เพ็ญสุภา สุขคตะ : การเข้านิโรธกรรมของครูบาคติใหม่ รับอิทธิพลจากครูบาเจ้าศรีวิชัยจริงหรือ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ไม่พบภาพถ่าย แต่มีลายลักษณ์

มีผู้ไถ่ถามกันมากว่า การเข้านิโรธกรรมด้วยการเก็บตัวปฏิบัติธรรมในถ้ำเถื่อนแรมเดือนแรมปีแบบไม่พบปะผู้คนจนผมเผ้ายาวรุงรังของ “ครูบาคติใหม่” (ขอยืมศัพท์ที่ประดิษฐ์โดยณัฐพงศ์ ดวงแก้ว) หรือครูบารุ่นหลังในวัฒนธรรมล้านนานั้น

ตกลง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” เป็นต้นแบบให้จริงๆ หรือ?

ดิฉันเองก็สงสัยเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์หรือคำอธิบายตามอินเตอร์เน็ตของครูบารุ่นใหม่กับเหล่านักการศาสนาท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องการเข้านิโรธกรรมในแบบฉบับล้านนา มักอ้างอิงเป็นเสียงเดียวกันว่า “รับคติมาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างแน่นอน”

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ไฉนเราจึงไม่เคยเห็นภาพถ่ายครูบาเจ้าศรีวิชัยในลักษณะผมยาวรุ่มร่าม หรืออย่างน้อยน่าจะมีภาพศิษยานุศิษย์เบียดเสียดแหนห้อมอยู่หน้าถ้ำ นอนคว่ำหน้ารอให้ต๋นบุญที่เพิ่งออกจากนิโรธกรรมมาใหม่ๆ เหยียบหลัง ด้วยการที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญ ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนจ้องจะถ่ายภาพท่านมากกว่าพระสงฆ์ทั่วไปที่มีชีวิตร่วมสมัยกัน

การไม่พบภาพถ่ายครูบาเจ้าศรีวิชัยในรูปลักษณ์ของพระที่เพิ่งออกจากนิโรธกรรมถือว่ายังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับคำถามที่ว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะเอาเวลาจากไหนไปปลีกวิเวกนั่งกัมมัฏฐานในเถื่อนถ้ำนานหลายเดือนหรือหลายปีเช่นนั้นได้

ก็ในเมื่อตลอดชีวิตของท่านมีแต่ภารกิจงานก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสังฆิกะรอคิวอยู่หลายพันวัด

การตั้งคำถามเช่นนี้ ก็ใช่จะปฏิเสธว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจักไม่เคยเข้านิโรธกรรมเสียทีเดียว เผอิญได้พบหลักฐานลายลักษณ์ที่ท่านเขียนเองเกี่ยวกับ “การเข้านิโรธสมาบัติ”

ย้ำ! ท่านใช้คำว่า “นิโรธสมาบัติ” ไม่ใช่ “นิโรธกรรม”

ซึ่งคำว่า “นิโรธสมาบัติ” นี้น่าจะเป็นคำที่สุ่มเสี่ยงยิ่งกว่า “นิโรธกรรม” เสียอีก

 

สภาวะบรรลุ “โคตรภูญาณ”

ศิษยานุศิษย์ชาวลี้ บ้านโฮ่ง แม่ทา ทุ่งหัวช้างในลำพูน เล่าสืบต่อๆ กันมาว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมจนสำเร็จหยั่งรู้ “โคตรภูญาณ” หรือสภาวะ “สมุจเฉทปหาน” บนยอดเขาดอยแต (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (ในอดีตเรียกตำบลทาทุ่งแฝง อำเภอแม่ทา)

ความหมายของ “โคตรภูญาณ” นั้นเป็นสภาวะการหยั่งลึกของจิต เปรียบเสมือนการโหนเชือกข้ามเหว คือสามารถประหารกิเลสได้ชั่วคราว ยังไม่ใช่สภาวะความดับ เป็นลำดับอริยมรรคที่อยู่ระหว่าง “โลกียญาณ” กับ “โลกุตรญาณ”

พระครูสุตสารประสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยแต ให้ข้อมูลว่า ครูบาอุปละ เจ้าสำนักดอยแต ผู้เป็นพระอาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นผู้มีความถนัดเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษในด้านการสอน “วิชาอภิธรรม”

คือเน้นการสอนให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ “จิต” “เจตสิก” (อาการของจิต) “รูป” และ “นิพพาน” (การดับทุกข์)

ระหว่างปี 2442-2444 ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เดินทางไปศึกษาวิชากัมมัฏฐานตามสำนักเรียนต่างๆ ตามม่อนดอยที่เรียกว่าเปรียบเสมือน “สำนักเชตวันแห่งเมืองลำพูน” ประกอบด้วย ดอยแต ดอยครั่ง ดอยคำ ดอยแช่ ดอยกุศล ทันทีที่หลังจากอุปสมบท

ระยะเวลา 2-3 ปีช่วงนี้เองที่ท่านวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเข้มข้น (และเชื่อว่าน่าจะเรียนรู้วิธีการเข้านิโรธกรรม) จากนั้นกลับคืนมาตุคามเมืองลี้ เริ่มสร้างวัดบ้านปาง (ย้ายจากข้างล่างขึ้นสู่บนเนินเขา เพื่อหนีความวุ่นวายสู่ความสงบวิเวก) ระหว่าง 2443-2453 คือทศวรรษที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยทุ่มเทปฏิบัติธรรมแบบเคร่งครัดเยี่ยงพระป่าอรัญวาสี

จนกระทั่งกลางปี 2453 ท่านต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตด้วยการถูกเจ้าคณะแขวงลี้ใส่ความดำเนินคดีครั้งแล้วครั้งเล่า ภาษาในวงการสงฆ์เรียกว่า “ต้องอธิกรณ์” ทำให้ท่านกลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้าง และย่อมส่งผลต่อการทำให้เวลาส่วนตัวที่ต้องการนั่งสมาธิเหลือน้อยลงไปบ้าง

 

กัมมัฏฐานรอม และนิโรธสมาบัติ

ครูบาเจ้าศรีวิชัยรจนาหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนธรรม 2 เล่ม (ไม่นับการคัดลอกหรือการจารคัมภีร์ใบลานจำนวนหลายพันผูก) คือ “ธรรมอานิสงส์ศีล” กับ “กัมมัฏฐานรอม” เขียนในปี พ.ศ.2474 และ 2475 ตามลำดับ

เล่มหลังนี้เองมีเรื่อง “คำขอเข้านิโรธสมาบัติ” ตีพิมพ์รวมอยู่ด้วย

“การเข้านิโรธสมาบัติ” ของครูบาเจ้าศรีวิชัยมีความน่าสนใจยิ่ง

เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือกัมมัฏฐานรอมตลอดทั้งเล่ม พบว่าท่านมิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์ธรรมเล่มใดเลย

ท่านเขียนขึ้นจากวิธีการเจริญภาวนา นำผลที่ได้จากการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านเองล้วนๆ

แล้วขมวดเอาหัวใจประเด็นนั้นๆ มาเขียนแบบย่นย่อได้

พบว่าเรื่องการเข้านิโรธสมาบัตินี้ ไม่ใช่เนื้อหาที่พบได้ทั่วไปในคัมภีร์ใบลานอื่นๆ ในทำนองว่าเขียนหรือคัดลอกต่อๆ กันตามประเพณีแต่อย่างใด

ไม่พบเรื่องนี้ในกัมมัฏฐานวินิจฉัยกถา ของพระธัมมวุฒิภิกขุ หรือแม้แต่ในกัมมัฏฐานล้านนาของครูบากัญจนะอรัญวาสีมหาเถร

อย่างไรก็ดี ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่า การใช้คำว่า “เข้านิโรธสมาบัติ” ของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น อาจหมายถึง “การเข้านิโรธกรรมสมมติสงฆ์” อันเป็นรูปแบบเฉพาะของพระสงฆ์ล้านนา “สายครูบา” หรือสายพระป่าก็เป็นได้

กล่าวคือ บางทีพระภิกษุรูปนั้นอาจยังไม่ได้บรรลุฌานระดับสูง แต่มีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุธรรมนั้นตามอย่างพระพุทธเจ้า จึงได้เดินตามรอยการเข้า “นิโรธสมาบัติ” ด้วยการฝึกปฏิบัติ “นิโรธกรรม” ซึ่งมีรูปแบบที่ต้องอดอาหาร 7 วันเช่นเดียวกัน

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “นิโรธสมาบัติ” นั้นคือการดับสัญญาความจำได้หมายรู้และเวทนาการเสวยอารมณ์ เมื่อเข้าสู่องค์ฌานลำดับที่ 9 กายสังขาร และจิตตสังขารจะระงับไป คือแทบไม่มีลมหายใจ ไม่มีความรู้สึกทางกายและทางใจ แต่ยังไม่ใช่พระนิพพาน สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้นั้น พระบาลีระบุว่า

“ต้องเป็นพระอนาคามี ที่ได้ฌานสมาบัติ 8 และพระอรหันต์เท่านั้น ต่ำกว่านั้นไม่สามารถเข้าได้ เนื่องจากพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมิอาจละกามราคานุสัย อันเป็นกิเลสอย่างละเอียดอ่อนที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของการทำสมาธิในระดับสูงเช่นนี้ได้ ฉะนั้น พระอริยบุคคลทั้งสองระดับดังกล่าวจึงมิอาจเข้านิโรธสมาบัติได้”

พระบาลียังระบุสภาวะฌานสมาบัติ หรือนิโรธสมาบัติไว้ว่า

“เป็นการพักผ่อนของพระอริยเจ้า สามารถระงับทุกขเวทนาทางกาย ฌานสมาบัตินี้สามารถเข้าได้นานสุดเพียง 7 วัน เพราะร่างกายของคนเราจะทนอดกลั้นไม่กินข้าว ไม่หายใจ ไม่รับรู้อะไรเลยนั้น ฝืนธรรมชาติได้เพียง 7 วัน”

ความหมายของ “การเข้านิโรธสมาบัติ” คือการเข้าฌานขั้นสูงสุด อันเป็นฌานลำดับที่ 9 ตามลำดับดังนี้

1. ปฐมฌาน ฌานที่ 1

2. ทุติยฌาน ฌานที่ 2

3. ตติยฌาน ฌานที่ 3

4. จตุตถฌาน ฌานที่ 4

5. ปัญจมฌาน ฌานที่ 5

6. ฉัฏฐมฌาน ฌานที่ 6

7. สัตตมฌาน ฌานที่ 7

8. อัฏฐมฌาน ฌานที่ 8

9. นิโรธฌาน ฌานที่ 9 หรือนิโรธสมาบัติ

อันเป็นความหมายที่แตกต่างไปจากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยขอยืมคำว่า “นิโรธสมาบัติ” มาใช้โดยสิ้นเชิง

 

คำขอเข้านิโรธสมาบัติ

คําขอเข้านิโรธสมาบัติหรือการบำเพ็ญธรรมขั้นอุกฤษฏ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยในกัมมัฏฐานรอมมีดังนี้

“โยคาวจร เจ้าตนจักเข้านิโรธสมาบัติ เหมือนดังพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกโพธิสัตว์เจ้า และพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายนั้น ให้กล่าวคำสมาพระแก้วเจ้า 5 จำพวก แล้วให้อาบน้ำ สระผมเสีย แล้วให้ศรัทธานายกผู้มีศีล 5 กับตัวเองมาแต่งสร้างให้ยังตูบน้อยหลังหนึ่ง มีประตูอันหับไขไว้ให้ดีงาม แล้วพักเอาน้ำมาใส่ไว้ในบาตรเหล็ก ให้กรองเสีย 7 ที ทำที่ถ่ายหนักถ่ายเบาไว้ด้วย ให้ตั้งจิตใจให้มั่นคงดีแล้วอธิษฐานว่า…

“ภายใน 7 วันนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จักบ่ฉันอาหารสักอัน ข้าพระพุทธเจ้า จักฉันแต่อุททกัง (อุทก – น้ำ) สิ่งเดียวแล้วโอกาสว่า…

