“การกลับมาครั้งที่สอง” ของ “ไอโซไทป์” และ อุดมการณ์ของฝ่ายสังคมนิยม

เกิร์ด อานซ์ กับไอโซไทป์ (จบ)

หลังจากที่หายไปช่วงหนึ่ง ความสนใจในไอโซไทป์ถูกพลิกฟื้นกลับมาในช่วง 2520 และอีกครั้งในช่วง 2550 ซึ่งบางคนถือว่าเป็น “การกลับมาครั้งที่สอง” มีการพิมพ์หนังสือหลายเล่มและการจัดนิทรรศการหลายแห่ง เช่น บรูโน, ปราก, เวียนนา และมิลาน

ในแง่วิชาการ มีหนังสือและบทความเกี่ยวกับแรงงาน ทุน และมูลค่าของเงินของออตโต นอยราธ ออกมามากมาย

เช่น Otto Neurath : Philosophy between Science and Politics โดย Nancy Cartwright, Neurath”s social sciences : between positivism and pragmatism โดย Ivan Ferreira da Cunha, Otto Neurath : Marxist Member of the Vienna Circle โดย Struan Jacobs, Neurath Reconsidered, New Sources and Perspectives โดย Jordi Cat และ Adam Tamas Tuboly รวมทั้ง Revisiting Galison”s “Aufbau/Bauhaus” in light of Neurath”s philosophical projects โดย Angela Potochnik และ Audrey Yap

ในแง่ดีไซน์ หนังสือ Gerd Artnz Graphic Designer ถ่ายทอดชีวิตและผลงานของอานซ์ โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในเยอรมนีและออสเตรียในยุคไวมาร์

ทำให้เห็นด้านที่มีบุคลิกหรือเป็นส่วนตัวของพิกโตแกรมของไอโซไทป์ เพราะแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็เล่าเรื่องและแสดงความรู้สึกได้มาก

งานเด่นของเขาคือรูปคนที่มีตัวแปร เช่น เสื้อผ้า ทรงผมและท่าทาง ที่บอกฐานะ เพศ วัย และเชื้อชาติ รูปเหล่านี้แสดงถึงพลังและความละเอียด

ทำให้เราเห็นว่าเมื่อเขาวาดรูปกรรมกรหรือสาวออฟฟิศ ก็ใส่บุคลิกหรืออารมณ์เข้าไป เมื่อวาดรูปนายทุน ก็ใช้เส้นไม่กี่เส้น

และเมื่อแสดงการแบ่งชนชั้นในสังคม (ในภาพอย่าง Third Reich) ก็สร้างความชัดเจนได้

หนังสือขยายรูปของอานซ์ให้ใหญ่และย่อแผนภูมิหรือการเรียงรูปเหล่านั้นให้เล็ก ภาคหลังเป็น 4,000 รูปที่วาดให้องค์กรต่างๆ ตั้งแต่รูปง่ายๆ เช่น กบ, รถไฟ, แอปเปิล ไปจนถึงที่เป็นนามธรรมกว่านั้น

ในบท “Inspired by Gerd Arntz” มีนักออกแบบหลายคนเขียนสดุดีอานซ์ เช่น ไนเจล โฮมส์ เปรียบกับดนตรีแจ๊ซ “สิ่งที่อานซ์ไม่ได้วาดสำคัญพอๆ กับสิ่งที่เขาวาด…เหมือนเพลงแจ๊ซของเทโลนิอุส มังก์ ซึ่งปล่อยให้ผู้ฟังเติมเสียงเอาเอง”

แต่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดยรอบิน คินรอสส์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไฮเฟน ซึ่งพิมพ์หนังสือด้านดีไซน์ออกมาหลายเล่ม และที่เกี่ยวกับไอโซไทป์คือ The Transformer : Principles of Making Isotype Charts (พ.ศ.2558) และ Isotype : Design and Contexts 1925-1971 (พ.ศ.2560) ข้อวิจารณ์ของเขามีหลายอย่าง เช่น พิกโตแกรมนั้น มองโดดๆ ไม่ได้หรือไม่สามารถแยกตัวออกมาจากงานแผนภูมิได้ ที่สำคัญคือ อานซ์ไม่ใช่คนออกแบบงานของไอโซไทป์

คินรอสส์เคยมีความเห็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของงานและบทบาทของนักออกแบบหลายครั้ง ในบทความชื่อ Copyright in Isotype work : the claim of the Arntz estate ซึ่งเขียนเมื่อปี พ.ศ.2560 บอกว่าการอ้างว่างานเป็นผลงานของอานซ์แต่เพียงผู้เดียวนั้น เริ่มมาจากหนังสือเล่มนี้และเว็บไซต์ชื่อ Gerd Arntz web archive เป็นทัศนะของกองทุนเกิร์ด อานซ์

ความคิดเช่นนั้นมองศิลปินในแง่ “โรแมนติก” มากเกินไป และลืมไปว่างานสถิติของไอโซไทป์มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะมารี เรดไมสเตอร์ (ผู้ร่วมงานซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของออตโต้ นอยราธ) ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ผู้แปร” หรือ transformer เป็นผู้มีบทบาทกำหนดขนาดและสีต่างๆ ของแผนภูมิ และถือว่าเป็นผู้ออกแบบที่แท้จริง

คินรอสส์เล่าว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น อานซ์เป็นเพียงเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของมิวเซียม และ the International Foundation for Visual Education [IFVE] ในเวียนนา และ the Nederlandse Stichting voor Statistiek [NSS] ในเฮก พิกโตแกรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถิติภาพซึ่งเป็นผลงานร่วม เพราะตามขั้นตอนการทำงาน ก่อนจะวาด คนวาดต้องคุยกับผู้แปรเสียก่อนว่าต้องการอะไร ที่สำคัญ ตลอดเวลาที่มีชีวิต นอยราธและอานซ์ไม่เคยอ้างลิขสิทธิ์ในแง่ส่วนตัวและถือว่าสิทธิ์เป็นขององค์กร

นอกจากนั้น ในเว็บของสำนักพิมพ์ไฮเฟน คินรอสส์ยังชี้ให้เห็นขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการอันยืดยาวของการทำสถิติภาพ เพื่อเน้นว่ากราฟิกดีไซน์เป็นขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น

เขาพูดถึงสถานการณ์ในปี 1940 หรือช่วงหลังการยึดครองของนาซีว่า เพื่อไม่ให้เยอรมนียึดผลงานชุดนี้ เนเธอร์แลนด์จึงมอบสิทธิ์ให้แก่อานซ์และขายให้แก่ NSS ทั้งๆ ที่นอยราธยังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นบอร์ดคนหนึ่งของ IFVE ยังได้เขียนจดหมายถึงนอยราธ บอกว่าทำอย่างนั้นเพื่อ “ไม่ยอมให้เยอรมนีอ้างสิทธิ์เหนือสิ่งที่เราเห็นว่าเคยเป็นของคุณและภรรยา”

ในปี พ.ศ.2490 หลังจากที่นอยราธตายและมารีทำงานที่ไอโซไทป์ต่อมา ก็เกิดเรื่องอีกครั้ง เมื่อ NSS ไม่ยอมให้คนอื่นใช้รูปของอานซ์ ตอนนั้น ทางออกคือให้ทั้งสองสถาบัน คือ NSS ในเฮก และไอโซไทป์ในลอนดอนใช้งานดังกล่าวต่อไป

ข้อสรุปของเขาคือ พื้นฐานการอ้างของกองทุนเกิร์ด อานซ์ อยู่ที่การเข้าใจงานผิดๆ และไม่สนใจประวัติของมัน นี่ไม่ใช่เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล และการซื้อขายสิทธิ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปี 1940

คินรอสส์บอกว่า สองสถาบันขัดแย้งกันเพราะอยู่ในภาษาหรือโลกคนละใบ ขณะที่ไอโซไทป์อยู่ในโลกที่กว้างกว่า แต่องค์กรของเนเธอร์แลนด์อยู่ในโลกที่แคบกว่า ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ในแง่การออกแบบหนังสือ แม้จะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่ Gerd Artnz Graphic Designer ได้ช่วยเล่าชีวิตและผลงานของอานซ์ ทำให้เห็นด้านที่เป็นส่วนตัวของไอโซไทป์มากขึ้น งานของอานซ์มีทัศนะที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งต่อมาได้มีอิทธิพลต่อป้ายของระบบต่างๆ ทั่วโลก เช่น การจราจร ศูนย์การค้า สายการบิน และสนามกีฬา

ในปัจจุบัน ไอโซไทป์หรือมุมมองของยุคโมเดิร์นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยหรือ “เชย” เกินไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการให้ความสำคัญแก่จำนวนหรือปริมาณ และเห็นว่าด้านที่เป็นภาษาสำคัญกว่ารูปภาพ

และขณะที่กราฟิกดีไซเนอร์ต้องการแค่วาดรูปที่สวยและตรึงตา นอยราธและอานซ์ต้องการรูปที่ถูกต้องและตรึงใจ ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของยุคนั้น

ที่สำคัญ ทั้งสองเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสร้างไอโซไทป์ด้วยอุดมการณ์ของฝ่ายสังคมนิยม นั่นคือมีคุณค่าทางการศึกษา ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล หรือทำความรู้นั้นให้เป็นสาธารณะมากขึ้น