ในประเทศ : กกต.ร้องหา “ตัวช่วย” ยื่นศาล รธน.ตีความ ผ่าทางตัน-สูตร ส.ส. เปลี่ยนเกมตั้งรัฐบาล?

เลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านมาใกล้ครบ 1 เดือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมจนแทบหมดสภาพการทำหน้าที่

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมีแต่ข้อกังขาถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมและความเที่ยงธรรม

เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต การนับคะแนนซึ่งใช้เวลาถึง 4 วัน ตัวเลขผู้ใช้สิทธิที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน การเกิดบัตรเขย่ง ฯลฯ และล่าสุดกรณีสูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือน กกต.ชุดปัจจุบันยังคงแสดงออกถึงความมั่นใจในตัวเองเต็มเปี่ยมว่าได้ปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากเข้าแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกับประชาชนที่ร่วมรณรงค์เข้าชื่อถอดถอนผ่านทางเว็บไซต์ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

ว่าการคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้ครบ 150 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ตามแนวทางของ กกต.

ซึ่งอาจทำให้บางพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ 1 คน ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน จะดำเนินการได้หรือไม่

และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

 

ทั้งนี้ ภายหลัง กกต.เปิดเผยผลเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและคะแนนรวมของแต่ละพรรคครบร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม

ก็ได้มีการเผยแพร่สูตรวิธีคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อผ่านสื่อมวลชนอย่างน้อย 2 แบบหลักๆ ด้วยกัน

สูตรแรก จากนักวิชาการ นักกฎหมายและนักคณิตศาสตร์ชื่อดังหลายคน คำนวณอย่างตรงไปตรงมาตามวิธีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128

ผลลัพธ์ตามสูตรนี้ จะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 พรรค ที่ได้คะแนนรวมสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.พึงมี 1 คน หรือ 7.1 หมื่นคะแนน โดยไม่รวม 2 พรรคคือเพื่อไทยกับประชาชาติ ที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต สูงกว่าหรือเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมีได้แล้ว

ในจำนวน 16 พรรค 500 ที่นั่ง เมื่อแยกแยะสายพันธุ์ จะพบว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้ ส.ส.รวมกันเกินครึ่ง คือ 253 ที่นั่ง แบ่งเป็น เพื่อไทย 137 อนาคตใหม่ 87 เสรีรวมไทย 11 เศรษฐกิจใหม่ 6 ประชาชาติ 6 เพื่อชาติ 5 และพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง

ขณะที่สูตรวิธีคำนวณฉบับของ กกต.ซึ่งเห็นตรงกับอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และเป็นสูตรที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

เป็นการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมือง 25 พรรค

โดยในจำนวนนี้มากกว่า 10 พรรคมีคะแนนรวมน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.พึงมี 1 คน คือตั้งแต่ 6.9 หมื่นคะแนน ลงไปจนถึง 3.3 หมื่นคะแนน

ด้วยสูตรวิธีคำนวณของ กกต. ประเด็นสำคัญอยู่ตรงพรรคอนาคตใหม่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเก้าอี้ว่าที่ ส.ส.จะลดลงไปจาก 87 ที่นั่งตามสูตรแรก เหลือเพียง 80 ที่นั่ง

อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในซีกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลัก ทำให้รวมกันแล้วได้ไม่ถึง 250 เสียง

ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นศูนย์กลาง ได้จำนวน ส.ส.จากพรรคขนาดเล็กเข้ามาเติมมากกว่า 10 ที่นั่ง รวมกันแล้วเกิน 250 เสียง

ทำให้เกมจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนมือทันที

 

การที่ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สอดคล้องกับรายงานข่าวจากฝั่งพลังประชารัฐว่า จากการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคโดยใช้สูตรใกล้เคียงกับสูตรของ กกต.

ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถคาดการณ์ตัวเลข ส.ส. เดินหน้าทาบทามพรรคเล็กต่างๆ กระทั่งสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 251 มากกว่าทางฝั่งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่แล้ว

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ความพยายามของ กกต.ในการ “เลี่ยงบาลี” สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดข้อครหาว่ามีเจตนาจะลดเสียงฝ่ายหนึ่ง ไปเติมให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง

กระทั่งถูกโต้แย้งจากนักวิชาการ นักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ นักการเมืองและประชาชนทั่วไปจำนวนมาก

โดยกลุ่มคนเหล่านี้เห็นว่า การจัดสรรเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งให้กับพรรคขนาดเล็ก ที่ได้คะแนนรวมต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.ที่จะพึงมีอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(5) ที่เขียนไว้ชัดเจน

“ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)”

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. เคยเตือน กกต.ชุดปัจจุบัน ให้ระวังเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจเป็น”จุดตาย” ทำให้มีการฟ้องร้อง นำไปสู่การถอดถอนและความผิดทางอาญา

เพราะหากพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนพรรคการเมืองใดให้ชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

จะตรงกับข้อหาที่อดีต กกต.บางชุดเคยโดนมาก่อนคือ กระทำการเพื่อให้เกิดความได้เปรียบของพรรคการเมืองหนึ่งให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ผลคือถูกศาลตัดสินจำคุก

 

นอกจากข้ออ้างเรื่อง “ทางตัน”

การนำเอาเรื่องที่ กกต.ในอดีตเคยต้องโทษจำคุกขึ้นมาพูดถึง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งหรืออาจเป็นสาเหตุหลัก ทำให้ กกต.หวาดหวั่น ต้องพยายามหา “ตัวช่วย”

ด้วยการตัดสินใจยื่นสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อฉบับของตนเองไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อความมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วชะตากรรมของตนจะไม่ซ้ำรอยอดีต กกต.บางชุด

ประเด็นนี้ แม้แต่คนในพรรคพลังประชารัฐก็ยอมรับและสนับสนุนว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเรื่องดี เพราะคำวินิจฉัยของศาลจะถือเป็นที่สุดตามกฎหมาย และสร้างความมั่นใจให้ กกต.เดินหน้าต่อได้

เมื่อ กกต.ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ก็ต้องรอดูว่าผลจะออกมาแนวไหน อย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับไว้วินิจฉัย เพราะปัญหายังไม่เกิด

หรืออาจไม่รับ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ กกต. ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ได้กำหนดวิธีคิดไว้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องตีความอีก ซึ่งหากออกมาแนวนี้ กกต.ก็ต้องแบกรับแรงกดดันจากสังคมฝ่ายเดียวต่อไป

หรืออีกทางหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยตีความออกมา

ซึ่งก็จะเป็นผลดีในแง่ทำให้ได้ข้อยุติเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรมกับพรรคการเมืองและประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ควรเป็นอย่างไร

เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องกันในภายหลัง และเพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่กลับไปสู่วังวนแห่งความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนตลอดห้วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา