หนุ่มเมืองจันท์ | เรื่องประทับใจ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “เดชา” เพื่อนสนิทที่เมืองจันท์โทร.มา

เขาอยากให้ช่วยติดต่อคุณมานิต อุดมคุณธรรม เจ้าของโครงการสวอน เลค

ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ

แต่เป็นเรื่องชีวิตของคนคนหนึ่ง

เธอเป็น Stroke หรือโรคเส้นเลือดในสมอง

ผ่าตัดแล้ว กำลังรักษาด้วยการกายภาพบำบัด

ลูกสาวอยากปรึกษาคุณมานิต เพราะเคยดูคลิปที่ผมสัมภาษณ์คุณมานิตทาง Facebook Live

รู้ว่าเขาเคยผ่านโรคนี้มาแล้ว

และใช้เวลาไม่นานเอาชนะมันได้

ด้วยความเกรงใจผู้ใหญ่อย่างคุณมานิต

ผมเสนอว่าให้ลองไปดักเจอที่สวนลุมพินีตอนเช้า เพราะคุณมานิตจะไปสอนไท้เก๊ก

แต่รับปากว่าจะเกริ่นให้ก่อนและจะสอบถามรายละเอียดให้ว่าไปวันไหนหรือไปทุกวัน

ผมขอให้ “แพน” ผู้ช่วยของผมติดต่อไปหา “พี่อั๋น” มือขวาของคุณมานิต

เล่าเรื่องอย่างละเอียด

คำตอบจาก “พี่อั๋น” ก็คือ “พี่สามารถตอบแทนคุณมานิตว่าได้เลยค่ะ”

และขอเบอร์ของน้องคนที่จะคุยด้วย

เพราะคุณมานิตอาจจะนัดเจอที่บ้าน

“บอกคุณตุ้มด้วยว่าเรื่องดีๆ เราต้องช่วยกัน”

ฟังแล้วประทับใจมากครับ

คนที่เคยผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายแบบนี้มาแล้ว

เขารู้ว่าคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไร

ถ้าช่วยได้ เขาพร้อมจะช่วย

จากนั้นไม่นานคุณมานิตก็โทร.ไปหาจริงๆ

แล้วบอกว่าจะหาเวลาไปเยี่ยมคุณแม่ของน้องคนนี้ที่พัทยา

เป็น “ผู้ใหญ่” ที่น่ารักจริงๆ ครับ

เป็นหนึ่งเรื่องที่ประทับใจมาก

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว

ช่วงนี้ผมแวะไปที่ SCG Experience เป็นประจำ

ส่วนหนึ่ง เพราะเพิ่งค้นพบว่าที่นี่มี Co-Working Space ที่ดีเยี่ยม

นั่งทำงานหรืออ่านหนังสือเพลินมาก

ส่วนหนึ่ง เพราะกำลังต่อเติมบ้านเก่าครั้งใหญ่

ที่นี่มีบริการให้ข้อมูลเรื่องบ้านอย่างละเอียด

มีสถาปนิกคอยให้คำแนะนำ

ผมเข้าไปถามเรื่อง “หลังคา”

เจอน้องสถาปนิกชื่อ “เอก”

คุยกันยาวเกือบชั่วโมง

จากเรื่องหลังคากลายเป็นเรื่องกระเบื้อง กระจก ฯลฯ

“เอก” พาเดินดูทุกชั้น

แนะนำวัสดุแต่ละอย่าง

บอกข้อดี-ข้อเสีย

ไม่ได้ขายของ แต่ให้ความรู้จริงๆ

ผมขอให้ช่วยตีราคาหลังคา แต่ “เอก” มีงานค้างเยอะมาก

เขาขอถ่ายเอกสารแบบบ้าน ขออีเมล

แล้วบอกว่าจะส่งราคาตามมา

ประทับใจมากครับ

บริการดีจนรู้สึกเลยว่าต่อให้แพงกว่าให้ผู้รับเหมาบ้าง

แต่ยังไงก็ต้องใช้ที่นี่

ผมนึกถึง “จิ๊บ” สมยศ เชาวลิต ตอนที่เปิดร้าน J.I.B. ใหม่ๆ

เขาจะคุยกับลูกค้าที่มาซื้อคอมพิวเตอร์อย่างดี

ถามละเอียดว่าใช้ดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานแบบไหน

เลือกสเป๊กชิ้นส่วนแต่ละอย่างให้อย่างดี

จดใส่กระดาษแล้วบอกราคา

ลูกค้าจะไม่ตัดสินใจซื้อทันที

เขาจะเอากระดาษใบนั้นไปเช็กราคาตามร้านต่างๆ

ส่วนใหญ่ร้านเห็นใบราคาแบบนี้เขาก็จะลดราคาให้ต่ำกว่า

แต่ลูกค้าเกรงใจ “จิ๊บ”

ส่วนใหญ่จะกลับมาแต่ขอลดราคาเท่าร้านอื่น

“จิ๊บ” จะยกมือไหว้ บอกว่าเขาเป็นร้านเล็ก ลดเท่าร้านพวกนั้นไม่ได้

เชื่อไหมครับว่าเกือบทั้งหมดซื้อกับ “จิ๊บ”

ทั้งที่ต้องจ่ายแพงกว่า

เพราะที่นี่บริการดี

ดีจนรู้สึกผิดถ้าไปซื้อที่อื่น

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวเนื่องกัน

ผมไปปรึกษาเรื่องบ้านกับ “เล็ก” กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ เจ้าของแอสเส็ท ไวส์ ที่คุ้นเคยกันมานาน

“แอสเส็ท ไวส์” เป็นยักษ์ใหญ่คอนโดมิเนียมแถบรามอินทราและสะพานใหม่

โซนนี้เขาคุม

สำนักงานของ “เล็ก” ที่อยู่ติดสวนสาธารณะรามอินทรา

ออฟฟิศของเขาสวยมาก และแนวมาก

ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาเรียงต่อๆ กัน มีที่ว่างตรงกลางเป็นสวน

มีโต๊ะปิงปอง

มีฟิตเนส

ผมเชื่อว่าพนักงานที่นี่จะต้องถ่ายรูปที่ทำงานอวดเพื่อนให้อิจฉาเล่นๆ

“เล็ก” มีวิธีคิดเรื่อง “พนักงาน” ที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เคยเขียนเล่าไปแล้วครั้งหนึ่ง

ครั้งนี้มีเรื่องใหม่อีก

เขาเล่าเรื่องการกระตุ้นให้พนักงานออกกำลังกาย

เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

“เล็ก” ออกแคมเปญจูงใจแบบท้าทายชวนให้คนวิ่งออกกำลังกาย

และถ้าใครลงวิ่งมาราธอน 21 กิโลเมตร

จ่ายเลย 5,000 บาท

แค่ 1 ปี มีพนักงานที่วิ่งผ่านตามมาตรฐาน 20 กว่าคน

ค่าเสียหายที่ “เล็ก” ต้องจ่ายแสนกว่าบาทครับ

แต่ “คุ้ม”

เพราะคนออกกำลังกายประจำจะแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย

สมองสดใส ทำงานได้ดี

อีกเรื่องหนึ่ง พนักงานบางที่มาสาย

แทนที่เขาจะหาวิธีออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อลงโทษคนมาสาย

“เล็ก” ใช้วิธีใหม่

เขาทำโครงการเลี้ยงอาหารมื้อเช้าพนักงานทุกวัน

แทนที่จะเสียเวลากินข้าวก่อนเดินทางมาทำงาน

มากินที่บริษัทได้เลย

ลดค่าใช้จ่ายด้วย

แต่กติกาเรื่องนี้ง่ายๆ อาหารเช้าจะเก็บตอน 8 โมงเช้า

ใครมาสาย…อด

สิ่งที่ได้นอกจากพนักงานมาเช้าขึ้นแล้ว

บรรยากาศการกินข้าวด้วยกันตอนเช้า ก็คล้ายๆ ที่สำนักงานกูเกิล หรือไมโครซอฟท์ที่มีอาหารเลี้ยงพนักงาน

นั่นคือ พนักงานได้คุยกันอย่างไม่เป็นทางการ

ทำให้สนิทกันมากขึ้น

และได้แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องงานข้ามหน่วยงาน

ผมชอบ “วิธีคิด” ของ “เล็ก” มาก

แทนที่จะแก้ปัญหาด้วย “การลงโทษ”

เขาเปลี่ยนเป็นการสร้าง “แรงจูงใจ”

แก้ปัญหาแบบ “วิถีโค้ง”

“เล็ก” บอกว่าบางวันเขาก็มากินข้าวเช้าร่วมกับพนักงาน

แต่สังเกตว่าบรรยากาศที่คึกคักเฮฮากลายเป็นเงียบๆ และเครียดๆ

มาได้ 2-3 ครั้งเขาสรุปว่า การที่ “เจ้าของ” มากินข้าวด้วย

พนักงานไม่คิดว่าเป็น “แรงจูงใจ”

แต่กลับรู้สึกว่าเป็น “การลงโทษ”