ชาญวิทย์และวัยอาจ สองนักประวัติศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือครูชาญวิทย์ หรือศาสตราจารย์ชาญวิทย์ หรือวิทย์ในหมู่เพื่อนฝูงรุ่นเดียวกัน หรืออดีตอธิการบดีชาญวิทย์ในหมู่นักศึกษาอาจารย์ธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นบุคคลที่แปลกกว่าบุคคลที่เราอาจพบเห็นในกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีความสงบเรียบร้อยอย่างมาก ความจริง ดร.ชาญวิทย์ ก็เคยอยู่กระทรวงการต่างประเทศมาก่อน แต่นิสัยเดิมเป็นคนที่เรียบร้อยอยู่แล้ว เลยทำให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศบางคนอาจกลายเป็นบุคคลที่ไม่สู้เรียบร้อยนัก

คำว่า เรียบร้อย นี้กระมัง สุพจน์ แจ้งเร็ว ผู้หนึ่งที่ร่วมทำพจนานุกรมฉบับมติชนได้บอกว่า เป็นคำที่ฝรั่งเห็นว่าไทยเป็นบุคคลที่เรียบร้อยเกินไป คำว่า เรียบ กับคำว่า ร้อย อาจแสดงว่าคนไทยไม่มีความคิดส่วนตัวในเชิงวิธีริเริ่มและไม่เอาอย่างใคร สุพจน์ได้บอกอีกว่า เป็นคำที่คนต่างชาติคุ้นเคยกับความเป็นไทยเป็นอย่างดี

ชาญวิทย์ แม้เป็นบุคคลที่เรียบร้อย เข้าใจว่าเป็นบุคลิกภายในมากกว่าเกิดจากการฝึกฝนให้เรียบร้อย และด้วยความเรียบร้อยนี้เอง ชาญวิทย์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติหลายมิติ รู้จักทำงานอย่างมีเสรีให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในจิตใจเป็นนิตย์

นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เคยพูดเปรยๆ ว่า ชาญวิทย์นี้แปลก ชอบดูอิฐหินดินทรายว่ามีอายุเท่าไหร่ เลยเปลี่ยนจากเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปเรียนประวัติศาสตร์เป็นปริญญาเอก

นรนิติได้พูดประโยคนี้ขณะที่ขับรถไปส่งผม ขณะที่เขาใกล้จะจบจากออกซิเดนทัลคอลเลจ อันเป็นวิทยาลัยที่ชาญวิทย์เคยเรียนก่อนไปต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล

 

ชาญวิทย์คล้าย ดร.เดวิด เค. วัยอาทท์ หรือคนทั่วไปอาจเรียกว่า วัยอาจ ที่มีหัวใจที่เป็นหนุ่มอยู่ตลอดเวลา ทั้งดูไม่เคยตกโลก และกระหายที่จะเรียนรู้อยู่เป็นนิตย์ เดวิด เค. วัยอาจ เชื่อว่าเขาจะต้องจากไปเพราะป่วยหนัก สิ่งหนึ่งซึ่ง วัยอาจ สนใจคือ บรรดาสรรพหนังสือซึ่งเป็นภาษาไทยจำนวนกว่าสองหมื่นเล่ม รวมทั้งไมโครฟิล์มเกี่ยวกับประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์เฉียงใต้ หรือที่นิยมเรียกกันว่าอุษาคเนย์ ควรจะมีที่เก็บในหอสมุดแห่งใดแห่งหนึ่ง

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้พบกับ ดร.เดวิด เค. วัยอาจ ซึ่งเขียนชื่อของตนเองว่า วัยอาทท์ จึงทักเขาว่า น่าจะเขียนว่าวัยอาจมากกว่าวัยอาทท์ เขายิ้มๆ และชอบชื่อนี้มาก

วัยอาจตอนนี้อายุได้ 65 ได้มีชีวิตที่กลับคืนสู่ปกติและฟื้นคืน ไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยคอร์แนลยังได้เขากลับคืน และไม่ต้องสูญเสียแต่อย่างใด แต่คู่สามีภรรยาตระกูลวัยอาจได้แสวงหาบุคคลที่ควรรับหนังสือไทยที่หายากและมีค่า

ในที่สุดได้ค้นพบว่าควรให้แก่หอสมุดมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่น เหตุเพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ยิ่งกว่านั้นมหาวิทยาลัยนี้ยังมีนักปราชญ์หลายคนที่สนใจเรื่องเมืองไทยเหมือนวัยอาจ

ชาญวิทย์เองก็สนใจคล้ายวัยอาจ เขาใฝ่ใจว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองน่าจะมีหนังสือและไมโครฟิล์มเกินล้านเล่มขึ้นไป ขณะที่ปัจจุบันมีเพียงกว่าแสนเล่มเท่านั้น

ชาญวิทย์เคยทำงานในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนลมาก่อน และรู้ดีว่ามหาวิทยาลัยชั้นดีในอเมริกาทั่วไปมีหนังสือกว่าหกล้านเล่ม ศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยกว่าครึ่งหนึ่งคือคลังสมอง และคลังสมองคือหนังสือที่ช่วยหล่อเลี้ยงปัญญา

คราวที่อยู่ที่ออกซิเดนทัลคอลเลจ ชาญวิทย์ได้ศึกษาจากสถานที่นี้ว่ามีที่นั่งที่เหมาะสม สวยงาม น่านั่งอย่างไรบ้าง และมีหนังสือให้ค้นหานานาชนิดเพื่อที่จะทำรายงาน ยิ่งตอนที่ชาญวิทย์ได้มาเรียนที่คอร์แนล มีคอลเล็กชั่นหนังสืออุษาคเนย์ที่ดีที่สุด

ผู้อำนวยการห้องสมุดธรรมศาสตร์ ชื่อ นวลฉวี สุธรรมวงศ์ ได้เขียนไว้ว่า “อาจารย์ชาญวิทย์ได้เข้าไปทำงานในห้องสมุดที่คอร์แนล ได้ค่าจ้างชั่วโมงละเหรียญกว่าๆ คิดแล้วก็ตกไม่เกิน 30 บาทในสมัยนั้น โดยไปช่วยเก็บหนังสือเรียงกลับขึ้นชั้น และตรวจสอบวารสารเย็บเล่มเพื่อเช็กว่ามีหน้าไหนจะถูก “นักศึกษาทรามฉีกเอาไปทำรายงาน” ก็จะรายงานให้บรรณารักษ์ทราบเพื่อถ่ายเอกสารมาซ่อมส่วนที่หายไป”

คราวหนึ่งเมื่อต้นปี 2520 ผมบังเอิญขึ้นไปหาชาญวิทย์ สังเกตดูว่าเขาชอบอ่านและดูภาพเรื่องราวเกี่ยวกับเขมรและนครวัดอยู่มาก นอกจากนี้ เขายังมีรายการต่างๆ และวิทยานิพนธ์ปริญญาโทแต่ละเล่มของคณะอักษรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชาญวิทย์เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญด้านนี้ในการพัฒนาห้องสมุดให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ประกอบกับการที่เขารู้จักคัดเลือกและแนะนำหนังสือ อีกทั้งตกแต่งห้องสมุดธรรมศาสตร์ให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจแก่ผู้ใช้ห้องสมุดมากยิ่งขึ้น

 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พูดภาษาอังกฤษสำเนียงนิวยอร์กตอนเหนือ หรือ upstate New York accent ขณะที่ ดร.เดวิด เค. วัยอาจ พูดไทยได้ดีเลิศ แม้แต่ให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์ และเดอะ เนชั่น ก็พูดเป็นภาษาไทย ไม่พูดภาษาอังกฤษ

เดวิด เค. วัยอาจ เรียนปรัชญาที่ฮาร์วาร์ด ได้ปริญญาตรีปี 1959 และจบดุษฎีบัณฑิตจากคอร์แนลทางประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ปี 1966 เคยสอนที่มหาวิทยาลัยลอนดอนในสำนักการศึกษาตะวันออกและแอฟริกา นอกจากนี้ ยังกลับไปอเมริกา สอนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนก่อนที่จะสอนที่คอร์แนล ที่คอร์แนลนี้เองที่เป็นผู้อำนวยการโครงการอุษาคเนย์และเป็นประธานคณะประวัติศาสตร์ อีกทั้งเป็นศาสตราจารย์สอนประวัติศาสตร์อีกด้วย

ความจริงต้องพูดว่าสองคนนี้อาจคล้ายกันอยู่มาก ดร.ชาญวิทย์เดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว เช่น อินโดนีเซีย, ติมอร์ตะวันตก, สหภาพโซเวียต และจีน ที่ประทับใจที่สุดคงจะเป็นนครวัด เขาเคยเขียนโดยอ้างคำพูดของ ศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ อดีตกรรมการราชบัณฑิตว่า If you see Ankor, die ถ้าได้เห็นนครวัดละก็ ร่างกายก็สิ้นลงได้ หมายความว่านครวัดเป็นความงามที่ไม่อาจมีที่ใดเทียบได้ ถ้าได้เห็นก็คือร่างจะดับก็ดับไป เพราะให้เห็นสวยกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว ผมไม่แปลกใจนักที่มีผู้พูดว่า Chanvit the traveller หรือ ชาญวิทย์นักเดินทาง

