เวียดนามที่เห็นมา และ เวียดนามในอนาคต (ตอน2)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
ชีวิตและการดื่มกาแฟของคนเวียดนามยังเหมือนเดิม แต่มีรสนิยมแบบตะวันตกด้วย

คลิกอ่านตอนที่1

หลังปี 1975 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามผ่านสงครามเวียดนาม (Vietnam war) ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 1963

แต่สงครามในรูปแบบอื่นๆ ก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง

ความขัดแย้งภายในระหว่างสาธารณรัฐเวียดนามและกัมพูชาสหายคอมมิวนิสต์เก่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความแตกแยกภายในการเมืองกัมพูชาที่เกิดจากการแทรกแซงของมหาอำนาจในเวลานั้น

รวมทั้งการเลือกฝักฝ่ายของชนชั้นนำกัมพูชาที่เลือกข้างเสรีนิยม และข้างสังคมนิยมสหภาพโซเวียตรัสเซียหรือสังคมนิยมจีนภายใต้การนำของลัทธิเหมา เจ๋อ ตง (Maoism) ได้สร้างปัญหาและความแตกแยกให้กับทุกประเทศในอินโดจีน รวมทั้งไทยด้วย

แล้วความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางด้านความคิดทางการเมืองสังคมนิยมที่มีศูนย์กลาง 2 ศูนย์ก็สร้างปัญหาที่บานปลายซึ่งในที่สุดคือ สงครามกลางเมือง (civil war) ในกัมพูชา

สงครามล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา การแทรกแซงทางการเมืองและการทหารหนุนหลังผู้นำกัมพูชาที่นิยมเวียดนามในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่สงครามสั่งสอนของสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อสาธารณรัฐเวียดนามในตอนเหนือของเวียดนามด้วยกำลังพลกองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 200,000 คน

รวมทั้งสงครามที่เกือบจะเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างกัมพูชาและไทยที่มีการประชิดกำลังพลเข้าใกล้ไทยบริเวณชายแดนด้านอรัญประเทศช่วงปี 1979

ที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นต้องการอธิบายว่า หลังปี 1975 สันติภาพในอินโดจีนยังไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่การเจรจาและการถอนฐานทัพเกิดขึ้น ตรงกันข้ามสงครามระหว่างประเทศ (ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) สงครามกลางเมือง (กัมพูชา) และสงครามตัวแทน (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กัมพูชา ไทยและพันธมิตรชาติตะวันตก) ที่มีรูปแบบการสู้รบแบบกองโจรเพื่อสร้างการต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

อันทำให้การบูรณะประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอินโดจีนก็ยังชะงักงันเรื่อยมา

สงครามเวียดนาม สร้างความเสียหายแก่เวียดนามอย่างมาก
สงครามเวียดนาม สร้างความเสียหายแก่เวียดนามอย่างมาก

การปฏิรูป

ขบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเวียดนามนับเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างมากอยู่นานหลายปี

สำนักคิดหนึ่งของข้อถกเถียงเรื่องการปฏิรูปคือ นโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแม้ในช่วงที่ทั้งสองประเทศจะมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน

Vo Nhan Tri เห็นว่านโยบายทางเศรษฐกิจได้แก่ การปฏิรูปที่ดินและการปฏิบัติใช้ระบบสหกรณ์ (cooperativization) ซึ่งใช้มาโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามช่วงปี 1955-1975 ได้รับแรงบันดาลใจการแนวความคิดเหมา (Maoist thought) อีกทั้งยังนำมาปฏิบัติและบริหารภายใต้การแนะนำอย่างใกล้ชิดของที่ปรึกษาชาวจีน

Vo Nhan Tri ยังเห็นด้วยว่า โมเดลการพัฒนาภายใต้แนวคิด สตาลิน-เหมาอิส ได้พัฒนาต่อมาแม้ว่าจะหยิบมาเพียงบางส่วนหลังปี 1979 จนกระทั่งหลังปี 1986

Tri สรุปว่า ภาวะการนำของเวียดนามจนถึงปี 1986 ได้รับอิทธิพลอย่างมากโดยเหมามากกว่าแนวคิดมาร์กซ์ (1)

ในขณะที่ Carlyle A Thayer มองแตกต่างออกไป เขาอธิบายว่า แนวทางหลักของการปฏิรูปในสาธารณรัฐเวียดนามมาจากภายในพรรค คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเอง ปฏิกิริยาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในยุโรปตะวันออกและที่สหภาพโซเวียต กระทบต่อเวียดนาม แต่ที่มีส่วนอย่างมากเกิดจากกระบวนการภายในต่างๆ ของ โด เหมย (doi moi) ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1986 (2)

ไม่ว่าประเด็นเรื่องช่วงเวลาและทั้งเรื่องของคำถามถึงอิทธิพลจีนต่อการปฏิรูปของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามยังสรุปให้แน่ชัดไม่ได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในปี 1986 เป็นเหมือนกันกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นของเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมทางตะวันออกของจีน

ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงถึงอิทธิพลของการตัดสินใจหลังปี 1979 (post-1979 decisions) ที่สนับสนุนและพึงพอใจการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ในทางกลับกัน ความพยายามในการปฏิรูปนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามมีอิทธิพลเหมือนกันต่อแผนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นที่แรกคือ สปป.ลาว และต่อมาคือ กัมพูชา


เวียดนามในอนาคต

Doi moi ในช่วงทศวรรษ 1980 ได้นำมาซึ่งการปฏิรูปที่เน้นเศรษฐกิจตลาด (market oriented) ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รัฐบาล ระบบข้าราชการยังคงยึดถือกลไกตลาดแนวทางนี้มาโดยตลอด

ในปัจจุบัน ปี 2016 รัฐบาลที่ฮานอยมีแผนงานผลักดันกฎหมายมากกว่า 30 ฉบับเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำการค้า รวมทั้งกติกาเรื่องแรงงาน ธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (small-and-medium enterprise)

เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประกาศใช้เมื่อปี 2013 รัฐสภาสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ออกกฎหมายมากกว่า 100 ฉบับ (3) กฎหมายจำนวนมากเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดว่าทางการเวียดนามยึดมั่นในเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีความตกลงในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เน้นการเปิดเสรีทางด้านการค้าและการบริการ ทั้งการเป็นสมาชิกอาเซียน การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น รวมทั้งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO)

ล่าสุด การเข้าเป็นสมาชิก Trans-Pacific Partnership-TPP ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเหล่านี้ ช่วยผลักดันให้สาธารณรัฐเวียดนามเข้าถึงกลไกที่จะผลักดันการลงทุนและการค้าหลายสิ่งหลายอย่างสู่ตลาดโลก นับตั้งแต่เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนถึงการส่งออกรองเท้าไปขายยังต่างประเทศ

ชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจของชาวเวียดเปลี่ยนไปแล้ว

(1) Vo Nhan Tri, Vietnam”s Economic Policy since 1975 (Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 1990) : 242.

(2) Carlyle A. Thayer, “Recent Political Developments : Constitutional Change and the 1992 Elections”, in Vietnam and the Rule of Law, ed Carlyle A. Thayer and David G. Marr, (Canberra : Australian National University, 1993) : 74.

(3) Glang Nguyen, “The TPP Is Changing Vietnam”s Economy, No Matter What Trump Does”, Bloomberg 28 November 2016.