จังหวะชีวิตของประชาธิปไตย (ที่เปลี่ยนไป) อะไรจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ให้รุนแรงลงท้องถนน ข้อเสนอ “ชัยวัฒน์ สถาอานันท์”

เป็นโอกาสที่ดีที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ให้มติชนสุดสัปดาห์ และมติชนทีวี มาสัมภาษณ์ถึงมุมมองและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ห้วงที่ความขัดแย้งยังยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะเห็นหนทางออก

: มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป หรือว่ามีอะไรใหม่เกี่ยวกับความขัดแย้งรอบนี้?

ขอเปรียบเทียบความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีลักษณะร่วมกันคือ “การปรากฏตัวของ Extreme Right” หรือฝ่ายขวาสุดโต่ง ปรากฏขึ้นในที่ต่างๆ มากมาย เช่น การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้สมัคร (รองประธานาธิบดีเดิม) ปรากฏว่ามาจากฝ่ายขวาสุดโต่ง (หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นฝ่ายนั้น) แม้แต่ในฮังการีก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น หรือในสหรัฐอเมริกาเองเราก็เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ

ประการต่อมาผมคิดว่าลักษณะของความขัดแย้งของประเทศในช่วงเวลานี้ เป็น “ความขัดแย้งยืดเยื้อ” ที่ไม่ยอมเลิกเสียทีและเป็นความขัดแย้งที่ยิ่งอยู่ไป ยิ่งแย่ลง ยิ่งเสื่อมทรามลง หมายความว่าในแง่ความรู้สึกของผู้คน บางทีเราได้ยินลูกศิษย์พูดในอารมณ์ที่แปลกๆ เช่น ไม่อยากอยู่แล้วประเทศนี้ ถ้าไปได้ก็จะไป อะไรทำนองนี้ เป็นความขัดแย้งที่มีรากฝังลึกอยู่ในสังคมของเรา

: อะไรที่ทำให้ความขัดแย้งชนิดหนึ่งกลายเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ

ลักษณะเด่นที่เห็นจากประเทศต่างๆ คือ “ความไม่ได้ดุลยภาพทางอำนาจสูง” ผลที่ตามมาก็คือ “ความไร้เสถียรภาพ” ก็สูงตามด้วย ส่วน “ประเด็น” ที่จะยืดเยื้อ เราไม่ค่อยเห็นประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนมากจะเป็นประเด็นเกี่ยวพันกับศักดิ์ศรีของคน จึงเป็นความยืดเยื้อในบริบทนี้ อย่างการลงคะแนนเสียง ถ้าลงเฉยๆ ปกติก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ามีการพูดขึ้นมาว่า ถ้าทำแบบนี้เท่ากับเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของฉันในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิ์ ก็จะกลายขึ้นมาเป็นประเด็นขัดแย้งทันที ซึ่งสังคมไทยในห้วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีของคู่ขัดแย้งกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทำให้ยืดเยื้อในตัวมัน

ส่วนความสัมพันธ์ของคู่ขัดแย้งมันกลายเป็นความสัมพันธ์ซึ่งเสื่อม และออกมาไม่ได้ (มันมีความสัมพันธ์ที่เสื่อมแต่ออกได้ เช่น เราอยู่ในที่ทำงานเราก็ลาออกได้ อย่างมากก็หางานใหม่) แต่ถ้ามันเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ สิ่งที่จะตามมาคือ ความทุกข์ มันเกิดขึ้นได้เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออกเหมือนว่าหมดหวังแล้วไปไหนก็ไม่ได้ ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยวันนี้มันไปในทิศทางนี้แล้วที่ยืดเยื้อเพราะเป็นเช่นนี้ แล้วจะทำให้โอกาสที่จะแก้ไขมีความยุ่งยากมากขึ้น นี่คือ “สิ่งที่ใหม่” ต่างจากความขัดแย้งที่ผ่านมา

: เกิดอะไรขึ้นกับ (สถานการณ์) ทั้งโลก?

ผมตอบแบบนี้ว่า เป็น “จังหวะชีวิตของประชาธิปไตย” เราได้เห็นความรุ่งเรืองโดดเด่นที่สุดในปลายทศวรรษที่แล้วทั้งเรื่องกำแพงเบอร์ลิน/โซเวียต แต่ในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21 โมเมนต์มันเปลี่ยนไป การเลือกตั้งหรือชัยชนะของหลายๆ ที่ ก็กลายเป็นฝ่ายสุดโต่งเข้ามาอย่างที่เห็นในหลายประเทศ

บางคนเลยอาจจะมองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงทางเลือกในการขึ้นสู่อำนาจเป็นเพียงกลไกหนึ่ง แต่ว่าแนวความคิดแบบโลกาภิวัตน์ ที่มาพร้อมกับประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ์และอัตตาณัติ ของบุคคลสูง ในที่สุดแล้วมันไปกระทบกระเทือนกับเรื่องอื่นๆ ความคิดของประชาธิปไตยจำเป็นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับตัวตนของคนในสังคมในทางหนึ่ง คือหมายถึงการที่เราตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตได้ด้วยตัวของเราเอง

เช่น เราเป็นผู้หญิงคนหนึ่งเราจะไปนอนกับใครก็ได้ ทำอะไรกับร่างกายของเราก็ได้ นี่คือการคิดของเรื่องสิทธิ์บนพื้นฐานตัวตนแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงส่วนเดียว อีกส่วนหนึ่งของมันก็คือคือตัวตนเชิงสัมพันธภาพระหว่างเรากับสิ่งอื่นๆ

เช่น ถ้าเราจะกล่าวถึงผู้หญิงคนหนึ่งว่ามีสิทธิ์ในเนื้อตัวชีวิตร่างกายหรือไม่ ในฐานะที่เขาเป็นลูกสาว เป็นหลานสาวของบางคนเป็นพนักงานของบริษัทบางที่ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสถานะอื่นๆ ในแง่นี้สิ่งที่เขาทำ ต้องกระทบกับสิ่งอื่นด้วย ฉะนั้นในโลกปัจจุบันนี้การต่อสู้ที่ต่างกัน ซึ่งเป็นฐานของประชาธิปไตยอีกขั้นหนึ่งมันปะทะกันอย่างรุนแรง

: การปกป้องกระบวนการเลือกตั้งยังสำคัญ และต้องทำอย่างไร?

สำหรับผม ผมคิดว่าจำเป็นมากในการปกป้องกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่หมายถึงแค่การเลือกตั้งเฉยๆ เพราะว่ากระบวนการเลือกตั้งเองมันตอบคำถามสำคัญทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ คำถามว่า ตกลงแล้วใครควรจะครองอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นคำถามหลัก ในยุคโบราณก็ต้องตอบว่าคนที่มีอาวุธเยอะ มีกำลังเยอะ จนอีกฝ่ายหนึ่งไม่กล้าทำอะไร แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน กระบวนการเลือกตั้งเป็นนวัตกรรมที่ใช้การเผชิญกับความขัดแย้ง ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด (เพราะยังไม่มีใครคิดอันอื่นที่ดีกว่านี้ออก) เปลี่ยนจากลูกปืนเป็นบัตรเลือกตั้ง ไม่มีคนบาดเจ็บล้มตายและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มันเลยสำคัญที่สุดในการจัดการกับปัญหาใหญ่ที่สุดก็ต้องปกปักรักษากระบวนการนี้ ให้มันยุติธรรม ให้มันเป็นที่โปร่งใสยอมรับได้และจำเป็นต้องทำ

: ข้อเสนอในสถานการณ์ปัจจุบัน

อาจจะมีคนบอกผมว่าช้าไปแล้วต๋อย แต่ในฐานะที่ผมสนใจเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมี “สันติอาสาสักขีพยาน”

ในกรณีนี้สมมุติว่ามี คณะทำงานเป็นสักขีพยานในกระบวนการเลือกตั้งทำหน้าที่โดยไม่ได้เข้าไปยุ่งกับงานของ กกต. แต่เฝ้าดูท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น

ถ้าทำได้แบบนี้ ทำให้ผู้ที่ทำงานอยู่ระวังตัวมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะทำให้ทำอะไรผิดๆ ลดลง ดูทั้งวิธีการจัดการ การนับคะแนน การเป็นประจักษ์พยานในลักษณะนี้จะทำให้มี “พลัง”

ถามว่ามาจากไหน ผมคิดว่ามาจาก 3 ส่วน ส่วนที่สำคัญที่สุดคือพรรคการเมือง ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ที่เหลืออาจจะมาจากภาคนักวิชาการและสื่อมวลชน

ท่ามกลางการแบ่งข้างกันสูงก็ต้องให้มาจากทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นตัวแทนที่เป็นความจริงของสังคม โดยมีคุณสมบัติสำคัญคือมีอิสระ เพราะมาจาก 2 ฝ่ายกันเอง

ประการต่อมาต้องสามารถที่จะไม่เห็นพ้องกับ กกต.ได้ และสุดท้ายต้องสามารถที่จะติดต่อกับสาธารณชนได้ เราอาจจะรักษาบูรณภาพของ กกต.ได้ ความน่าเชื่อถือก็เกิด

ผมอยากเสนอทางเลือกทำนองนี้ในตอนนี้ และคณะทำงานแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎหมาย แต่เป็นกลไกทางการเมือง ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งเพื่อประคับประคองการเลือกตั้งให้มันอยู่ได้ เพราะคนหลายสิบล้านเขาเดินเข้าไปสู่การเลือกตั้งไปใช้สิทธิ์ แล้วคุณจะปล่อยให้มันสูญเปล่าหรือ? เขาได้ตัดสินใจแล้ว ต้องทำให้เขามีศักดิ์ศรีมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ อย่างที่ผมเคยพูดเรื่องของความขัดแย้งยืดเยื้อมันไม่มีทางออก แต่เราก็ต้องผลักให้มันเกิดขึ้น

ซึ่งหลายคนสงสัยว่าทำไมหลังเลือกตั้งแล้วปัญหาไม่จบ ก็เพราะว่าการเลือกตั้งมันเป็นกระจกเงาสะท้อนความเป็นจริงของสังคม มันจะจบได้อย่างไร เพราะเป็นการสะท้อนความเป็นจริงที่เป็นอยู่เวลานี้ สังคมไทยเป็นอย่างนี้

: ความขัดแย้งรอบล่าสุดจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้ลุกลาม?

ถามว่าอะไรคือคุณภาพเชิงอารมณ์ของความขัดแย้งที่กำลังเห็นอยู่ คนหนึ่งจะมองว่ามีความโกรธสูง มีอารมณ์แบบหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจะมีความสะใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะมีความคิดว่าฉันไม่อยากอยู่ในประเทศนี้ สิ่งเหล่านี้คืออารมณ์ที่การเลือกตั้งนี้ให้กำเนิดขึ้น อาจไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการประเด็นเฉพาะ แต่จะทำอย่างไรกับอารมณ์ของคนที่กำลังถูกพาไปอีกที่หนึ่ง

ผมหวังว่าผู้มีอำนาจจะเห็นว่าการเล่นกับอารมณ์ของคนแบบนี้ ในที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่อะไรบางอย่าง ทั้งความโกรธหรืออารมณ์ที่ถูกเหยียดหยาม ถูกดูถูกดูแคลน สิ่งเหล่านี้ที่กำลังปรากฏขึ้นในสังคมไทย

การปะทะกันของสิ่งเหล่านี้จะต้องนำเข้ามาคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะดูแลอารมณ์ความรู้สึกของคนในประเทศนี้อย่างไรไม่ให้มันหนักไปกว่านี้ ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นเพราะว่าผลของการเลือกตั้งและระบบที่ออกแบบไว้ ผมเสนอแนวทางออกไปในที่อื่นบ้างแล้วว่า ถึงเวลาจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “การสานเสวนาระดับชาติ” ที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อย่างประเทศเคนยา 2008 ที่เคยใช้วิธีนี้ (ในตอนนั้นมีโคฟี่ อันนัน เข้ามาช่วยและกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึงปี)

: อะไรคือความน่าวิตกในสถานการณ์ปัจจุบัน-สถานการณ์อนาคตใหม่

คนหลายสิบล้านคนมีเป้าหมายที่จะพาสังคมไปในทิศทางที่อยากจะพาไป ในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ ของประเทศนี้ แต่ถ้าความปรารถนานี้มันถูกหยุดด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม มันจะเกิดความคับข้องใจ แล้วถ้ามีความคับข้องใจสูง มันจะนำมาสู่สิ่งอื่นอาจจะเกิดความก้าวร้าวรุนแรงบางอย่างมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่ดี ถ้าเกิดมีการใช้กฎหมายในโมเมนต์ที่ผิดต้นทุนทางสังคมจะสูง

กรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจส่งผลกระทบต่อคนเลือก 6 ล้านกว่าคน รวมถึงคนที่มองว่าไม่ยุติธรรมหรือกำลังเล่นกับสำนึกของความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีคนพอใจอยู่ด้วย ผลที่จะตามมาคือการแบ่งแยกแบ่งขั้วจะมากขึ้นก็จะเป็นอันตราย

ที่ผมกังวลเรื่องความขัดแย้งอย่างคนกลุ่มหนึ่งอาจจะมองความเปลี่ยนแปลง เรื่อง 2475 แบบหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งก็จะมองอีกแบบหนึ่ง เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สะท้อนของทั้งหมดนี้ให้เห็น มันไม่ใช่แค่เรื่องของรุ่น แต่ทำอย่างไรที่เราจะเห็นต่างได้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้เห็นว่าการที่เราเห็นต่างกันอยู่ด้วยกันได้และไม่ได้เห็นฝ่ายหนึ่งให้เป็นศัตรูให้จมลงไป

ส่วนใน Social Media มีการโพสต์แสดงความเห็นรุนแรง ผมมองว่ามี 2 จุด ว่ากระบวนการและเกิดขึ้นในโซเชียลจริงหรือเปล่า ผมเชื่อว่าจริง แต่คำถามคือสิ่งที่อยู่ในโลกโซเชียลมันจะไหลเข้ามาสู่ในโลกจริงหรือเปล่า หลายคนคิดว่าการระบายออกในโซเชียลมันอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะลดแรงเสียดทานในระบบเหมือนกับการไม่มีพื้นที่ให้พูดก็จะลดความโกรธแค้นอะไรได้บ้าง แต่ถ้าสิ่งนี้มันขยับไปเป็นอย่างอื่น เป็นการเหยียดหยามเกลียดชัง มันก็จะมีอันตรายมากขึ้น มันจะไหลเข้ามาสู่โลกจริงหรือไม่?

: มุมมองต่อ “รัฐบาลแห่งชาติ”

ผมคิดว่าปัญหามันอยู่ที่ว่า รัฐบาลแห่งชาติ เป็น “ผล” ไม่ใช่เหตุ

เหตุของรัฐบาลแห่งชาติจะต้องมีขั้นตอนที่ไปสู่อันนั้น ถ้าจะมีผมไม่กล้าพูดถึงเพราะผมไม่ได้คิดเรื่องนั้น และคิดว่าคงมีคนอื่นเสมอ แต่ผมคิดว่าต่อให้มีรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้าท่านไม่จัดการกับปัญหา ซึ่งอยู่ในใจของผู้คน ไม่จัดการกับความรู้สึกของผู้คน รัฐบาลแห่งชาติก็จะกลายเป็นรัฐบาลซึ่งใครก็ไม่รู้กำหนดมาให้ และก็จะมาบีบคั้นบังคับผู้คน มันจะไม่ได้เป็นการลดปัญหาของประเทศ มันจะเป็นเพียงการลดปัญหาในระดับพรรคการเมือง รวมทั้งคนจำนวนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่า ถ้ารัฐบาลแห่งชาติเป็นผลของการที่ถูกบีบให้เกิดขึ้น มันจะเป็นผลดีอย่างหนึ่งถ้ามันผ่านกระบวนการไดอะล็อกสานเสวนาระดับชาติที่ผมเสนอ แล้วมาสื่อสารให้ทราบว่าเขาตกลงกันอย่างนี้จริงๆ คนก็จะไม่รู้สึกว่าถูกกดและถูกบีบ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เลือกรัฐบาล เลือกพรรคการเมืองเพราะเขาอยากให้พรรคของเขาเป็นรัฐบาล คนบางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้พรรคที่ตนเลือกไปร่วมตรงนั้น ไม่อยากให้ไปตรงนี้

ผมคิดว่าความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่น่าสนใจ

ผมคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญที่สะท้อนปัญหาภายในสังคมไทย นึกออกไหมครับ? ปรากฏการณ์ ปชป. เป็นภาพสะท้อนให้ผมคิดว่าจริง พรรคที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพรรคใดๆ ในที่สุดแพ้ราบคาบ และความพ่ายแพ้นี้ ซึ่งมีคนอธิบายปัจจัยต่างๆ อยู่พอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินมาบ่อยๆ คือพรรคประชาธิปัตย์ “แทงกั๊ก” เขาอาจจะพยายามเป็นเสียงที่ 3 แต่วันนี้สังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้เสียงที่ 3 เลย คุณต้องเลือกว่าจะอยู่ฝั่งนี้หรือฝั่งนั้น

สิ่งที่ผมอยากจะปกป้องไว้ (อาจจะฟังดูประหลาด) นอกจากจะปกป้องระบอบประชาธิปไตย ผมอยากจะปกป้องความขัดแย้ง อาจจะฟังดูพิลึกพิลั่น แต่ว่าความขัดแย้งมันสำคัญต่อการมีชีวิตของสังคมการเมือง สังคมการเมืองที่ไม่มีความขัดแย้งเลยในทางหนึ่งมันตายแล้ว เพราะมันไม่รู้สึกอะไร สังคมการเมืองต้องสามารถโอบอุ้มความแตกต่าง ปล่อยให้หายใจได้

ซึ่งการที่จะทำลายความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน คือประตูที่นำไปสู่สงคราม และความรุนแรง เพราะสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่กลายเป็นศัตรู เพราะถ้าเป็นคู่ขัดแย้งเป็นคู่ต่อสู้ ถือว่ามีความสำคัญต่อตัวผม ถ้าผมลงวิ่งแข่ง ถ้าคนที่วิ่งด้วยไม่มี ผมจะชนะใคร? ไม่มีประโยชน์อะไร คู่แข่งจึงถือว่าสำคัญต่อผม และความแข็งแรงความอยู่ดีของผมที่ลงวิ่งได้เป็นประโยชน์ต่อคุณ ในฐานะที่เป็นคู่ต่อสู้ แต่มันจะเป็นโทษต่อคุณถ้ามองเป็นสงคราม

ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิทักษ์ความขัดแย้งเอาไว้ โดยเฉพาะความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งให้เข้มแข็ง เพราะมันคือลมหายใจของสังคมการเมือง

ฟังบทสัมภาษณ์ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เต็มอิ่มจุใจได้ที่