เศรษฐกิจ / เศรษฐกิจชะลอตัว…กฎใหม่เพียบ แถมรัฐบาลใหม่ยังไม่ตั้งไข่ อีกปีวัดกึ๋น…ธนาคารพาณิชย์

เศรษฐกิจ

 

เศรษฐกิจชะลอตัว…กฎใหม่เพียบ

แถมรัฐบาลใหม่ยังไม่ตั้งไข่

อีกปีวัดกึ๋น…ธนาคารพาณิชย์

 

เข้าสู่เดือนที่ 4 ของปีแล้ว ชีพจรเศรษฐกิจของไทยภาพรวมเริ่มเห็นการชะลอตัวลงบ้างหากเทียบกับปีที่ผ่านมา และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและเป็นการชะลอตัวลงพร้อมๆ กันทุกประเทศ รวมทั้งผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐและจีน ความชัดเจนการเจรจาเบร็กซิท การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินและสถานการณ์การเมืองทั่วโลก

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ลุ้นตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ต้องรอความชัดเจนของทิศทางและนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนโดยตรง!!

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจจึงต้องพร้อมปรับเปลี่ยน ระมัดระวัง เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์

นอกจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจจะกระทบกับการทำธุรกิจแล้ว ปีนี้หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกเกณฑ์การกำกับใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพื่อดูแลด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินให้เติบโตแบบยั่งยืน และดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือน

โดยมีทั้งเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ หรือมาตรการแอลทีวี ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งจะบังคับใช้การควบคุมสินเชื่อจำนำทะเบียนเพื่อการติดตามการปล่อยสินเชื่อรถยนต์และดูแลความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนต่อไปด้วย

 

เรื่องดราม่าขณะนี้ เมื่อกรมสรรพากรออกประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของผู้ฝากเงินให้แก่กรมสรรพากรทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สรรพากรทราบจำนวนดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของผู้ฝากเงินในทุกบัญชีของทุกธนาคาร

ซึ่งสรรพากรจะส่งข้อมูลผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่เกินกว่า 20,000 บาท ให้ธนาคารพาณิชย์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

จึงต้องเช็กมุมมองนายแบงก์ อย่าง “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยเพิ่มความท้าทายให้กับภาคธุรกิจอีกด้านหนึ่งต้องรับมือกับภาวะการแข่งขันรูปแบบใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

ขณะที่ “สุทัศน์ เรืองมานะมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ ระบุว่า ความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายนอกอาจทำให้การทำธุรกิจธนาคารปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทิศทางธุรกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่การดำเนินการต้องระมัดระวัง ปรับตัวและมองหาช่องทางสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อรักษาระดับการเติบโต

ด้าน “โนริอากิ โกโตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า ธนาคารยังมีมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการทำธุรกิจ แนวโน้มต่อไปคาดว่าการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้นและมาตรการด้านงบประมาณที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการเร่งเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

และธนาคารยังคงมุ่งเน้นด้านการเสริมความแข็งแกร่งของดิจิตอลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ดังกล่าวนี้จึงสะท้อนได้อีกทางจากผลการดำเนินการของ 11 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ไตรมาสแรก ปี 2562 กำไรค่อนข้างทรงตัวและลดลงเทียบปีก่อน ผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิตอลที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเลิกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายประกันผ่านธนาคาร รายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์และกองทุนที่ลดลง และกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุนลดลง แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เป็นต้น

โดยภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรก 2562 เติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 ที่ 5% และคิดเป็นมูลค่า 57,566 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 54,727 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตมาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบางธนาคาร รวมทั้งการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

แยกดูพบว่า ธนาคารทหารไทยกำไรสุทธิ 1,578 ล้านบาท ติดลบ 31.0% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์กำไรสุทธิ 9,156 ล้านบาท ติดลบ 19.4% ธนาคารเกียรตินาคิน กำไรสุทธิ 1,228 ล้านบาท ติดลบ 19.1% ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิ 10,044 ล้านบาท ติดลบ 6.7% ธนาคารธนชาต กำไรสุทธิ 3,650 ล้านบาท ติดลบ 3.4% ธนาคารทิสโก้ กำไรสุทธิ 1,730 ล้านบาท ติดลบ 2.1%

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพกำไรสุทธิเติบโตเล็กน้อยที่ 0.3% อยู่ที่ 9,028 ล้านบาท ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เติบโต 4.6% ที่ 806 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมีกำไร 7,301 ล้านบาท เติบโต 8% ด้านธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตกว่าเท่าตัว ได้แก่ กรุงศรีอยุธยามีกำไรสุทธิ 12,815 ล้านบาท เติบโต 103.8% ผลจากการบันทึกกำไรหลังหักภาษีจำนวน 6.7 พันล้านบาท จากการขายหุ้นในบริษัทเงินติดล้อ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ที่ 325 ล้านบาท ที่เติบโต 92.4% จากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ รายได้ดอกเบี้ยจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน มีกำไรสุทธิจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

 

ด้านสินเชื่อ แม้ว่าจะขยายตัวไม่มากนัก แต่ยังเป็นแหล่งรายได้หลักของธนาคาร เพราะสัดส่วนรายได้ของธนาคารมาจากรายได้ดอกเบี้ยสัดส่วน 70-80% ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและอื่นๆ 30% ซึ่งแรงกดดันรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ยังมีต่อเนื่องจากการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิตอล รวมทั้งค่าธรรมเนียมการขายประกันผ่านธนาคาร การขายกองทุน ซึ่งต้องปฏิบัติตามเกณฑ์กำกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าอย่างเป็นธรรม

ดังนั้น ธนาคารยังต้องพึ่งพารายได้ดอกเบี้ย ความหวังการขยายตัวสินเชื่อ การผลักดันเศรษฐกิจและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน

นอกจากนี้ หากในช่วงที่เหลือของปีนี้มีการเร่งเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่พัฒนาระบบ 5 จี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผลักดัน จะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสินเชื่อของธนาคารที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยผู้ประกอบการอาจจะมีการระดมเงินทุนผ่านธนาคารโดยใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารหรือแบงก์การันตี เพื่อนำมาชำระค่าประมูล คล้ายกับการประมูล 3 จี-4 จี

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือดิจิตอลเลนดิ้ง มีความชัดเจนขึ้น ยังเห็นการเพิ่มการให้คำปรึกษากับลูกค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมต่อไปได้

ที่ผ่านมาสำนักเศรษฐกิจต่างๆ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทย อย่าง ธปท. เหลือ 3.8% จาก 4% ส่วนตัวเลขอย่างเป็นทางการไตรมาสแรกต้องรอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกรายงานช่วงเดือนพฤษภาคม รวมถึงชี้ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ได้ชัดเจนขึ้น

ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์เองต้องปรับตัวรับเศรษฐกิจและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ รับความท้าทายทั้งปีอีก!