วิเคราะห์วิกฤติศตวรรษที่ 21 : สงครามอุดมการณ์ที่รุนแรงและปรากฏไปทั่ว

วิกฤติประชาธิปไตย (52)

สงครามอุดมการณ์ที่รุนแรงและปรากฏไปทั่ว

สงครามอุดมการณ์เป็นการรบกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด ความเชื่อและค่านิยม มีสมรภูมิภายในอยู่ที่สมองของผู้คนและสมรภูมิภายนอกอยู่ในทุกกิจกรรมของเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม-วัฒนธรรม

เป็นการต่อสู้ที่ปรากฏไปทั่ว ทั้งในสนามรบ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน สื่อสังคม การจัดอีเวนต์ และการสร้างสถานการณ์

ที่อุดมการณ์เป็นเรื่องต้องต่อสู้กันในทุกทีทุกเวลาก็เพราะว่า อุดมการณ์ตั้งอยู่บนฐานของวัตถุได้แก่ ความมั่งคั่งและอำนาจ เป็นเหมือนสินค้ามีการแข่งขันสูง ถ้าหากไม่ได้โฆษณาหรือทำการตลาดสม่ำเสมอ ก็หล่นจากความนิยมได้ง่าย

สงครามอุดมการณ์สมัยใหม่มีความรุนแรงสูงเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ คือ

(ก) มีสื่อใหม่ที่จะสามารถส่งสารปริมาณมากได้อย่างกว้างไกล เช่น การตั้งมั่นของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่มในช่วงศตวรรษที่ 19 รวมถึงโทรเลข (วางเคเบิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกครั้งแรกปี 1858) การแพร่หลายของวิทยุ โทรทัศน์และภาพยนตร์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก้าวสู่ยุคดิจิตอลในทศวรรษ 1990 และสู่ข่าวสารควอนตัมในปัจจุบัน

(ข) การเกิดขึ้นของทฤษฎีข่าวสารและการพัฒนาทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาและการรับรู้ไปจนถึงทางวิชาประสาทวิทยา ทฤษฎีข่าวสาร (เสนอ 1948) ทำให้การสื่อสารเป็นเชิงปริมาณที่คำนวณทางคณิตศาสตร์ได้สามารถปรับปรุงการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพขึ้น ความรู้ทางด้านจิตวิทยา และการรับรู้ช่วยให้การสื่อสารในชีวิตจริงบังเกิดผลตามที่ต้องการ ความรู้ทางประสาทวิทยาช่วยให้สามารถต่อประสานสมองคนกับคอมพิวเตอร์ได้ และยังต่อประสานระหว่างสมองคนด้วยกันได้อีก เปิดทางให้เกิดการ “ควบคุมทางจิต” โดยไม่ต้องผ่านสื่ออื่น

(ค) การแข่งขันที่ดุเดือดในระบบทุนนิยม เพื่อเข้าครอบงำและครอบครองตลาด พื้นที่ทางยุทธศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติแร่ธาตุพลังงาน เกิดสงครามอุดมการณ์และสงครามการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งในยามสงครามและสันติ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อความได้เปรียบทางการผลิต “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ซึ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้การโฆษณาอุดมการณ์จำต้องมีความฉับไวและเข้มข้นยิ่งขึ้น

การต่อสู้ทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขณะนี้ก้าวสู่ขั้นสงครามเมื่อเกิดวิกฤติโลกทุนนิยมที่ยืดเยื้อ และกลุ่มอำนาจใหม่ก้าวขึ้นมาคุกคามท้าทายกลุ่มอำนาจเก่า กล่าวกันว่า “การโฆษณาคือการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว”

แต่เมื่อเป็นสงครามอุดมการณ์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นจริงมาก

สงครามข่าวสารอุดมการณ์ผลักดันให้โลกก้าวสู่สังคมหลังความจริง ทำลายความเชื่อถือระหว่างกันในสังคม เป็นภาวะวิกฤติที่อยู่ด้วยได้ยาก

ตัวแบบการพัฒนาแบบจีนหรือสหรัฐจะเป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจโลก

สงครามอุดมการณ์สหรัฐ-จีน กล่าวอย่างย่อคือ ความพยายามทั้งสองฝ่ายที่ต้องการทำให้โลกเป็นไปตามตัวแบบของตน

สหรัฐต้องการนานาประเทศใช้ตัวแบบทุนนิยมเสรีและเสรีประชาธิปไตยในการพัฒนา

ส่วนจีนต้องการเห็นตัวแบบการพัฒนาทุนนิยมแห่งชาติและทุนนิยมข้ามชาติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีลักษณะรวมศูนย์ อำนาจเป็นตัวแบบการพัฒนา

เป้าหมายการโฆษณาเน้นประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย

ในทางด้านสหรัฐ พบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามเย็น สหรัฐประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ทั้งโลกเดินตามอุดมการณ์ของตนในระดับต่างๆ สามารถวางตนเป็นผู้จัดการหรือตำรวจโลก

แต่เป็นความสำเร็จแบบทุลักทุเลและมีอายุสั้น แสดงออกชัดเจนในภูมิภาคละตินอเมริกาที่สหรัฐถือว่าเป็นเหมือน “สนามหลังบ้าน” ของตนมานาน

โดยเกิดตัวแบบอุดมการณ์อื่นขึ้นมาท้าทายคือ ขบวนปฏิวัติฝ่ายซ้ายที่พยายามสร้างระบบสังคมนิยมขึ้น การเคลื่อนไหวมีตั้งแต่การปฏิวัติคิวบาที่นำโดยคาสโตร (ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ปี 1959) มาจนถึงระบบสังคมนิยมในศตวรรษที่ 21 ในเวเนซุเอลา นำโดยฮูโก ชาเวซ สร้างสังคมนิยมผ่านการเลือกตั้งและการพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้าน สถาปนาระบอบรัฐแบบนี้ในปี 2001

นอกจากนั้นยังพบว่ามีอีกหลายประเทศในละตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ โบลิเวีย และบราซิล ขบวนการสังคมนิยมทำนองนี้ยังคงเฟื่องฟูอยู่ เนื่องจากมีภาวะความยากจนและช่องว่างทางสังคมสูง รัฐบาลที่สหรัฐสนับสนุนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ชาวละตินอเมริกายังได้กำลังใจจาก “การปฏิวัติโบลิวาร์” วีรชนปฏิวัติแห่งละตินอเมริกา และมีประเพณีการศึกษาและพัฒนาลัทธิมาร์กซ์อย่างต่อเนื่อง อีกทางหนึ่งยังมีกลุ่มองค์กรต่ำกว่ารัฐ เป็นพวกขวาใต้ติน อาศัยความอ่อนแอของอำนาจรัฐและความยากจนที่ปรากฏไปทั่ว สร้างกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ พวกค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ (ส่งคนอพยพเข้าสหรัฐ) ที่สามารถก่อความรุนแรง ท้าทายระเบียบโลกและความมั่นคงของสหรัฐเอง

สหรัฐต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ในร่องรอยของอุดมการณ์ และตัวแบบการพัฒนาแบบเสรีนิยมและเสรีนิยมใหม่

ได้แก่ การเปลี่ยนระบอบการทำสงครามสกปรก ปฏิบัติการลับ การให้เงินช่วยเหลือ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การจัดตั้งหรือสนับสนุนกลุ่มเอ็นจีโอจำนวนมาก เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ตะวันตก ได้แก่ เสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ไปจนถึงการโฆษณาให้ร้ายต่างๆ

แต่ความพยายามดังกล่าวได้ผลอย่างจำกัด เพียงยืดเวลาออกไปเท่านั้น ทั้งกลับทำให้สหรัฐเป็น “อเมริกันผู้น่าชัง” ในสายตาของชาวละตินอเมริกาจำนวนไม่น้อย

ที่สหรัฐต้องประสบความยากลำบากดังกล่าว เนื่องจากภาวะพื้นฐานที่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ทางระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคละตินอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนา-ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

ประเทศเหล่านี้มีความเข้มแข็งขึ้นในทุกด้าน สามารถเข้าร่วมและมีบทบาทบนเวทีโลกได้มากขึ้น

สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา เมื่อถึงปี 2008 “สภาวิเทศสัมพันธ์” สำนักคิดทรงอิทธิพลของสหรัฐ ได้ออกเอกสารเตือนผู้บริหารประเทศ ให้มีนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศละตินอเมริกาใหม่

บทรายงานชี้ว่า การหลงติดในลัทธิมอนโร ที่ถือว่าสหรัฐเป็นผู้แสดงสำคัญที่สุด มีอำนาจเหนือชาติใดในภูมิภาคละตินอเมริกานั้น เป็นสิ่งที่ล้าหลังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

และหากบังเอิญว่าเกิดมียุคที่สหรัฐครองเป็นใหญ่ในละตินจริง ยุคนั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ผู้นำสหรัฐต้องเห็นความสำคัญของภูมิภาคนี้ และปรับท่าทีนโยบายของตนใหม่ ยอมรับอำนาจใหม่ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย ที่แผ่เข้ามาในภูมิภาคนี้ บรรดาผู้นำไม่ควรคิดว่าสหรัฐได้สูญเสียหรือต้องปกป้องรักษาภูมิภาคนี้ อนาคตของละตินอเมริกาต้องอยู่ในมือของชาวละตินอเมริกัน (ดูบทความชื่อ U.S.-Latin America Relations : A New Direction for a New Reality ใน cfrd8-files.cfr.org พ.ค. 2008)

แต่ดูเหมือนชนชั้นนำสหรัฐไม่ได้รับฟังเท่าใดนักหรือมีความคิดว่าอยากจะลองทำดูอีกสักครั้ง

ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐได้ใช้ปฏิบัติการเปลี่ยนระบอบชาเวซ-มาดูโรอย่างออกหน้าออกตา นำพันธมิตรจำนวนหนึ่งของตน ตามไปด้วย รัสเซีย-จีนได้เข้าขัดขวางเต็มที่

ปะทุเป็นสงครามทางเศรษฐกิจ การเมืองและอุดมการณ์อย่างเต็มตัว

ส่วนจีนที่ผงาดขึ้นทำสงครามอุดมการณ์กับสหรัฐ ก็เนื่องจากเหตุปัจจัยบางประการคือ

ก) เศรษฐกิจ การผลิต การค้า การเงินการลงทุนของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ลดความยากจน สร้างชนชั้นกลางจำนวนมาก จนกระทั่งก้าวขึ้นมา เป็นหัวรถจักรเศรษฐกิจโลกได้

เป็นการแสดงอย่างดีถึงความมีพลังทางอุดมการณ์ จีนผ่านสินค้าส่งออกและการบริโภคของชาวจีน ทั้งตลาดภายในประเทศและในรูปนักท่องเที่ยว

ซึ่งในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปนอกประเทศถึงกว่า 130 ล้านคน ใช้จ่ายเงินถึง 258 พันล้านดอลลาร์ และยังเพิ่มขึ้นอีก

จีนได้เป็นจุดท่องเที่ยวใหญ่ของโลก ติดอันดับ 4 รองจากฝรั่งเศส สเปนและสหรัฐ

ถ้าหากอัตราการเปลี่ยนแปลงยังเป็นเช่นขณะนี้ จีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐได้ในไม่ช้า

จีนยังมีอภิโครงการแถบและทาง ที่จะเป็นพลังนำไปอีกหลายปี เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้ชาติต่างๆ ต้องยอมรับแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม แนวทางนโยบายของจีนในระดับต่างๆ

ข) การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจนสามารถทัดเทียมกับตะวันตกในหลายด้าน โดยเฉพาะในเทคโนโลยีด้านข่าวสารและการสื่อสาร (รวมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์) เทคโนโลยีด้านอวกาศและการทหาร เข้มแข็งพอที่จะป้องกันพันธมิตรหุ้นส่วนของจีนได้

ค) จีนเปลี่ยนฐานะจากการเป็นประเทศรับความช่วยเหลือ สู่ประเทศให้ความช่วยเหลือขนาดใหญ่ขึ้นทุกที เพิ่มบทบาททางอุดมการณ์การเมือง ของจีนอย่างมาก มีบางการศึกษาชี้ว่าระหว่างปี 2000-2014 จำนวนเงินช่วยเหลือของจีนขยับใกล้เคียงกับของสหรัฐ นั่นคือจีนได้สนับสนุน 4,300 โครงการใน 140 ประเทศ มูลค่า 354 พันล้านดอลลาร์ ของสหรัฐมูลค่าสูงกว่าเล็กน้อยที่ 394 พันล้าน

และในสี่ปีท้ายระหว่าง 2011-2014 เงินช่วยเหลือของจีนสูงกว่าสหรัฐโดยตลอด (ดู James Griffiths ชื่อ Report Exposes Size of China”s Secretive Aid Budget ใน cnn.com 11.10.2017)

จีนได้ตระเตรียมทำสงครามอุดมการณ์ใน 4 ด้านด้วยกันได้แก่

ก) การรื้อฟื้นลัทธิมาร์กซ์หลังจากที่ทอดทิ้งไป ว่าเป็นเพียงทฤษฎีหนึ่ง สีจิ้นผิงเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติการพรรคยึดกุมทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

ข) การชำระพรรคให้สะอาด ปลอดคอร์รัปชั่น เพื่อให้สามารถสืบทอดพัฒนาลัทธิมาร์กซ์ต่อไปได้

ค) กระชับอำนาจการนำของศูนย์กลางไม่ให้หลวมเกินไปในช่วงการเปลี่ยนผ่านใหญ่

ง) การเผยแพร่ ภาษาและวัฒนธรรมจีนที่รุ่งเรืองมาแต่โบราณ ตั้งสถาบันขงจื๊อในหลายประเทศ เพื่อทำงานทางอุดมการณ์-วัฒนธรรม ในประเทศไทยก็มีการจัดตั้งสถาบันนี้

มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยในจีนบางประการ นั่นคือทางการสหรัฐ-ตะวันตกโฆษณาว่า ระบบทุนนิยมของจีนต่างกับตะวันตกตรงที่เป็นแบบรวบอำนาจ

ขณะที่ของตะวันตกเป็นแบบแบ่งอำนาจ การโฆษณานี้มีด้านที่เป็นจริงเมื่อเทียบกับตะวันตกที่อุดมการณ์ทุนนิยมเสรีได้รับการยอมรับและปฏิบัติได้กว้างขวางกว่า จนถึงขั้นกล่าวกันว่าสามารถสร้าง “การเมืองเงินตรา” เข้าคุมอำนาจรัฐได้

แต่ไม่จริง เมื่อเทียบกับการปฏิบัติในจีน เศรษฐกิจจีนที่เติบโตว่องไวในช่วงกว่า 40 ปีมานี้เกิดจากการปฏิรูปและการเปิดกว้าง มีการกระจายอำนาจ ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจสู่ แกนกลางพรรคหรือตัวบุคคลอย่างสมัยประธานเหมา การกระจายอำนาจหลักได้แก่ การกระจายอำนาจจากศูนย์กลางสู่รัฐบาลระดับมณฑล

ต่อมาได้แก่การกระจายอำนาจไปยังชนชั้นผู้ประกอบการหรือชนชั้นนายทุน

มีการค้ำประกัน กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในระดับที่แน่นอน และให้ระบบตลาดเป็นผู้ตัดสินใจในการค้าการลงทุน

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ กระจายอำนาจจากพรรคและรัฐสู่องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ที่สำคัญได้แก่องค์กรธุรกิจเอกชน

มีบางงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจเอกชนในกรณีจีนเข้าไปลงทุนพัฒนาในแอฟริกา มีผลศึกษาสำคัญ คือ

ก) ความเชื่อเรื่องมีความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างรัฐกับกลุ่มธุรกิจจีนนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิด

ข) ควรให้ความสำคัญประเด็นอื่นนอกเหนือไปจากบทบาทของรัฐบาลกลาง

ค) กระบวนการ “มุ่งสู่โลก” ที่สำคัญดำเนินการโดยรัฐบาลระดับมณฑล

ง) การปฏิบัตินโยบายรัฐบาลจีนเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ มีบางนโยบายไม่ได้นำไปปฏิบัติเต็มที่

จ) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล-กลุ่มธุรกิจจีนในด้านการเกษตร จำนวนมากเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการและมีลักษณะกระจายอำนาจ (ดูบทความของ Jing Gu และคณะชื่อ Chinese State Capitalism? Rethinking the Role of the State and Business in Chinese Development Cooperation in Africa ใน Sciencedirect.com พฤษภาคม 2016)

อนึ่ง ผู้นำจีนยอมรับว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์นี้จะยืดเยื้อ ไม่ใช่ว่าจีนจะชนะได้ง่ายๆ

สีจิ้นผิงเคยกล่าวว่า สังคมนายทุนมีความสามารถในการแก้ไขตนเองสูง ไม่ควรประเมินให้ต่ำไป

ประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วจะสามารถคงความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และทางทหารในระยะยาวได้ ผู้ปฏิบัติงานพรรคควรเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือและการแข่งขันที่ยาวนานระหว่างสังคมสองระบบนี้ (ดูรายงานของ William Zheng ชื่อ Xi Jinping speech from six years ago resurfaces to “send message on trade war, leadership” ใน scmp.com 02.04.2019)

ความสามารถในการแก้ไขตนเองได้สูงของระบบทุนนิยม เกิดจากเหตุปัจจัยสองด้านด้วยกัน

ด้านหนึ่ง จากความสามารถในการพัฒนาพลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่

อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การปฏิบัติอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ที่แม้จะมีจุดอ่อนหลายด้าน แต่ก็มีจุดแข็งที่ช่วยแก้ไขความขัดแย้งในชนชั้นนำได้อย่างสันติ มีกลไกในการผ่อนคลายความไม่พอใจและการสร้างความยินยอมในหมู่ประชาชนได้อย่างดี จีนที่ยังอยู่ในกระบวนการกระจายอำนาจ หากทำช้าเกินไป ไม่ทันการปฏิรูปและการเปิดกว้างจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้

เพื่อการต่อสู้ทางความคิดอุดมการณ์ยาวนาน จีนได้เสนอรูปแบบของสังคมและอารยธรรมใหม่ ได้แก่ สังคมปัญญาประดิษฐ์ และอารยธรรมนิเวศ ซึ่งจะได้กล่าวในฉบับต่อไป