จิตต์สุภา ฉิน : ความทรงจำที่เหลือให้สืบทอดบนเฟซบุ๊ก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่วางแผนเอาไว้แล้วว่าหลังจากตัวเองจากโลกใบนี้ไป ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่ยังมีเหลืออยู่จะถูกแบ่งสันปันส่วนไปให้ลูก หลาน ญาติพี่น้อง คนไหนบ้าง ในรูปแบบของการเขียนพินัยกรรม

บางคนอาจจะเคยคุยกับคนรักเอาไว้ว่าอยากให้จัดงานศพของตัวเองแบบไหน หรือจะให้เอาอัฐิไปโปรยที่ไหน

แต่คิดว่าน่าจะมีคนจำนวนไม่เยอะนักที่คิดเผื่อเอาไว้ว่า แล้วทรัพย์สมบัติทางดิจิตอลอย่างบัญชีเฟซบุ๊กล่ะ จะต้องจัดการอย่างไรหลังจากที่เราจากไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ไม่นานมีคดีที่น่าสนใจคดีหนึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ

ศาลยุติธรรมในเยอรมนีตัดสินให้เฟซบุ๊กยอมเปิดทางให้คุณแม่ที่เสียลูกสาววัย 15 ปีซึ่งถูกรถไฟชนเสียชีวิตที่สถานีรถไฟในเบอร์ลินในปี 2012 สามารถเข้าถึงชื่อบัญชีเฟซบุ๊กและอ่านโพสต์รวมถึงข้อความส่วนตัวของลูกได้

ในตอนนั้นตำรวจไม่สามารถตัดสินได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นการฆ่าตัวตายกันแน่ ทำให้ผู้เป็นแม่พยายามจะเข้าใจสถานการณ์และหาเบาะแสด้วยการเข้าไปอ่านข้อความส่วนตัวที่ลูกสาวส่งก่อนตาย

ส่วนหนึ่งก็เพราะแม่มีความสงสัยว่าตอนยังมีชีวิตอยู่ลูกถูกกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์หรือเปล่า

อันที่จริงแล้วทั้งพ่อและแม่มีรหัสผ่านของลูกอยู่ในมืออยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่เปิดบัญชีเฟซบุ๊กให้ลูกใช้ครั้งแรกแลกกับการที่ลูกจะต้องให้พ่อแม่ถือรหัสผ่านเอาไว้ด้วย

แต่กว่าที่แม่จะมีเวลามาป้อนรหัสผ่านเข้าไปในชื่อบัญชีได้ทัน บัญชีเฟซบุ๊กของลูกก็ถูกเปลี่ยนโหมด “รำลึกถึง” หรือโหมด memorialized สำหรับผู้ใช้งานที่เสียชีวิตไปแล้ว

 

เฟซบุ๊กระบุว่าโหมดนี้มีไว้ใช้สำหรับการรำลึกถึงคนที่จากไป ด้วยการเปลี่ยนให้หน้าเฟซบุ๊กกลายเป็นสถานที่ที่ครอบครัวและญาติมิตรใช้ในการเข้ามาแบ่งปันความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับผู้ที่ล่วงลับ

บัญชีไหนที่ถูกเปลี่ยนโหมดแล้วก็จะสังเกตได้จากการที่จะมีคำภาษาอังกฤษคำว่า remembering ขึ้นอยู่ใกล้ๆ ชื่อของคนคนนั้น

แม่ของเด็กหญิงคนนี้ต่อสู้ทางกฎหมายกับเฟซบุ๊กยาวนานหลายปีจนในที่สุดเฟซบุ๊กก็ต้องยอมแพ้ ศาลระบุว่าผู้ปกครองสามารถรับมรดกเป็นคอนเทนต์ทางดิจิตอลหรือโซเชียลมีเดียของลูกที่เสียชีวิตไปแล้วได้ไม่แตกต่างกับที่พ่อแม่สามารถรับมรดกเป็นเอกสาร จดหมายส่วนตัว หรือไดอารีของลูกได้ เพราะในทางกฎหมายแล้วทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันเลย

ย้อนกลับมาที่เฟซบุ๊ก เราเคยนึกกันไหมคะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเฟซบุ๊กของเราบ้างหากเราจากไปกะทันหันก่อนที่เราจะสามารถส่งต่อรหัสผ่านให้ใครได้ หรือว่าก่อนที่เราจะเข้าไปตั้งค่าไว้ล่วงหน้าว่าอยากให้ระบบทำอะไรกับชื่อบัญชีของเราทันทีที่เราจากไป

คนที่อยู่เบื้องหลังที่สามารถรับมรดกทางเฟซบุ๊กของเราต่อไปได้จะถูกเรียกว่า ผู้สืบทอดบัญชี หรือ legacy contact ในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้เลือกเอาไว้ก่อนว่าใครจะสามารถสืบทอดบัญชีต่อไปได้ ครอบครัวสามารถแจ้งกับทางเฟซบุ๊กด้วยการยื่นหลักฐานเพื่อรับรองว่าคนคนนั้นเสียชีวิตไปแล้วจริงๆ และขอเป็นผู้สืบทอดบัญชีต่อไปได้

เป็นผู้สืบทอดบัญชีแล้วจะต้องทำอะไรต่ออีก ก็มีทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ค่ะ เรื่องที่ทำได้ก็อย่างเช่นการเข้าไปจัดการโพสต์ต่างๆ ลบแท็ก เปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว อัพเดตภาพโปรไฟล์ เป็นต้น ส่วนเรื่องที่จะทำไม่ได้เลยก็คือการเข้าสู่บัญชีของผู้ตาย การเข้าไปอ่านข้อความส่วนตัว และการจะไปลบเพื่อนที่มีอยู่หรือจะไปแอดใครเข้ามาเป็นเพื่อนใหม่

