เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (3)

ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (3)

(บทสนทนาระหว่าง ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับ โรสแมรี เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข) 

แด่ประชานิยมฝ่ายซ้าย

โรสแมรี เบคเลอร์ : งั้นเราขยับไปคุยเรื่องข้อถกเถียงแด่ประชานิยมฝ่ายซ้ายก็แล้วกัน อย่างที่เธอเขียนถึงมันไว้บัดเดี๋ยวนี้ว่าควรเข้าใจประชานิยมฝ่ายซ้ายในฐานะ “โครงสร้างวาทกรรมระหว่างประชาชนกับคณาธิปไตย” เธอยืนยันว่าใน “จังหวะประชานิยม” (the populist moment) ที่เรากำลังอยู่ตอนนี้ นี่เป็นการเมืองแบบที่จำเป็นเพื่อฟื้นคืนประชาธิปไตยมาและทำให้มันหยั่งลึกลงไป และก็เนื่องจาก “ทุกวันนี้มีข้อเรียกร้องแบบประชาธิปไตยหลายหลากมากมาย” เธอจึงต้องข้ามพ้นทวิวิภาคซ้าย/ขวาไป เพื่อหาแนวพรมแดนใหม่ที่ว่านี้ซึ่งสามารถจะเปล่งประกาศเจตนารมณ์รวมหมู่ออกมาได้… เธอพอจะอธิบายเรื่องนี้ให้ฉันฟังได้ไหม?

ชองตาล มูฟ : โอเค ฉันจะลองดู เพื่อจะเข้าใจประชานิยมฝ่ายซ้าย เธอจำต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเธอเองไว้ภายในแนวทางทฤษฎีที่เฉพาะเจาะจงแนวทางหนึ่ง ข้อตั้ง (premise) แรกของแนวทางที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่ฉันเรียกว่าแนวทางแบบแยกวงแบ่งข้าง (the dissociative approach) ในการเข้าสู่ความเป็นการเมือง

ก็แล้วความเป็นการเมืองคืออะไรล่ะ? มีทางนิยามมันได้สองทางด้วยกัน ได้แก่ ทรรศนะแบบรวมวงรอมชอม (the associative view) ที่บอกว่าความเป็นการเมืองเป็นอาณาเขตแห่งเสรีภาพ แห่งการกระทำร่วมกัน และเป็นที่ซึ่งเธอควรพยายามสถาปนาฉันทมติขึ้นมา อันเป็นทรรศนะครอบงำในทฤษฎีการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย และฉันขอบอกว่าฉันใช้คำว่าเสรีนิยมตรงนี้ในความหมายกว้างที่สุดของมันเลยนะ ในนัยนี้ ฮาเบอร์มาสก็เป็นนักเสรีนิยมด้วย (หมายถึง J?rgen Habermas ค.ศ.1929-ปัจจุบัน นักปรัชญาสังคมชาวเยอรมันชื่อดังแห่งสำนักแฟรงก์เฟิร์ตซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ – ผู้แปล)

แล้วก็มีทรรศนะแบบแยกวงแบ่งข้าง (the dissociative view) ที่บอกว่าการเมืองมันเป็นเรื่องของความขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์ (antagonism) ซึ่งเป็นความขัดแย้งแบบเฉพาะเจาะจงยิ่งแบบหนึ่ง

กล่าวคือ การเป็นปฏิปักษ์เป็นความขัดแย้งแบบที่ไม่มีทางแก้ไขให้ตกไปโดยชอบด้วยเหตุผล ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ปัญหาของการมานั่งลงอภิปรายกันแล้วอภิปรายกันอีก

