ต่างประเทศอินโดจีน : กัมพูชากับแก้ปัญหาลักลอบค้างาช้าง

เมื่อปี 2017 ทางการจีนประกาศให้การค้างาช้างเป็นการค้าผิดกฎหมาย ส่งผลให้จุดหมายปลายทางในการลักลอบค้างาช้างระบาดออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง ซึ่งพ่อค้างาช้างผิดกฎหมายยังสามารถหาทางลักลอบนำข้ามแดนเข้าไปหา “ลูกค้า” ของตนได้

ประเทศที่ว่านั้นต้องอยู่ใกล้ๆ แต่ต้องไกลพอ จนเจ้าหน้าที่จีนไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องมาจัดการได้

ผลพวงจากการห้ามค้างาช้างของจีน ส่งผลให้การลักลอบค้างาช้างในลาวและกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างพรวดพราดในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญในการปราบปรามการลักลอบค้าซากสัตว์ป่าผิดกฎหมายระบุว่า สาเหตุสำคัญเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ แถมยังมีเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่นกันขนานใหญ่ ทำให้การค้างาช้างใน 2 ประเทศนี้ราบรื่น

และเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามลำดับ

 

ในกัมพูชา สถิติของทางการแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ร้านค้าที่จำหน่ายงาช้างในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว

และเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่ซื้อหางาช้างในร้านเหล่านี้คือชาวจีน

สถิติของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยมาจนถึงปี 2018 ทางการกัมพูชาตรวจจับและยึดงาช้างของกลางได้มากกว่า 5 ตัน

แต่ถึงอย่างนั้นพ่อค้าก็ยังลักลอบนำเข้างาช้างผิดกฎหมายเข้ามาในกัมพูชาล็อตใหญ่ให้ตรวจจับได้อยู่อย่างต่อเนื่อง

ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่กัมพูชาตรวจพบงาช้างครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซุกซ่อนอยู่ในตู้สินค้าในท่าอากาศยานกรุงพนมเปญนี่เอง น้ำหนักของงาช้างในครั้งนั้นรวมกันแล้วมากถึง 3.2 ตัน ต้นทางสำแดงเอาไว้ว่าเป็นสินค้ามาจากประเทศโมซัมบิก ในทวีปแอฟริกา

ถัดมาในเดือนมกราคมนี่เอง มีการตรวจพบงาช้างอีก 600 กิโลกรัม ที่สีหนุวิลล์

 

เล่นเอา กุน นิม อธิบดีกรมศุลกากรและสรรพสามิต ถึงกับนิ่งเฉยไม่ได้ ร่อนจดหมายเวียนถึงผู้อำนวยการทุกกอง กำชับอีกครั้งให้ดำเนินการตรวจสอบและจับกุมการค้างาช้างอย่างเด็ดขาดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี่เอง

ในความเป็นจริงแล้ว กัมพูชาเพิ่งเริ่มเข้มงวดจริงจังกับการค้างาช้างเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมานี่เอง หลังจากถูกสำนักงานเลขาธิการ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) กำกับให้จัดทำ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อปราบปรามการค้างาช้าง” ขึ้นมา

ปี 2018 กัมพูชาถึงผ่านกฎหมายรวมเอางาช้างจากแอฟริกาเข้ามาอยู่ในรายการคุ้มครองด้วย มีบทลงโทษผู้ที่ถูกจับได้ว่าค้างาช้างแอฟริกา มีโทษหนักรวมทั้งจำคุกนานถึง 5 ปี

 

ล่าสุด กัมพูชาร่วมมือกับราชสมาคมสัตววิทยาในสกอตแลนด์ ให้ความช่วยเหลือส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการก่อตั้งห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ขึ้นที่รอยัล ยูนิเวอร์ซิตี้ ในกรุงพนมเปญ

เป้าหมายเพื่อใช้ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ช่วยเหลือผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งในกัมพูชาและในภูมิภาค ตรวจสอบหาข้อมูลหลักฐาน รวมทั้งสืบค้นหาร่องรอยความเป็นมาของงาช้างผิดกฎหมายทั้งหลาย

เมื่อไม่นานมานี้ ห้องปฏิบัติการแห่งนี้ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเครื่องประดับงาช้างที่จับกุมมาได้ พบว่าหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเครื่องประดับที่ทำมาจากงาของ “ช้างแมมมอธขนยาว” ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อกว่า 10,000 ปีมาแล้ว เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่า งาช้างแมมมอธซึ่งได้จากซากฟอสซิลในทุ่งน้ำแข็งในไซบีเรียที่กำลังละลายเพราะภาวะโลกร้อน กำลังระบาดอย่างหนักในตลาดงาช้างผิดกฎหมายแล้วในขณะนี้

และทำให้เห็นประโยชน์ในการตรวจสอบดีเอ็นเอของงาที่ยึดได้ เพื่อให้ได้รู้ว่ามีที่มาจากแหล่งใด เพื่อให้สามารถล่วงรู้ถึงเส้นทางลักลอบจากแอฟริกาสู่เอเชีย

นอกเหนือจากแสดงให้เห็นว่า ครั้งนี้กัมพูชาเอาจริงกับการปราบปรามการค้างาช้างมากกว่าที่ผ่านมาอีกด้วย