สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ขอมสบาดโขลญลำพง ‘ไม่เขมร’ กำเนิดรัฐสุโขทัย จากจารึกวัดศรีชุม

ปรางค์ 3 ยอด (จากด้านหลัง) พุทธสถานแบบมหายานในวัฒนธรรมขอมละโว้ เป็นหลักฐานว่าศาสนา-การเมืองจากรัฐละโว้หนุนชุมชนสถานีการค้าลุ่มน้ำยมเป็นเมืองสุโขทัย (ภาพวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย จากโดรน มติชนทีวี 2562)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขอมสบาดโขลญลำพง ‘ไม่เขมร’

กำเนิดรัฐสุโขทัย จากจารึกวัดศรีชุม

รัฐสุโขทัยมีความเป็นมาอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2) โดยสรุป ดังนี้

(1.) พ่อขุนศรีนาวนำถุม สร้างเมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย (2.) ต่อมา ขอม สบาดโขลญลำพง ยึดได้เมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย (3.) หลังจากนั้น พ่อขุนผาเมือง (โอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุม) กับพ่อขุนบางกลางหาว (ซึ่งเป็นสหาย) ร่วมกันทำศึกขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง แล้วชิงได้เมืองสุโขทัย

สาระสำคัญสั้นๆ ย่อๆ มีแค่นี้ จากจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นคำบอกเล่าราว 700 ปีมาแล้ว จากความทรงจำของมหาเถรศรีศรัทธา (หลานพ่อขุนผาเมือง) หลายอย่างยังคลุมเครือ แล้วมีคำถามมากมายที่อธิบายได้หลายแนว

 

คำอธิบายแบบอาณานิคม

 

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยแบบอาณานิคม อธิบายขยายความจากจารึกวัดศรีชุม แล้วใช้เป็นแบบเรียนครอบงำคนไทยมานานมาก ว่า

เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรกัมพูชา ส่วนขอมสบาดโขลญลำพงเป็นขุนนางขอมที่กษัตริย์อาณาจักรกัมพูชาส่งไปปกครองเมืองสุโขทัย ต่อมาพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวร่วมกันทำศึกขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงพ้นจากสุโขทัย แล้วประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา จากนั้นสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

 

ความคิดต่างจากทางการ

 

นักปราชญ์ไทยสมัยก่อน และครูบาอาจารย์นักวิชาการสมัยนี้จำนวนหนึ่ง มีความคิดต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยแบบอาณานิคม แต่ถูกกีดกันและปิดปากจากทางการ

ผมเคยรวบรวมแล้วเขียนใหม่ให้อ่านง่ายๆ ว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองของรัฐโบราณในอุษาคเนย์ไม่เป็นแบบเมืองขึ้น แต่เป็นแบบเครือญาติบ้านพี่เมืองน้อง หรือเจ้าพ่อกับลูกน้อง ดังนั้นความเป็นมาของรัฐสุโขทัยควรมี ดังนี้

  1. รัฐละโว้ (ลพบุรี) วัฒนธรรมขอม พูดภาษาเขมร นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธมหายาน เป็นเครือญาติใกล้ชิดอาณาจักรกัมพูชา พื้นที่ใกล้อ่าวไทย มีการค้าทางทะเลกับจีนและอินเดีย สนับสนุนให้เกิดรัฐสุโขทัยเพื่อควบคุมเส้นทางการค้าดินแดนภายใน
  2. พ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นเครือญาติเจ้านายรัฐละโว้ จึงได้รับการสนับสนุนสถาปนาเมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัย ไล่เลี่ยกับรัฐอื่นๆ อีกหลายแห่ง จึงไม่เป็นราชธานีแห่งแรก
  3. ขอมสบาดโขลญลำพง เป็นเชื้อสายเจ้านายรัฐละโว้ และเป็นเครือญาติพ่อขุนศรีนาวนำถุม จึงมีกำลังและมีโอกาสยึดได้เมืองสุโขทัย

 

พ่อขุนศรีนาวนำถุม

 

พ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นกษัตริย์องค์แรกผู้สถาปนารัฐสุโขทัย โดยได้รับการอุดหนุนจากเจ้านายรัฐละโว้ (ลพบุรี) ทำให้เชื่อว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นขอม พูดภาษาเขมร นับถือศาสนาพรามหณ์-ฮินดู ผสมพุทธมหายาน มีเชื้อสายเจ้านายรัฐละโว้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วเกี่ยวดองเป็นเครือญาติขอมสบาดโขลญลำพง

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับ ศาสนาพุทธมหายาน เป็นที่นับถือเก่าสุดของรัฐสุโขทัย พบหลักฐานหลายแห่ง แต่ที่สำคัญได้แก่ ปรางค์ 3 ยอด วัดพระพายหลวง (ตามแบบแผนปรางค์ 3 ยอด ในพุทธศาสนามหายานเมืองละโว้)

ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนำถุมเปลี่ยนไปพูดภาษาไทย (ไต-ไท) นับถือพุทธศาสนาเถรวาท (จากลังกาผ่านเมืองมอญ) จึงขัดแย้งแตกหักกับรัฐละโว้

 

ขอมสบาดโขลญลำพง

 

ขอมสบาดโขลญลำพงต้องเป็นผู้มีอำนาจและมีกำลังคนไม่น้อย จึงสู้รบแล้วยึดทั้ง 2เมืองได้จากพ่อขุนศรีนาวนำถุม คือ เมืองสุโขทัย กับ เมืองศรีสัชนาลัย

หลักฐานสำคัญมากที่แสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจและมีกำลังคน คือชื่อทางวัฒนธรรมว่า “ขอมสบาด” กับชื่อทางราชการว่า “โขลญลำพง” รวมกันแล้วหมายถึงผู้เป็นหัวหน้า (หรือผู้นำ) ชุมชนมหาพราหมณ์-ฮินดู กับพุทธมหายาน อันเป็นหน่วยการเมืองของรัฐละโว้ ซึ่งมีอำนาจควบคุมการค้าทางไกลไปถึงชุมชนบ้านเมืองต่างๆ ของดินแดนภายใน

น่าเชื่อว่าขอมสบาดโขลญลำพง เป็นเชื้อสายเจ้านายรัฐละโว้ และควรเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับพ่อขุนศรีนาวนำถุม โดยดูจากความหมายของคำว่าขอม กับ โขลญ

ขอมในจารึกวัดศรีชุม กล่าวย้อนหลังถึงเหตุการณ์ ราว พ.ศ.1700 ระบุนาม “ขอมสบาดโขลญลำพง” ไม่หมายถึงขุนนางเขมร หรือชาวเขมรในอาณาจักรกัมพูชา (ตามที่บอกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยแบบอาณานิคม)

แต่ขอมโดยรวมๆ กว้างๆ หมายถึงคนหลายเผ่าพันธุ์ เป็นประชากรรัฐละโว้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนมากพูดเขมร นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือศาสนาพุทธมหายาน

หลังจากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) พูดภาษาไทย ยึดได้รัฐอยุธยา เรียกตนเป็นไทย บรรดาขอมก็กลายตนเป็นไทย พูดภาษาไทย แล้วผลักโอนคำว่าขอมไปหมายถึงชาวเขมรในกัมพูชา

[คำอธิบายมีมากกว่านี้ ดูในหนังสือ อยุธยา มาจากไหน? สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561]

“ขอมสบาด” กรมศิลปากร อธิบายคำศัพท์ หมายถึง “เขมรดง” [อยู่ในหนังสือ ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2527 หน้า 45] เป็นคำอธิบายตามแนวคิดตกค้างจากอาณานิคม ซึ่งขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานอื่นๆ อีกมาก

โขลญ เป็นคำมีรากจากภาษาเขมร ราว 700 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เมื่อเร็วๆ นี้ จึงไม่มีความหมายเดียวตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากในปัจจุบัน แต่มีความหมายหลายหลากมากอย่างยิ่งจนเกินสติปัญญารู้ได้ ผมต้องพึ่งพาคำอธิบายของผู้รู้ด้านนี้ได้แก่ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

โขลญในจารึกวัดศรีชุม เป็นคำแสดงฐานะทางสังคมของผู้มีอำนาจและมีเครือข่ายอำนาจกว้างขวาง

