เกษียร เตชะพีระ | “ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ” (2)

เกษียร เตชะพีระ

(บทสนทนาระหว่าง ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับ โรสแมรี เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข)

โรสแมรี เบคเลอร์ : และมันก็เป็นอย่างเดียวกัน (ท่าทีแบบฉบับของมาร์กซิสต์ที่เน้นแต่เรื่องชนชั้นเป็นสรณะ – ผู้แปล) กับการเมืองเรื่องเกย์ การต่อต้านลัทธินิยมเชื้อชาติ สารพัด เอ่ยออกมาเถอะ และอะไรอื่นบางอย่างก็ไปควบคู่กับท่าทีปัดปฏิเสธแบบนั้นด้วยไม่ใช่เหรอ? หากกรณีคือการถือว่าอัตวิสัยของคนคนหนึ่งล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานสถานะทางชนชั้นของคนคนนั้นทั้งเพแล้ว ทั้งหมดที่ต้องเกิดขึ้นก็เพียงแค่ชี้สัจธรรมของความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เป็นตัวนิยามให้เธอเห็นเท่านั้นเอง…แล้วเธอก็จะตระหนักถึงมันขึ้นมา

ชองตาล มูฟ : ใช่ เธอต้องบอกพวกคนงานที่มองไม่เห็นความข้อนี้ว่าพวกเขามี “จิตสำนึกจอมปลอม” (false consciousness) หลังจากตรวจสอบคำถามนี้กันแล้ว พวกเราก็เลยบรรลุข้อสรุปว่าลัทธิยึดถือชนชั้นเป็นสรณะ (class essentialism) นี่แหละที่เป็นตัวปัญหาล่ะ

เราจึงตัดสินใจว่ามันจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางใหม่ที่ต่อต้านการยึดอะไรก็ตามแต่เป็นสรณะขึ้นมา (a new anti-essentialist approach) และเราทำสิ่งนี้โดยผสมผสานความหยั่งเข้าใจจากลัทธิหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) กับจากการคิดของอันโตนิโอ กรัมชี นั่นคือที่มาของหนังสืออำนาจนำกับยุทธศาสตร์สังคมนิยม : สู่การเมืองประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในจังหวะสถานการณ์อันจำเพาะเจาะจง นั่นคือวิกฤตของอำนาจนำแบบสังคมประชาธิปไตย (the crisis of social democratic hegemony)

แต่ก็อย่างที่ฉันเขียนไว้ในหนังสือแด่ประชานิยมฝ่ายซ้ายนั่นแหละค่ะว่าผ่านมา 33 ปีให้หลัง ตอนนี้เรากลับกำลังอยู่ในจังหวะของวิกฤตอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือวิกฤตของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่ (the crisis of neoliberal hegemony)

แน่ละว่าวิกฤตสังคมประชาธิปไตยสมัยนั้นมีปัจจัยกำหนดทางเศรษฐกิจของมัน แต่มันก็มีความล้มเหลวทางการเมืองของพรรคแรงงานตอนนั้นในอันที่จะต่อต้านลัทธิแธตเชอร์อยู่ด้วย

โรสแมรี เบคเลอร์ : ในปี ค.ศ.1998 เธอบอกฉันว่า “แบลร์ (โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีพรรคแรงงานของอังกฤษระหว่าง ค.ศ.1997-2007 – ผู้แปล) เป็นแค่ตัวแทนแธตเชอร์ประเภทที่มีหน้าค่าตาเป็นมนุษย์มนาเท่านั้น มากกว่าจะเป็นความพยายามจริงจังใดๆ ที่จะสร้างอำนาจนำใหม่ขึ้นมา หรือจะเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจไปเป็นอื่น … ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นเกมอำนาจนำเดียวที่มีให้เล่นกัน”

ชองตาล มูฟ : ใช่ค่ะ แธตเชอร์ (มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งพรรคอนุรักษนิยมของสหราชอาณาจักรระหว่าง ค.ศ.1979-1990 – ผู้แปล) สามารถสร้างอำนาจนำใหม่ที่แตกต่างออกไปได้ และจากปี ค.ศ.1997 ถึง 2010 พรรคแรงงานยุคใหม่ก็ไม่ได้พยายามต่อต้านอำนาจนำที่ว่านี้เอาเลย ในบทความลงพิมพ์ในวารสาร Soundings ปี ค.ศ.1998 ชื่อ “A Politics Without Adversary” (การเมืองไร้คู่ต่อกร) ฉันเอ่ยอ้างถึงพรรคแรงงานยุคใหม่ว่าเป็น “ลัทธิแธตเชอร์ที่มีหน้าค่าตาเป็นมนุษย์มนา” จริงๆ น่ะแหละ

ต่อมาในปี ค.ศ.2005 ในหนังสือ On the Political (ว่าด้วยความเป็นการเมือง) ฉันสำรวจตรวจสอบอย่างละเอียดยิ่งขึ้นว่าเอาเข้าจริงไม่เพียงแต่พรรคแรงงานยุคใหม่เท่านั้น แต่บรรดาพรรคสังคมประชาธิปไตยทั้งหมดทั่วยุโรปก็ยอม รับตัวแบบเสรีนิยมใหม่นี้ด้วยอย่างไร ตอนนั้นฉันรู้สึกห่วงกังวลกับสิ่งที่ฉันเห็นว่าเป็นอำนาจนำเสรีนิยมใหม่ที่ปกคลุมไปทั่วยุโรป

ฉะนั้น นี่ก็เป็นจังหวะสถานการณ์อีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ จังหวะของแบลร์กับสโครเดอร์ (เกอร์ฮาร์ด สโครเดอร์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระหว่าง ค.ศ.1998-2005 – ผู้แปล) รวมทั้งนักทฤษฎีของพวกเขาได้แก่ แอนโธนี กิดเดนส์ กับอุลริก เบ็ก – อันเป็นจังหวะของหนทางที่สาม (the Third Way) ที่ซึ่งพวกเขาปกป้องความคิดที่ว่าตัวแบบการเมืองเชิงต่อกรกัน (the adversarial model of politics) ได้ถูกพิชิตไปแล้ว ว่าความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้สูญหายไป และก็อย่างที่แบลร์บอกนั่นแหละว่าเดี๋ยวนี้เรากลายเป็นคนชั้นกลางกันหมดแล้ว

แน่ละว่าในระหว่างนั้นมันก็มีเหตุการณ์ปี ค.ศ.1989 การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และฟรานซิส ฟูกูยามา ก็กำลังพูดเรื่องอวสานของประวัติศาสตร์ ตอนนั้นฉันเดินสวนทวนกระแสจริงๆ เพราะพวกเขากำลังเฉลิมฉลองวิวัฒนาการที่ว่านี้โดยบอกว่า “ประชาธิปไตยกำลังแก่กล้าสุกงอมยิ่งขึ้น!” ส่วนตัวฉันกลับกำลังกล่าวอ้างว่ามันเป็นอันตรายสำหรับประชาธิปไตยต่างหากเพราะไม่เหลือที่ทางอันใดให้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนอีกแล้ว แต่พวกเขากลับกำลังพูดว่า “ประชาธิปไตยกำลังแก่กล้าสุกงอมยิ่งขึ้น!”

