หนังม้วนเก่า ที่นำมาฉายใหม่ “กำกัด-กำจัด-ขจัด” “5 ย.” โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————————

“กำกัด-กำจัด-ขจัด” “5 ย.”

————————-

ใครที่ผ่านตา “เสาร์ประชาชื่น”มติชน ฉบับวันเสาร์ 20 เมษายน 2562 ที่นำเสนอสกู๊ป

“อีกจุดปะทะ ใหม่-เก่า/สังคมใช้ พี่-ป้า-น้า-อา/สนั่นแนวรบการเมือง”

โดย สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

อยาก แนะนำกลับไปให้อ่าน

อ่านเพื่อที่จะเข้าใจ ประเด็นร้อนระอุ “พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา”

ซึ่งเป็นหนี่งในประเด็นละเอียด อ่อน ที่ จะ”กำกัด-กำจัด-ขจัด”นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ อย่างเลยเถิด หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวมาจากคำให้สัมภาษณ์ ของนายธนาธร ที่ไม่อยากให้ ใช้คำว่า “พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา” ในการขับเคลื่อนพรรคการเมือง

เพื่อยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยม กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน

ใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉันก็เพียงพอแล้ว

คำสัมภาษณ์ดังกล่าว ถูกฝ่ายที่ไม่ชอบ นายธนาธร-พรรคอนาคตใหม่ นำไป”บิดขยาย” ให้ใหญ่โต

จากบริบท “พรรคการเมือง”ไปเป็น”สังคมโดยรวม”

เพื่อตอกย้ำ ให้เห็นความคิดและแนวทางปฏิบัติ “อันตราย” ของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่

ซึ่งดูเหมือน “จุดติด”

มีการวิพากษ์วิจารณ์ กันอย่างดุเดือด และขยายความขัดแย้งลงลึกสู่ประเด็นละเอียดอ่อน

จนเป็น”อันตราย”ต่อสังคมจริงๆ

ซึ่งโดยส่วนตัวไม่สบายใจนัก

ด้านหนึ่ง อาจเพราะอยู่ร่วมสมัย กับการปลุกระดม ให้ “คนเกลียดคน” มาโดยตรง

ย้อนไป สมัยเป็นเด็กบ้านนอก อยู่ภาคอีสาน

เคยถูกเกณฑ์จากโรงเรียน ให้ไปเดินพาเหรดรอบเมือง

ตะเบ็งเสียงร้องเพลง “หนักแผ่นดิน”ให้กระหึ่มไปแทบทุกตารางนิ้วของถนนที่”ตบเท้า”ผ่านไป

เพลงหนักแผ่นดินยังฝังอยู่ในหัวสมอง

จนสามารถร้องตามได้อย่างสบายหลังจากผู้นำทหาร ไล่ให้ไปฟังเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว

แรกๆก็สนุก เท่

ต่อมาก็ชักเกิดคำถามไปเพลง คนใดใช้ชื่อไทยอยู่…

และเมื่อมีผู้ชี้เป้า..

แน่นอน ก็มาจาก “ชั่วโมงอบรมพิเศษ”ของเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่แวะเวียนมาสอน ซึ่งจริงๆเป็นการ”ล้างสมอง”มากกว่าว่าใคร คือพวก หนักแผ่นดิน

จากเพลงร้องสนุกๆ กลายเป็นร้องใส่หน้า ผู้ที่ถูกกล่าวหา “หนักแผ่นดิน”

น่าเศร้า หนึ่งในนั้นคือครูของโรงเรียนเราเอง

และครูนั้นหายไปอย่างลึกลับเมื่อเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519

พร้อมๆกับเพลงหนักแผ่นดิน

เราได้ฟังนิยาย(ถล่ม)ฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะที่เป็นนิสิตนักศึกษา 5 ย. กางเกงยีนส์ ผมยาว รองเท้ายาง และสะพายย่าม’ ด้วยน้ำเสียง เยาะเย้ยถากถาง

ว่าพวกนี้ มีความคิดอันตราย นอกจากจะทำลาย สถาบันหลักของชาติแล้ว

ยังมุ่งทำลายล้างสถาบันครอบครัว

โดยพยายามเรียกร้องความเสมอภาค กล้าต่อร้องต่อเถียง ไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่

เอาคำว่า “สหาย” กับพ่อ แม่ พี่ น้อง

แสดงถึงการไม่เคารพ ลำเลิกบุญคุณ

แล้วมีการปลุกระดม ให้เกลียดชังพวกนิสิตนักศึกษาเล่านี้ เช่นไม่ต้องหุงข้าวให้กิน ไม่ให้เงิน ไล่ไปทำงาน

อยากได้ความเท่าเทียม ก็ต้องเจอการแก้เผ็ดเช่นนี้

จากเรื่องสนุก นำไปสู่การแดกดัน และที่สุดก็เกลียดชังกันจากคนไทยด้วยกันเอง

จน”ตกขอบ”ไปอยู่ในจุดที่โหดร้ายสุดนั่นคือ

…ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

นี่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

และในหลายภาคส่วนนั้น คือประสบการณ์ตรง ซึ่งก็ยอมรับว่า ในช่วงชั้น-อายุนั้น

เราคือฝ่ายตะโกน”หนักแผ่นดิน”ใส่หน้าคนอื่น

เมื่อโตขึ้น อายุมากขึ้น แก่ขึ้น รับรู้อะไรมากขึ้น

รู้สึกละอายกับสิ่งที่ทำ

และไม่อยาก ให้เกิดขึ้นอีก

จึงอดเกิดคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่า กระแส “พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา”

คือหนังม้วนเก่า ที่นำมาฉายใหม่ เพียงเพื่อ ที่จะ” กำกัด-กำจัด-ขจัด””ศัตรูที่หวาดกลัวหรือเปล่า

——————–