บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ สถานการณ์ ‘คุ้นๆ’ ของ ปชป. จากไม่รับ รธน.ถึงเลือกตั้ง 24 มี.ค.

นงนุช สิงหเดชะ

สถานการณ์ ‘คุ้นๆ’ ของ ปชป.

จากไม่รับ รธน.ถึงเลือกตั้ง 24 มี.ค.

หลังจากพ่ายเลือกตั้งแบบยับเยินเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ก็ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังไม่ตกผลึกว่า “สาเหตุใหญ่” ของความพ่ายแพ้คืออะไร เนื่องจากความเห็นแตกเป็นหลายก๊ก ตามแต่ใครจะขึ้นกับก๊กไหน ก็มักจะให้เหตุผลสนับสนุนก๊กนั้น

ถ้าเป็นก๊กที่เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะบอกว่าแพ้เพราะนโยบายยังไม่โดนใจประชาชน แพ้เพราะคนกลัวทักษิณ ชินวัตร จากภาพวันงานแต่งลูกสาวทักษิณที่ฮ่องกง 2 วันก่อนเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “ฮ่องกงเอฟเฟ็กต์”

ส่วนคน ปชป.ซีก “กปปส.” หรือกลุ่มนกหวีด มั่นใจว่า สาเหตุที่แพ้ถล่มทลายครั้งนี้เป็นฝีมือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ไปออกคลิปประกาศจุดยืน “ไม่เอาประยุทธ์” ในโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

คนที่พูดชัดคือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ปชป.พิษณุโลก ที่บอกว่าเป็นเพราะวางยุทธศาสตร์ผิดพลาด เพราะแทนที่จะไปต่อสู้กับทักษิณ ดันไปต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนคนอื่นบอกว่าคลิปที่ออกไปเป็นความเห็นส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่มติพรรค

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

 

หากมองจากสายตาคนภายนอก ที่อาจจะสัมผัสกับความรู้สึกของประชาชนผ่านสื่อต่างๆ ค่อนข้างเห็นด้วยกับ นพ.วรงค์ที่ว่าคลิป “ไม่เอาประยุทธ์” คือสาเหตุใหญ่

หลังทราบผลเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคและขอโทษสมาชิกพรรคที่นำพรรคพ่ายแพ้ พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงถึงสาเหตุการออกคลิปแสดงจุดยืนว่า เป็นเพราะสำรวจโพลหลายสำนักแล้วพบว่าคนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ แค่ 27% นอกจากนี้ “ฮ่องกงเอฟเฟ็กต์” ทำให้คนกลัวทักษิณจึงเทคะแนนให้พลังประชารัฐ (พปชร.)

ไม่แน่ใจว่าตัวเลขคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ 27% ที่นายอภิสิทธิ์นำมาอ้างคือส่วนไหน ถ้าเป็นส่วนของผลสำรวจว่าด้วยความนิยมในบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งแล้วละก็ ตรรกะของนายอภิสิทธิ์ดูเหมือนจะผิดพลาด เพราะโพลทุกสำนักไม่ว่าจะสำรวจกี่ครั้ง ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่ 1 ตลอด ตามด้วยคนจากพรรคเพื่อไทย

แม้แต่ก่อนเลือกตั้งไม่นาน รังสิตโพลก็ได้ผลออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนนิยม 27% หรือเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่วนนายอภิสิทธิ์ อยู่อันดับ 3 หรือไม่ก็ 4

จากผลโพลครั้งแล้วครั้งเล่า คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พปชร.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะเชื่อว่าจะช่วยดึงคะแนนได้

เมื่อเป็นดังนี้ เหตุใดนายอภิสิทธิ์กลับไปคิดว่า คนที่ได้คะแนนนิยมที่ 1 ในโพลมาตลอดอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่นายอภิสิทธิ์ไม่เห็นอยู่ในสายตา และไม่เชื่อว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชน จนถึงกับมั่นอกมั่นใจออกคลิปมาในลักษณะนั้น

ส่วนเหตุผลเรื่องฮ่องกงเอฟเฟ็กต์นั้น ยิ่งเบาเข้าไปใหญ่ เพราะ “เอฟเฟ็กต์ใหญ่” เกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ทำให้อึ้งกันทั้งประเทศ

