บทวิเคราะห์ : อ่านโรดแม็ปจัดการ “ขยะพลาสติก” ของไทย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โลกเดินหน้าไปไกลแล้วกับกระบวนการขจัดขยะพลาสติก แต่ในบ้านเราร่างโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติกเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

เอาเถอะ ถึงมาอย่างช้าๆ อืดๆ อาดๆ ก็ยังดีกว่าไม่มา

ร่างโรดแม็ปกำหนดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในระยะเวลา 12 ปี

เริ่มจากปี 2561-2573 จะจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงๆ จังๆ อย่างมีระเบียบแบบแผน

 

เป้าหมายแรกกำหนดไว้ว่าภายในปี 2565 ต้องลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด แล้วใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตามเป้าหมายนี้จะลดเลิกพลาสติก 3 ชนิดภายในปี 2562

1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap Seal)

มีการรณรงค์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาให้ภาคเอกชนเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดเพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ท่อระบายอุดตัน และเมื่อไหลลงไปสะสมในแหล่งน้ำทำให้สัตว์น้ำเสียชีวิตเพราะกลืนกินพลาสติกชนิดนี้เข้าไป

2. พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (OXO)

เป็นพลาสติกชนิดใส่สารเติมแต่งให้ถุงเปราะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อหวังให้ย่อยสลายโดยเร็ว (Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable) ในความเป็นจริงปรากฏว่าถุงชนิดนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ตรงกันข้าม เมื่อมันเปราะบางแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ยากแก่การกำจัดและไม่สามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อีกเนื่องจากเปราะบางเกินไป

3. พลาสติกไมโครบีด (Microbead)

พลาสติกชนิดนี้ได้รับการความนิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ใช้ผสมในสบู่เหลว ครีมขัดหน้า ยาสีฟัน

นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบพบว่าไมโครบีดสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

แค่อาบน้ำด้วยครีมที่มีส่วนผสมไมโครบีดครั้งเดียว พบว่าเม็ดพลาสติกชิ้นขนาดจิ๋วไม่เกิน 5 มิลลิเมตรหลุดเข้าไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมราว 1 แสนเม็ด

ทั่วโลกจึงประกาศห้ามใช้ไมโครบีด เพราะสัตว์ทะเลจำนวนมากกลืนกินเม็ดพลาสติกชนิดนี้เข้าไป

ส่วนพลาสติกอีก 4 ชนิดได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว โฟมใส่อาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และหลอดพลาสติก ตามเป้าหมายจะลดหรือเลิกให้ได้ภายในปี 2565

 

เป้าหมายที่ 2 กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2570 จะนำขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในขั้นตอนกำจัดพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลอย่างถูกวิธีแบ่งเป็น 3 มาตรการ

มาตรการ 1 ลดการเลิกขยะพลาสติก ตรงแหล่งกำเนิด จะมีการสนับสนุนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

มาตรการที่ 2 ลด เลิกใช้พลาสติก ตรงขั้นตอนการบริโภค จะขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

มาตรการที่ 3 จัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยจะส่งเสริม สนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่การนำกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์

 

คุณประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้แจกแจงรายละเอียดกลไกในปฏิบัติการลดเลิกขยะพลาสติกว่า จะมีคณะทำงาน 3 ชุด อยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ได้แก่

1) คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก

2) คณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์

3) คณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก

คณะทำงานจะรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก และสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้กับประชาชนและผู้บริโภค ลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) ทั้ง 7 ชนิด

สำหรับผู้ประกอบการ ภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้วงเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำสำหรับการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ควบคู่ไปกับการผลักดันเร่งออกกฎหมายใหม่เป็นกฎหมายเฉพาะด้านการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้บริหารจัดการ ควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างครบวงจร โดยผู้ผลิต/ผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก เช่น ภาษีพลาสติก การกำหนดกฎระเบียบด้านการผลิตและแจกจ่ายถุงพลาสติก เป็นต้น รวมทั้งติดตามประเมินผลการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นไปตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ยังส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลเพื่อเรียกคืนขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอกลไกการส่งเสริมสนับสนุนการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ (Circular Economy) และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายในกรณีที่พลาสติกรีไซเคิลได้ยากหรือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการจัดการขยะพลาสติก

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษปิดท้ายว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการบริหารจัดการขยะพลาสติก แต่ที่ผ่านมาหลายๆ หน่วยงานจากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาจากขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั้งทางบกและทะเล จึงร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในรูปแบบต่างๆ

 

ถ้าทำได้ตามเป้าหมาย กรมควบคุมมลพิษคาดว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตัน/ปี

ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาท/ปี

ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอย พลาสติก โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่

ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 1.2 ล้านตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

ถ้านำพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง

หรือทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์

สามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ ประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นแผนปฏิบัติการลดขยะพลาสติกที่ประเทศไทยได้ลงมือทำไปแล้วและเตรียมจะทำต่อไป