บทวิเคราะห์ : “เตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ” – บทเรียนจากกรณี พายุถล่มเซาท์แคโรไลน่า

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“แรนดี้ เว็บส์เตอร์” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการภัยพิบัติฉุกเฉินของเขตฮอร์รี่ เคาน์ตี้ รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ผ่านประสบการณ์ภัยพิบัติมา 15 ปี จึงรู้ว่าต้องเตรียมแผนรับมือกับพายุลูกใหม่ที่กำลังมุ่งหน้ามายังฮอร์รี่ เคาน์ตี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ทุกปีรัฐเซาท์แคโรไลนาซึ่งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมีทั้งพายุทอร์นาโด พายุเฮอร์ริเคน ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน บางปีก็เกิดพายุหิมะ

เฉพาะเดือนมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา พายุทอร์นาโดพัดผ่านรัฐเซาท์แคโรไลนาถึง 4 ลูก

ผู้บริหารรัฐ จับมือกับหน่วยงานต่างๆ โรงเรียน สถานีวิทยุโทรทัศน์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของเขตฮอร์รี่ เคาน์ตี้ จัดฝึกแผนฉุกเฉินรับมือภัยพิบัติประจำปีและตั้งทีมเฝ้าจับตาเส้นทางเดินของพายุอย่างใกล้ชิด

หากคาดการณ์ว่าพายุจะพัดผ่านพื้นที่อย่างแน่นอน ทางผู้บริหารจะจัดฝึกอบรมประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้าอีกครั้ง

 

“เว็บส์เตอร์” บอกกับสื่อท้องถิ่นในเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีว่า การฝึกอบรมนั้นจะช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ประสบภัยรับรู้ข่าวสาร เตรียมความพร้อม รับมือกับเหตุการณ์ร้ายแรงได้อย่างมีสติ สามารถแจ้งข่าวสารมายังหน่วยฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องแม่นยำและเรียนรู้ที่จะอยู่ในภาวะวิกฤตได้อย่างปลอดภัย

แต่ละครั้งของการฝึกมีการจำลองในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ถ้าเกิดน้ำท่วมฉับพลันต้องเอาตัวรอดอย่างไร หรือถ้ามีพายุทอร์นาโด พายุเฮอร์ริเคนพัดผ่านจะหลีกเลี่ยง หลบซ่อนตรงไหนจึงจะปลอดภัยที่สุด

“เว็บส์เตอร์” ยังจำติดตากับภาพภัยพิบัติครั้งใหญ่ เมื่อครั้งพายุถล่มชายฝั่งของทะเลของฮอร์รี่ เคาน์ตี้ซึ่งมีหาดทรายสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐเซาท์แคโรไลนา

พายุซึ่งมีกระแสลมแรงทำให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง น้ำทะเลทะลักเอ่อท่วมในเขตชั้นในของเมือง

เว็บส์เตอร์และทีมงานเชื่อว่า ต้นเหตุของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับรัฐเซาท์แคโรไลนามาจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเพิ่มระดับความรุนแรงมาตลอด แต่หากยังต้องการอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ ก็ต้องหาทางรับมือกับภัยพิบัติให้ได้

“เว็บส์เตอร์” เกาะติดข้อมูลพยากรณ์อากาศของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา เตรียมความพร้อมในการใช้เครื่องมือทำนายเส้นทางพายุ คำนวณหาจุดที่คาดว่ามีกระแสน้ำหลากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน จัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือกู้ภัยฉุกเฉิน รวมถึงหาวิธีการผันน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนให้ได้เร็วที่สุด

ไม่เพียงวางแผนเตรียมรับมือภัยพิบัติเฉพาะหน้า หากยังเสนอแนวทางป้องกันภัยพิบัติให้ผู้บริหารของรัฐเซาท์แคโรไลนาตัดสินใจด้วย

 

ทีมงานของเว็บส์เตอร์สำรวจพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้างขวางเส้นทางน้ำหลาก และเส้นทางที่ระบายน้ำออกจากชุมชนได้รวดเร็วที่สุด และแหล่งน้ำที่สามารถรับน้ำหลากได้มากที่สุด

จุดไหนมีบ้านเรือนปลูกสร้างขวางทางน้ำ ทางผู้บริหารของเคาน์ตี้เร่งตัดสินใจขอซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยเร็ว

“การซื้อคืนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในเส้นทางน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางคนปลูกบ้านอยู่อาศัยมานานแล้ว มักจะไม่เชื่อว่ามีน้ำท่วมใหญ่ เพราะในอดีตไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน ในครั้งแรกที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ พวกเขาไม่ยอมย้ายถิ่น แต่เมื่อเจอซ้ำอีกรอบ คราวนี้ยอมขายบ้าน ขายที่ดินให้เลย” เว็บส์เตอร์บอก

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 พายุเฮอร์ริเคนแมทธิวก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างพัดเข้าสู่หมู่เกาะไฮติ คิวบาและบาฮามา เพิ่มกำลังแรงเป็นระดับที่ 4 มีความเร็วลมเฉลี่ย 209-251 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเสียหายอย่างหนักแล้วทวีความแรงขึ้นเป็นระดับ 5 ในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง

เมื่อพัดเข้าฝั่งเซาท์แคโรไลนา “แมทธิว” ลดความเร็วเหลือระดับที่ 1 แต่ชาวแคโรไลนาเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่

เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้อพยพออกห่างจากชายฝั่งราวๆ 24 กิโลเมตร ผลของการคาดการณ์จากข้อมูลที่แม่นยำและการเตรียมพร้อมรับมือที่จริงจังทำให้เกิดความสูญเสียน้อยมาก

เดือนกันยายนปีที่แล้ว พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ พัดผ่านรัฐเซาท์แคโรไลนา ชาวเมืองได้รับการเตือนภัยและมีการฝึกรับมือจนมีความพร้อมเต็มอัตราจึงทำให้เกิดความสูญเสียน้อยมากกว่าที่คาด

 

นอกจากระดับความรุนแรงของพายุเฮอร์ริเคนแล้ว นักวิทยาศาสตร์อเมริกันแสดงความกังวลอีกว่า พายุทอร์นาโดก่อตัวในช่วงปัจจุบันนี้จะมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น และเปลี่ยนเส้นทางพัดผ่านอีกด้วย

ปกติแล้วพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นแถบตอนเหนือของรัฐเท็กซัส โอกลาโฮมา เนบราสกา แคนซัส

แต่เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เส้นทางทอร์นาโดเคลื่อนไปทางตะวันออกแถวรัฐอลาบามาและจอร์เจีย

ระดับความเร็วลมสูงถึง 273 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศ ทำให้พายุทอร์นาโด เฮอร์ริเคนและฝนตกหนัก ฟ้าคะนองอย่างแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐถี่ขึ้นกว่าอดีต

ชาวอเมริกันจึงต้องปรับตัวเตรียมแผนรับมือเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากภัยพิบัติ

คำถามย้อนกลับมาที่บ้านเรา มีแผนเตรียมรับมือวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่ชัดๆ และทำได้จริงในวันที่เหตุการณ์ร้ายๆ มาถึงแล้วหรือยัง?