 

นอกจากนี้หากมองในภาพใหญ่ที่การเมืองยังแบ่งขั้วกันอย่างมาก คะแนนที่เป็นต้นทุนเดิมของ ปชป. 11.4 ล้านเสียง (เมื่อปี 2554) มีแนวโน้มจะถูกแย่งจากพรรคย่อยที่อยู่ในขั้วเดียวกัน (ไม่เอาทักษิณ) อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) รวมทั้งพรรคใหม่คือ พปชร.ที่ตั้งขึ้นมารองรับ พล.อ.ประยุทธ์

มองในภาพรวม ยากที่ ปชป.จะได้คะแนนใหม่เข้ามา เท่ากับว่าต้นทุนยังมีเท่าเดิมคือ 11.4 ล้านเสียง แต่ถูกแบ่งไปโดยพรรคอื่นที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังแข็งแกร่งเช่นเดิมโดยเฉพาะพื้นที่อีสาน

หากนายอภิสิทธิ์ไม่ออกคลิปประกาศจุดยืนต้านประยุทธ์ คนที่เคยเลือก ปชป.ก็อาจจะไม่ตกใจจนต้องกระโดดไปเลือก พปชร. เพราะจะเลือก ปชป.หรือ พปชร.ก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากเชื่อว่าหลังเลือกตั้งสองพรรคนี้จะจับมือกันอยู่ตรงข้ามเพื่อไทย

แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศ ทำให้คนเริ่มกลัวว่าซีกต้านทักษิณมีโอกาสน้อยที่จะฟอร์มรัฐบาลได้อย่างมั่นคง ขณะที่โพลทุกครั้งบอกชัดอยู่แล้วว่าเพื่อไทยและเครือข่ายจะได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในแง่จำนวน ส.ส.

เมื่อกลัวจึงพากันเทคะแนนให้ พปชร.เพื่อให้มีจำนวน ส.ส.มากพอในระดับที่จะสามารถดึงพรรคกลางๆ ให้มาช่วยฟอร์มรัฐบาล ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น คือกรุงเทพฯ นั้นจากที่ ปชป.เป็นแชมป์มาตลอด กลับกลายเป็นสูญพันธุ์ไม่เหลือแม้แต่เก้าอี้เดียว

จากที่เคยประเมินว่าทั่วประเทศ พปชร.จะได้แค่ 60-70 ที่นั่ง ปชป.ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องจึงกลับกันคือ ปชป.ได้แค่ 50 กว่า ส่วน พปชร.ได้เกือบ 120

 

เหตุการณ์เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ช่างคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เมื่อครั้งที่มีการจัดทำประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ของ คสช.หรือไม่

ในครั้งนั้น ปชป.ออกมาคัดค้านไม่รับ โดยนายอภิสิทธิ์แถลงอย่างเป็นทางการถึงสาเหตุที่จะไม่รับ ซึ่งครั้งนั้นก็เช่นกัน สมาชิก ปชป.ที่อยู่ในซีก กปปส.ได้แสดงความเห็นสวนทางนายอภิสิทธิ์ ทำให้อดีต ส.ส.ปชป.บางคนออกมาไล่ส่งให้ออกจากพรรคฐานแสดงความเห็นสวนทางหัวหน้าพรรค

หนำซ้ำนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ในยุคเก่าแก่ ดันออกมาแนะนำให้ ปชป.จับมือกับเพื่อไทยเพื่อสกัดรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดูเหมือนจะหลุดจากโลกความจริงและไม่รับรู้ถึงอารมณ์ของฐานเสียง ปชป. (แถมหลังเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ยังบอกว่าให้ ปชป.ไปสนับสนุนเพื่อไทยให้เป็นรัฐบาล)

ผลที่ออกมาก็คือประชาชนร้อยละ 61.4 รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่รับร้อยละ 38.6 ถือว่าผ่านแบบขาดลอย ทั้งที่พรรคเพื่อไทยและ ปชป.จับมือกันต่อต้านสุดฤทธิ์ มีการโน้มน้าวต่างๆ นานา ไม่ให้ประชาชนโหวตรับ

