รู้จักประเพณี “ทานขันข้าว” ของชาวล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ตานขันเข้า”

ทานขันข้าว หมายถึง การนำสำรับอาหารไปถวายพระหรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ

การทานขันข้าวเป็นประเพณีหนึ่งของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว

เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความกตัญญูอีกแบบหนึ่งของชาวล้านนา

โดยนำสำรับอาหารไปถวายวัดในวันเทศกาลสำคัญ หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสอื่นๆ หรืออาจจะเป็นการทำบุญให้ตนเองเพื่อเป็นการสะสมบุญในชาติหน้า

ส่วนใหญ่นิยมทำกันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันพญาวัน

หรือในวันอื่นๆ เช่น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

ในวันดังกล่าวจะนำภัตตาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ไปถวายพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แม่พระธรณี เจ้าที่ เสื้อวัดเสื้อบ้าน ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร

และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

การทานขันข้าวนี้ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย จะช่วยให้วิญญาณของผู้ตายมีอาหารกิน และมีสิ่งของเครื่องใช้ไม่อดอยาก

หรือเป็นการทำบุญล่วงหน้าให้กับตนเองในชาติหน้า เพื่อให้มีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่สุขสบายในชาติหน้า

การจัดสำรับอาหารที่นำไปทำบุญจะแยกเป็นสำรับสำหรับญาติพี่น้องแต่ละคน

นอกจากนี้ ต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน และน้ำสำหรับกรวด เขียนชื่อของ พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วให้พระสงฆ์อ่าน เพื่อให้คนที่เราอุทิศส่วนบุญกุศลได้รับส่วนบุญกุศล

หลังจากพระสงฆ์รับประเคนขันข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ศีลให้พรอุทิศส่วนกุศล ก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี

นอกจากนี้ ในระหว่างเข้าวัสสา (เข้าพรรษา) ลูกหลานจะนำสำรับอาหารไปส่งให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ไปถือศีล ฟังธรรม ที่วัด

หรือในวันสำคัญต่างๆ ลูกหลานนำสำรับอาหารไปให้แก่ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้รับสำรับก็จะให้ศีลให้พรแก่ลูกหลาน

การทานขันข้าวในปัจจุบันนี้ มีความแตกต่างไปจากอดีต

ชาวบ้านไม่นิยมแบ่งอาหารออกเป็นส่วนๆ แต่จะนำใส่ภาชนะที่มิดชิด เช่น ปิ่นโต หรือหม้อ ไปถวายพระสงฆ์ เนื่องจากทำให้มีความสะดวก

ซึ่งเป็นการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว

ยังทำให้พระสงฆ์ได้มีสิ่งของสำหรับอุปโภคบริโภค

เป็นการช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

จึงควรอนุรักษ์ประเพณีการทานขันข้าวไม่ให้สูญหาย

ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำบุญ ที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษแล้ว

การประกอบอาหาร และการไปทำบุญร่วมกันที่วัด เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก ความอบอุ่น

ประการสำคัญ การพาลูกหลานไปตานขันข้าวที่วัด นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมแล้ว

ยังเป็นการสืบทอดในเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

โดยไม่ต้องใช้วิธีอบรมสั่งสอน แต่เป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ได้ปฏิบัติตนให้ลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่าง

ซึ่งเป็นวิธีสืบทอดหรือการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

โดยไม่จำเป็นต้องมีการพูดแต่อย่างใด