ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | จากโจด่าพ่อจอห์น : เมื่อ ‘เผด็จการ’ เปลี่ยนประเทศสู่ ‘วัฒนธรรมอำนาจเถื่อน’

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หัวใจของประชาธิปไตยคือหลักการเรื่องคนเท่ากันและทุกคนต้องได้ควบคุมชีวิตตัวเอง นักวิชาการฝรั่งบางคนจึงบอกว่า “โซเชียล” ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คคือหนึ่งในสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในสังคมมนุษยชาติ ต่อให้ในแง่ธุรกิจแล้วมันจะเป็นอุตสาหกรรม IT ที่อยู่ภายใต้ผู้บริหารไม่กี่คนก็ตาม

ในโซเชียลทั้งฝรั่งและไทย ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คทำให้ความคิดของทุกคนมีสิทธิแพร่หลายผ่านเครือข่ายสังคมไปสู่คนวงกว้างไม่รู้จบ โซเชียลคือสื่อที่เสียงของเอกบุคคลมีโอกาสถ่ายทอดสู่โลกโดยเสมอภาคกว่าในอดีต เช่นเดียวกับคำวิพากษ์, ด่าทอ หรือดูหมิ่นเหยียดหยามที่มีโอกาสไหลบ่าแรงขึ้นด้วยเหมือนกัน

ห้าปีในระบอบ คสช.คือห้าปีที่คนไทยเห็นว่ารัฐใช้กฎหมายและอิทธิพลเพื่อปกครองด้วยความลวง สื่อไม่พูดตรงๆ เพราะกลัวจอดำ ส่วนคนไทยไม่แสดงความเห็นโดยเปิดเผยเพราะกลัวทหารอุ้มเข้าค่าย, โดนจับ ฯลฯ จนสังคมไม่มี ”บุคคลสาธารณะ” และ “พื้นที่สาธารณะ” เพื่อดีเบทเรื่องส่วนรวมในความหมายที่แท้จริง

ในโลกที่ปลายกระบอกปืนจ่อที่ปลายกระเดือกประชาชนจนทุกคนต้องปิดปากตัวเอง “โซเชียล” ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเป็นเขตปลดปล่อยของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐเยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเพราะรัฐไม่รู้ว่าใครเป็นใครใน “โซเชียล” หรือเพราะทุเรศทุรังที่จะไล่จับคนซึ่งแสดงแสดงออกเอ่อท่วมโลกออนไลน์

ด้วยเหตุนี้ แม้เครือข่ายของทหารการเมืองจะยึดครองตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ, องค์กรอิสระ และองค์กรมหาชนให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบ คสช.” ไปทั้งหมด “โซเชียล” กลับเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งอะไรที่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจล้วนพังพินาศด้านความน่าเชื่อถืออย่างย่อยยับจนผู้เกี่ยวข้องเป็นตัวตลกโดยไม่ตั้งใจ

พูดก็พูดเถอะ ทุกวันนี้แค่โพสรูปพลเอกประยุทธ์พร้อมข้อความ “เชิญวิจารณ์ตามอัธยาศัย” ความเห็นในโซเชียลที่พร้อมจะสรรเสริญเยินยอนายกนายพลในทางลบก็เต็มไปหมด เพราะความนับถือที่ประชาชนมีต่อหังหน้าคณะยึดอำนาจที่ตั้งตัวเองเป็นใหญ่ทุกวันนี้ติดลบเมื่อเทียบกับห้าปีก่อนเต็มที

ล่าสุด วิวาทะเรื่อง “โจ นูโว” กับ “จอห์น วิญญู” ก็เป็นตัวอย่างของความพังที่ “โซเชียล” บันดาลให้กองเชียร์ผู้มีอำนาจ เพราะพริบตาที่โจด่าท้ายโพสท์ผู้กำกับดังเมื่อสามสิบปีก่อนอย่าง “ยุทธนา” ว่าพ่อจอห์นไม่เคยทำเพื่อประเทศ โซเชียลก็เกิดแฮชแทก #โตแล้วไม่โจ จน “โจ” หมายถึงอะไรที่แย่ๆ ไปทันที

ภายใต้ดราม่าโซเชียลที่ขุดคุ้ยว่าพ่อใครทำอะไรราวกับโลกนี้มีอาชีพที่ทำเพื่อประเทศกว่าอาชีพอื่นจริงๆ ปฏิบัติการยกพวกตีกันหน้าจอจบเมื่อพ่ออายุ 81ขอโทษสังคมว่าลูกวัย 51 ทำผิดไปแล้ว โจจึงเป็นเหมือนดี้, อุ๊, เบญญา, หมอก้อง ฯลฯ ที่สถานะทางสังคมไม่มีผลต่อความนับถือในโซเชียลแม้แต่นิดเดียว

มองในภาพกว้างยิ่งขึ้น ปฏิกริยาในโซเชียลแบบนี้คล้ายท่าทีต่อประเด็น “ซ้ายจัดดัดจริต” หรือข้อควรทำในการเลือกตั้ง24 มีนาฯ ซึ่ง “โซเชียล” เป็นเครือข่ายต่อต้านทัศนคติผู้มีอำนาจแทบทั้งหมด และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการเสื่อมสลายของอำนาจเก่าในสนามการต่อสู้ด้านความคิดและวาทกรรม

นอกปริมณฑลความคิดและวาทกรรมออกไป ความคิดเก่าก็ถดถอยในสนามการเมืองด้วย โจเป็นผู้สนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติซึ่งใช้วาทกรรมเก่าๆ โจมตีพรรคอื่นๆ แต่กลับแพ้เลือกตั้งราบคาบ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกโจมตีด้วยเรื่องนี้กลับมีคนเลือกเกือบ 7 ล้านจนเป็นพรรคอันดับสามไปเลย

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาฯ นักวิชาการดังเมื่อสามสิบปีก่อนอย่างอาจารย์เอนกพยายามสร้างวาทกรรมปลุกระดมให้คนไทยรังเกียจแนวคิดใหม่ๆ เพื่อต้านธนาธรอย่างหนักหน่วง แต่ถ้าสัมฤทธิผลของสงครามวาทกรรมอยู่ที่การชักจูงประชาชน วาทกรรมของอาจารย์เอนกก็ร้างคนฟังจนไม่มีผลต่อคะแนนเสียงเลย

จากปัญญาชนอย่างอาจารย์เอนกสู่นักการเมืองอย่างคุณสุเทพและ Influencer แถวสองอย่างดี้-อุ๊-โจ ความพยายามใช้ค่านิยมโบราณปลุกปั่น “โซเชียล” จบด้วยความล้มเหลวแทบทั้งหมด และทั้งหมดนี้แสดงว่าความคิด “อนุรักษ์นิยม” กำลังหมดพลังใน “พื้นที่สาธารณะ” ที่สำคัญที่สุดในสังคมร่วมสมัยโดยปริยาย

จริงอยู่ว่าการปกป้องสถานภาพของสถาบันจารีตประเพณีเป็นสิทธิของทุกคน แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้ล้ำเส้นคือการใช้เรื่องนี้โจมตีคนอื่นโดยหวังผลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง การตั้งมั่นกับสถาบันจริงๆ นั้นมีได้ แต่ที่ไม่ควรมีเลยคือการตั้งตัวเองโดยแอบอ้างเป็นร่างทรงสถาบันต่างๆ เพื่อกำจัดคนที่คิดแตกต่างทางการเมือง

อาจมีผู้เข้าใจผิดว่าพฤติกรรมคลั่งประเพณีจนคุกคามคนอื่นเป็น “อนุรักษ์นิยม” แต่ที่จริง “อนุรักษ์นิยม” คือคนที่มองเห็น “คุณค่า” ที่แฝงอยู่ในประเพณี, ความเชื่อ และสถาบันจากอดีตจนควรบำรุงให้คงอยู่ในอนาคต ประเพณีโบราณที่มีคุณค่าข้ามยุคสมัยจึงได้แก่ประเพณีที่ผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ

ไม่ว่าในโลกตะวันตกหรือไทย สถาบันทางสังคมที่ยืนหยัดได้ยาวนานคือสถาบันที่อธิบายได้ว่าทำไมควรดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง, ทำไมควรเปลี่ยนบางอย่าง และทำอย่างไรจะเปลี่ยนแปลงโดยรักษาส่วนดีๆ ได้มากที่สุด สถานภาพของประเพณีจึงเกิดขึ้นเมื่อสังคมเห็นคุณูปการของการพิทักษ์ประเพณีนั้นให้ธำรงอยู่ในสังคม

อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่อาจารย์เอนกหรือ Influencer แถวสองอย่างอุ๊-โจ ฯลฯ แสดงความเห็นแนวนี้ออกมา สารของคนเหล่านี้คือสังคมไทยมี “ผู้ร้าย” ที่จะทำลายจารีตประเพณีต่างๆ จนต้องมีเรื่องกับเขาไปหมด แต่การสื่อสารว่าอะไรคือคุณูปการของประเพณีเก่าๆ กลับมีนิดเดียว ซ้ำโดยส่วนใหญ่เป็นการดุด่าหรือยัดเยียดให้คนทำตาม

ในอดีตที่สถานภาพทางสังคมทำให้ผู้พูดน่าเชื่อถือในมุมผู้ฟัง พฤติกรรมนี้อาจปลุกระดมให้คนฆ่ากันแบบวิทยุทหารทำในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ใน “โซเชียล” ที่เสียงของทุกคนเท่ากัน การชักจูงให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพื่อกำจัดฝ่ายอื่นย่อมทำได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อการกระทำนั้นอ้างสิ่งที่สังคมเห็นว่าไกลตัวเหลือเกิน

ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ การชักจูงมวลชนด้วยเหตุผลเรื่องการพิทักษ์จารีตประเพณีและค่านิยมโบราณกลายเป็นเรื่องอ่อนพลังไปมาก “มวลชน” ที่เคยมีในอดีตจึงหดหายไปพร้อมกับ “อำนาจนำ” ทางความคิดที่ถดถอยไปด้วย ยกเว้นแต่ในสายบังคับบัญชาของอำนาจในระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

พูดตรงๆ ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช้ทำเนียบกล่าวหาว่าฝ่ายตรงข้ามตัวเองเป็นพวกทำลายชาติ ผบ.ทบ.คงไม่ออกมาพูดเรื่อง “ซ้ายจัดดัดจริต” และการจัดฉากให้มวลชนจัดตั้งแก่ๆ ร้องทุกข์ให้ตำรวจการเมืองจับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก็ไม่เกิด รวมทั้ง “อนุรักษ์นิยม” จะเป็นแค่เสียงบ่นพึมพำของคนอายุ 60++ ที่ไม่มีใครฟัง

อันที่จริง ต่อให้ผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาลและกองทัพดาหน้ากัน “เล่นใหญ่” แบบนี้ ปฏิกริยาที่พลังอิสระในสังคมร่วมสมัยมีต่อประเด็น “ซ้ายจัดดัดจริต” กลับมีน้อยมาก ประชาธิปัตย์ซึ่งต่อสู้เรื่องนี้ตลอดมากลับไม่พูดอะไร และแม้แต่พรรคการเมืองที่ใกล้ชิด คสช.ก็หลีกเลี่ยงที่จะขยายผลเรื่องนี้เช่นกัน

ภายใต้ความล้มเหลวในการชักจูงเรื่องค่านิยมโบราณ คนกลุ่มที่เรียกว่า “อนุรักษ์นิยม” กำลังแปรสภาพเป็นอันธพาลการเมืองแบบเต็มรูป โจพูดถึงจอห์นเหมือนพรรคสุเทพพูดถึงธนาธรและเพื่อไทยในแง่จงชัง, ฆ่า หรือตั้งม๊อบไล่ และถึงที่สุดทั้งหมดแสดงความคิดแบบขวาจัดหลงยุคในยุคสมัยที่แทบไม่มีใครเอา

การเลือกตั้ง 2562 เป็นสนามประลองกำลังของการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “อนุรักษ์นิยม” กับฝ่ายที่เห็นว่า “คนเท่ากัน” ความพ่ายแพ้ของฝ่ายแรกใน “โซเชียล” และการเลือกตั้งชี้ว่าอวสานของความคิดแบบเก่าๆ ก่อตัวขึ้นจนหนทางในการธำรงวิธีคิดแบบนี้อาจเหลือแต่โดยอำนาจรัฐและกำลังบังคับแบบอันธพาล

ในยุคสมัยที่อนุรักษ์นิยมเฟื่องฟูจนคนไทยพร้อมจะทำอะไรอย่างที่รัฐชี้นำ วีรบุรุษของอนุรักษ์นิยมได้แก่คนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์, พล.อ.เปรม, พล.ต.อ.วสิษฐ หรือแม้แต่หมอประเวศ แต่ในยุคสมัยที่อนุรักษ์นิยมเสื่อมทราม ตัวละครของยุคกลับเป็นคนอย่างสุเทพ, เอนก, โจ, อุ๊, เหรียญทอง, ดี้ ฯลฯ ซึ่งไม่มีทางทำให้สังคมนับถือได้อย่างที่คนรุ่นก่อนเคยทำ

กระแสสูงของความเชื่อว่า “คนเท่ากัน” ทำให้อนุรักษ์นิยมไทยถึงกาลอวสาน และเฮือกสุดท้ายของก่อนอวสานคือการที่อนุรักษ์นิยมเดินหน้าเป็นอันธพาลการเมืองจนเสี่ยงที่ระบอบรัฐแบบมาเฟียอาจเป็นทางเลือกเดียวของคนกลุ่มที่ต้องการใช้จารีตประเพณีเป็นฐานในการปกครองประชาชน

เส้นแบ่งของคนที่มีความคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” กับ “ขวาจัด” และ “อันธพาลการเมือง” มีอยู่นิดเดียว พฤติกรรมแบบโจที่ข่มขู่, อวยทหารให้ยึดอำนาจ, ไล่คนออกนอกประเทศ ฯลฯ คือหลักฐานว่าเส้นแบ่งนี้แทบไม่เหลือในสังคมไทย จะมีก็แต่การข่มขู่และใช้อำนาจเถื่อนบังคับให้คนยอมด้วยความกลัวจนกลายเป็นการสะสมความเกลียดชังในแผ่นดิน

ไม่มีใครทำให้สังคมแตกแยกเท่าคนที่ใช้ความคิดเก่าๆ และจารีตประเพณีเป็นข้ออ้างในการต่อต้านความเห็นต่าง เพราะเมื่ออดีตของชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่าคุณค่าเก่าๆ เป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมของคนหยิบมือเดียวที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าของอดีตและความเป็นชาติไทย