ฝ่ายต่อต้าน คสช.ที่สนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ถึงกับลงทุนไปถึงหน่วยลงประชามติตั้งแต่ตอนเที่ยงแล้วฉีกบัตร พร้อมกับประกาศว่า “เผด็จการจงพินาศ” เพื่อหวังให้เป็นข่าวและหวังจะโน้มน้าวคน ยังเอาไม่อยู่เลย

ในกรุงเทพฯ น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะแม้แต่ประชาชนในเขตเลือกตั้งที่เป็นฐานของเพื่อไทยยังโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเฉลี่ย 60% ส่วนเขตของ ปชป.โหวตรับสูงกว่านั้นเฉลี่ย 70% ขึ้นไป โดยเฉพาะเขตวัฒนาซึ่งเป็นเขตของนายอภิสิทธิ์สูงโด่ง 76% เป็นอันดับ 2 ของ กทม.เลยทีเดียว

บางคนมองว่าเหตุที่คน กทม.ในพื้นที่ของ ปชป.โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญสูงขนาดนั้นน่าจะเป็นเพราะ 1.นายอภิสิทธิ์ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2.อดีต ส.ส.บางคนในพรรคไล่คน ปชป.ในซีก กปปส.ออกจากพรรค

เป็นสถานการณ์คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้ ส.ส.ปชป.ก๊กนายอภิสิทธิ์บางคน ออกมาด่ากราด นพ.วรงค์ว่าเนรคุณพรรคฐานมาวิจารณ์อภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว นพ.วรงค์คือมือหนึ่งในการขุดคุ้ยคดีทุจริตจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

หาก ปชป.ในยุคนายอภิสิทธิ์ ย้อนไปทบทวนดูสถานการณ์ในคราวลงประชามติรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะอ่านความรู้สึกของฐานเสียงได้ว่าไม่ได้ต่อต้าน คสช. และเมื่อมาประจวบกับโพลเรื่องบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ ก็น่าจะพอเห็นแนวโน้มว่าคนไม่ได้ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์มากพอที่นายอภิสิทธิ์จะเสี่ยงออกคลิปมาท้าชน

เมื่อท้าชน ก็อย่างที่เห็นคือ คะแนนที่มีอยู่เดิม ถูกเกลี่ย ถูกเทไปให้ พปชร. เหลือเพียง 3.9 ล้านเสียงเท่านั้นที่ยังยึดมั่นชื่นชมใน ปชป.

3.9 ล้านเสียง น่าจะเป็นกลุ่มที่เลือกโดยคิดถึงเรื่องอุดมการณ์อย่างเดียว และมองสถานการณ์หลังเลือกตั้งไม่ออก สถานการณ์ที่ว่าเพื่อไทยมีแนวโน้มจะชนะ และไม่แคร์หากฝ่ายทักษิณจะเป็นฝ่ายได้ตั้งรัฐบาล

ส่วนอีก 7.5 ล้านเสียงที่หนีไป เลือกในเชิงยุทธศาสตร์ คือเลือกเพื่อให้ซีก พล.อ.ประยุทธ์ชนะ เมื่อ ปชป.ประกาศไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จึงเลือกที่จะลงคะแนนให้ พปชร.

หากหยั่งอารมณ์ของคนที่เป็น (และที่เคยเป็น) แฟน ปชป.หลังเลือกตั้ง ยังมี 2 ขั้วเช่นเดิมคือ ขั้วที่อยากให้ ปชป.เป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่ช่วยเหลือ พปชร. ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่ม 3.9 ล้านเสียง กับขั้วที่อยากให้ไปร่วม พปชร. (น่าจะเป็นกลุ่ม 7.5 ล้านเสียงที่หนีไป)

เริ่มมีแฟน ปชป.บางคนออกมาขู่แล้วว่า หาก ปชป.ไม่ยอมไปร่วมกับ พปชร. ครั้งหน้าจะไม่เลือกอีก

หาก ปชป.เป็นฝ่ายค้านอิสระในครั้งนี้ น่าติดตามว่าครั้งหน้า ปชป.จะเหลือเก้าอี้เท่าไหร่ แต่มีแนวโน้มสูงว่าจะได้ไม่มากไปกว่าวันที่ 24 มีนาคม