นี่คือเหตุผลที่ทำไมฉันวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ! (deliberative democracy) ในการเมืองนั้นบางทีก็มีการจำเป็นต้องเลือกที่เป็นโศกนาฏกรรม เพราะต้องทำการตัดสินใจในยุทธภูมิที่มิอาจตัดสินใจได้ พหุนิยมทางคุณค่าซึ่งสำหรับฉันแล้วเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับประชาธิปไตยแบบพหุนิยมได้มาถึงจุดที่เรามิอาจรอมชอมจุดยืนต่างๆ เข้าด้วยกันได้อีกต่อไป และเราต้องเลือก

นี่คือเหตุผลที่ทำไมสำหรับฉันแล้วการเมืองเป็นเรื่องของการเลือกข้างเลือกฝ่ายโดยเนื้อในของมัน ฉันวาดวางตัวเองไว้ในแนวทรรศนะแบบแยกวงแบ่งข้างนี้เคียงข้างมาคิอาเวลลี ผู้เป็นฮีโร่คนหนึ่งของฉัน (หมาย ถึง Niccol? Machiavelli ค.ศ.1469-1527 รัฐบุรุษและนักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียนผู้ได้รับยกย่องว่าริเริ่มปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ขึ้นซึ่งปลดเปลื้องตนเป็นอิสระจากอิทธิพลความคิดของปรัชญากรีกคลาสสิคและคริสต์ศาสนา – ผู้แปล) เขาเคยกล่าวว่าประชาชนนั้นแบ่งแยกกันตามภาวะความคิดจิตใจ (humori) ที่คัดง้างกันออกเป็นพวกสามัญชน (popolo) กับอภิชน (grandi) และ “ผลประโยชน์ของพวกเขาเข้ากันไม่ได้”

มันหมายความว่าการเมืองเป็นเรื่องของการที่เธอจะสถาปนาแนวพรมแดนระหว่างพวกเรากับพวกเขาอย่างไร และการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์รวมหมู่ (collective identities) เสมอ นี่มิได้หมายความว่าพวกเรากับพวกเขาจะต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป อาจจะแค่แตกต่างกันก็เป็นได้ มันมีหลักการสำคัญอันหนึ่งซึ่งจำหลักจัดวางอยู่ในตัวแบบทฤษฎีของโซชูร์ นักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (Ferdinand de Saussure ค.ศ.1857-1913 นักภาษาศาสตร์และสัญวิทยาชาวสวิส แนวคิดของเขาปูพื้นฐานให้แก่การพัฒนาสำคัญจำนวนมากของภาษาศาสตร์และสัญวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 – ผู้แปล) ผู้กล่าวว่าเอกลักษณ์ทั้งหลายย่อมเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเสมอ

โซชูร์กล่าวว่า เรามิอาจเข้าใจคำว่า “แม่” ได้หากมันไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงกับคำว่า “พ่อ”, “ลูก” และอื่นๆ ดังนั้น เธอจึงไม่เคยมีเอกลักษณ์ที่ได้แก่นสารสารัตถะของมันมาโดยอิสระจากสัมพันธภาพและบริบทเลย

ในสนามการเมืองที่ซึ่งเราต้องรับมือกับเอกลักษณ์รวมหมู่อยู่เสมอนั้น เอกลักษณ์ทั้งหลายแหล่ที่ว่าก็เชื่อมโยงสัมพันธ์กันด้วย พวกเราย่อมเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพวกเขาบางพวกอยู่เสมอ

คำถามสำคัญยิ่งก็คือจะสถาปนาแนวพรมแดนทางการเมืองระหว่างพวกเรากับพวกเขาอย่างไร การเมืองจึงมีลักษณะเลือกข้างเลือกฝ่ายอยู่โดยเนื้อในของมันด้วยประการฉะนี้

สำหรับนักเสรีนิยมในทางปรัชญาแล้ว มันไม่มีแนวพรมแดน ไม่มีการเป็นปฏิปักษ์กัน พหุนิยมของพวกเสรีนิยมนั้นเป็นพหุนิยมที่ไม่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่อยู่ในแนวคิดความเป็นการเมืองแบบแยกวงแบ่งข้าง ลัทธิมาร์กซ์ได้สถาปนาแนวพรมแดนขึ้นก็จริงอยู่ แต่แนวพรมแดนที่ว่านั้นประกอบสร้างขึ้นระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพี และนี่แหละคือจุดที่เรามาถึงประเด็นเรื่องฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา

ผู้คนมากหลายรวมทั้งพวกมาร์กซิสต์เชื่อว่าการแบ่งแยกฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาบ่งบอกบรรยายผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้นและความขัดแย้งก็เป็นเรื่องระหว่างผลประโยชน์เหล่านั้นนั่นเอง

ทว่าทุกวันนี้ในสภาพที่ทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงไป เรามิอาจจำกัดตัวเราไว้แต่ในความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพี เราได้บอกเช่นนี้ไว้แล้วตั้งแต่ในหนังสืออำนาจนำกับยุทธศาสตร์สังคมนิยม (ค.ศ.1985) และเราก็ถูกวิจารณ์แหลกเพราะมีทรรศนะดังกล่าว เมื่อโทนี่ แบลร์ กับแอนโธนี่ กิดเดนส์ ปลาบปลื้มชื่นชมอวสานของตัวแบบการเมืองแบบต่อกรกัน (the adversarial model) นั้น พวกเขาก็พูดถูกในแง่หนึ่ง กล่าวคือ เธอไม่สามารถแบ่งแยกสังคมอันเป็นสนามของความขัดแย้งออกมาตามธรรมเนียมเดิมอีกต่อไป แต่ความผิดพลาดของพวกเขาอยู่ตรงดันไปบอกว่าไม่มีความขัดแย้งขั้นพื้นฐานใดๆ อีกแล้วต่างหาก

เอาเข้าจริง เราจำต้องสถาปนาแนวพรมแดนขึ้นมาให้แตกต่างไปจากแบบที่มันเคยเป็นในตัวแบบการต่อสู้ทางชนชั้น นี่คือสิ่งที่ประชานิยมทำ กล่าวคือ มันวาดเส้นแนวพรมแดนเพื่อรองรับนับรวมข้อเรียกร้องแบบประชาธิปไตยอันหลากหลายที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้ ในหนังสือเรื่องว่าด้วยเหตุผลแบบประชานิยม (On Populist Reason, ค.ศ.2007) ของเออร์เนสโต ลาคลาว เขากล่าวว่า อันที่จริงแล้วโดยพื้นฐานประชานิยมเป็นยุทธศาสตร์ทางวาทกรรมเพื่อสถาปนาแนวพรมแดนทางการเมืองขึ้นมาระหว่างพวกต่ำต้อยด้อยฐานะกับพวกคณาธิปไตย ดังนั้น ประชานิยมจึงเป็นการทำการเมืองในแบบที่แตกต่างออกไปซึ่งมิอาจจะเข้าใจมันทางแนวคิดโดยปลอดจากสำนึกแบบแยกวงแบ่งข้างเกี่ยวกับความเป็นการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม มีวิธีต่างๆ กันมากมายหลายอย่างในการสร้างแนวพรมแดนแบบประชานิยมขึ้นมา ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับว่าเธอจะสร้างประชาชนขึ้นในด้านหนึ่งกับพวกคณาธิปไตยขึ้นในอีกด้านหนึ่งอย่างไร เราไม่ได้กำลังเอ่ยอ้างถึงศัพท์แสงที่มีสิ่งอ้างอิงเชิงประจักษ์รองรับอย่างเฉพาะเจาะจงนะคะ ของเหล่านี้เป็นสิ่งสร้างทางการเมืองสองอย่างด้วยกัน และเวลาเราพูดว่าประชาชน มันก็มีภาคส่วนสังคมต่างๆ มากมายอยู่ในนั้นซึ่งต่างก็มีข้อเรียกร้องต่างแบบกันไป…

(ยังมีต่อ)