นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พลังทางปัญญาของอนุรักษนิยมไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ฟังเผินๆ “อนุรักษนิยมใหม่” หรือ Neo-Conservatism น่าจะเป็น oxymoron หรือคำผสมที่ความหมายของคำซึ่งเอามาผสมแย้งกันเอง ก็ขึ้นชื่อว่าอนุรักษนิยมคือความเคารพเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ถือว่าเป็น “คุณค่า” ซึ่งตกทอดมาแต่อดีต จะถูกปรับเปลี่ยนให้ “ใหม่” ได้อย่างไร

คำนี้มีต้นกำเนิดในสหรัฐ (จากนักคิดหลายแนวทาง) จึงดูจะมีความหมายให้เข้าใจได้เฉพาะกับสังคมอเมริกันหรือตะวันตก ผมขออธิบายความหมายแบบอเมริกันอย่างง่ายๆ (เท่าที่ความรู้ของผมมี)

ดังนี้

มันมีสิ่งดีๆ อันมีคุณค่าเป็นนิรันดรอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกัน นับตั้งแต่เสรีประชาธิปไตย, ทุนนิยม, สถาบันทางสังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งควรต้องอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไป นักคิดคนสำคัญคนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาศาสดาของลัทธิอนุรักษนิยมใหม่อเมริกัน คือศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง Leo Strauss ซึ่งเห็นว่า รากฐานของคุณค่าอันเป็นนิรันดรในความเป็นอเมริกัน (หรือคนตะวันตก) มาจากแนวคิดด้านความยุติธรรมของกรีก-โรมัน และระบบศีลธรรมในศาสนายิว-คริสเตียน

อนุรักษนิยมใหม่ของอเมริกันก่อรูปขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ส่วนหนึ่งก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองกระแสต่อต้านระบบ (anti-establishment) ที่ระบาดไปในหมู่คนรุ่นใหม่และผิวดำกับผู้หญิงในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม ผมอยากชี้ให้เห็นความ “ใหม่” ของอนุรักษนิยมใหม่แบบอเมริกันไว้ด้วย แน่นอนว่าอนุรักษนิยมใหม่ย่อมเห็นคุณค่าของระบบทุนนิยม และเห็นว่าต้องรักษาปกป้องให้ดำรงอยู่ตลอดไป แต่อนุรักษนิยมใหม่ไม่ได้คิดไกลไปถึงกับเห็นว่า รัฐควรปล่อยให้ตลาดทำงานไปโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยว เพราะรัฐที่เข้าไปแทรกแซงตลาดคือ “ถนนสู่ความเป็นทาส” (ดังที่ Freidrih Hayek ใช้เป็นชื่อหนังสืออันลือนามของตน) อนุรักษนิยมใหม่ยอมรับว่า การทำงานของตลาดมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม ฉะนั้น รัฐจึงต้องกำกับอยู่บ้างเพื่อป้องกันมิให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม เช่น กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันความอยู่ได้กินได้ของแรงงานไว้บ้าง เป็นต้น

ผมอยากเดาว่า นักคิดอเมริกันในรุ่นนั้นย่อมได้รับอิทธิพลจากนโยบายนิวดีลของโรสเวลต์มาบ้าง ไม่มากก็น้อย อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของพันธมิตรในยุโรปตะวันตก ก็เกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่รัฐมีบทบาทค่อนข้างมาก นักคิดบางคนของอนุรักษนิยมใหม่ถึงกับเสนอโครงการประกันรายได้ด้วยซ้ำ เพื่อทำให้ “คนจนมีอำนาจเลือกในตลาดได้มากขึ้น และพอใจต่อระบบ”

