การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไครเมีย คุยกับทูต ‘เยฟกินี โทมิคิน’ มุมมองของมหาอำนาจหมีขาว หลังผนวกไครเมียห้าปี

คุยกับทูต เยฟกินี โทมิคิน มุมมองของมหาอำนาจหมีขาว หลังผนวกไครเมียห้าปี (จบ)

การพัฒนาของไครเมียโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังจากแยกตัวออกจากยูเครน แล้วเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เล่าถึงความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ของไครเมีย โดยล่าสุดวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้เปิดโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรง ตรงกับวันที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.2014

และได้ทุ่มเงินมหาศาลปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานในไครเมียเพื่อไม่ให้ไครเมียต้องพึ่งพายูเครนอีกต่อไป

“ยิ่งไปกว่านั้น การบูรณาการทางโครงสร้างของสาธารณรัฐไครเมียและเมืองเซวัสโตปอลแห่งสหพันธ์ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว อีกทั้งงานนิติบัญญัติของภูมิภาคก็ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายแห่งสหพันธ์ แม้ว่าจะมีสิ่งตกทอดที่เป็นเรื่องท้าทายจากยุคยูเครนอันหมายถึงสถานภาพที่ย่ำแย่ของสินทรัพย์หลักๆ ตลอดจนแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการถูกแทรกแซง แต่สถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจของไครเมียกลับดีขึ้นตามลำดับ”

“ไครเมียเป็นหนึ่งในภูมิภาคของรัสเซียที่กำลังพัฒนาอย่างมีพลวัต แม้ว่าเวลานี้คาบสมุทรไครเมียจะ “ปรับ” ตัวชี้วัดทางสังคมและเศรษฐกิจกับค่าเฉลี่ยของรัสเซีย แต่อัตราการเจริญเติบโตก็อยู่ในกลุ่มที่สูงสุดของประเทศ การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเป็นที่สังเกตได้ในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจหลักของแหลมไครเมีย พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของรายได้งบประมาณในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน การพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับการผลักดัน สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและการเกษตรมีปรากฏให้เห็น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและรีสอร์ตที่กำลังเฟื่องฟู”

“นับตั้งแต่ไครเมียกลับมารวมตัวกับรัสเซีย ค่าจ้างที่แท้จริงของประชาชนที่ทำงานในภาคสาธารณะ รวมถึงเงินบำนาญและเงินยังชีพได้เพิ่มขึ้นถึง 2-2.5 เท่า และขยับเข้าใกล้ระดับของรัสเซีย”

ท่านทูตกล่าวว่า “ดินแดนไครเมียมีเขตเศรษฐกิจเสรี มีการลงนามในข้อตกลงการลงทุนกว่า 250 ฉบับ มีโครงการ 183 โครงการที่การลงทุนรวมแล้วราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

“สืบเนื่องจากยูเครนได้ปิดล้อมทางพลังงานของแหลมไครเมียเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2015 แผนการชั่วคราวจึงได้จัดตั้งขึ้นทันทีเพื่อจัดหาพลังงานผ่าน “สะพานพลังงาน” (energy bridge) เครื่องให้กำเนิดพลังงานที่มีสมรรถนะสูงกว่าได้ถูกนำเข้ามา มีการจัดสรรสายเคเบิ้ลและท่อก๊าซแฝดข้ามประเทศตั้งแต่คูบาน (Kuban) ผ่านทางช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait) ดังนั้น พลังงานในไครเมียที่เป็นปัญหาก็ได้รับการแก้ไขจนประสบความสำเร็จ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่า มีกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีเสถียรภาพและเพื่อยุติการพึ่งพาพลังงานจากยูเครน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนความจุสูงสองแห่งในไครเมียจึงสำเร็จลุล่วงแล้ว”

“ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพลังงานสีเขียวในแหลมไครเมีย ก็กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก”

“ปีที่แล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติซิมเฟโรโพล (Simferopol International Airport) ได้เปิดให้บริการซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะการขนส่งผู้โดยสารของคาบสมุทร อาคารสนามบินนานาชาติแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 7 ล้านคนต่อปี”

ท่านทูตเล่าถึงความคืบหน้าในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในไครเมีย

“ช่วงปี ค.ศ.2015-2016 มีการซ่อมแซมถนนที่ไครเมีย 520 กิโลเมตร และยังมีแผนจะปรับปรุงอีก 700 กิโลเมตรภายในปี ค.ศ.2021 ผลสำรวจของศูนย์วิจัยความคิดเห็นสาธารณะของรัสเซีย (VCIOM) ระบุว่า ร้อยละ 76 ของผู้ขับขี่สังเกตได้ถึงการพัฒนาสภาพถนนของภูมิภาค ขณะที่ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2014 พื้นผิวถนนมีระดับที่สึกหรอถึงร้อยละ 80”

“การเปิดสะพานไครเมียเพื่อการสัญจรทางถนนเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้วก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของแหลมไครเมีย มีความคาดหวังว่าจะมีการกระตุ้นการพัฒนาภูมิภาคเพิ่มขึ้นอันเกิดจากการสร้างทางหลวงแห่งสหพันธ์สี่เลนชื่อ ทาฟริดา (Tavrida) ซึ่งพาดผ่านคาบสมุทรทั้งหมดจากตะวันออกสู่ตะวันตก จากเคิร์ช-ซิมเฟโรโปล-เซวาสโตโปล (Kerch-Simferopol-Sevastopol) มีความยาว 250 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับการสร้างการสื่อสารทางรถไฟผ่านทางการขนส่งข้ามช่องแคบเคิร์ช (แผนการในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ.2019)”

“เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีแหล่งน้ำอย่างถาวรสำหรับประชากรในแหลมไครเมีย จึงได้สร้างท่อส่งน้ำใหม่ยาว 100 กิโลเมตร และสร้างท่อน้ำหลายท่อสำหรับการเติมน้ำในคลองไครเมียเหนือซึ่งถูกปิดโดยยูเครนโดยจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี ค.ศ.2020”

“สำหรับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวในไครเมียมีกระแสเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และได้พุ่งขึ้นสูงในปี ค.ศ.2018 ด้วยจำนวนถึง 6.5 ล้านคน การเปิดสะพานไครเมียเพื่อการสัญจรทางถนนนำไปสู่จำนวนผู้เดินทางเข้าไครเมียที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25”

“ส่วนในโครงการก่อสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานและการขนส่งขนาดใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้กระตุ้นการเติบโตในกิจกรรมก่อสร้างบนคาบสมุทรอย่างมาก กล่าวคือ ในจำนวนโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม มีการเติบโตประจำปี คือร้อยละ 20-25 โดยรับรองการเร่งสร้างอาคารอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ด้วย”

นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซีย กล่าวยืนยันว่า

“เราปลื้มใจที่ได้ทราบว่า จำนวนผู้ที่มีความคิดเห็นเป็นกลางเกี่ยวกับสถานการณ์ในแหลมไครเมียมีเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจจากต่างประเทศ ภาคประชาสังคม และแวดวงทางการเมือง ก็ให้ความสนใจร่วมมือด้วยแนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนของคณะผู้แทนจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าไปในไครเมียมีเพิ่มขึ้น ตลอดจนผลที่ปรากฏอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรแห่งนี้”

“เราจึงมีความยินดี ขอเชิญชวนทุกท่านไปเยือนไครเมีย เพราะท่านจะได้ทราบและเห็นก่อนใครว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในไครเมียนั้น กำลังดำเนินไปด้วยดี”