เปลี่ยนหัวเพื่อไทย ทำไมต้อง “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ?

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” กลับมาเปรี้ยงปร้างอีกครั้ง หลังจากมีการปล่อยกระแสข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนตัว “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” จาก “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” แม่ทัพคนเดิมที่ดูแลมานาน

แม้กระแสข่าวลือดังกล่าวยังไม่เป็นจริงในช่วงนี้ แต่หากมองไปในวันข้างหน้า หาก “พรรคเพื่อไทย” ไม่สามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่งกับอีกฟากฝั่งได้ พรรคก็ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่า “พล.ต.ท.วิโรจน์” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ไม่ได้เข้าสภาแม้จะถูกวางให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยก็ตาม เนื่องด้วยพรรคเพื่อไทยทำคะแนนโอเวอร์แฮงก์ในระบบแบ่งเขตไปแล้ว พรรคเพื่อไทยจึงไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

ดังนั้น หากเกมในสภาพัดพาให้เรือฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไปสู่เกาะฝ่ายค้านจริง ต้องหาคนที่จะมานำทัพในเกมสภาใหม่ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ซึ่งคนคนนั้นจะต้องเป็น ส.ส. และเป็นคนที่มีลูกล่อลูกชน และทันเกมทุกฝ่ายอยู่พอสมควร

มองซ้ายมองขวาหาจาก ส.ส.ทั้งหมดที่คาดว่าจะได้เข้าสภา ชื่อ “สมพงษ์” ดูเหมือนจะเข้าล็อกคุณสมบัติเสียแทบทุกอย่าง

เหตุที่ต้องเป็น “สมพงษ์” คืออะไร?

คำตอบคือ บุคลิก และผลงานจากที่เคยได้รับมอบหมายค่อนข้างเป็นที่ประจักษ์ นอกจากการเป็น ส.ส.หลายสมัย เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และการเป็นผู้ใหญ่ที่คนในพรรคเคารพแล้ว

ก่อนหน้านี้ “เฮียพงษ์” ยังเคยเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งทั่วไปของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มาแล้ว

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นจะเป็นโมฆะ แต่ก็ทำให้ได้เห็นฝีไม้ลายมือในการจัดการทั้งเรื่องคน เรื่องงาน ไปจนถึงการเคลียร์และคลี่คลายสถานการณ์ในพรรคของคนคนนี้ได้เป็นอย่างดี

หลังการรัฐประหาร ชื่อ “สมพงษ์” หายเงียบไปพักใหญ่ แต่ไม่ได้หายไปเลย เพราะเขากลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะ “หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม” พรรคเครือข่ายหนึ่งในฟากฝั่ง “เพื่อไทย”

แต่ต่อมาต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนให้ “สมพงษ์” ลาออกจาก “พรรคเพื่อธรรม” ส่งไม้ต่อให้ “นลินี ทวีสิน” รองหัวหน้าพรรค ขึ้นนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน แล้วตัวเขากลับมาลงสมัครสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่เชียงใหม่แทน

เหตุที่ “เฮียพงษ์” ต้องสละเก้าอี้หัวหน้าพรรค มาลงสมัคร ส.ส.เขตนั้น เนื่องจากช่วงแรกมีการจัดวางวางตัว “นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์” ลูกชายสุดรักของ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ลงชิงชัยในเขต 5 เชียงใหม่ ในนาม “พรรคพลังประชารัฐ”

แน่นอนว่าตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา “บุญทรง” คือผู้กว้างขวางในเมืองเชียงใหม่ ทั้งการเป็นมือเป็นไม้ให้กับ “นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์” เจ้าแม่กลุ่มวังบัวบาน แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย และการเป็นคนคอยจัดการวางตัวคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในท้องถิ่น

คนของ “นายบุญทรง” กระจายอยู่ทั้งใน อบต. อบจ. ไปจนถึงระดับชุมชน “นายบุญทรง” ดูแลทุกระดับจนกระทั่งโดนรัฐประหาร และเจ้าตัวถูกพิษทางการเมืองจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

ดังนั้น การที่ “พรรคพลังประชารัฐ” เลือกดูดตัว “เจ้าป้ำ” ลูกชาย “บุญทรง” ไป พร้อมวางตัวให้ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตที่ “บุญทรง” หยั่งรากไว้แน่นปึ้ก ทำให้ “เพื่อไทย” นิ่งนอนใจไม่ได้ แม้จะเป็นพื้นที่สีแดงแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยก็ตาม

พรรคจึงต้องดึง “สมพงษ์” มวยใหญ่ในตำนานของพรรคมาลงแข่ง เพราะบารมียังมีอยู่คับ ชั้นเชิงการหาเสียง และการทำพื้นที่ รวมถึงการจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อให้ได้รับชัยชนะก็เหนือกกว่าคู่แข่งหลายประตู

เรียกว่าได้ “สมพงษ์” มายืนสู้ในเขตนี้เท่ากับปิดประตูเสียพื้นที่ของพรรคได้สนิท

ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แม้ “เจ้าป้ำ” จะไม่ได้ลงสู้ชิงเขต แต่ “เฮียพงษ์” ก็กวาดคะแนนเขต 5 จังหวัดเชียงใหม่ ห่าง “ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่” คู่แข่งมาชนิดถล่มทลาย

ก่อนการเลือกตั้ง มีข่าวผ่านมาให้ได้ยินว่า “เพื่อไทย” วางตัว “นายสามารถ แก้วมีชัย” อดีต ส.ส.เชียงราย และมือแม่นกฎหมายคนหนึ่งของพรรคเป็น “ประธานรัฐสภา”

แต่เมื่อทราบว่า “นายสามารถ” เสียเก้าอี้ ส.ส.เชียงราย เขต 1 ให้กับน้องใหม่แกะกล่องจาก “พรรคอนาคตใหม่” อย่าง “นายเอกภพ เพียรพิเศษ”

ทำให้ต้องมีการปรับแผนกันขนานใหญ่หลังทราบผลการเลือกตั้ง ชื่อ “สมพงษ์” มาอีกครั้ง เพราะเจ้าตัวได้ที่นั่งในสภาในฐานะ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยแล้วแน่นอน

โดยแหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคเผยว่า พรรคเล็งวางตัว “สมพงษ์” ชิงเก้าอี้ “ประธานรัฐสภา” เพราะมองแล้วเห็นว่า “ท่านสมพงษ์” มีคุณสมบัติครบถ้วน มีทั้งบุคลิกบุ๋นและบู๊ มีความรู้ความสามารถ รวมถึงมีประสบการณ์และชั้นเชิงทางการเมืองจนเชื่อว่าจะสามารถจัดการเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาได้

แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดอะไรมากนัก เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ผลคะแนนการเลือกตั้งที่แน่นอน และไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ผลจะออกมาอย่างไร

การพูดไปก่อนว่าจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรครับศึกอย่างนั้นเสมือนเป็นการยอมรับการเป็นฝ่ายค้านกลายๆ ซึ่งพลพรรคเพื่อไทยยังเชื่อว่าพรรคยังมีสิทธิโดยชอบที่จะเป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองก็ดี

ด้วยท่าทีจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจก็ดี ทำให้หลายฝ่ายหลายคนในพรรคเพื่อไทย ตั้งวงถกกันเรื่องการเป็นฝ่ายค้าน

เพราะดูทรงแล้ว หากการตั้งรัฐบาลผ่านการเลือกนายกฯ ใช้ ส.ว. 250 คน ลงมาร่วมโหวตด้วย เท่ากับปิดประตูพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลทันที

เพราะไม่ว่าจะนับ จะรวมอย่างไร คะแนนก็คงไม่อาจฟาดกับ 250 เสียง ส.ว. บวกกับเสียงพรรคพลังประชารัฐและเครือข่ายได้แน่

การเดินเกมในฐานะฝ่ายค้านในสภาที่มุ่งล้มรัฐบาลเสียงข้างน้อยจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ และต้องวางเกมเพื่อขยับตัวขุนพลในกระดานกันตั้งแต่เนิ่นๆ

หาก “เพื่อไทย” สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ทุกอย่างก็ง่ายไปหมด จะขยับทำอะไรก็เป็นไปได้

แต่หากตกลงหลุมได้เป็นฝ่ายค้าน สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายจะต้องทำคือ

1. ต้องชิงตั้งประธานสภาให้ได้ก่อน ซึ่งหากตั้งได้ก็เท่ากับว่าเพื่อไทยและเครือข่ายมีเสียงข้างมากในสภา แม้ ส.ว. 250 คนจะลงมาร่วมโหวตนายกฯ แต่ก็จะเป็นหลักประกันได้ว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่รอพลทหารฟากเพื่อไทยรุมแทงจนสะดุด ติดขัด และไปต่อไม่ได้ในสภาผู้แทนราษฎรที่ปราศจากเสียง ส.ว.

และ 2. ต้องวางตัวเปลี่ยนหัวทัพคนใหม่ ดังนั้น หากถึงวันที่ชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายจะต้องเป็นฝ่ายค้านในสภาแล้วจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่โดยการเฟ้นหาจากบรรดา ส.ส.เขตที่มีอยู่ เพื่อมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แม้จะถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึกก็ต้องยอม

ซึ่งเมื่อถึงนาทีนั้น ทั้งชื่อ “สมพงษ์” ทั้งชื่อ “ไพจิต ศรีวรขาน” ทั้งชื่อบุคคลที่อยู่ในพรรคเครือข่ายที่เคยนั่งบนบัลลังก์ประธานสภามาแล้วอย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา”

หรือชื่อคนรุ่นใหม่แกะกล่องอย่าง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ก็มีเสียงเปรยให้ได้ยินว่าอาจจะถูกเสนอชื่อให้ชิงเก้าอี้ประธานสภาด้วยเช่นกัน