อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / อุษาคเนย์ : พัฒนาการและพลวัตในอนาคต

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมและเพื่อนร่วมงานในศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแม่น้ำโขง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

นอกจากนั้น ทีมของเรายังทำวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในสมุทรรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สหพันธรัฐมาเลเซียและสาธารณรัฐสิงคโปร์ งานวิจัยดังกล่าวยุ่งยากพอควร แต่ด้วยความร่วมมือที่ดีของนักวิจัยไทยและพันธมิตรของเราในอุษาคเนย์ ผลงานวิจัยที่ออกมาจึงน่าสนใจ มีข้อค้นพบใหม่และมีการวางแผนต่อยอดร่วมกันอีก

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่ผมสรุปเรียบเรียงมาให้พอได้ทราบ งานวิจัยนี้ไม่ได้ขึ้นหิ้ง แต่เป็นงานที่หน่วยงานราชการไทยหลายแห่งนำเอาไปใช้เชิงนโยบายและการดำเนินงาน

งานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นห้างเพราะมีภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งนำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย

ที่สำคัญแม้จะเหนื่อยยากแต่ชุดโครงการวิจัยช่วยให้เราเห็นทั้งพัฒนาการและพลวัตในอนาคตในภูมิภาคอุษาคเนย์

 

การเคลื่อนย้าย
ของผู้คน สินค้าและการลงทุน
ในอาเซียน

เนื่องจากมีการทำวิจัยใหม่อีกถึง 3 เรื่อง ได้แก่ A brief outlook of the Mekong cooperation initiatives in the context of ASEAN integration process, Cambodia”s perspective on Chinese investment, Implications of China for Lancang-Mekong Cooperation and the Greater Mekong Sub-region ย่อมทำให้มองเห็นว่า โครงการวิจัยปีที่ 3 ของพวกเรานี้ได้มองเห็นอีกภาพหนึ่งของสำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนในลุ่มแม่น้ำโขง

จากเดิมได้เห็นด้านการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และท่าเรือน้ำลึกที่ Malaca Gate Way เพียงอย่างเดียว

หากทว่าคราวนี้ได้มีการวิจัยและศึกษาเรื่องการแลกเปลี่ยนการทำข้อตกลงที่เรียกว่า Lancang-Mekong Cooperation (LMC) อันดำเนินการทั้งการขนส่งสินค้า การประชุมเรื่องระดับน้ำในประเทศแม่น้ำโขงตอนบนได้แก่จีน และแม่น้ำโขงตอนล่างคือ เมียนมา ไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งการท่องเที่ยวและการรักษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขง

แต่ทว่าการวิจัยกลับพบว่า ข้อตกลงดังกล่าวแสดงผลกระทบของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำแล้งอย่างรุนแรงโดยเฉพาะปากลุ่มแม่น้ำโขงส่วนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

อีกประการหนึ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนของจีนทำการสำรวจ ขุดเจาะและระเบิดเกาะแก่งในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้เพื่อทำให้ล่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงลึกและกว้างมากพอสำหรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ 500 ตันเพื่อขนสินค้าขึ้นและลงจากจีนสู่ประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง

พร้อมกันนั้น ยังมีเป้าหมายเพื่อให้การท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนไปยังเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งนักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนสร้างโรงแรม ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เอาไว้แล้ว

ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนชาวลาวและกัมพูชามีความรู้สึกในทางลบทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น การขาดแคลนที่พัก รวมถึงการทำธุรกิจบ่อนกาสิโนในทั้งสองประเทศโดยนักลงทุนจีนและอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ได้สร้างปัญหาต่อประชาชนทั่วไปมาก

แต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศกลับยอมรับเพราะถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของประเทศ

 

ลู่ทางความสัมพันธ์มหาอำนาจและอาเซียน

การประชุมนานาชาติทั้งกับมหาวิทยาลัย Paragon International และ Wawasan Open University ที่ปีนัง สิงคโปร์ของพวกเราและพันธมิตรยังมีการเสนองานวิจัยใหม่อีก 3 เรื่องคือ The impact of Sino-US rivalry on ASEAN และ Belt and Road Initiative (BRI) : Infrastructure investment projects in ASEAN, Bangladesh-China-India-Myanmar (BCIM) Economic Corridor : Opportunities and Challenges ยังแสดงให้เห็นบทบาทและความสำคัญของมหาอำนาจกับระบบความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาค

การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกาทั้งในประเด็นทะเลจีนใต้ (South China Sea) การทำสงครามการค้าโดยการตั้งกำแพงภาษีการค้าระหว่างกันได้ก่อผลให้เศรษฐกิจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาแย่ลง ด้วยทั้งสองประเทศเป็นตลาดใหญ่ของโลก รวมทั้งอาเซียนด้วย

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนจึงย่ำแย่ลงด้วย อีกทั้งดูเหมือนว่า การเจรจาเพื่อประนีประนอมกันไม่ประสบความสำเร็จ

 

ในส่วนของ BCIM เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มจากสาธาณรัฐประชาชนจีนที่เรียกว่า ข้อริเริ่มที่คุนหมิง (Khunming initiative) ซึ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ส่วนหนึ่งเริ่มจากความพยายามสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อมณฑลยูนนานของจีนซึ่งไม่มีทางออกทะเล ติดกับชายแดนเมียนมาและต้องการเชื่อมโยงมายังอินเดียและบังกลาเทศ

แต่ในแง่สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง การก่อสร้างถนนจึงแทบไม่คืบหน้าเลย พร้อมกันนั้นยังติดขัดที่อินเดียซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้สนใจเข้าร่วมประชุมในกรอบความร่วมมืออันนี้

เหตุผลหนึ่งก็เพราะอินเดียไม่พอใจความสัมพันธ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ซึ่งนอกจากใกล้ชิดกับจีนด้านพรมแดน ความร่วมมือทางทหาร ทั้งสองประเทศยังมีกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า China-Pakistan Economic Corridor-CPEC ซึ่งเป็นกรอบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การลงทุน การเมืองและการทหารที่จีนมีให้กับปากีสถานอันเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับอินเดียด้วยข้อพิพาทเรื่องดินแดนและการแข่งขันทางด้านการทหารอีกด้วย อินเดียนั้นนับถือศาสนาฮินดู และปากีสถานนับถือมุสลิมเป็นส่วนใหญ่

ลู่ทางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนี้ดูจะเป็นตัวแปรในเชิงลบต่อการบูรณาการภูมิภาคนิยมซึ่งคณะวิจัยเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก

 

การบูรณาการภูมิภาคแบบใหม่ (New Regionalism)

ในชุดโครงการวิจัยเสริมฐานรากปีที่ 3 ของพวกเรานี้นอกจากมีการร่วมประชุมและเสนอผลงานทางวิจัยใหม่จากอีก 2 มหาวิทยาลัยได้แก่ Paragon University, พนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และ Wawasan Open University ปีนัง ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์แล้ว

ยังมีงานวิจัยใหม่ๆ อีก 3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของการบูรณาการภูมิภาคแบบใหม่ได้แก่ Brain Drain : The mobility and connectivity, Platform economy and its impact on service workers : Case studies from Thailand, The development of digital vote-canvassing network and political public relations on social media in the 2019 general election in Thailand

งานวิจัยเหล่านี้กล่าวถึงสมองไหลของนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งก็เกิดขึ้นในเกือบทุกที่ในโลก

สมองไหล (Brain Drain) เหล่านี้ก่อผลให้สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเองและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านทางด้าน social media รับนักศึกษาหลากหลายวัย หลากหลายวัถตุประสงค์และตรงกับความต้องการของตลาดและความต้องการของผู้เรียนซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไว

การไหลและเชื่อมโยงไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือส่งผลลบอย่างเดียว แต่เป็นพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอันสืบเนื่องทั้งจากเทคโนโลยีที่เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายและมีราคาถูก อีกทั้งยังเข้าถึงได้ตลอดเวลาไม่มีวันหยุดนิ่ง พร้อมกับ life style พฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการก็เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการเริ่มเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่หรือ start up หรือนักธุรกิจรุ่นเก่าซึ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วย

ดังนั้น ข้อค้นพบของงานวิจัยจึงพบว่า การศึกษาผ่าน Social media จากมหาวิทยาลัยเปิดซึ่งให้ทั้งปริญญาและประกาศนียบัตรแก่บุคคลทั่วไปที่พอใจเรียนเวลาไหนและที่ไหนก็ได้เป็นที่นิยมในมาเลเซียเป็นอย่างมาก

งานวิจัยใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ Platform economy and its impact on service workers โดยได้ศึกษาการเติบโตของการประกอบการใหม่ด้านขนส่งคือ แท็กซี่และรถยนต์โดยสารผ่านระบบ grab ที่เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ

ประการแรก มีคนในวัยทำงานแต่มีความต้องการรายได้เพิ่ม สนใจมาขับรถแท็กซี่โดยผ่านระบบ grab มากขึ้น ประกอบกับระบบรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถสองแถวแดงในเมืองเชียงใหม่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มาตรฐานและเอาเปรียบผู้บริโภค

ประการที่สอง การขับแท็กซี่โดยผ่านระบบ grab จึงท้าทายการผูกขาดการขนส่งรถสองแถวแดงในเมืองเชียงใหม่จนเกิดการขัดแย้งระหว่างพนักงานรถสองแถวแดงกับคนขับแท็กซี่ถึงขั้นมีการใช้ความรุนแรงต่อกัน

ประการที่สาม อย่างไรก็ตาม เจ้าของระบบแท็กซี่ grab ก็เอารัดเอาเปรียบพนักงานขับรถ ได้แก่ ต้องใช้เวลาขับรถนานๆ และให้ได้หลายรอบ ไม่มีการลาและวันหยุดเมื่อมีความต้องการการใช้บริการมากขึ้น การเป็นรายได้เสริมเลยกลายเป็นการเอาเปรียบพนักงานซึ่งไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด บางรายต้องพาลูกซึ่งป่วยไข้มาอยู่ในรถด้วยเพราะหาคนเลี้ยงลูกไม่ได้

งานศึกษาเรื่อง Digital vote-canvassing network in general election 2019 in Thailand เป็นความพยายามศึกษาพัฒนาการของ “หัวคะแนน” นักการเมืองในระบบการเลือกตั้งไทยซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว และเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงรูปแบบเข้าสู่ระบบ digital มากขึ้นโดยผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น line, Face book and instragram ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างหัวคะแนน ผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเห็นว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางการเมืองโดยหัวคะแนนเดิมจากบุคคลและเครือข่าย การพบปะเจรจาต่อรองที่เคยทำมาในอดีตได้เปลี่ยนไปเป็นกระทำในระบบ digital ถึงผู้รับข่าวสารในปัจจุบันมากขึ้น

เหตุผลเกิดทั้งจากประเด็นด้านเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตและการเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ย้อนกลับไปดูข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ก็ได้ เหตุผลหนึ่งมาจากการใช้ influencer ซึ่งอาจเป็นนักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงทางสังคมและสร้างความนิยมให้กับผู้สมัครก็ได้

ไม่เพียงแต่เป็นแค่หัวคะแนน เช่น ปัญญาชนสยาม ส.ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น

อีกเหตุผลหนึ่ง ระบบหัวคะแนนเดิมใช้ต้นทุนสูง เป็นเครือข่ายที่อาจแคบและจำกัดวง ระบบหัวคะแนนจึงก้าวเข้ามาสู่โลกดิจิตอลเกือบทั้งหมด

แต่ทว่างานวิจัยนี้ยังเป็นงานวิจัยขั้นเริ่มต้น จึงยังไม่ทราบแน่ชัดถึงผลโดยตรงของระบบหัวคะแนนและ influencer ในโลกเสมือนจริงว่ามีผลต่อการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน แต่ก็เห็นได้ว่า การเมืองและการเลือกตั้งใกล้ชิดกับ political marketing มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติทั้งการเคลื่อนย้ายของคน สินค้าและบริการ ข่าวสาร การบูรณาการภูมิภาคแบบใหม่ อีกทั้งกรอบความตกลงที่มหาอำนาจมาเป็นผู้เล่นในอุษาคเนย์ เท่ากับว่า ชุดงานวิจัยดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งทางวิชาการ ด้านนโยบาย ด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายวิจัยกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรอีกด้วย