อนึ่ง ฉันเข้าใจศัพท์คำว่า “อำนาจอธิปไตยของประชาชน” (popular sovereignty) ในแบบเฉพาะของตัวเองนะคะ ฉันไม่เชื่อหรอกค่ะว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนจะมีวันเอาไปปฏิบัติได้จริง – มันก็เป็นอย่างที่ฮันส์ เคลเซน นักนิติศาสตร์ นักนิติปรัชญาและผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญออสเตรียฉบับปี ค.ศ.1920 คนหนึ่งเคยบอกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็น “หน้ากากโทเท็ม” นั่นแหละ (Totem คือ เจ้าทางจิตวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์ที่กลุ่มชนหนึ่งยึดถือเป็นเครื่องหมายประจำกลุ่มตน – ผู้แปล) เวลาฉันยกศัพท์คำนี้มาอ้างนั้น ฉันหมายความว่าผู้คนจำเป็นที่จะต้องรู้สึกว่าพวกเขามีปากมีเสียง ว่าเวลาเขาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น พวกเขามีตัวเลือกจริงๆ แต่เนื่องจากบัดนี้ไม่มีความแตกต่างที่จริงจังอะไรระหว่างพวกขวากลางกับพวกซ้ายกลาง เพราะพรรคเหล่านี้เห็นพ้องกันว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่แล้ว มันก็ย่อมหมายความว่าการเมืองถูกลดทอนลงมาเหลือแค่คำถามเรื่องการตัดสินใจเชิงเทคนิคเท่านั้นซึ่งควรปล่อยให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญไปว่ากันเอง ดังนั้น ผู้คนจึงไม่มีปากมีเสียงอะไรแค่นั้นเอง ฉันกำลังเตือนว่านี่ได้สร้างภูมิลักษณ์ที่เอื้อให้บรรดาพรรคประชานิยมปีกขวาผงาดขึ้นมา 

ตอนนั้นฉันเดินทางไปออสเตรียเป็นประจำและสนใจในวิถีทางการเมืองของยอร์ก ไฮเดอร์ มาก ขณะนั้นมีพรรคประชานิยมปีกขวาที่สำคัญดำรงอยู่แค่สองพรรค ได้แก่ พรรคเสรีภาพออสเตรียของไฮเดอร์ และแนวร่วมแห่งชาติของเลอเปน ในฝรั่งเศส นอกจากนี้ก็มีพรรคผลประโยชน์ของชาวเฟลมิช…

โรสแมรี เบคเลอร์: แต่มันก็ไม่มีพรรคประชานิยมปีกขวาอื่นอีกมากเท่าไหร่นักแล้วเธอก็ยังบอกว่ามันจะมี

ชองตาล มูฟ : เผงเลยค่ะ และมันก็พิสูจน์ว่าฉันพูดถูก คนรู้สึกเหลือเชื่อว่าฉันเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนขึ้นคริสต์ศตวรรษใหม่ พวกเขาพูดว่า “จริงเหรอ แต่มันตรงเป้าเข้าเรื่องกับทุกวันนี้จั๋งหนับเลย!” อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นผู้คนบอกฉันว่ามันมีอะไรบางอย่างไม่เข้าท่าในข้อถกเถียงของฉันและแค่ฉันมองดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบริเตนที่ซึ่งไม่มีพรรคประชานิยมปีกขวาเลยก็จะเห็นได้แล้ว

ฉันตอบว่า “ไม่หรอกค่ะ ที่ว่ามานั้นก็จริงอยู่ แต่ฉันคิดว่าเงื่อนไขให้พรรคแบบนั้นผงาดขึ้นมาน่ะสุกงอมแล้ว” แน่ละว่าเธอจำต้องมีผู้นำ ทว่าภูมิลักษณ์น่ะมันอยู่ที่นั่นแล้ว อีกตัวอย่างที่พวกเขาใช้ได้แก่เยอรมนี ก็จริงอีกนั่นแหละ แต่แล้วไงล่ะ มาตอนนี้พวกเขาก็ได้พรรค AfD นั่นปะไร (หมายถึงพรรค Alternative f?r Deutschland พรรคทางเลือกสำหรับเยอรมนี ซึ่งเป็นพรรคปีกขวาถึงขวาจัด – ผู้แปล)

ฉันปักใจเชื่ออย่างสัมบูรณ์แบบว่าการเติบใหญ่ของบรรดาพรรคประชานิยมปีกขวาในปัจจุบันเชื่อมโยงกับฉันทมติของฝ่ายเดินสายกลางและการขาดแคลนการโต้แย้งถกเถียงกันแบบปรปักษ์ (agonistic debate ในความหมายฝ่ายตรงข้ามกันในการเมืองแบบพหุนิยมที่ยอมรับนับถือการดำรงอยู่โดยชอบธรรมของกันและกันกระทั่งนิยมชมเชยกัน ทว่าถือความขัดแย้งโต้เถียงกันเป็นธรรมชาติธรรมดาถาวรของการเมือง, หาใช่เพื่อแสวงหาฉันทามติด้วยเหตุผลและการปรองดองรอมชอมผลประโยชน์เป็นเป้าหมายบั้นปลายแบบเสรีนิยมไม่ และก็ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์ที่ต้องทำลายล้างผลาญกันลงไปแบบ antagonistic เพื่อบรรลุสังคมบรรสานสอดคล้องกลมกลืนกันในอุดมคติแบบมาร์กซิสต์ด้วย – ผู้แปล) ในทรรศนะของฉัน พวกที่ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทุกวันนี้ได้แก่พวกสังคมประชาธิปไตย (the social democrats) พวกสังคมประชาธิปไตยนี่แหละเป็นตัวการผู้ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่ว่านี้

พวกเขาคือพรรคทั้งหลายที่ทอดทิ้งชนชั้นประชาสามัญชนไป (ไม่นับรวมชนชั้นกลางและชนชั้นนำ – ผู้แปล) มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ในนาทีที่พวกเขาเริ่มเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ อันเป็นกระบวนการดังที่เรารู้กันอยู่ว่ามีผู้แพ้กับผู้ชนะ – และผู้แพ้ก็คือชนชั้นประชาสามัญชนทั้งหลายนั่นเอง ในทุกๆ ประเทศ พวกสังคมประชาธิปไตยเลิกที่จะมีภาษาใดๆ ไปขบแก้ปัญหาที่บังเกิดขึ้นแก่ชนชั้นประชาสามัญชน ดังนั้น พวกสังคมประชาธิปไตยก็เลยทอดทิ้งพวกเขาและตัดสินใจหันไปรวมศูนย์ความพยายามทั้งปวงของตนเอากับชนชั้นกลางแทน

ความข้อนี้เห็นได้ชัดยิ่งในฝรั่งเศสเป็นตัวอย่าง เพราะการทอดทิ้งที่ว่านี้ถูกเปล่งแถลงออกมาอย่างชัดเจน แตร์ราโนวา (Terra Nova หรือแผ่นดินใหม่) อันเป็นคลังสมองที่ถือว่าใกล้ชิดกับพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสประกาศว่า “เราเสียชนชั้นคนงานไปแล้ว พวกเขาไม่ลงคะแนนเสียงให้เราอีกต่อไป เราควรรวมศูนย์ที่คนชั้นกลางและผู้อพยพทั้งหลายแทน” แน่ละว่าทั้งนี้ก็เพราะพวกผู้อพยพไม่น่าจะลงคะแนนเสียงให้เลอเปน เป็นธรรมดาอยู่เองว่าลงเธอมีท่าทีชนิดนั้นแล้ว ชนชั้นประชาสามัญชนก็ย่อมจะหันไปหาที่อื่น

ในความหมายหนึ่ง เธอย่อมไม่คาดหวังว่าฝ่ายขวาจะมาดูแลผลประโยชน์ของคนงาน ดังนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมฉันจึงพูดว่าการที่พวกสังคมประชาธิปไตยหันขวาอยู่ตรงต้นตอบ่อเกิดแห่งการพัฒนาของประชานิยมปีกขวาเลยเทียว

(ยังมีต่อ)