เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | กับดักความรู้สึก

ฉากหนึ่งจากหนังเรื่องหนึ่ง ฉายให้เห็นเจ้าหนุ่มซุ่มซ่าม ทำศิลปะวัตถุโบราณล้ำค่าชิ้นเดียวในโลกหลุดมือหล่นเปรี้ยงแตกกระจายกับพื้น ขณะยกขึ้นชื่นชมด้วยความตื่นเต้น กลายเป็นตกตะลึงพรึงเพริดเหมือนใจจะวาย

นาทีนั้นผู้เป็นเจ้าบ้านเจ้าของศิลปะวัตถุโบราณล้ำค่าตาลุกโพลงเขม็งเครียด จ้องเจ้าหนุ่มซุ่มซ่ามสักครู่ก็หัวเราะก๊ากพลางว่า

“เฮ่ย ไม่เป็นไรหรอก ของปลอมน่ะ…ฮ่าฮ่าฮ่า”

ขณะเจ้าหนุ่มยังไม่หายจากอาการอกสั่นขวัญแขวน เจ้าบ้านเข้ามาลูบหลัง พลางพูดว่า

“เห็นไหม ความรู้สึกว่าจริงน่ะ มันจริงยิ่งกว่าความเป็นจริงของของจริงเสียอีก”

ประโยคนี้ตอกเปรี้ยงเข้าหัวสะท้านกว่าภาพตกเปรี้ยงที่เข้าตา แทบจะนาทีเดียวกัน

มันตบเปรี้ยงเข้ามาในใจเราผู้ดูนี่เลย

ใช่แล้ว “ความรู้สึกว่าจริงนั้นจริงยิ่งกว่าความเป็นจริง”

เจ้า “ความรู้สึก” นี่แหละมันฉกาจฉกรรจ์นัก พวกมายากลเขาถึงคิดลูกเล่นมาหลอกความรู้สึกคนดูให้พิศวงงงงวยกับความไม่จริงที่เสมือนจริงได้

ด้วยกับดักความรู้สึก

นักโฆษณาเขาถึงสร้างภาพของดี ของวิเศษให้เราเชื่อไว้ก่อน รู้สึกไว้ก่อนว่า นี่แหละ “ของจริง”

สมกับที่นักจิตวิทยานิยามว่า ศิลปะการโฆษณาคือการเน้นแต่ด้านดี ไม่พูดถึงด้านด้อย และการทำสิ่งไม่จำเป็นให้กลายเป็นความจำเป็นขึ้นมา ดังจะเห็นว่า ของกินของใช้ที่จำเป็นอยู่แล้วมักไม่ต้องโฆษณา เช่น ข้าว กะปิ น้ำปลา ฯลฯ

เมื่อใดที่เครื่องบริโภคอุปโภคเหล่านี้มีการโฆษณาขึ้นมา แสดงว่าสิ่งนั้นเริ่มจะกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

ยุคเสรีทุนนิยมบนวิถีแข่งขันนี่แหละที่จะทำให้ผู้บริโภคถูกปั่นหัว ไม่รู้อะไรจำเป็นไม่จำเป็นด้วยพายุแห่งการโฆษณาบ้าเลือด ดังที่เห็นและเป็นอยู่

ส่วนสิ่งจำเป็นที่ดีจริงนั้น ถ้าจะต้องทำให้ปรากฏ เขาจะไม่ใช้การโฆษณา หากใช้วิธีเหมาะสมกว่า นั่นคือการประชาสัมพันธ์

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการสร้าง “ความรู้สึก” นั่นเอง

ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้เกิดความรู้สึกไว้ก่อนจะสร้างพลังมหาศาลผลักดันให้เกิดกระแสค่านิยมขึ้นมาในสังคมได้จริง แม้ในเรื่องไม่จริงก็ตาม

มีวาทะว่า

“ศิลปินนั้นสร้างเรื่องโกหกเพื่อเปิดเผยความจริง

ส่วนนักการเมืองนั้นสร้างเรื่องโกหกเพื่อปกปิดความจริง”

ยุคแห่งมายาภาพที่สามารถสร้าง “ความจริงลวง” ได้ในโลกวันนี้ น่ากลัวนัก ด้วยมันสร้างภาพ “เสมือนจริง” ได้แทบจะทุกเรื่อง ทุกเวลา โดยเฉพาะการสร้าง “โลกสวย”

หลังเลือกตั้ง ถามชาวบ้านที่กลับจากลงคะแนนว่า “ป้าเลือกพรรคไหนล่ะ” ป้าแกตอบว่า “ไม่รู้พรรคอะไร จำได้แต่เบอร์”

ถามต่อว่า ทำไมถึงเลือกเบอร์นั้น ป้าแกตอบว่า ก็ไม่รู้ เห็นเขาว่าดีก็เลยเลือก

นี่ไง “ความรู้สึกว่าดี” ของป้าอันเกิดจากคำเขาว่า จนป้าเองพลอยเกิดรู้สึกว่าดีไปด้วยก็เลยเลือกเขา

ดีไม่ดี จริงไม่จริง ค่อยดูกัน ค่อยว่ากันละกัน

ที่น่าสนใจคือ สังคมไทยเราวันนี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งอันมีที่มาจากพื้นฐานความเชื่อกับความคิด

คือวัฒนธรรมความเชื่อกับวัฒนธรรมความคิด

สองวัฒนธรรมนี้กำลังปะทะกันอยู่ในสังคมบ้านเราวันนี้

ความเชื่อคู่กับการฟัง ดังคำว่า เชื่อฟัง

ความคิดคู่กับการอ่าน ดังคำว่า คิดอ่าน

วัฒนธรรมความเชื่อคือ การ “เชื่อฟัง” นี้ดูจะเป็นพื้นฐานของสังคมมานานนับพันปี ด้วยการเชื่อฟังผู้มีบุญ ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง ผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ และผู้มีบุญคุณ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามจนกลายเป็นจารีตขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา

วัฒนธรรมความคิดคือ การ “คิดอ่าน” นั้นเกิดจากการศึกษาเป็นสำคัญ “อ่าน” ก็คือการศึกษานั่นเอง โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นทางการของไทยเรานั้น เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ห้านี่เอง

ดังคำตรัสแก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้ากระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องปัญหาไม่มีสถานที่เรียนเพียงพอแก่คนทั้งหลาย เป็นใจความตอนหนึ่งว่า

“เจ้าสนั่นจงเอาศาลาวัดนี่แหละเป็นที่เรียนให้ลูกหลานเรา”

โรงเรียนวัดจึงเป็นปฐมสถานการศึกษาของลูกหลานไทยเรามาแม้จนวันนี้

ดังนั้น วัฒนธรรม ความคิดอ่านจึงเพิ่งเริ่มปูพื้นฐานความคิดมาราวร้อยปีนี่เอง ขณะวัฒนธรรมความเชื่อมีพื้นฐานมาเป็นพันปี

ยิ่งพื้นฐานความคิดจากระบบการศึกษาเราไม่แน่นพอต้องมาเผชิญกับความเชื่อที่หนักแน่นปานแผ่นผาอันดำรงอยู่ การปะทะระหว่างสองวัฒนธรรมคือความเชื่อกับความคิด มันจึงกลายเป็นความแตกร้าวจนถึงแตกแยกแตกหักดังพอเห็นเค้าอยู่ในเวลานี้ ยุคนี้

ความเชื่อกลายเป็นความรู้สึก

การแบ่งฝักฝ่ายกลายเป็นความรู้สึก

คือความรู้สึกว่าจริง ที่จริงจังเสียยิ่งกว่าความจริงที่แม้จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม ด้วยซ้ำไป

คือมันกลายเป็นความยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัวตนที่ห้ามแตะเอาเลยทีเดียว เพราะเท่ากับมาทำให้ชีวิตเป็นโมฆะซึ่งยอมไม่ได้

นี้คือความรุนแรงของ “ความรู้สึก” อันเกิดได้ง่ายทั้งจากความเชื่อ และความคิด

แท้จริงหลักธรรมที่เราจำได้แต่ไม่เคยเข้าถึงกันเลยก็คือหลัก ฟัง คิด ถาม เขียน หรือสุจิปุลิ

สุ คือ สุตะ แปลว่า ฟัง

จิ คือ จิตะ แปลว่า คิด

ปุ คือ ปุจฉา แปลว่า ถาม

ลิ คือ ลิขิต แปลว่า เขียน

ต้องฟังก่อนแล้วจึงคิด อย่าเพิ่งด่วนเชื่อ คิดไม่ออกจึงต้องถาม ซึ่งก็คือการศึกษาหาความรู้ ความจริง ได้รู้ได้เห็นเป็นจริงแล้วจึงเขียน คือจารึก เป็นสรุปบทเรียน

อย่าฟังแล้วเชื่อทันที อย่าคิดแล้วด่วนสรุปทันที

ไร้หลักคิดนี้แล้วเราจะหัวปั่นไปกับความรู้สึกด้วยพายุหมุนของ

สงครามแห่งวาทกรรมวันนี้

กระดานใหม่

หัวตอ กับ หัวกุด

มาสะดุด กับ หัวถ่อ

หัวทื่อ ยังดื้อพอ

เป็นหัวเห็ด ระเห็จหา

หัวตะกั่ว หัวตะแกรง

ที่ร่องแร่ง ทะเล็ดมา

หัวลีบ ไม่ธรรมดา

เป็นหัวเดียว กระเทียมโทน

ตั้งหมาก กระดานใหม่

ไล่หัวเบี้ย ถึงหัวโคน

หัวขุน เป็น หัวโขน

ถูกรุกฆาต ถึงขาดหัว

หมากรุก ใช่หมากรัก

ต้องหักด่านเข้าพันพัว

ตามืด กับ ตามัว

คือกับดัก จมปลักคลอง

เดินหมาก ต้องใช้หัว

ทุกตัวหมาก ทุกตามอง

ละตา ละตา ตรอง

ต้องเห็นหัว ประชาชน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์