ลูกหลานคงอ้าปากค้าง! เมื่อ “พลู-หมาก” ถูกใช้เป็นสื่อ “ฝากรัก” แบบวาบหวิววาบหวามในอดีต

ญาดา อารัมภีร

พลูหมากฝากรัก

หนุ่มสาวยุคไฮเทคมีสารพัดวิธีสื่อความในใจ หนุ่มสาวยุคโบราณนอกจาก “เพลงยาว” (จดหมายรัก)แล้ว ก็มี “หมาก” นี่แหละเป็นตัวช่วยสำคัญ เป็นเครื่องมือสื่อถึงความเป็นมิตรและความในใจได้เป็นอย่างดี

“เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”

คนไทยสมัยก่อนนิยมต้อนรับแขกด้วยหมากพลู

เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เล่าถึงตอนขุนช้างไปเยี่ยมเยียนนางศรีประจัน (แม่นางพิมพิลาไลย) ที่เรือนของนางเพื่อปรึกษาหารือเรื่องนางพิม

เจ้าของบ้านก็ต้อนรับด้วยหมากพลูแสดงถึงไมตรีจิตมิตรภาพที่มีต่อกัน

“ขุนช้างย่างขึ้นบนนอกชาน คุกคลานเข้าไปในเรือนใหญ่

นั่งบนเสื่อพลันในทันใด ยกมือขึ้นไหว้ศรีประจัน

ท่านยายศรีประจันก็รับไหว้ แล้วบอกให้กินหมากขมีขมัน

กินหมากแล้วถามเนื้อความพลัน แดดนายร้อนครันไปไหนมา”

การต้อนรับผู้มาเยือนเป็นหน้าที่แม่เรือนโดยตรง ต้อนรับขับสู้ดีก็เป็นหน้าเป็นตาแก่ครอบครัวและวงศ์ตระกูล

ภรรยาขี้ตืดที่ไม่เต็มใจต้อนรับจึงถูกตำหนิไปเต็มๆ เป็นตัวอย่างหญิงชั่วที่กวีนำมากล่าวถึงในวรรณคดีเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ตอนหนึ่งว่า

“แขกมาหาสู่ เกรงเปลืองหมากพลู ทานทัดขัดคำ

ดูตาผัวพลาง ให้ข้างฤๅยำ แยบยลกลทำ ขับแขกจากสถาน”

หมากพลูมิใช่จะเป็นเพียงสิ่งที่เจ้าของบ้านใช้ต้อนรับแขกที่ไปมาหาสู่เท่านั้น ยังเป็นเครื่องมือสื่อความในใจชั้นดีอีกด้วย

เมื่อต้องการทำความรู้จักกับหญิงที่ตัวเองพึงใจแต่ยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ชายก็จะขอหมากพลูจากหญิงนั้น

ดังที่วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี เล่าถึงชาวเมืองรมจักรเที่ยวชมงานสมโภชอภิเษกศรีสุวรรณ (น้องชายพระอภัยมณี) กับนางเกษราไว้ดังนี้

“พวกผู้ชายรายเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง เข้าพาดพิงพูดผลอขอสลา”

“สลา” (สะ-หลา) คือหมาก แม้ขอแค่หมากก็เป็นที่รู้กันว่ามีพลูอยู่ด้วย ดังที่เสฐียรโกเศศเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง ค่าของวรรณคดี ว่า

“…การกินหมากนั้นไม่ใช่กินเฉพาะหมากเพียงอย่างเดียว ต้องกินพลูและกินปูนประกอบด้วยจึงจะเรียกว่าเป็นการกินหมาก…ปูนนั้นมีหน้าที่ป้ายใบพลูเพียงนิดเดียว ป้ายมากไม่ได้เพราะกัดปาก แต่ถ้าไม่มีปูนก็กินหมากไม่ได้ ปูนจึงเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้หมากและพลู…อันที่จริงก็ไม่ได้กิน เพราะกินต้องเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วกลืน กินหมากเป็นแต่เคี้ยวอย่างเดียวไม่มีกลืน เคี้ยวจนเกิดเป็นน้ำหมากเต็มปากแล้วก็บ้วนทิ้ง ทำอย่างนี้หลายๆ หนจนหมากที่เคี้ยวหมดรสอร่อยแล้วก็คายชานหมากทิ้ง…”

เครื่องปรุงในการกินหมากมีทั้งหมากดิบและแห้ง รวมไปถึงพลู กระวานและกานพลู ดังที่กาพย์เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ บอกให้เรารู้ว่าการเตรียมเครื่องปรุงสำหรับกินหมากเป็นหน้าที่ของสตรีโดยตรง

