“สถานการณ์ป่าไม้” ที่หลายคน(อาจ)ไม่ทราบ เทียบสภาพของ “ไทย” – “ลาว”

ปริญญา ตรีน้อยใส

แบตเตอรี่แห่งอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ อธิบดีกรมป่าไม้แถลงข่าวการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยกว่าสามแสนไร่ จากเดิมที่มีอยู่ 102,156,350 ไร่ ในปี พ.ศ.2560 พอมาถึงปี พ.ศ.2561 พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นเป็น 102,488,302 ไร่

แม้ว่าจะเป็นข่าวดีที่พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับพื้นที่ป่าโดยรวมทั้งประเทศ ต้องถือว่าน้อยมาก และยังห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลวางแผนจะเพิ่มให้ได้ถึงร้อยละ 55 ในปี พ.ศ.2580 หรือยี่สิบปีข้างหน้า

บังเอิญลูกศิษย์ชื่อสุเมทิน สมวันไช จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งรายงานเรื่องป่าไม้ในลาวมาให้อ่าน

พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกัน จึงขอเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

ในขณะที่พื้นที่โดยรวมทั้งประเทศของลาวน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง (ไทย 513,120 ตร.ก.ม. : ลาว 236,800 ตร.ก.ม.) แต่พื้นที่ป่าไม้ของลาวกลับมีมากกว่าคือ สองแสน ตร.ก.ม. เพราะพื้นที่ป่าไม้ของไทยที่ท่านอธิบดีแถลงข่าวไปนั้น เทียบเท่ากับแสนหกหมื่น ตร.ก.ม.เท่านั้น

แม้ว่าพื้นที่ป่าไม้ของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่รวมทั่วประเทศมีแค่ร้อยละ 31 ในขณะที่ลาวมีป่าไม้มากถึงร้อยละ 82 ของพื้นที่รวมทั่วประเทศ

ดังนั้น ในเรื่องป่าไม้ ลาวน่าจะเป็นเมืองพี่มากกว่าเมืองน้อง

ในรายงานยังมีรายละเอียดอื่น เช่น พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศลาวนั้น แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 15 ป่าไม้ทั่วไปอีกร้อยละ 67 ส่วนพื้นที่เกษตร มีอยู่ร้อยละ 15 และพื้นที่ชุมชนหรือเมือง มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ใครๆ จึงเรียกขานลาวว่าดินแดนสีเขียว ก็เพราะมีป่าไม้มากนั่นเอง

ในขณะที่คนไทย 400 คน ร่วมเป็นเจ้าของป่าไม้หนึ่งตารางกิโลเมตร แต่คนลาวแค่ 40 คนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของป่าไม้หนึ่งตารางกิโลเมตร

หรือจะพูดกลับกันว่า ในพื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร มีคนไทยอยู่อาศัยหนาแน่นมากกว่า 130 คน ในขณะที่คนลาวอยู่กันสบายๆ แค่ 30 คนเท่านั้น

คงเป็นเพราะป่าไม้ในไทยถูกทำลายต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ที่บริษัทข้ามชาติฝรั่งเข้ามาตัดไม้สักทั่วทั้งภาคเหนือ และไม้เบญจพรรณทั่วทั้งภาคอีสานและภาคตะวันออกเพื่อส่งไปยุโรป

ต่อมา ในสมัยสงครามเย็น มีการทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น และทำป่าเลื่อนลอยเพื่อปลูกพืชไร่ จนมาถึงยุคปัจจุบัน มีการบุกรุกป่าเพื่อทำสวนผลไม้ ป่ายาง รวมทั้งทำสนามกอล์ฟ

ในขณะที่เมื่อหลายปีก่อนนั้นมักจะได้ยินว่า มีไม้ลาวเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย แต่ตอนนี้ไม่ได้ยินแล้ว เพราะรัฐบาลลาวออกมาตรการห้ามตัดไม้ทำลายป่าอย่างเด็ดขาด

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในลาว ทำให้ลาวกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า

ดังที่ในรายงานระบุว่า เมื่อปี พ.ศ.2559 ลาวมีเขื่อนพลังงานไฟฟ้าอยู่ 56 แห่ง มีกำลังการผลิตสองหมื่นห้าพันกิโลวัตต์ชั่วโมง GWh ต่อปี

และมีเขื่อนที่ก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จอีก 30 แห่ง ที่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็นสองเท่า

ตามแผนพัฒนาประเทศลาว ในปี 2563 จะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 53 แห่ง ด้วยกำลังผลิตอีกหมื่นสามพัน GWh ต่อปี อีกทั้งมีเขื่อน 25 แห่งผ่านการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว และจะเริ่มก่อสร้างเร็วๆ นี้ ส่วนอีก 234 แห่ง อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในอนาคตประเทศลาวจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากถึงสี่ร้อยแห่ง และจะผลิตไฟฟ้าได้รวมเจ็ดหมื่นหกพัน GWh ต่อปี

ดังนั้น ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 35 ที่ฟิลิปปินส์ มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย และมาเลเซีย

และเมื่อเร็วๆ นี้มีข้อตกลงระหว่างสี่รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ได้แก่ ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่จะเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ASEAN Power Grid (APG) เพื่อรองรับการส่งพลังงานไฟฟ้าจากลาว โดยในระยะแรกจะผ่านไทย ไปมาเลเซีย และระยะต่อไป ผ่านไทยและมาเลเซีย ไปสิงคโปร์

เห็นตัวเลขแบบนี้ อ่านเรื่องแบบนี้แล้ว ลาวคงเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียนอย่างแน่นอน ด้วยความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าส่งออกอย่างต่อเนื่อง เป็นการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน เพราะต้องอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่ ให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป