มาดามหลูหลี / Kusama Infinity : คุซามะ ศิลปิน (โดด) เดี่ยว

มาดามหลูหลี[email protected]

ภาพลูกฟักทองสีเหลืองที่มีจุดดำหลายขนาดเรียงตัวดูสวยแปลกตา เป็นฟักทองอันโด่งดังเดินทางไปหลายประเทศเกือบทั่วโลก ฟักทองลายจุดของศิลปินหญิงยาโยอิ คุซามะ ผู้คลั่งไคล้จุด. จุด. จุด.

Kusama Infinity สารคดีเล่าเรื่องราวชีวิตของยาโยอิ คุซามะ โดยผู้กำกับฯ เฮเทอร์ เลนซ์ ผ่านการบอกเล่าหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดและภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งซึ่งได้แสดงงานของคุซามะ

ยาโยอิ คุซามะ เกิดเมื่อปี 1926 ที่เมืองมัทซึโมโตะ นากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น ครอบครัวทางแม่ปลูกพืชเพื่อค้าขายเมล็ดพันธุ์พืช และมีฐานะดี แม่จึงมีสถานะอยู่เหนือพ่อของเธอ

ในวัยเด็ก แม่มักใช้ให้คุซามะไปตามดูพฤติกรรมของพ่อ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากมาย ภารกิจนี้สร้างบาดแผลในใจให้คุซามะ ทำให้เธอเกลียดการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้เธอใช้ชีวิตเป็นโสดมาตลอดชีวิต

แม้จะมีช่วงหนึ่งที่คุซามะใช้ชีวิตอยู่กับโจเซฟ คอแนล (Joseph Cornell) เธอบอกว่าทั้งคู่ต่างไม่ชอบการมีเซ็กซ์ จึงอยู่ด้วยกันได้ แต่ที่อยู่ไม่ได้ต้องเลิกรากัน เพราะเขาไม่เห็นว่าเธอเป็นคนสำคัญ

และเซ็กซ์ยังมีผลต่องานศิลปะของเธอในช่วงแรกๆ ประเภทศิลปะจัดวาง หรือศิลปะติดตั้ง (Installation art) งานมีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศของผู้ชายจำนวนมาก คล้ายตะปุ่มตะป่ำแต่นุ่มนิ่ม

อีกทั้งมีศิลปินชายชาวอเมริกัน นำความคิดนี้ไปใช้ในงานศิลปะของเขา ทำให้ได้รับชื่อเสียงมาก สร้างความผิดหวังให้คุซามะมาก

 

คุซามะเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังที่ญี่ปุ่นตังแต่วัยรุ่น แต่ศิลปินผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก และครอบครัวของเธอก็ไม่สนับสนุน เธอได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินหญิงชาวอเมริกัน Georgia O”Keeffe ซึ่งได้แนะนำคุซามะว่าผู้หญิงไม่ควรเข้าสู่เส้นทางสายนี้

ภาพยนตร์เล่าเรื่องชีวิตของคุซามะไล่เรียงเป็นช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มทำงานศิลปะที่ญี่ปุ่น ปี 1950-1956 ซึ่งเธอเริ่มสร้างงานศิลปะ “Polka dots” อันโดดเด่นมีความเป็นตัวตนของเธอ

ช่วงใช้ชีวิตที่นิวยอร์กปี 1957-1972 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลำบากของคุซามะ ขณะที่เธอมีอายุ 27 ปี คุซามะทำงานศิลปะทุกวันไม่มีหยุด แต่งานก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าเธอจะพยายามมากสักแค่ไหน

งานศิลปะของคุซามะเป็นงานที่มาก่อนกาล แปลกใหม่ออกนอกกรอบ กล้าคิดกล้าทำ ใช้วัสดุทรงกลมหลายขนาดที่แวววาวสะท้อนแสง เหมือนจุด…จุด…จุด… เป็นสัญลักษณ์ของคุซามะ อีกทั้งยังใช้วัสดุอื่นๆ มาสร้างงานศิลปะ รวมทั้งตัวเธอก็เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ

ยังคงมีศิลปินชายชาวอเมริกันสร้างงานศิลปะที่ลอกเลียนแบบงานของคุซามะอีกคน เพราะคุซามะเป็นผู้หญิง และยังเป็นชาวต่างชาติชาวเอเชีย เส้นทางศิลปินจึงยากยิ่งสำหรับเธอ

งานลอกเลียนแบบกลับสร้างชื่อเสียงให้ศิลปินผู้นั้น แต่คุซามะกลับยังไม่ได้รับการยอมรับ ความเสียใจ ผิดหวัง ถาโถมใส่เธอ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า เก็บตัวไม่อยากพบใคร

ที่นิวยอร์ก นอกจากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว คุซามะยังใช้งานศิลปะต่อต้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพ เพราะเธอคิดว่าเรือนร่างอันงดงามของมนุษย์ ไม่ควรถูกอาวุธสงครามทำร้าย

ปี 1973-1977 คุซามะกลับบ้านเกิดที่มัทซึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยหัวใจบอบช้ำและสุขภาพร่างกายย่ำแย่ หากเธอก็ไม่หยุดสร้างงานศิลปะ มีเพื่อนแต่วัยเด็กของเธอ คิดว่าต้องจัดงานแสดงศิลปะของคุซามะ เพื่อให้ชาวมัทซึโมโตะได้รู้จักและยอมรับเธอ ในฐานศิลปินหญิงชาวมัทซึโมโตะ

ชาวมัทซึโมโตะและโรงเรียนที่เธอเคยเล่าเรียน ที่เคยไม่ยอมรับเธอ ต่อต้านเธอ กลับยอมรับคุซามะ ยอมรับงานศิลปะของเธอ ศิลปะของคุซามะจัดวางไว้ในหลายจุดของโรงเรียน ทั้งในและนอกอาคาร

คุซามะกลับมาอยู่ญี่ปุ่น เพื่อรักษากายกับรักษาใจจากอาการป่วย ที่โรงพยาบาลเซวา และมีสตูดิโออยู่ใกล้ๆ เพื่อทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง

คุซามะบอกว่า ถ้าเธอไม่มีงานศิลปะช่วยเยียวยาจิตใจ เธอคงจะฆ่าตัวตายไปนานแล้ว

 

ปี1980 เป็นการกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ จนถึงปัจจุบัน หลังจากทิ้งนิวยอร์กมา คุซามะที่เกือบถูกลืม ได้ประสบความสำเร็จที่ศาลาญี่ปุ่นในงาน Venice Biennale ในปี 1993 ห้องกระจกเงาที่เต็มไปด้วยรูปปั้นฟักทองขนาดเล็กซึ่งเธออยู่ในชุดนักมายากล คุซามะได้ผลิตรูปปั้นฟักทองสีเหลืองขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยจุดสีดำขนาดต่างๆ ฟักทองมาเพื่อเป็นตัวแทนของเธอในการปรับเปลี่ยนอัตตาหรือภาพเหมือนตนเอง เพื่อบอกว่า “ฉันอยู่ที่นี่ แต่ไม่มีตัวตน…”

คุซามะแสดงงานศิลปะของเธอไปทั่วโลก ทั้งในพิพิธภัณฑ์และกลางแจ้ง โดยเฉพาะฟักทองสีเหลืองลายจุดที่จัดวางอยู่ในหลายๆ ประเทศ

คุซามะเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะหลายแขนงมาก นอกจากงานวาดเขียน ยังมีงานประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะการแสดง, ศิลปะแห่งการลดทอนและความจริงแท้ของวัตถุ (Minimalism), Pop-Art, ฟิล์ม, นวนิยาย, แฟชั่น ฯลฯ

คุซามะเป็นศิลปินที่สร้างงานมากมาย และงานของเธอเป็นที่ยอมรับอย่างสูง นับเป็นศิลปินที่ขายงานได้มูลค่ามากที่ยังมีชีวิตอยู่

คุซามะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อศิลปะ เพื่อผู้หญิงทั้งโลก และเพื่อสันติภาพ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนงานของเธอที่ใช้ Polka Dots คือ จุด จุด จุด ไม่สิ้นสุด แม้ว่าจะซึมเศร้าและโดดเดี่ยว…

——————————————————————————————————————-
วาซาบิ :

“A polka-dot has the form of the sun, which is a symbol of the energy of the whole world and our living life, and also the form of the moon, which is calm. Round, soft, colorful, senseless and unknowing. Polka-dots become movement … Polka dots are a way to infinity.”
– Yayoi Kusuma, in Manhattan