ศาสตราจารย์ชาญวิทย์ยังได้เขียนเรื่องใน วิถีไทย โดยพูดถึงนักเดินทาง-นักทัศนาจร-นักท่องเที่ยว โดยพูดถึงคำทั้งสามว่าแตกต่างจากกัน Goeffrey Gorer เองได้เขียนเหมือนกับเขาในบาหลีและอังกอร์ พิมพ์ใน ค.ศ.1936 ว่า I am a traveller-thou art a tourist-he, she or they are trippers ฉันเป็นนักเดินทาง-เจ้าคือนักทัศนาจร เขา (ผู้ชายหรือหญิง) เป็นนักท่องเที่ยว

ชาญวิทย์ยังแปลเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไปนครวัดของไมดัล ซึ่งเป็นลูกของ กุลนาร์ ไมดัล, ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในยุคนั้น การเดินทางค่อนข้างลำบาก เพราะเขมรแดงกำลังเรืองอำนาจ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปี 2517

นอกจากนี้ เขาได้เขียนเกี่ยวกับพม่าและลงเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้นไว้ด้วย ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นการรวบรวมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ นิพนธ์โดยบรรณาธิการชาญวิทย์ พร้อมกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บรรณาธิการของสังคมศาสตร์ปริทรรศน์

ชาญวิทย์เป็นอาจารย์ที่ทำให้วิชาประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ และเขาได้สร้างวิชาหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า “วิชาประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว” การท่องเที่ยวที่เขาจัดมีลักษณะใกล้ตัวและมีสีสันที่สุดเห็นจะเป็นธรรมศาสตร์วอล์กกิ้งทัวร์ เป็นวิชาที่มีผู้สมัครเรียนเกินกว่า 500 คน ต้องใช้อาจารย์ถึงหกคนเพื่อช่วยดูแล ทั้งที่ต้องการคนเรียบร้อยกว่าคนเท่านั้น

ศาสตราจารย์เดวิด เค. วัยอาจ คล้ายกับชาญวิทย์ที่ลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนฝูงรักใคร่ เขาเป็นผู้มีคุณธรรมและความสามารถ เป็นแบบอย่างในการทำงาน อีกทั้งเป็นนักวิชาการเป็นที่ยอมรับในนานาชาติ ได้เขียนหนังสือไว้มากมาย

ชาญวิทย์ก็แต่งภาษาอังกฤษไว้ 4 เรื่องด้วยกัน เล่มที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีชื่อว่า The Rise of Ayuthya พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ออกซ์ฟอร์ด

ครั้งหนึ่งชาญวิทย์เคยถามผมว่า ชอบนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศผู้ใดบ้าง ผมได้ตอบว่าชอบ อาร์โนล ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ของอังกฤษ เขายิ้มๆ แล้วพูดว่า “คงเชื่อเรื่องบาปที่เป็นปฐมกำเนิดของมนุษย์ล่ะซี และเชื่อว่าสุดท้ายของมนุษย์และประวัติศาสตร์คือคำตัดสินของพระผู้เป็นเจ้า”

ผมไม่ตอบว่ากระไรทั้งสิ้น แต่ที่อ่านทอยน์บีเพราะใช้ภาษาอังกฤษได้ไพเราะและมีโวหาร มากกว่าอ่านเพราะความเชื่อในข้อสมมุติต่างๆ ของเขา การที่ผมไม่ตอบคงเป็นเพราะไม่ใช่นักประวัติศาสตร์โดยตรง

วัยอาจเองเป็นบุคคลที่เดินทางท่องเที่ยวและหาความรู้ทั่วประเทศไทยและลาวหลายครั้งหลายหน คราวแรกเที่ยวใน ค.ศ.1962-1963 ต่อมาใน ค.ศ.1984 และ ค.ศ.2002 จนพูดไทยได้คล่องแคล่ว

เขาได้ตีพิมพ์รวมหนังสือชื่อ “ค้นหาประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์” กับเพื่อนๆ ที่เป็นอาจารย์อยู่มิชิแกน เขาเขียนหนังสือชื่อ “การศึกษาในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง” หลายคนที่อ่านงานชิ้นนี้รู้สึกประทับใจที่เขียนได้ดีเลิศและงดงามที่สุดเล่มหนึ่ง ยิ่งการเมืองแห่งการปฏิรูป เป็นหนังสือที่มีการค้นคว้าอย่างหนัก ยังไม่พูดถึง ประวัติศาสตร์โดยย่อของประเทศไทย ซึ่งเขาเขียนอย่างเชี่ยวชาญและลึกซึ้ง

นอกจากนี้ เขายังเขียนอัฐิ คำสาบานและการเมืองในสยามยุคศตวรรษที่ 13

 

ทุกวันนี้ วัยอาจมีอายุได้ 65 ปี ขณะที่ชาญวิทย์ย่าง 61 เขาทั้งคู่สนุกเพลิดเพลินกับงานต่างๆ ที่ได้ทำ วัยอาจกลับมาเมืองไทยบ่อยมากเพื่อคุ้นเคยกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องสัมผัส และเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องภาษาไทย ส่วนชาญวิทย์ได้กลับไปอเมริกาหลายครั้งหลายหน สอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียหลายแห่ง พูดและเขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว

คราวที่มีการประชุมนักประวัติศาสตร์ที่นครพนม นักประวัติศาสตร์ทั้งสองได้เข้าร่วม วัยอาจได้กล่าวในที่ประชุมว่า ประวัติศาสตร์ของชาติไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ประวัติศาสตร์มีอะไรที่มากกว่าการศึกษาค้นคว้าเรื่องชาติ

เขาได้อธิบายอีกว่า ความจำเป็นที่จะมองประวัติศาสตร์ให้กว้างกว่าการมองที่ชาติและพรมแดนของชาติเพียงเพื่อเข้าใจว่าคนในอดีตเคยอยู่กันเช่นใดและคิดอย่างไร เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการมองไปที่ประเทศชาติ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า เมืองศรีเทพและอาณาจักรจัมปา (ในเวียดนาม) โดยผ่านทางลาว เป็นแหล่งทองแดงของภูมิภาคแถบนี้ อาณาจักรนี้แลกเปลี่ยน ทองแดง กับการค้าทาสในการค้ากับจัมปา

ด้วยเหตุนี้เอง อาณาเขตของชาติไม่เกี่ยวพันกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์ ที่ยกตัวอย่างนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าและเข้าใจการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์อย่างดี

กระนั้นก็ตาม ความก้าวหน้านี้มิได้เกิดขึ้นในวันเดียว อาศัยการสะสมและการเรียนรู้ไม่น้อย อาจารย์ผู้หนึ่งเคยเขียนไว้ว่า “ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาผู้ที่เรียกตัวเองว่า expert ในเรื่องเอเชียอาคเนย์จะหัวโบราณและไม่สนใจกับเหตุการณ์ปัจจุบันเสียเลย ในขณะที่มีการบุกเขมร มีการฆ่ากันตายที่มหาวิทยาลัย Kent อาจารย์ Wyatt และนักเรียนยังจะต้องถกเถียงเรื่องที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 14-15-16-17-18 อยู่ได้ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีพันธะทางศีลธรรมที่จะช่วยให้สงครามนี้ยุติลงได้” แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานเกิน 25 ปีแล้ว และ วัยอาจเองก็สะสมประสบการณ์ไว้และช่วยปลุกเร้าตัวเองขึ้นมา

ไม่ต้องอะไรมาก ดร.ชาญวิทย์เองก็เคยคอนเซอร์เวทีฟหรือล้าหลังมาก่อน แม้ในวิทยาลัยออกซิเดนทัลก็ตาม ก่อนที่เขาจะเป็นผู้อำนวยการเอเชียอาคเนย์เฉียงใต้ พิมพ์หนังสือที่ดีออกมามากมาย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม และการต่อสู้พฤษภาคมน่าจะมีความหมายไม่น้อยต่อการเรียนรู้ของเขา โดยที่ไม่จำเป็นต้องนับสงครามในอินโดจีนเข้าไปด้วย ดังที่เขาเองก็พูดชัดเจนว่า :-

“หากปราศจากซึ่ง 14 ตุลาคม คนเขื่อนปากมูลไม่มีทางหรอกที่จะมานั่งอยู่ที่ตรงหน้าทำเนียบ คงถูกกระทืบตายไปเรียบร้อยแล้วตรงหน้าเขื่อน”