ภาษาไทยโขลญกลายจากคำในภาษาเขมรว่า โขฺลญ แปลว่า หัวหน้า เช่น โขลญคลาง แปลว่า หัวหน้าท้องพระคลัง, โขลญพล แปลว่า หัวหน้าทหาร, โขฺลญวนม (โขลน-วะ-นัม) หมายถึง หัวหน้าผู้ดูแลศาสนสถาน เป็นตำแหน่งนักบวช เช่น โขลญวนม พระกมรเตงอัญศิวปาท (จารึกหลักที่ K 354) แปลว่า หัวหน้าศาสนสถานที่ชื่อพระกมรเตงอัญศิวปาท

นักบวชผู้ดูแลศาสนสถานเรียกโขลญวนม มีอำนาจควบคุมกำลังคนที่ราชสำนักต้องยกย่องความสำคัญ เพราะแต่ละแห่งพระราชาเขมรโบราณอุทิศข้าทาสไว้ประจำเพื่อดูแลกระทำบำเรอทำนุบำรุงศาสนสถานนั้นๆ อันเป็นที่ประดิษฐานเคารพศักดิ์สิทธิ์ (เช่น รูปพระศิวะ และพระพุทธรูป) ถ้าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่จะอุทิศข้าทาสจำนวนมากนับหลายร้อยคน (เช่น ปราสาทพระโค) บางแห่งมีข้าทาสนับหมื่นคน (เช่น ปราสาทตาพรหม ที่เมืองพระนคร) เท่ากับเมืองขนาดใหญ่ซึ่งราชสำนักกัมพูชาโบราณต้องยกย่องความสำคัญเป็นพิเศษต่อโขฺลญวนม

ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาสืบทอดประเพณี “โขลญวนม” จากเขมร ดังพบในสร้อยนามของหัวหน้าผู้ดูแลพระพุทธบาท (สระบุรี) ขุนสัจจพันธคีรี ว่า “นพคูหาพนมโขลน” ภาษาปากเรียก “ขุนโขลน”

โขลนในภาษาไทย ถูกใช้ในความหมายหลายอย่างต่างกัน (1.) ชื่อตำแหน่งหัวหน้าผู้ควบคุมนางสนมกำนัล เรียก “กำนัลโขลน” (กฎมณเฑียรบาล มาตรา 106) (2.) ชื่อตำแหน่งคนเฝ้าทางเข้าออกพระราชฐานชั้นใน เรียกคนหนึ่งว่า “นางโขลน” (ไอยการตำแหน่งนาพลเรือน มาตรา 3) (3.) ชื่อประตูตกแต่งด้วยกิ่งไม้ใบไม้สดเสมือนป่า แล้วมีทำพิธีกรรมเพื่อชัยชนะก่อนออกศึก มีชื่อเฉพาะว่า “โขลนทวาร” เรียกทั่วไปว่าประตูป่า

[อธิบายโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

โขลญ อาจหมายถึงพ่อค้า ดร.ธิดา สาระยา อธิบายว่าพ่อค้าในวัฒนธรรมเขมร ประกอบด้วยพวกขอมและพวกเผ่าพันธุ์อื่นด้วย เรียก โขลญจังวาล และพ่อค้าสัญจรเรียก โขลญ จังวาล วานิก มีหน้าที่รวบรวมเงินทองของมีค่าของหายากและของฟุ่มเฟือยส่งให้กษัตริย์ ระบบพ่อค้าเช่นนี้กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการตลาดในท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดการตั้งชุมชนบ้านเมืองบนเส้นทางคมนาคม

[จากบทความเรื่อง “วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ ‘สุโขทัย’ : ทบทวนใหม่” ของ ธิดา สาระยา ในหนังสือ พลิกประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัย รวมบทความของนักวิชาการหลายคน (โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540 หน้า 31]

“โขลญลำพง” กรมศิลปากรอธิบายคำศัพท์ว่า “คำสำหรับเรียกคนทำงานประจำเทวสถาน หรือวัดวาอาราม” (กรมศิลปากร พ.ศ.2527 หน้า 45) ถ้าจริงตามนี้ ขอม สบาดโขลญลำพงจะทำยังไง? เอากำลังคนจากไหน? ถึงยึดได้เมืองสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัย