามีสัดส่วนของผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่มากและเชื่อว่าในอนาคตจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าคนรุ่นเก่าก็จะมีแต่หายไปก็จะมีคนที่เกิดใหม่เข้ามาทดแทน ในยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ได้ ความพยายามที่เข้าไปครอบงำเขาอย่างเช่นเมื่อก่อนหรือการให้ข้อมูลที่ไม่จริง มันไม่ง่ายเหมือนในอดีตแล้ว

แต่เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่เดาใจยาก บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเขาเลือกครั้งนี้แบบนี้ ครั้งหน้าเขาจะมีจุดยืนอย่างไร…