นี่ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ของวัยรุ่นคนนั้นต้องสู้คดีอยู่นานหลายปีกว่าจะสามารถเข้าไปอ่านข้อความของลูกได้นั่นเอง

 

ก่อนหน้านี้ผู้สืบทอดไม่สามารถที่จะเข้าไปอัปเดตภาพโปรไฟล์ของบัญชีผู้ตายได้ด้วยซ้ำ

จนกระทั่งเฟซบุ๊กได้รับจดหมายจากผู้ปกครองที่เขียนเข้ามาร้องเรียนว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเป็นภาพที่เธอสวมชุดคอสตูมวันฮัลโลวีน และเป็นวันเดียวกับที่เธอเสียชีวิต

พ่อแม่คู่นี้บอกว่าไม่สามารถทำใจได้เลยทุกครั้งที่เห็นภาพโปรไฟล์เธอสวมชุดคอสตูมชุดนี้อยู่

ทำให้เฟซบุ๊กพิจารณาเปลี่ยนนโยบายให้ผู้สืบทอดบัญชีสามารถเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ล่าสุดเฟซบุ๊กประกาศเพิ่มเติมว่าจะเพิ่มความสามารถในการควบคุมบัญชีให้กับผู้สืบทอดบัญชี คือสามารถเข้าไปจัดการเซ็กชั่นหรือส่วนที่มีชื่อว่า Tributes ให้คนเข้ามารำลึกถึงเจ้าของบัญชีที่จากไปได้ ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้อยากเป็นแค่โซเชียลมีเดียธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ยังต้องการเป็นสถานที่ที่เราใช้บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิต ตั้งแต่เกิด มีแฟน หมั้น แต่งงาน มีลูก เปลี่ยนงาน ยาวไปจนถึงการเสียชีวิต คล้ายๆ กับการเป็นสมุดสแครปบุ๊กที่เอาไว้ใช้บันทึกเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตนั่นเอง

ความซับซ้อนอย่างหนึ่งที่เฟซบุ๊กต้องระวังก็คือการรักษาสมดุลของทั้งสองฝ่าย คือผลประโยชน์ของคนที่อยู่ข้างหลัง กับความเป็นส่วนตัวของผู้เสียชีวิตที่ยังคงต้องรักษาไว้

 

อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงกันเยอะก็คือ แม้ว่าคนที่เรารักจะเสียชีวิตไปแล้ว และบัญชีเฟซบุ๊กของคนคนนั้นได้ถูกเปลี่ยนสถานะเป็น “รำลึกถึง” ไปแล้วก็ตาม

แต่บัญชีนั้นก็ยังคงถูกระบบของเฟซบุ๊กมองว่าเป็นผู้ใช้ตามธรรมดาทั่วๆ ไป ก็เลยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิด

อย่างเช่น เราอาจจะยังได้รับคำแจ้งเตือนว่าให้อวยพรวันเกิดของคนที่ไม่อยู่แล้ว

หรือชื่อของคนนั้นถูกรวมอยู่ในรายชื่อที่เราสามารถส่งคำเชิญไปงานปาร์ตี้ได้

สำหรับคนที่สูญเสียคนที่รักไปและยังทำใจไม่ได้ บางครั้งแค่เห็นภาพของคนคนนั้นปรากฏขึ้นมาเตือนความจำว่าอยู่ในโพสต์ของปีที่แล้วก็ยากเกินกว่าที่จะรับไหว

เฟซบุ๊กจึงให้คำมั่นสัญญาว่านับจากนี้ไป บริษัทจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยระมัดระวังเรื่องนี้ให้มากขึ้น

อันที่จริงเทคโนโลยีนี้ก็ควรจะถูกนำไปใช้ได้ในรูปแบบที่กว้างขึ้นกว่านี้ได้ เพราะนอกจากเราจะไม่พร้อมที่จะเห็นภาพของคนที่เรารักที่ได้ตายจากกันไปแล้ว บางทีเราก็ไม่พร้อมที่จะเห็นภาพคนอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้ตาย แต่ก็ไม่ได้อยู่ในชีวิตเราแล้ว

อย่างเช่น คนรักที่เลิกรากันไปแล้ว เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ที่อยากจะให้คุณผู้อ่านทุกคนลองขบคิดดูก็คือว่า เป็นเรื่องสำคัญหรือเปล่าที่เราจะต้องจัดการชื่อบัญชีเฟซบุ๊กเราตั้งแต่วันนี้ ถ้าหากคิดว่าสำคัญและพร้อมแล้วที่จะทำ แค่เข้าไปในการตั้งค่าเฟซบุ๊ก และเลือกการจัดการบัญชีของฉัน เราก็จะสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้สืบทอดบัญชีต่อ

หรือถ้าหากไม่ต้องการส่งต่อบัญชี อยากให้หายไปพร้อมๆ กับสังขารของเรา ก็อาจจะเลือกลบบัญชีเป็นการถาวรไปเลยทันทีหลังจากเราเสียชีวิตก็ได้เหมือนกัน

แต่อันที่จริงจะเก็บเอาไว้ให้เป็นสถานที่ที่คนที่เรารักและรักเรายังเข้ามารำลึกถึงเราได้ก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวนะคะ