หนุ่มเมืองจันท์ | อยู่ที่ “ใจ”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันที่ “ไทเกอร์ วู้ดส์” คว้าแชมป์มาสเตอร์ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก

ผมนั่งดูคลิปช็อตสุดท้ายของ “เจ้าเสือน้อย” ด้วยรอยยิ้ม

น่าปลื้มใจกับการกลับมาของเขาจริงๆ

ยิ่งเห็น “ไทเกอร์ วู้ดส์” เดินไปกอดลูก

ยิ่งประทับใจ

ผมเขียนถึง “ไทเกอร์ วู้ดส์” ในเพจของผม

เพราะเรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก

ความยิ่งใหญ่ของ “ไทเกอร์ วู้ดส์” ในการกลับมาคว้าแชมป์มาสเตอร์ครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ “ชัยชนะ”

แต่อยู่ที่เขา “ไม่ยอมแพ้”

มีความแตกต่างระหว่างนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ 2 คน

“ไมก์ ไทสัน” และ “ไทเกอร์ วู้ดส์”

นั่นคือ ทัศนคติต่อชีวิต

คนหนึ่งพ่ายแพ้ แล้วยอมแพ้

นับจากวันที่ “ไทสัน” แพ้ “อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์” ตอนอายุ 29 ปี

เขาเจอมรสุมชีวิตเหมือน “ไทเกอร์ วู้ดส์”

แต่ “ไทสัน” ไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้

ในขณะที่อีกคนหนึ่งแม้จะแพ้ แพ้ และแพ้

แพ้ทั้งปัญหาในชีวิตและสุขภาพที่ย่ำแย่จนต้องผ่าตัดใหญ่ถึง 4 ครั้ง

แต่เขาไม่ยอมแพ้

“วู้ดส์” อยากกลับมาชนะอีกครั้งเพื่อ “ลูก”

ลูกที่ไม่เคยได้เห็นพ่อคว้าแชมป์ในสนาม

เห็นแต่คลิปในยูทูบ

ดังนั้น ทันทีที่เขาพัตต์ลูกสุดท้ายลงหลุม

“ไทเกอร์ วู้ดส์” เดินมาหาครอบครัวของเขา

กอดลูกทั้งสองด้วย “น้ำตา”

เขาทำให้ลูกได้เห็นด้วยตาว่าพ่อของเขาคือ “แชมป์” จริงๆ

ไม่ใช่ “แชมป์” ใน “ยูทูบ”

“ไทเกอร์ วู้ดส์” สอนทุกคนด้วยการลงมือทำให้เห็นว่าต่อให้คุณล้มเหลวแค่ไหน ถ้าคุณไม่ยอมแพ้

คุณจะไม่แพ้

และถ้าเขาทำได้

ทุกคนก็ทำได้

โพสต์นี้มีคนกดไลก์และแชร์เยอะมาก

เข้าถึงคน 5 แสนกว่าคน

มีคนให้ความเห็นเกือบ 300 คน

ส่วนใหญ่จะไปในแนวทางเดียวกัน คือ “ชอบ”

แต่จะมีส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า การเปรียบเทียบ “ไทเกอร์ วู้ดส์” กับ “ไมก์ ไทสัน” ไม่ถูกต้อง

เพราะเป็นกีฬาคนละประเภท

“กอล์ฟ” ไม่ใช่กีฬาที่ปะทะกันเหมือน “มวย”

“วู้ดส์” อายุ 44 ยังตีกอล์ฟได้สบายๆ

แต่ “นักมวย” อายุการใช้งานต่ำกว่า “นักกอล์ฟ”

จะให้ “ไทสัน” ที่อายุ 53 มาชกมวยได้อย่างไร

ตอนแรกผมก็เข้าไปชี้แจง แต่เพราะระบบของเฟซบุ๊กโพสต์ที่มีคนแสดงความคิดเห็นเยอะๆ

คนที่เข้ามาใหม่จะอ่านความเห็นเก่าทั้งหมดไม่ไหว

ชี้แจงไปแล้วก็ยังมีคนตั้งคำถามแบบเดิมอีก

แม้จะไม่เยอะ

แต่ก็ไล่ตอบไม่ไหว

และคงต้องตอบยาว

ผมจึงถือโอกาส “ไม่ตอบ”

แต่เอามาเขียนในคอลัมน์นี้แทนดีกว่า

ผมเข้าใจเรื่อง “กอล์ฟ” กับ “มวย” ครับ

อายุการใช้งานนั้นแตกต่างกัน

“นักมวย” ต่ำกว่า “นักกอล์ฟ”

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “อายุ” ของ “นักมวย” ที่สามารถยืนหยัดอยู่บนสังเวียนระดับแชมป์ได้น่าจะประมาณเท่าไร

ลองทายดูสิครับ

สิ่งที่เรา “คิด” กับ “ความจริง” นั้นเป็นอย่างไร

คนส่วนใหญ่มักคิดว่านักมวยอายุเกิน 30 ปีก็ไม่ไหวแล้ว

คล้ายๆ นักฟุตบอล

แต่ “ความจริง” ก็คือ “พยัคฆ์หน้าขรึม” วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น ป้องกันแชมป์ครั้งสุดท้ายอายุ 36 ปี

“แมนนี่ ปาเกียว” ตอนนี้อายุ 40 ปีแล้วครับ

แต่ “ไมก์ ไทสัน” ตอนที่กัดหู “อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์” อายุ 29 ปี

ยังมีเวลาที่กลับมายิ่งใหญ่ในสังเวียนมวยได้ 5-6 ปีเป็นอย่างต่ำ

ชะตาชีวิตของ “ไมก์ ไทสัน” เทียบกับ “ไทเกอร์ วู้ดส์” แล้วหนักหนาสาหัสพอกัน

“ไทสัน” เจอคดีข่มขืน เข้าคุก

ชีวิตแต่งงานล้มเหลว แต่งงานมา 3 ครั้ง

มีข่าวเรื่องทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง จนโดนจับเข้าคุกอีกครั้ง

เคยโดนจับเรื่องยาเสพติด

โดนฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย

ส่วน “วู้ดส์” เจอปัญหาครอบครัวครั้งใหญ่ ถูกจับได้ว่านอกใจภรรยา และเป็นโรคติดเซ็กซ์

ภรรยาขอหย่า

ร่างกายย่ำแย่ เจ็บเข่า เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ต้องผ่าตัดใหญ่ถึง 4 ครั้ง

เขาเคยสะดุดล้มในสวนหลังบ้านแล้วลุกขึ้นไม่ไหว ต้องนอนรอจนลูกสาวมาพบ

ต้องกินยาแก้ปวด ยานอนหลับจนขับรถชนท่อดับเพลิงกลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีก่อน

กีฬากอล์ฟแม้ไม่ใช่กีฬาปะทะแบบมวย แต่ถ้าร่างกายบาดเจ็บ การขึ้นวงสะวิงแต่ละครั้งก็ทรมานไม่แพ้โดนชก

“ไทสัน” และ “วู้ดส์” มีความใฝ่ฝันเดียวกัน

ทั้งคู่อยากกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แต่ “ความมุ่งมั่น” ต่างกัน

การใช้ชีวิตนอกสังเวียน เป็น “คำตอบ” ที่ดีที่สุด

“ไทสัน” ไม่สามารถเอาชนะ “ใจ” ตัวเองได้

เขายังคงทะเลาะวิวาทกับคนหลายคน

ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ใช้เงินจนล้มละลาย

และไม่สามารถฟื้นร่างกายให้กลับมาได้

เขาเคยออกมาแถลงขอโทษแฟนมวยครั้งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในขณะที่ “ไทเกอร์ วู้ดส์” เริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริง

เมื่อรู้ว่าเป็นโรคติดเซ็กซ์

เขายอมรับและขอความช่วยเหลือ

ไปรักษาอย่างจริงจัง

ร่างกายย่ำแย่ก็ยอมผ่าตัดใหญ่ถึง 4 ครั้ง

ฟื้นฟูร่างกายทุกอย่างเพื่อกลับมาตีกอล์ฟได้เหมือนเดิม

ที่สำคัญนอกจาก “ความใฝ่ฝัน” ที่อยากกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

เขายังมี “ลูก” เป็น “แรงบันดาลใจ”

อยากเป็นแชมป์ให้ลูกเห็นด้วยตาตัวเอง

“แรงบันดาลใจ” เพื่อ “คนอื่น” เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า “ความใฝ่ฝัน” เพื่อตัวเอง

ผมนึกถึง “จอร์จ โฟร์แมน” ที่เคยเป็นแชมป์โลก

เขาแขวนนวมหลังพ่ายแพ้ “มูฮัมหมัด อาลี” ตอนอายุไม่ถึง 30 ปี

ไปเป็นนักบวชอยู่นาน

“โฟร์แมน” มีมูลนิธิช่วยเหลือเด็กยากจน

ต้องเรี่ยไรเงินบริจาคจากคนทั่วไป

จนวันหนึ่ง เขารู้สึกว่าทำไมต้องขอเงินคนอื่น

ทำไมเขาไม่หาเงินเข้ามูลนิธินี้เอง

“แรงบันดาลใจ” เพื่อคนอื่นนี้เองทำให้เขากลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้ง

และกลายเป็น “แชมป์โลก” ในที่สุด

ตอนอายุ 45 ปี