มรดกความยุติธรรมของกรีกที่ต้องอนุรักษ์ก็เสนอขึ้นโดยไม่พูดถึงทาส ซึ่งมีมากกว่าครึ่งของประชากรในนครรัฐ ไม่มีแรงงานทาสขนาดนั้น “ผู้ดี” จะมานั่งเขียนบทละครชั้นเลิศ แล้วมีคนดูเต็มโรง หรือนั่งถกกันด้วยเรื่องปรัชญาและศีลธรรมอันสลับซับซ้อนได้อย่างไร ฉะนั้น การอนุรักษ์กรีกจึงไม่ใช่กรีกจริงๆ ทั้งหมด แต่คั้นเอามาเฉพาะส่วนที่เป็นคุณค่าอันเห็นว่าเป็นนิรันดร คือทรงคุณค่าแก่มนุษย์ตลอดไปเท่านั้น

และนี่คือสาระสำคัญที่สุดของอนุรักษนิยม ไม่ว่าใหม่หรือเก่า นั่นคือไม่ใช่อนุรักษ์ทุกอย่างที่ตกทอดมาจากอดีตอย่างหน้ามืดตามัว แต่ครั้นเอาคุณค่าซึ่งมีความหมายแก่ปัจจุบันออกมายกย่องเชิดชู และสืบทอดให้ดำรงอยู่ตลอดไป ผู้นำความคิดของอนุรักษนิยมจึงต้องมีความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับอดีตและปัจจุบันเป็นอย่างดี ซ้ำยังต้องมีทัศนวิสัยที่แจ่มชัดต่ออนาคตด้วย

สรุปให้สั้นลงไปกว่านั้นอีกก็คืออนุรักษนิยมคือการตีความใหม่หรือให้ความหมายใหม่ (reinterpretation) แก่คุณค่าที่ตกทอดมาจากอดีต

ในทางปฏิบัติ นักอนุรักษนิยมไม่ได้ต้องการรักษาอำนาจไว้กับบุคคลหรือสถาบันหรือกระบวนการใด แต่ต้องการรักษาอำนาจของคุณค่าบางอย่าง (และขอย้ำว่าบางอย่างเท่านั้น) ซึ่งบุคคล, สถาบัน, หรือกระบวนการของอดีต อาจมีความจำเป็น เพื่อทำให้คุณค่านั้นๆ ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง

ในแง่นี้แหละครับที่ผมอยากยกย่องนักคิดอนุรักษนิยมไทย ซึ่งต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่พร้อมจะเป็นผลให้โครงสร้างหลายต่อหลายด้านในสังคมวัฒนธรรมไทยต้องสลายลง แต่พวกเขากลับสามารถเสนอแนวคิด “อนุรักษนิยมใหม่” ที่อิงอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิม, โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดิม, โครงสร้างทางวัฒนธรรมแบบเดิม และทำให้แนวคิดเช่นนั้นกลายเป็นแนวคิดนำในสังคมไทยสมัยใหม่ได้

ผมใช้คำว่า “อิง” ก็เพราะมันไม่ใช่โครงสร้างเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่อยุธยา มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพราะสิ่งใหม่ๆ จากโลกตะวันตกถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว นักคิดอนุรักษนิยมไทยก็สามารถผลิตความรู้และความคิดที่ทำให้รองรับความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนนี้ได้ ถึงต้องปรับโครงสร้างที่ตกทอดมาแต่อดีตไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องรื้อทำลายลงจนหมดรูปลักษณ์เดิมๆ ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น โครงสร้างลำดับช่วงชั้นทางสังคม กำเนิดและสถานะที่ได้รับพระราชทานอาจไม่ใช่เกณฑ์เดียวในการบรรจุตำแหน่งแหล่งที่ของผู้คนในโครงสร้างนี้ มีการเคลื่อนที่ในโครงสร้างด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ซึ่งนักคิดอนุรักษนิยมไทยก็พร้อมจะเปิดทางให้ดำเนินไปเป็นปรกติ

แต่ความคิดเรื่องคนไม่เท่ากันก็ยังคงอยู่และมีความเข้มแข็งพอสมควรจนถึงทุกวันนี้ และลำดับช่วงชั้นทางสังคมในเมืองไทยถึงดูเหมือนเปลี่ยน ก็ยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก

ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า เงื่อนไขปัจจัยที่ผลักดันความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้น ในที่สุดก็กระจายอยู่ในหมู่ประชาชนไทยเอง ฉะนั้น แรงกดดันเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่แรงที่สุดจึงอยู่ข้างในนี้เอง นักคิดอนุรักษนิยมไทยเผชิญแรงกดดันจากภายนอกหรือฝรั่งด้วยกลวิธีที่ได้ผลมานาน แต่การเผชิญกับแรงกดดันภายในเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่ ทดลองใหม่และปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้น แรงกดดันภายในก็ไม่ได้อยู่ในระดับเดิม แต่เพิ่มขึ้นตลอดมา

แม้กระนั้นก็ยังกล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย เป็นเวลากว่าศตวรรษที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมสามารถยึดกุมการนำในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาครั้งใหญ่ของสังคมไทยตลอดมา เป็นผู้กำหนดประเด็นปัญหาของสังคม และเป็นผู้ให้คำตอบแก่สังคม (อาจจะเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงในช่วงแรก แต่ก็ขยายผ่านการศึกษาและสื่อตลอดมา) ผมไม่ปฏิเสธว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมอยู่ฝ่ายที่ถืออำนาจทางการเมือง หรือบางครั้งร่วมเป็นผู้ถืออำนาจเอง จึงสามารถทำให้ฝ่ายอื่นซึ่งไม่ใช่อนุรักษนิยมเสียงไม่ดัง หรือต้องเงียบเสียงไปเลย (ต.ว.ส.วรรณาโภ, นรินทร์กลึง, ปรีดี พนมยงค์, สี่อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน, พระพิมลธรรม-สมเด็จพระพุฒาจารย์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ)

แต่ความโดดเด่นของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้เกิดจากอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายท่านด้วยกันล้วนเป็นผู้รอบรู้และรู้รอบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเข้าถึงวัฒนธรรมไทยเก่าอย่างลึกซึ้ง จึงสามารถให้ความหมายใหม่แก่คุณค่าของวัฒนธรรมนั้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยต้องเผชิญ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ, สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ, พระยาอนุมานราชธน, ท่านพุทธทาสภิกขุ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ) ถึงไม่มีอำนาจทางการเมืองหนุนหลัง ผลงานของคนเหล่านี้ก็น่าจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมไม่น้อยเหมือนกัน (เช่นเดียวกับในทางกลับกัน คือปัญญาชนฝ่ายที่ไม่ใช่อนุรักษนิยมซึ่งถูกทำให้เสียงไม่ดังหรือเงียบเสียงลงเพราะอำนาจทางการเมือง ก็มีอิทธิพลทางความคิดแก่สังคมไทยไม่น้อยเหมือนกัน)

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในบางช่วงที่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมถูกจำกัดลง หรือหลุดจากมือไป ด้วยเหตุใดก็ตามระบบคุณค่าของฝ่ายอนุรักษนิยมจะถูกท้าทายอย่างแหลมคม จนบางครั้งปัญญาชนอนุรักษนิยมอาจตอบโต้ไม่ทันหรือตกเป็นฝ่ายรองก็ได้ เช่น ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เสรีภาพของสื่อได้รับการประกันจากอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก คุณค่าใหม่ๆ ที่ต่อต้านคุณค่าและแบบปฏิบัติที่ตกทอดมาจากอดีตถูกท้าทายอย่างรุนแรง เช่น แนวคิดครอบครัวที่ตั้งอยู่บนหลักผัวเดียวเมียเดียว, ความเท่าเทียมของผู้หญิง, ความเสมอภาคในสังคมซึ่งปฏิเสธอภิสิทธิ์ของกำเนิดและเส้นสาย (คือปฏิเสธระบบลำดับช่วงชั้นทางสังคมตามประเพณีไทย) ฯลฯ

เช่นเดียวกับในช่วงปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เปิดเสรีแก่การแสดงความคิดเห็นเพื่อคานอำนาจของกองทัพ, ตำรวจ และราชสำนัก ทำให้งานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายสามารถขยายตัวได้กว้างขวางขึ้น หรือในระหว่าง 4 ตุลาถึง 6 ตุลา และระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญ 2540

ช่วงสั้นๆ เหล่านี้ ทิ้งประเด็นปัญหาทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ได้ตอบ หรือตอบไม่ได้ ไว้ในสังคมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

อํานาจทางการเมืองตกอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยม หรืออย่างน้อยได้อำนาจนำทั้งทางการเมืองและปัญญาไว้เหนือทุกฝ่าย (เว้นช่วงสั้นๆ ดังกล่าว) แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งขยายตัวมากขึ้นในประเทศแทบทุกด้าน ทำให้เกิดประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจำเป็นต้องปรับคำตอบใหม่ หรือยืนยันคุณค่าเดิมด้วยการตีความหมายใหม่ แต่ในยามที่ต้องการสติปัญญาและความรอบรู้อย่างสูง เพื่ออนุรักษ์คุณค่าจากอดีตอันควรถือเป็นนิรันดร ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับไม่มีปัญญาชนที่รอบรู้และชาญฉลาดอย่างที่เคยมีมา บางคนเชื่อว่าปัญญาชนอนุรักษนิยมที่มีคุณภาพระดับนั้นคนสุดท้ายคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปัญญาชนอนุรักษนิยมปัจจุบันจึงได้แต่ตะโกนกึกก้องว่าคนไม่เท่ากัน ต้องกลับไปหาระบบการเมืองที่คนไม่เท่ากัน และประณามหยามเหยียด “ชาวบ้าน” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านสถานะทางเศรษฐกิจ, การศึกษา และการเมืองที่เกิดกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ ซึ่งถูกเรียกว่า “บ้านนอกคอกนา” แม้แต่ “บ้านนอก” เองก็ไม่เหมือนเดิมไปแล้ว แต่นักคิดเหล่านี้ไม่สามารถหยิบยกคุณค่าที่สามารถอ้างได้ว่าเป็นนิรันดรจากอดีตขึ้นมาตีความใหม่ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงได้เลย

ก็ไม่น่าประหลาดอันใด ปัญญาชนอนุรักษนิยมในปัจจุบันเข้าไม่ถึงสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมไทย” ด้วยซ้ำ พวกเขาไม่ฟังเพลงไทย, ไม่ดูลิเกหรือโขน, เรียกชื่อลายไทยไม่เป็น, ไม่ได้มองโลกและชีวิตผ่านชีวิตของตัวละครในวรรณคดีไทย ฯลฯ จะให้พวกเขาคั้นเอาคุณค่าอะไรจาก “ความเป็นไทย” ได้มากไปกว่าอำนาจทางการเมืองที่อ้างความชอบธรรมจากการยึดโยงกับอดีต

นักเรียนอังกฤษคนหนึ่งเพิ่งพูดกับผมด้วยคำว่า intellectual poverty ของอนุรักษนิยมไทยปัจจุบัน ผมไม่กล้าใช้คำนี้ในภาษาไทย เพราะเมื่อแปลแล้วมันฟังดูแรงกว่าในภาษาอังกฤษเกินไป

ย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ ฝ่ายอนุรักษนิยมรักษาภาวะการนำทางปัญญาไว้ได้ในสังคม ไม่ใช่เพราะอำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียว คุณภาพของปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมเองก็มีความสำคัญ (อาจจะมากกว่าอำนาจทางการเมืองด้วยซ้ำ) แต่อนุรักษนิยมในปัจจุบันไม่เหลืออะไรอื่นอีกนอกจากอำนาจทางการเมือง ไม่มีปัญญาชนที่รอบรู้และชาญฉลาดพอจะรักษาและปรับอุดมการณ์ของตนได้ต่อไป

ได้กล่าวแล้วว่า ความรุนแรงและอำนาจเถื่อนก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะการนำทางปัญญาของฝ่ายอนุรักษนิยมในอดีต แต่เมื่อขาดพลังทางปัญญาของปัญญาชนในปัจจุบันเสียแล้ว ความรุนแรงและอำนาจเถื่อนจึงกลายเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว ที่จะรักษาภาวะนำทางปัญญา, การเมือง และเศรษฐกิจไว้ต่อไป

ความรุนแรงและอำนาจเถื่อนที่เราได้เห็นในระยะนี้ จึงอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นก็ได้