“สาธุโอกาสะ ภันเต ข้าแต่สัพพัญญูพระโคตมะเจ้า ตนประเสริฐกว่าอินทา พรหม และเทวดาทั้งหลาย บัดนี้ผู้ข้าก็มากระทำยังครองธุดงวัตร 13 ก็หากบัวรมวลแล้วแล บัดนี้ข้าจักปลงไว้เหนือหัวแห่งข้าก่อนแล้ว ข้าจักขอเข้านิโรธสมาบัติธรรมเจ้าดวงประเสริฐนี้ ขอให้หายเสียยังอาหารนานประมาณ 7 วันนี้

ข้าขอเอาโลกุตรธรรมเจ้าดวงประเสริฐ คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน อันประเสริฐ คือบังเกิดมาแต่พระพุทธเจ้าแล พระปัจเจกโพธิสัตว์ และพระอรหันต์สาวกเจ้า จงมาบังเกิดเป็นวิหาระอันกว้างขวางอยู่ใน ขันธะทั้ง 5 บัดนี้แล้ว” (ว่า 3 หน) กล่าวคำอธิษฐานวัตรนิโรธเจ้าว่า

“สันติปาทัฏโฐ นิโรโธ นิโรธสัจจัง สัตตเม อธิษฐานมิ” (ว่า 3 หน) แล้วให้บริกรรมภาวนาว่า

“โลกุตตรังปิทธปาทังจยานัง โลกุตตรังปินทริยังจยานัง โลกุตตรังพลังจยานัง โลกุตตรังโพธิฌังฉกังจยานัง โลกุตตรังสัจจังจยานัง โลกุตตรังสัมมาถังจยานัง โลกุตตรังธัมมังจยานัง โลกุตตรังขันธังจยานัง โลกุตตรังอยตนังจยานัง โลกุตตรังธาตุจยานัง โลกุตตรังอาหารังจยานัง โลกุตตรังผัสสังจยานัง โลกุตตรังเวทนังจยานัง โลกุตตรังสูญจยานัง โลกุตตรังเจตนังจยานัง โลกุตตรังจิตตังจยานัง”

จบภาวนาเข้านิโรธเท่านี้ ถ้าภาวนาเรื่อยๆ ได้ถึงนิพพานคือดับทุกข์ในวัฏสังสารนี้แล”

 

บทวิเคราะห์

เห็นได้ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยเข้า “นิโรธกรรมสมมติสงฆ์” อันน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่ครูบาคติใหม่จริง หากท่านทำเพียงครั้งละ 7 วันเท่านั้น อันเป็นเวลาพอเหมาะกับสภาพร่างกายที่สามารถทนต่อความหิวกระหายได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนการมาขยายจำนวนวันจาก 7 วันเป็น 3 เดือน 7 เดือน จนถึง 3 ปีนั้น ยังไม่มีใครอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านระยะเวลา สันนิษฐานว่าอาจรับอิทธิพลมาจากนักบวชสายทิเบตเนปาล (และพม่าบางส่วน) โดยครูบาบุญชุ่มน่าจะเป็นพระสงฆ์ล้านนาในสายครูบารูปแรกๆ ที่เข้านิโรธกรรมยาวนานมากแบบพระทิเบต เนปาล

หากพิจารณาในแง่ดี มองข้ามเส้นผมที่ยาวสยายและการนั่งเสลี่ยงคานหามทิ้งไป การเข้านิโรธกรรมของครูบาล้านนาสายกัมมัฏฐาน ถือเป็นการเดินตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยที่มีความมุ่งมั่นขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป ในลักษณะเป็นครั้งเป็นคราว เป็นการฝึกวิธีดับอายตนะแบบชั่วคราว เพื่อความสงบแห่งจิต

หาใช่อวดอุตริมนุสธรรมว่าตนได้บรรลุธรรมชั้นสูงขั้นอนาคามีแล้วแต่อย่างใดไม่

ข้อสำคัญ เมื่อท่านครูบาคติใหม่เข้าใจสภาวธรรมดังกล่าวเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้สายตาคนภายนอกตีความการกระทำของท่านแบบผิดๆ คิดไปว่าพระคุณเจ้ากำลังสำแดงปาฏิหาริย์แห่งการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดให้ศรัทธาญาติโยมดู