เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น มงคล 18 อรหันต์ ที่ระลึกรัชกาลที่ 5

“เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น” เหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประการสำคัญ คือ ประกอบพิธีเดียวกับ “พระกริ่งปวเรศ” อันลือเลื่อง จึงเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงของบรรดานักนิยมสะสม

อีกทั้งหาได้ยากยิ่ง ด้วยจำนวนสร้างน้อยมาก

ทั้งนี้ คติความเชื่อของจีนและไทย ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จนบางครั้งไม่อาจแยกว่า แบบไหนเป็นไทย แบบไหนเป็นจีน รวมทั้งเรื่องของพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งในบางครั้งไม่อาจแยกทำเพียงอย่างเดียวได้ จำเป็นต้องมีทั้งสองพิธีกรรม จึงจะถือว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์แบบ

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น หรือ 18 อรหันต์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2434 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ตามบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า

“เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร เปนการใหญ่ มีสมโภชแลแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วฉลองที่นั่น แต่ในคืนนั้น เสด็จประทับแรม ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม บ่ายแห่งวันรุ่งขึ้น เสด็จมาประทับวัดนี้ เสด็จอยู่ที่พระปั้นหยา ออกพรรษาแล้ว ทรงถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบัพพ์ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทำสำเภาเป็นกัณฑ์เทศน์ ทรงผนวชอยู่ ๕ เดือน ลาผนวช

 

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น สร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองสีดอกบวบ เนื้อทองแดงแก่ทอง ฯลฯ

ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายเหรียญอีแปะเงินของจีนโบราณ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 เซนติเมตร ความหนา 2 มิลลิเมตร มีรูสี่เหลี่ยมตรงกลางเหรียญ

ด้านหน้าเหรียญ จำลองรูปพระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน ซึ่งเรียกว่า “จับโป้ยล่อฮั่น”

ประกอบด้วย องค์ที่ 1 “ปิณโฑล” พระอรหันต์องค์สุดท้ายใน 18 เซียน เป็นพระอรหันต์ปราบมังกร

องค์ที่ 2 “ปินโฑล ภารัทวาช” ใครสักการบูชาท่านจะมีกุศลมาก รูปของท่านเป็นคนผอมเห็นซี่โครง บ้างทำท่ายืน บ้างก็นั่ง มือถือหนังสือ อีกมือถือบาตร หรือมือทั้งสองถือหนังสือ หรือวางบนเข่า ข้างกายด้านขวาอาจมีไม้เท้า

องค์ที่ 3 “กนกวัจฉ” มีความสามารถในลัทธิธรรมต่างๆ รูปของท่านเป็นผู้นั่งห้อยเท้าขวา มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายวางที่ฝ่าเท้าซ้าย

องค์ที่ 4 “กนกภารัทวาช” 1 ใน 7 มหาฤๅษี เป็นรูปคนแก่ผมยาว นั่งยกเท้าซ้ายขึ้นจากรองเท้า มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายอยู่ข้างหู

องค์ที่ 5 “สุปินฑ” บรรลุธรรมเป็นพระอรหัตผลเมื่ออายุ 120 ปี รูปของท่านเป็นคนแก่นั่งสมาธิ มือถือหนังสือ

องค์ที่ 6 “นกุล” ชอบอยู่โดดเดี่ยว เป็นรูปพระนั่งห้อยเท้า มีพังพอนอยู่ข้างๆ หรือไม่ก็เป็นรูปกบสามขาอยู่ใต้รักแร้

องค์ที่ 7 “ภัทร” บ้างว่าท่านเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า บ้างว่ามีสกุลสูง รูปท่านมีเสืออยู่ข้างๆ แสดงว่าเป็นผู้ปราบเสือได้

องค์ที่ 8 “กาลิก” พระที่พระเจ้าพิมพิสารนับถือ เป็นชายชรา คิ้วยาวจรดดินต้องใช้มือถือเอาไว้ บ้างก็ทำท่าถือฉาบทั้งสองข้าง

องค์ที่ 9 “วัชรบุตร” รูปของท่านนั่งห้อยเท้า ถือไม้เท้าขักขระ เป็นไม้เท้าที่บนยอดมีโลหะทำช่องเป็นวงกลมสำหรับร้อยแหวนโลหะ เมื่อเขย่าจะเกิดเสียง เมื่อสัตว์ร้ายได้ยินเสียงแล้วจะหนีหาย

องค์ที่ 10 “สุปากะ” อยู่ในท่านั่งห้อยเท้า มือถือพัด หรือทั้งสองมือถือประคำ

องค์ที่ 11 “ปันถก” มีความยอดเยี่ยมในด้านปัญญา สามารถแก้ข้อสงสัยในอรรถธรรมให้แจ่มแจ้ง รูปของท่านนั่งห้อยเท้าบนหลังสิงห์ และทรมานพระยานาคให้เข้าอยู่ในบาตร

องค์ที่ 12 “นาคเสน” อยู่ในท่านั่งห้อยเท้า มือซ้ายยกสูงเพียงหู มือขวาวางอยู่บนเข่า

องค์ที่ 13 “อิงคท” เป็นมหาสาวกที่ร่างกายสะอาด มีกลิ่นหอม รูปนั่งห้อยเท้า สมบูรณ์ ร่าเริง แต่มีบ้างที่ทำท่านด้วยรูปคนแก่ถือไม้เท้า หรือถือบาตรหรือหนังสือ

องค์ที่ 14 “วันวาสี” รูปของท่านนั่งห้อยเท้าอยู่หน้าปากถ้ำ หลับตาเหมือนเข้าฌาน บ้างถือหนังสือ หรือไม่ก็ยกนิ้วทำมุทธา

องค์ที่ 15 “อชิต” เป็นพระชรา นั่งห้อยเท้า ขนคิ้วยาว มือวางบนเข่า ที่หน้าอกมีรูปหน้าคน

องค์ที่ 16 “จูฑะปันถก” เป็นมหาสาวกที่เดิมทีมีปัญญาโง่ทึบ แต่ต่อมาสามารถบรรลุอรหัตผล รูปนั่งห้อยเท้า มือขวาถือถ้วย มีนกกำลังจิบน้ำ

องค์ที่ 17 “นนทิมิตร” ผู้มีพระอรหันต์เป็นบริวารมากที่สุดถึง 1,700 รูป

และองค์ที่ 18 “ราหุล” ท่านเป็นพระพุทธชิโนรส รูปท่านบ้างทำเป็นผู้มีศีรษะใหญ่โต ตาโต จมูกเป็นขอ บ้างก็เป็นรูปคนธรรมดา มือทั้งสองข้างอุ้มเจดีย์

 

ด้านหลังเหรียญ มีอักษรไทยที่เขียนลักษณะเลียนแบบอักษรจีน ถ้าอ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า “การทรงพระผนวช” ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ “ส, พ, บ, ร, อ,” ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี “ปี ร.ศ.๑๑๐”

กล่าวกันว่าเข้าพิธีพุทธาภิเษก โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พร้อมกับ “พระกริ่งปวเรศ” พระกริ่งดังแห่งยุค

เป็นเหรียญเก่าที่เป็นที่นิยมและหายากเหรียญหนึ่ง