สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา | คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (2)

2. คำแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะพูดตอนประสูติ

อาทิตย์ที่แล้ว ได้บอกว่าพระโพธิสัตว์คือเจ้าชายสิทธัตถะพูดได้ เดินได้ หลังประสูติชั่วขณะและได้บอกด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ อาจารย์ในภายหลังพยายามอธิบายว่าเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือ บุพนิมิต “ว่าไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นจริง”

แต่ข้อความในพระไตรปิฎกในรูปพุทธวจนะตรัสแก่พระสาวก ยืนยันว่า เป็นเรื่องจริง ทรงอธิบายสั้นๆ ว่า เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ดังได้กล่าวไว้แล้ว

คราวนี้มาว่าถึงคำพูดอันองอาจ เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า อาสภิวาจา ที่พระโพธิสัตว์เปล่งออกมานั้นว่าอย่างไร

คัมภีร์บันทึกไว้ไม่ค่อยตรงกันนัก ในแง่พลความ แต่ในสาระเหมือนกัน เช่น บันทึกไว้ว่า

อคฺโคโหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส

อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว (พระไตรปิฎกเล่มที่ 14)

ตรงนี้เขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดา แต่อีกที่หนึ่งแต่งเป็นคาถาหรือบทกวีดังนี้

อคฺโคหมสฺมิ โลกสส ชฺโฐ เสฏโฐหฺมสฺมิ

อยมนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว (พระไตรปิฎกเล่มที่ 10)

แปลว่า เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป

นี้แปลตามตัวอักษร ตามประโยคบาลีเปี๊ยบเลย ถ้าจะแปลเป็นไทยๆ คำว่า ของโลก แปลว่า ในโลกน่าจะเข้าใจดีกว่า

หมายเหตุ ปรากฏการณ์เจ้าชายน้อยประสูตินี้ ในพระไตรปิฎกไม่มีดอกบัวผุดขึ้นเจ็ดดอกรองรับ พูดแต่เพียงว่า ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทรงเหลียวดูทิศทั้งหลาย เสด็จดำเนินไปเจ็ดก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจา ดังกล่าวข้างต้น

อาจารย์ในภายหลังไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง จึงพยายามแปลเป็นภาษาสัญลักษณ์ หรือบอกว่าเป็นบุพนิมิต

แต่ใจความในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเรื่องเป็นไปได้ คือปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ มิใช่เรื่องเหลือเชื่อ หรืออิทธิปาฏิหาริย์อะไร ดังผมได้อธิบายขยายความมาแล้วในอาทิตย์ที่แล้ว

ผมเห็นว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ท่านถอดเป็นภาษาธรรมได้ดีที่สุด คือท่านว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเครื่องสำแดงว่า เจ้าชายสิทธัตถะต่อมาคือพระพุทธเจ้านั้น ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทั้งปวง

เนื่องจากสมัยนั้นมนุษย์ทั้งหลายตกเป็นทาสความยึดถือผิดๆ ว่ามนุษย์อยู่ในการดลบันดาลของพระพรหม ต้องพึ่งพระพรหม เรียกว่าพรหมลิขิต ค่านิยมของความดีความชั่ว ตัดสินเอาที่ว่าใครเกิดในวรรณะไหน ถ้าเกิดในวรรณะสูงก็เป็นคนดีโดยอัตโนมัติ เกิดในวรรณะต่ำก็เป็นคนเลว

จากนี้ต่อไป ท่านผู้นี้จะได้ปลดปล่อยมนุษย์ทั้งหลายจากความเข้าใจผิดเสียที ประกาศให้เห็นศักยภาพของมนุษย์ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองด้วยการกระทำของตน

คนจะดีหรือชั่วเพราะการกระทำด้วยตนเอง มิใช่เพราะการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หรือด้วยการอ้อนวอนขอ และเซ่นสรวงเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ

ท่านเจ้าคุณใช้คำคมว่า เป็นการดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือ ในขณะที่สังคมมุ่งหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้า เอาแต่อ้อนวอนขออำนาจเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ เจ้าชายน้อยพระองค์นี้ ซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้า ก็ดึงให้คนทั้งหลายมาสนใจตัวธรรมที่อยู่ในธรรมชาติ

คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ถอดความให้ฟังง่ายก็คือ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนคนว่าอย่ามัวหวังพึ่งเทพเจ้า ให้บันดาลโน่นบันดาลนี่ ให้หันมาพึ่งการกระทำของตนเองดีกว่า

นี้แหละครับ คือการดึงประชาชนจากเทพมาสู่ธรรม

นับว่าเจ้าชายน้อยพระองค์นี้ทรงถือกำเนิดมาเพื่ออิสรภาพของโลกอย่างแท้จริง

การอธิบายในแง่นี้ยังไม่มีใครอธิบายมาก่อน นอกจากท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก จึงขอนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟัง ถ้าใครอยากทราบรายละเอียด (เพราะผมจำมาไม่หมด) ให้ไปหาหนังสือ จาริกบุญ-จารึกธรรม ของท่านมาอ่านก็แล้วกัน