สุรชาติ บำรุงสุข | Blackmail & Soft Coup! วังวน “ผู้ถือปืน” กับการเมืองไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“มีข้อสังเกตว่า รัฐประหารมีความถี่น้อยลง และมีอัตราความสำเร็จลดลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่กระนั้นธรรมชาติของกิจกรรมทางการเมืองของทหารทำให้กองทัพยังคงเป็นหน่วยทางการเมืองที่สำคัญ… [และ] ทหารมักจะเป็นรัฐบาลอยู่หลังฉาก”

Jay Stanley (2006)

เมื่อการเลือกตั้งของประเทศไทยเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็เป็นความหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อันจะส่งผลให้บทบาททางการเมืองของกองทัพลดลงได้บ้าง

แม้ผู้สังเกตการณ์การเมืองทุกคนตระหนักดีว่า การลดบทบาททางการเมืองของกองทัพไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทั้งโดยประวัติศาสตร์และเงื่อนไขทางการเมืองของไทยนั้น การที่ทหารจะถอนตัวออกจากการเมืองอย่างแท้จริงน่าจะเป็นปัญหาระยะยาว

และแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา แต่การปฏิรูปทหารจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นได้จริงในการเมืองไทย

ทั้งยังต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นที่จะแบกรับอัตราเสี่ยงจากการผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพ

มิฉะนั้นแล้วนโยบายปฏิรูปกองทัพที่คู่ขนานกับการลดบทบาททางการเมืองของทหาร จะกลายเป็นเพียงนโยบายบนกระดาษที่ขับเคลื่อนไม่ได้

แต่ยังไม่ทันที่จะเห็นผลการเลือกตั้งที่ชัดเจน ผู้นำเหล่าทัพกลับแสดงออกทางการเมือง ด้วยการออกแถลงการณ์ และตามมาด้วยการแถลงของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงเพลงหนักแผ่นดินมาแล้ว

และเป็นการแสดงออกในขณะที่ผลการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลกำลังเป็นปัญหาอยู่

การออกมายืนเรียงแถวแถลงต่อสาธารณชนในประเด็นทางการเมืองเช่นนี้ อาจทำให้ประเด็นเรื่องบทบาททางการเมืองของกองทัพหลังการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอีกครั้ง

และยังทำให้เกิดความกังวลว่า ผู้นำกองทัพไทยจะไม่ยอมลดบทบาททางการเมืองลง

และต้องการดำรงสถานะการเป็น “ตัวแสดงสำคัญ” ในเวทีการเมืองต่อไป

สภาพเช่นนี้กำลังบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ปัญหาทหารกับการเมืองไทยจะไม่ห่างหายไปจากการเมืองไทยอย่างแน่นอน

วังวนทหาร!

สําหรับผู้ที่ติดตามและสนใจการเมืองไทยแล้ว ทุกคนตระหนักดีว่าการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพมาอย่างยาวนาน

และยิ่งหลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว ก็ยิ่งเห็นได้ชัดถึงการขยายบทบาทของกองทัพในสังคมไทยอย่างมาก

และเห็นอย่างชัดเจนว่า การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำกองทัพ

ซึ่งภาพการเมืองไทยเช่นนี้ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้กองทัพลดบทบาททางการเมือง พร้อมกับข้อเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพ

ดังนั้น เมื่อมีการออกแถลงการณ์ของผู้นำเหล่าทัพจึงเท่ากับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า บทบาทของทหารในการเมืองไทยจะไม่หายไปหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

และในอีกด้านหนึ่งแถลงการณ์นี้ทำให้ปัญหาเรื่อง “ทหารกับการเมือง” ยังคงเป็นเรื่องสำคัญในการเมืองไทยที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องคิดอย่างจริงจัง

มิเช่นนั้นแล้วการเมืองไทยจะตกอยู่ใน “วังวนทหาร” อย่างไม่จบสิ้น อันจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยกลายเป็นภาวะชั่วคราว หรือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหาร

แน่นอนว่า เมื่อผู้นำเหล่าทัพเรียงหน้าออกมาพร้อมกับถ้อยแถลงของผู้บัญชาการทหารบกเช่นนี้ จึงทำให้เกิดการตีความทันทีว่าอาจเป็นดัง “soft coup” ที่ไม่ใช่การทำรัฐประหารด้วยการเคลื่อนกำลังรบเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเป้าหมาย

หากแต่เป็นการแสดงออกด้วยการแสดงพลังกดดันในทางการเมือง

และเป้าหมายอาจจะไม่ได้อยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรัฐบาลทหารอยู่แล้ว ดังนั้น จึงมิใช่เป้าหมายที่จะต้องกดดันโดยตรง

แต่เป็นการกดดันต่อเป้าหมายทางการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การแสดงพลังของทหารนั้นเป็นดังสูตรในการเมืองไทยที่คาดเดาได้เสมอ…

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำทหารไม่พอใจกับสภาวะทางการเมือง เมื่อนั้นก็มีภาพของการแสดงออกจะเป็นดัง “การสื่อสารการเมือง” เพื่อให้ตระหนักถึงอำนาจของกองทัพ

และมักจะตามมาด้วยข่าวเรื่องรัฐประหาร

การแสดงออกเช่นนี้จึงไม่อาจตีความเป็นอื่นได้

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกมองว่าคือการแสดงพลังเพื่อการ “ข่มขู่ทางการเมือง” หรือไม่

หรือในทางทฤษฎีวิชาทหารกับการเมืองอาจเป็นการ “แบล๊กเมล์ทางการเมือง” (political blackmail) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร หรือไม่

ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลอย่างมากว่า การเมืองไทยในอนาคตจะยังคงหนีไม่พ้นจากบทบาทและอิทธิพลของกองทัพ

และขณะเดียวกันก็ทำให้อนาคตของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของไทยมีความยุ่งยากในตัวเอง ตราบเท่าที่กองทัพยังแสดงบทบาทของการเป็น “ตัวแสดงทางการเมือง” ที่พร้อมจะใช้อำนาจทางทหารเข้าแทรกแซงการเมืองอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดแล้ว

เงื่อนไขเช่นนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และกระบวนการนี้จะเผชิญกับอุปสรรคอย่างแน่นอน และเป็นคำตอบด้วยว่าการ “ปฏิรูปกองทัพ” ก็จะมีอุปสรรคไม่แตกต่างกัน

หกวิถีแห่งการแทรกแซง

ในทางทฤษฎีของวิชาทหารกับการเมืองนั้น การแทรกแซงของกองทัพมิได้มีแต่ในรูปแบบของการรัฐประหารเท่านั้น หากแต่บทบาทเช่นนี้ปรากฏอยู่ในหลายรูปแบบ ได้แก่

1) การมีบทบาทของกองทัพผ่านช่องทางทางรัฐธรรมนูญ หรือมีบทบาทภายใต้กรอบของกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้นำกองทัพกระทำเช่นนั้นได้

2) การสร้างอิทธิพลทางการเมืองแข่งกับรัฐบาลพลเรือน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกที่จะไม่ยอมรับการควบคุมโดยพลเรือน หรือเป็นสัญญาณว่ากองทัพจะเริ่มแสดงออกว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลพลเรือน ซึ่งสภาวะเช่นนี้คือการบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่าความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร) กำลังเริ่มมีปัญหาแล้ว

3) การแสดงออกในลักษณะของการข่มขู่รัฐบาลพลเรือน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการ “แบล๊กเมล์” อันเป็นการยกระดับบทบาทจากในข้อ 2 เพราะการแสดงการข่มขู่นั้นมักจะเป็นการแสดงออกอย่างเปิดเผย ในขณะที่การสร้างอิทธิพลนั้น อาจจะเป็นการกระทำที่ปกปิด บทบาทในข้อนี้จึงมีนัยถึงการแสดงอำนาจของฝ่ายทหารเพื่อให้รัฐบาลพลเรือนทำตามข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น

4) การคุกคามว่าจะไม่ร่วมมือกับรัฐบาลพลเรือน หรือในระดับที่สูงมากขึ้นคือ การคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลพลเรือน

5) การปฏิเสธที่จะปกป้องรัฐบาลพลเรือนจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น

6) การใช้อำนาจทางทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน หรือกองทัพก่อการรัฐประหาร

สี่รูปลักษณ์ของการแทรกแซง

จากวิธีทั้ง 6 ประการเช่นนี้ สามารถแปลออกมาเป็นรูปลักษณ์ของการแทรกแซงใน 4 หนทางคือ

1) การแทรกแซงด้วยการสร้างอิทธิพล ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของการสร้างในกรอบทางกฎหมาย หรือนอกกรอบรัฐธรรมนูญก็ได้

2) การข่มขู่ด้วยการแบล๊กเมล์ และอาจขยายไปถึงการใช้อำนาจคุกคามเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามที่ฝ่ายทหารต้องการ การดำเนินการเช่นนี้มีลักษณะเป็น “soft coup”

3) การคุกคามเพื่อบังคับให้รัฐบาลออกจากตำแหน่ง คือเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เกิดรัฐบาลพลเรือนใหม่ตามความต้องการของกองทัพ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “silent coup” หรือรัฐประหารเงียบ

4) การทำรัฐประหารเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คือเป็นการแทรกแซงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเดิมที่กองทัพไม่ต้องการ อันเป็นรูปแบบรัฐประหารที่คุ้นเคยกันในหลายๆ ประเทศ และมีภาพที่ชัดเจนในการเคลื่อนกำลังทหารเพื่อยึดที่หมายสำคัญทางการเมือง

นัยทางการเมือง

จากที่กล่าวแล้วในข้างต้นจะเห็นได้ว่าการข่มขู่ทางการเมืองเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ซึ่งมีนัยหมายถึงการใช้อำนาจของกองทัพในลักษณะของการข่มขู่ อันจะทำให้กองทัพได้รับผลตอบแทนทางการเมืองอย่างที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหาร หรืออาจเป็นการสร้างสภาวะบังคับเพื่อให้การเมืองเดินไปในทิศทางที่ผู้นำปรารถนา

การแสดงออกทางการเมืองในลักษณะของการข่มขู่เช่นนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวล

เพราะไม่เพียงแต่แสดงออกถึงการใช้อำนาจของกองทัพในเวทีการเมืองอย่างเปิดเผยเท่านั้น หากแต่ยังกลายเป็นสัญญาณทางการเมืองอีกว่า รัฐบาลใหม่ในอนาคตจะต้องเป็นรัฐบาลที่กองทัพต้องการ และกองทัพพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลนี้

และสัญญาณในอีกทางคือ กองทัพไม่สนับสนุนคู่แข่งขันทางการเมืองอีกฝ่าย ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกถึงการเลือกข้างทางการเมืองของผู้นำทหาร และกลายเป็นคำถามว่า กองทัพกำลังมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ หรือเป็นการแสดงออกอย่างมีนัยว่า กองทัพจะมีบทบาทในการเป็น “ผู้จัดการ” รัฐบาลในอนาคต และจะจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นความต้องการของฝ่ายทหาร

ในปี 2535 ก็มีตัวอย่างในลักษณะที่อาจเทียบเคียงกันได้ กล่าวคือ มีการแสดงออกถึงความสนับสนุนของผู้นำเหล่าทัพต่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่จะต้องลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่า “มีความจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ” และมีการจัดพิธีอำลาเพื่อยืนยันถึงความสนับสนุนของกองทัพต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย

อันเท่ากับเป็นการสื่อสารทางการเมืองที่ชัดเจนในความสนับสนุนของกองทัพ และเช่นเดียวกันการแสดงออกเช่นนี้มีนัยว่า กองทัพเลือกที่ยืนกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้น หรือเท่ากับบอกว่ากองทัพตัดสินใจไม่เป็นกลางทางการเมืองนั่นเอง

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็อาจคาดเดาต่อได้ว่า หากรัฐบาลที่ผู้นำทหารต้องการเกิดขึ้น (จะโดยวิธีใดก็ตาม) ผู้นำเหล่าทัพชุดนี้ก็อาจออกมาแสดงความสนับสนุนรัฐบาลนั้น ดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2535

แต่คงต้องตระหนักด้วยความใคร่ครวญและระมัดระวังว่า การแสดงบทบาททางการเมืองของผู้นำทหารอย่างเปิดเผยและอย่างเด่นชัดเช่นนี้ สุดท้ายแล้วได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ “วิกฤตการเมือง 2535”

ซึ่งการเมืองไทยปัจจุบันควรจะเดินออกจากวิกฤตของความรุนแรงได้แล้ว

อย่างน้อยบทเรียนจากปี 2535 ยังเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และตระหนักร่วมกันว่า สังคมไทยไม่ควรจะเดินย้อนรอยเดิมอีกแต่อย่างใด

เว้นแต่กลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดจะยังคงเชื่อว่า อำนาจกำลังรบของฝ่ายทหารจะยังใช้เพื่อการปราบปรามผู้เห็นต่าง และใช้เพื่อการควบคุมทางการเมืองได้

อนาคตแห่งความยุ่งยาก

หลังจากการออกแถลงการณ์ของผู้นำเหล่าทัพแล้ว หลายฝ่ายเริ่มกลับสู่ข้อสรุปง่ายๆ ว่า แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ทหารคงไม่ลดบทบาทในการเมืองไทย

ซึ่งความต้องการที่จะมีบทบาทในสภาวะเช่นนี้เห็นได้ในสองส่วนคือ ทหารในบริบทของผู้นำการรัฐประหารเดิมตลอดรวมถึงผู้นำเหล่าทัพปัจจุบัน หรือทหารในบริบทของสถาบันทหาร ล้วนได้แสดงความจำนงอย่างชัดเจนที่จะดำรงบทบาททางการเมืองต่อไป

ภาพสะท้อนเช่นนี้จึงกลายเป็นเงื่อนปมสำคัญของความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่อยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารและกองทัพ

ดังนั้น ไม่ว่าแถลงการณ์ของผู้นำทหารจะเป็นผลมาจากความปรารถนาที่จะมีรัฐบาลที่กองทัพต้องการ

หรือจะเป็นผลมาจากความกลัวว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะผลักดันนโยบาย “ปฏิรูปกองทัพ” อันจะนำไปสู่การที่ทหารจะต้องลดบทบาททางการเมืองลงก็ตาม

การแสดงออกเช่นนี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงอำนาจทางการเมืองของกองทัพไทยอีกครั้ง

และให้คำตอบอย่างชัดเจนอีกว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะดำเนินไปเช่นไร ทหารยังคงต้องการเป็น “ตัวแสดงหลัก” มากกว่าการยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่กองทัพควรจะต้องเป็น “กลไกแห่งรัฐ” เพราะการเป็นตัวแสดงของกองทัพก็คือ การเกิดของสภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่กองทัพสามารถดำรงบทบาทและอำนาจคู่ขนานกับรัฐบาลพลเรือนได้

สภาวะเช่นนี้ทำให้โจทย์ของการเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปกองทัพไทยมีความยุ่งยากในตัวเองอย่างมากในอนาคต และความสำเร็จในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้วย!