“หมากเจียนเจ้างามปลอด พลูต่อยอดน่าเอ็นดู

กระวานอีกกานพลู บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ”

ถ้าหากกินหมากแล้วเผอิญน้ำหมากไหลเปรอะเปื้อนปาก เสฐียรโกเศศเล่าถึงวิธีแก้ไว้ในเรื่อง ค่าของวรรณคดี ว่า

“…คนโบราณแก้ไขโดยใช้ “ขี้ผึ้ง” สีให้ทั่วริมฝีปากกันน้ำหมากเยิ้มไม่ให้เลอะเทอะออกมาเป็นที่น่ารังเกียจแก่ใครๆ เมื่อยังไม่ถึงเวลาจะบ้วนมัน…”

ดังที่บทละครในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง อิเหนา บรรยายว่า

“ลางนางคมสันทำปั้นปึ่ง สีขี้ผึ้งกินหมากเมียงม่าย”

นอกจากใช้หมากพลูเป็นลู่ทางตีสนิททำความรู้จักบอกให้สาวเจ้ารู้ว่าอยากสานสัมพันธ์แล้ว ก็ยังใช้เป็นสื่อฝากรักเกี้ยวพาราสีอย่างจงใจอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ฝ่ายชายเอา “พลู” ที่ตัวเองกัดแล้วหรือยังไม่ได้กัด “ซัด” หรือ “ทิ้ง” ไปให้ต้องกายฝ่ายหญิง เพื่อบอกความในใจว่าฉันสนใจอยากจะจีบเธอนะ รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงอิเหนาตอนพบนางจินตะหราที่งานพระเมรุเมืองหมันหยา พอได้จังหวะเหมาะ อิเหนาก็

“เดินเคียงกัลยาคลาไคล เห็นนางห่างไกลพระชนนี

จึ่งเอาพลูรอยกัดซัดต้ององค์ โฉมยงสะดุ้งเดินเมินหนี”

เมื่อทำให้สาวรู้ตัวรู้ความในใจแล้วก็ตามติดมิให้เสียโอกาสใกล้ชิด

“พระรีบไปพลันทันเทวี ภูมียิ้มพรายชายตา

เห็นนางเดินเมียงเลี่ยงหลบ พระแกล้งทำกระทบอังสา

นาสิกสูบรสสุคนธา กัลยาเคืองค้อนงอนงาม”

วิธีที่ชายซัดพลูใส่หญิงใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ตัวละครระดับเจ้านายไปจนถึงคนธรรมดาสามัญ ดังที่ไพร่พลของปันหยีหยอกเย้าหญิงสาวตามประสาชายเจ้าชู้

“ลางคนไปเที่ยวเกี้ยวชู้ เอาปูนพลูซัดหยอกผู้หญิงสาว”

สังคมไทยโบราณถือว่าการให้หมากพลูแก่กันแสดงว่ามีใจให้ ยินดีรับรักรับไมตรีของอีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งถ้าผู้ชายคนไหนได้รับหมากที่ผู้หญิงเขาปรุงให้เองหรือได้รับชานหมากจากปากสาวที่พึงใจ เท่ากับชนะใจสาวนั้นเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องลุ้นจนตัวโก่งหรือใจตุ๊มๆ ต้อมๆ ว่าจะออกหัวหรือก้อย

ด้วยเหตุนี้เองอิเหนาจึงใช้กุมารน้อย “สียะตรา” (น้องชายนางบุษบา) ไปขอชานหมากจากพี่สาวโดยที่นางมิได้เฉลียวใจเลยว่าคนขอตัวจริงเป็นใคร เพราะถ้ารู้คงไม่ให้

“จึงอุ้มสียะตรายาใจ กอดไว้แล้วกระซิบพาที

จงไปขอชานที่พี่นางเจ้า ได้แล้วจงเอามาให้พี่

เป็นเจ้าขอเองดังทุกที อย่าออกชื่อพี่นี้นะน้องรัก”

สียะตรารีบวิ่งตื๋อไปหานางบุษบาทันที พอถึงตำหนักก็ฉอเลาะขอนอนหนุนตักพลางขอชานหมาก พี่สาวพาซื่อ “ไม่รู้กลอนุชาพาที เทวีคายชานให้ทันใด”

“เมื่อนั้น สียะตราจึ่งทูลแถลงไข

ว่าชานเก่าจืดไม่ชอบใจ พี่นางจงได้เมตตา

เคี้ยวประทานชานอื่นให้น้องใหม่ เอาเครื่องหอมใส่ให้หนักหนา

ว่าพลางทางหยิบเอาหมากมา ป้อนระเด่นบุษบาฉับพลัน

แล้วรับชานหมากจากพี่นาง วิ่งวางออกไปขมีขมัน”

พระพี่เลี้ยงบาหยันรู้ทันพ่อสื่อตัวจ้อยจึงรีบดักคอเสียก่อน “ทูลว่าไม่เสวยนี้ว่าไร จะกำชานไปไหนจงบอกพลัน” สียะตราให้เหตุผลข้างๆ คูๆ ว่า “ชานใหม่ยังสดพึ่งสบกัน ข้ากลัวจะยันจึ่งกำไว้ จะให้เย็นเสียก่อนจึ่งจะกิน” จากนั้นก็ดิ้นรนผลักไสนางบาหยันที่ยื้อยุดฉุดมือเป็นพัลวัน นางกำชับว่า “แม้นจะใคร่ไปเที่ยวให้สำราญ เสวยชานเสียก่อนจึงคลาไคล” ในที่สุดสียะตราก็สะบัดหลุดจากมือบาหยัน แล้วก็รีบวิ่งไปตำหนักของอิเหนา “เอาชานซ่อนป้อนให้พี่ยาพลัน” พร้อมกับทูลฟ้องเรื่องบาหยันเป็นการใหญ่

แม้ในช่วงแรกๆ อิเหนาจะได้ชานหมากของนางบุษบามาด้วยเล่ห์กล ได้มาโดยฝ่ายหญิงเขามิได้เต็มใจให้ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงขั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง สลาหรือหมากคำนี้นางบุษบาก็เต็มอกเต็มใจป้อนอิเหนาด้วยมือของนางเอง

“เมื่อนั้น บุษบาเยาวยอดพิสมัย

ร่วมรมย์สมสุขด้วยภูวไนย นางมิได้นิราศคลาดคลา

แต่เฝ้าเคล้าแนบแอบองค์ พระสุริยวงศ์ทรงเดชเชษฐา

แย้มพรายชำเลืองหางตา ชลีกรป้อนสลาโอชาชวน”

ชานหมากที่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายเคี้ยวแล้วนั้นสำคัญนัก เป็นเครื่องหมายว่าคนทั้งคู่รักใคร่กันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าฝ่ายชายจะกินชานหมากของฝ่ายหญิง หรือฝ่ายหญิงกินชานหมากของฝ่ายชายก็ตาม

ดังตอนที่ขุนแผนลำเลิกความหลังให้นางพิมพิลาไลยหรือวันทองฟัง ตอนนั้นนางเป็นเมียขุนช้างไปเรียบร้อย

“พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน”

จะคายชานหมากให้หรือยอมให้นางวันทองนอนหนุนแขนจนรู้สึกราวกับแขนซ้ายของตัวเองคอดลงไป ล้วนเป็นพฤติกรรมของคนที่รักกันมากเหลือเกิน ขุนแผนรักนางมากเสียจนยินดีเสียสละความสุขของตัวเองเพื่อให้เมียรักเป็นสุข ทั้งนี้เพราะการให้ชานหมากในสมัยโบราณมิใช่เรื่องสกปรกชวนคลื่นไส้ หรือไม่ถูกสุขอนามัยอย่างที่คนในปัจจุบันเข้าใจกัน

แต่เป็นการรักกันให้เกียรติกัน ถ้าไม่รักกันจริงก็จะไม่ให้ชานหมากแก่กันเป็นอันขาด

เพราะหมากที่เริ่มเคี้ยวไปสักครู่จะมีรสดีทำให้ผู้เคี้ยวมีความสุขสบายใจเพลินใจอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะฝ่ายหญิงถ้ายังไม่มั่นใจชายคนไหนมากพอ การให้ชานหมากแก่ชายย่อมไม่สมควรเพราะเท่ากับตัวเองยินยอมรับรักรับไมตรีของอีกฝ่ายไปโดยปริยาย

บางครั้งการให้ชานหมากก็เป็นการแลกเปลี่ยนชานหมากกันอย่างใกล้ชิดชนิดปากต่อปาก ดังที่ โคลงนิราศพระยาตรัง บรรยายว่า

“คิดคู่รสโอษฐ์ป้อน เปลี่ยนชู้ชานสลา”

ซึ่งไม่ต่างจาก นิราศสรวมครวญ เลยแม้แต่น้อย

“ถวิลโอษฐ์แม่รับสลา โอษฐ์พี่”

ความรักที่สื่อสารผ่านหมากของคนไทยในอดีตช่างวาบหวิววาบหวาม ลูกหลานอ้าปากค้างไปตามๆ กัน