องค์กรสีกากี 2559 ตอบโจทย์ปฏิรูปตำรวจ! ปี 2560 ความหวังรำไร ในมือ คสช.

ตลอด พ.ศ.2559 การเคลื่อนขับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรที่มีกำลังพลกว่า 2.4 แสนนาย เป็นไปอย่างช้าๆ

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เห็นและเป็นไปภายใน “รั้วปทุมวัน” ตลอดปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเฉพาะโครงสร้างในส่วนพนักงานสอบสวน ชื่อเรียกพนักงานสอบสวน ที่จนถึงขณะนี้เริ่มลงตัว

ทว่า ในส่วนอื่นๆ ที่สังคมคาดหวัง ข้าราชการตำรวจคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีอำนาจ “ทุบโต๊ะ” ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก

หากว่านี่คือหน่วยงานที่หลายภาคส่วน นักคิด นักเคลื่อนไหวในสังคม มองว่าจำเป็นต้องยกเครื่อง “ปฏิรูป” ตามโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2557 ตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การขับเคลื่อนองค์กรสีกากีใน 1 ปีที่ผ่านมา อาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าใด

ตำรวจไทยดีขึ้นหรือไม่ ตัวชี้วัดอยู่ที่ความพึงพอใจอย่างแท้จริงของประชาชน ความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา การนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคุณภาพการทำงาน คุณภาพชีวิต และความมั่นคงในอาชีพของข้าราชการตำรวจ

1 ปีที่ผ่านมา ตำรวจไทยเป็นอย่างไร?

ในสายตาประชาชน ตำรวจไทย พ.ศ.2559 สอบผ่านหรือไม่

เช่นเดียวกับการเดินหน้า “ปฏิรูปตำรวจ” ที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตีปี๊บกันในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นไปได้จริงหรือไม่ภายใต้ปัจจัยด้านงบประมาณ กำลังพล เป็นเรื่องที่ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องหาคำตอบ เปิดปม และคลายปม

 

ปี2559 ที่สื่อโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทย ส่งผลให้ตำรวจถูกตรวจสอบมากขึ้น คลิปหลุด คลิปลับ คลิปเสียง ภาพแอบถ่าย ถูกใช้เผยแพร่ เพื่อฟ้อง ตั้งคำถาม สะกิดเตือนการทำงานของตำรวจ ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งสื่อโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกช่องทางในการยกย่อง ชมเชย ให้กำลังใจข้าราชการตำรวจที่ทำดี

แม้ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ที่การตรวจสอบและตั้งคำถามจากภาคประชาชน ภาคสื่อกระแสรองเข้มข้น ทดแทนสื่อกระแสหลักที่ถูกคุกคามลดทอนบทบาท แต่เสียงด้านลบต่อพฤติกรรมตำรวจก็ใช่จะลดน้อยลง!?

อย่างไรก็ตาม นโยบาย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถือเรื่องการรับฟัง การตรวจสอบจากภาคประชาชน ภาคสังคมเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องไปแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นมิติที่ดี ที่ผู้บังคับบัญชาของ ตร. มองเห็นความสำคัญ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนคนหนึ่งเข้าร้องทุกข์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่า “ขึ้นโรงพักให้ตำรวจช่วยทำคดีญาติที่เสียชีวิต อย่างมีเงื่อนงำ พนักงานสอบสวนขอเงินค่าทำคดี 4,000 บาท โดยบอกว่าถ้าได้เงินจะทำให้ คดีมีค่าใช้จ่าย เงินจำนวนนี้ต้องจ่ายหรือไม่” ชายคนนี้ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเอง เมื่อเดือนที่ผ่านมา

และบอกว่า หากตำรวจทำคดีให้จริงๆ มากกว่านี้ก็ยินดีจ่าย เพียงแต่ไม่มีความรู้จึงไม่ทราบว่า เป็นเงินที่ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ มิหนำซ้ำ เหตุเสียชีวิตอย่างมีพิรุธเกิดขึ้นข้ามเขตท้องที่ ผ่านมา 2 เดือน ตำรวจ 2 ท้องที่เกี่ยงกันทำคดี อ้างผิดข้อกฎหมาย!?

นี่คือเรื่องจริง จริงกว่าผลโพลสำนักใดๆ ที่ประชาชนยังสัมผัสได้จริงๆ ในยุคนี้ เกิดขึ้นบนโรงพัก ด้านหน้า หัวใจของงานตำรวจ งานที่ต้องดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่บริหาร ปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเคลียร์ให้ชัด ตอบให้แจ้ง แก้ไขให้ได้

 

ด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงานและความมั่นคงในหน้าที่การงานของข้าราชการตำรวจ เป็นเรื่องที่ถูกโฟกัสอย่างมากในปีที่ผ่านมา

เมื่อกลางเดือนธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ ให้สัญญาว่าจะดูแลตำรวจในเรื่องสวัสดิการที่อยู่อาศัย เครื่องมือการทำงาน เงินพิเศษ เพื่อให้ตำรวจมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ยังผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสมความคาดหวังของประชาชน เป็นเหมือนพันธสัญญาจากผู้นำรัฐบาลที่จะช่วยผลักดัน แต่ก็มีหมายเหตุ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณและความมีฐานะของประเทศด้วย

ปีที่ผ่านมา คสช. เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือ แก้ปมติดขัดในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ผ่านการออกประกาศ คำสั่ง ม.44 เมื่อปลดล็อกปัญหา เพราะว่า “การแต่งตั้งโยกย้าย” เป็นเรื่องใหญ่ที่เหล่าข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะระดับสัญญาบัตร ให้ความสำคัญ เพราะนี่คือความมั่นคงในหน้าที่การงาน ที่ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิต ทั้งครอบครัว และเศรษฐกิจ!!

ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจถูกจับตามอง และมองในแง่ลบมาตลอด

ปีที่ผ่านมา คสช. คล้ายกับว่าแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนการใช้อำนาจ ให้อำนาจในการแต่งตั้งเสียใหม่

ซึ่งผลลัพธ์จากการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะในวาระแต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการประจำปี 2558 หากมองโดยสุจริตใจ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และผู้เกี่ยวข้อง ย่อมทราบดีว่าเป็นเช่นไร เสียงจากคนในหน่วย เสียงจากคนรอบข้าง สะท้อนชัดเหลือเกิน

หากการคลายปมเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ เป็นโจทย์ที่ถูกยกมาปฏิรูปตำรวจ กระบวนการการแต่งตั้งที่เกิดขึ้นตลอดปี 2559 ฉายชัดให้เห็นแล้ว ว่ากำลังเดินหน้าปฏิรูปจริงหรือไม่?!

 

ก้าวไปข้างหน้า สู่ปี 2560 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งลงทั่วโลก ส่งผลให้อาชญากรจำเป็นเกิดขึ้นได้ง่าย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาชญากรรมรูปแบบใหม่ท้าทายตำรวจไทย การบริการประชาชนอย่างเป็นมิตร อำนวยความยุติธรรมอย่างข้าราชการไม่ขูดรีด เรียกรับเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ตกทุกข์ต้องการได้รับจากตำรวจ การใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมของผู้มีอำนาจในการให้คุณ ให้โทษ โปรโมต โยกย้าย สนับสนุนคนเก่ง คนดี วางคนเหมาะสมกับงาน เป็นประกายความหวังที่เหล่าข้าราชการตำรวจอยากให้เกิดขึ้นในปีหน้า 2560

ปฏิรูปตำรวจไทย ทำให้ตำรวจไทยเป็นที่รักของประชาชน ทำให้ตำรวจรักความเป็นตำรวจ ไม่ยากเกินไปในยุค คสช. ในมือ พล.อ.ประวิตร ผู้กำกับดูแล

และผู้นำ ที่ยังชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา