จรัญ พงษ์จีน : ทางเลือก ‘ประชาธิปัตย์’ ในพื้นที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

จรัญ พงษ์จีน

ผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 “หักปากกาเซียน” ทุกสำนักลงอย่างราบคาบ คือการพ่ายแพ้แบบหมดรูปของ “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด ส.ส.ทั้งเขตเลือกตั้ง และ “บัญชีรายชื่อ” ตัวเลขยังไม่เป็นทางการได้แค่ 52 ที่นั่ง

เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 4 มีฐานคะแนนรวม 3,947,726 คะแนน ลำพังแพ้ “พรรคเพื่อไทย” คู่แข่งตลอดกาลนั้นพอทำเนา เอาใจช่วย แต่พ่ายพรรคใหม่ “พลังประชารัฐ” และแม้กระทั่ง “อนาคตใหม่”

พื้นที่ซึ่งเคยเข้มแข็งอย่างสนามเลือกตั้งภาคใต้ เคยยึดครอง ส.ส.เกือบยกกระดาน ครั้งนี้ 50 ที่นั่ง “ประชาธิปัตย์” รักษาเก้าอี้ไว้ได้เพียง 22 ที่นั่ง เสียพื้นที่ให้คู่แข่งคือพลังประชารัฐไป 13 เขต ภูมิใจไทย 8 เขต พรรคประชาชาติ 6 เขต และรวมพลังประชาชาติไทย 1 เขต

เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาดแล้ว “ขาใหญ่” ที่ผูกปี ส.ส.มาหลายสมัย ระดับ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” จากพัทลุง “วิทยา แก้วภราดัย” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช “วิรัตน์ กัลยาศิริ” และ “ศิริโชค โสภา” อดีต ส.ส.สงขลา ล้วนแล้วแต่สอบตกอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

สนามเมืองหลวง “กทม.” ฐานเสียงแข็งโป๊ก เคยครองแชมป์มาเกือบตลอด ศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 จาก ส.ส.เขตที่มีอยู่ทั้งหมด 35 ที่นั่ง “ประชาธิปัตย์” ยึดหัวหาดไปถึง 23 เสียง

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเก้าอี้ให้ชิงชัยกัน 30 เสียง เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ประชาธิปัตย์ถูกล้างกระดานสูญพันธุ์ ไม่เหลือที่นั่ง ส.ส.ไว้เลยสักเก้าอี้เดียว “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-อนาคตใหม่” แย่งแต้มไปหมด

ถือว่าพ่ายแพ้ชนิดยับเยินที่สุด ถูกต้องแล้วที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ต้องแสดงสปิริตประกาศลาออกจากตำแหน่ง ตามที่เคยประกาศให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมา “ต่ำร้อย” พร้อมจะไขก๊อก

การเลือกตั้งเป็นสิ่งไม่เที่ยง กระแสนิยมไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนไปตามสถานการณ์ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำ ยังขบไม่แตก สรุปไม่ได้ว่ามาจากสาเหตุอันใด

แต่ต้องยอมรับว่า การยึดอำนาจของ “คสช.” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปัตย์มีส่วน ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน เห็นดีเห็นงามกับรัฐประหาร อ้างว่า “ประเทศชาติ บ้านเมืองสงบ” จุดยืนเดิมเปลี่ยนไป

ระยะหลังๆ ต่างหาก “อภิสิทธิ์” หัวหน้าพรรค เริ่ม “เห็นต่าง” บ้างในบางประเด็น กระทั่งช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2562 จึง “ตาสว่าง” ทำคลิปเผยแพร่ ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า “ฟังชัดๆ นะครับ ผมไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเผด็จการของ คสช.”

แต่เสมือนช้าไปแล้วต๋อย เพราะพรรคการเมืองอื่นๆ แสดงจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ต้น แบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้เรียบร้อย ไม่ “ประชาธิปไตย” ก็ “เผด็จการ”

มาช้า แล้วยังถูกมองว่าทำหัวสูง ฉลาดปราดเปรื่องอวดใส่คนอื่น เลยเสียมวยไม่เป็นท่า หายนะก็ตามมา ติดลบทั้งขึ้นทั้งล่อง ที่สำคัญคือ แฟนคลับประชาธิปัตย์ สมาชิกจัดตั้ง ที่เคยสนับสนุนมาตลอดทุกสมัย

ที่เกลียดและกลัว “ผีทักษิณ” เข้ากระดูก พากันถอยทัพ หันไปสนับสนุน เทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ ที่ชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ตอบโจทย์ได้ชัดจากสนามเลือกตั้งปักษ์ใต้และกรุงเทพมหานคร ฐานที่มั่นใหญ่ประชาธิปัตย์แตกกระจัดกระจาย

 

แม้ “ประชาธิปัตย์” จะพ่ายแพ้หมดรูป ได้ที่นั่ง ส.ส.จาก 2 ระบบ มา 50 ที่นั่งปริ่มๆ แต่ผลของการเลือกตั้งดังที่ทราบ การเกิดสภาพ “เดดล็อก” การจัดตั้งรัฐบาลเกิดความยุ่งยาก ไม่ลื่นไหล จับขั้วกันลงตัวลำบาก ชนิด “โคตรเหนื่อย” ทั้งสองฝ่าย

ฝั่งไม่เอา “บิ๊กตู่” ผนึกกำลังกันเหนียวหนึบๆ ประกอบด้วย “เพื่อไทย” 137 เสียง + “อนาคตใหม่” 80 + “เสรีรวมไทย” 10 + “ประชาชาติ” 6 + “เพื่อชาติ” 5 ตัวเลขเกาะกลุ่มแตะ 240 ที่นั่ง

หาตัวเลขมาสมทบทุนอีก 10 กว่าเสียง ก็สามารถผ่าทางตันทะลุ 250 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่อีกขั้ว ที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” คืนสู่ทำเนียบนามนายกรัฐมนตรี มีแนวร่วมประกอบด้วย “พลังประชารัฐ” 116 เสียง + “ภูมิใจไทย” 51 + ชาติไทยพัฒนา” 10 + “รวมพลังประชาชาติไทย” 5 ที่นั่ง และ “ชาติพัฒนา” กับพรรคขนาดเล็ก ที่ได้รับเลือกตั้งมาอีกพรรคละ 1 เสียง รวม 10 เสียง เบ่งเต็มที่แล้วมีฐานสนับสนุนเกิน 200 ที่นั่งแค่นิดเดียว

แม้จะกุมความได้เปรียบตรงที่มี “พรรค ส.ว.” 250 เสียงเป็น “ฝักถั่ว” สนับสนุนตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็จริง แต่เป็นรัฐบาลที่สุ่มเสี่ยง ราวกับป่ายปีนภูเขาสูงชัน บริหารไปได้ไม่กี่น้ำก็หล่นตุ๊บ ทั้ง “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี” หรือ “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” เพราะพรรค ส.ว.เข้าไปเป็น “ตัวช่วย” ไม่ได้

ด้วยเงื่อนไขของการฟอร์มรัฐบาล ที่เกิดสภาพ “เดดล็อก” ดังกล่าว ทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งศึกเลือกตั้งพ่ายแพ้ชนิดราพณาสูร แต่ความพ่ายแพ้ดังกล่าวเป็นเรื่องหนึ่ง แต่มีความหมายทางการเมืองมากขึ้นมาทันที

เปลี่ยนสภาพเป็น “พรรคตัวแปร” ที่สำคัญอย่างยิ่ง เหนือ “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เสียอีก

ปัญหาจึงอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถ้ารวมทัพกับซีก “พลังประชารัฐ” หนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ทุกอย่างก็จบ แต่กรณีที่ตัดสินใจเป็นขั้วที่สาม “ฝ่ายค้านอิสระ” ขึ้นมาเมื่อใด การฟอร์มรัฐบาลก็ต้องสะดุด

ด้วยประการดังกล่าว ในวันที่ 15 พฤษภาคม พรรคประชาธิปัตย์นัดประชุมใหญ่ เพื่อเคาะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดรักษาการ “องค์ประชุม” ที่มีสิทธิลงคะแนนมีทั้งหมด 307 คน ตามข้อบังคับพรรค

ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส.ทั้งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ-กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า-อดีต ส.ส.-อดีตรัฐมนตรี-อดีตหัวหน้าพรรค

กรรมการชุดใหม่ จะเป็นคณะที่ตัดสินใจนำพาประชาธิปัตย์ไปทางสายไหน ระหว่าง “ร่วมรัฐบาล” หรือ “ฝ่ายค้านอิสระ”

มีข่าวคลุกวงในระบุว่า บุคคลที่จะได้รับแรงหนุนเสนอชื่อขึ้นชิงหัวหน้าพรรค นำธงประชาธิปัตย์คนต่อไป ตอนนี้มีชื่อปรากฏขึ้นมาหลายคน ประกอบด้วย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรคเป็นตัวยืน

คนอื่นมี “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรรคสาย กทม. ตามด้วย “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

และดีไม่ดีอาจจะมี “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าฯ กทม. มีชื่อเข้าร่วมแจม

สายแข็งสุดชั่วโมงนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ “อู๊ดด้า จุรินทร์” เพราะได้แรงหนุนจาก “3 อดีตหัวหน้าพรรค”

ทั้ง “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ชักธงเชียร์

ส่วนจะร่วมรัฐบาลหนุน “บิ๊กตู่” หรือ “ฝ่ายค้านอิสระ” เห็นว่า “ต้องดูทางลม”