ต่างประเทศ : อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีเชื่อมโลกที่กำลังแตกเป็นเสี่ยง


12 มีนาคมที่ผ่านมาโลกฉลองครบรอบ 30 ปี “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” หนึ่งในนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกมากที่สุดแห่งยุค ย่อโลกให้แคบลงและให้ความหมายของคำว่า “โลกาภิวัตน์” ที่ชัดเจน

ทว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการออกฎหมายควบคุมเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์ในหลายประเทศกำลังทำลายอินเตอร์เน็ตที่เรารู้จักอยู่หรือไม่?

ความกังวลดังกล่าวเป็นที่มาของการกล่าวถึง “สปลิตเตอร์เน็ต” ในความหมายของการแตกออกของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คำนี้ผ่านหูผู้คนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี นับตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศปิดกั้นบริการจากชาติตะวันตกด้วย “เกรตไฟร์วอล” มีเหตุผลหลักมาจากเรื่องทาง “การเมือง”

“สปลิตเตอร์เน็ต” ถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในยุคที่การก่อการร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลก ล่าสุดเหตุการณ์มือปืนลัทธิคลั่งคนขาวบุกกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก กระตุ้นให้หลายประเทศมองเห็นถึงความเร่งด่วนในการจำกัดเนื้อหาในโลกออนไลน์

ล่าสุด “ออสเตรเลีย” ผ่านกฎหมายที่สามารถตัดสินโทษจำคุกผู้บริหารโซเชียลมีเดียได้ ในกรณีที่ไม่สามารถนำเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดสุดโต่งออกจากระบบได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ใน “อังกฤษ” เองก็มีการเสนอร่างกฎหมาย ที่จะทำให้ผู้บริหารสื่อโซเชียลจะต้องรับผิดชอบ หากมีเนื้อหาที่เป็นอันตรายถูกโพสต์ลงในแพลตฟอร์มนั้นๆ เช่นเดียวกับใน “สหรัฐอเมริกา” ที่กำลังถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

 

แนวโน้มที่ว่า เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ประธานผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์อันดับหนึ่งของโลก เรียกร้องให้มีกฎข้อบังคับอินเตอร์เน็ตที่เป็น “กรอบการทำงานร่วมกันทั่วโลก” ขึ้น

ล่าสุดจากข้อมูลของ “ฟรีด้อมเฮาส์” องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีประเทศอย่างน้อย 17 ประเทศทั่วโลกในเวลานี้ที่บังคับใช้ หรือกำลังร่างกฎหมายควบคุมสื่อออนไลน์ ในจำนวนนี้ 13 ประเทศมีกฎลงโทษผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ในจำนวนนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

อาร์. เดวิด อีเอลแมน อดีตที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีทำเนียบขาว หัวหน้าโครงการเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และความมั่นคงแห่งชาติ ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าการเสนอร่างกฎหมายของอังกฤษทำให้ประเทศประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิเสรีภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งถูกมองในแง่ลบ

นอกจากชาติในตะวันตกที่เริ่มมีเทรนด์ในการควบคุมเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตแล้ว ประเทศอย่างสิงคโปร์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กับกฎหมายจัดการกับ “ข่าวปลอม” ที่เพิ่งบังคับใช้หมาดๆ เช่นกัน

แดเนียล บาสตาร์ด จากองค์กรเฝ้าระวังสื่ออย่างองค์กร “นักข่าวไร้พรมแดน” ระบุว่า กฎหมายของสิงคโปร์นั้นเป็นเพียงม่านบางๆ ที่ปกปิดความพยายามในการปิดกั้นสื่อของรัฐบาล

“ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาตัดสินโดยพลการว่าอะไรจริงหรืออะไรเท็จ” บาสตาร์ดระบุ และว่า กฎหมายคุมเบ็ดเสร็จดังกล่าวเหมือนกับการตั้ง “กระทรวงแห่งความจริง” ไม่ผิดเพี้ยน

นอกจากการควบคุมเนื้อหาออนไลน์แล้ว ยังมีความกังวลเกี่ยวกับวิธีการที่เรียกว่า “ดาต้า โลคอไลเซชั่น” หรือการเก็บข้อมูลให้อยู่ในพื้นที่หรือประเทศที่ข้อมูลดังกล่าวถือกำเนิดขึ้น

วิธีการซึ่งเกิดขึ้นแล้วในประเทศอย่าง “อินเดีย” รวมถึง “บราซิล”

 

มิลตัน มุลเลอร์ ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย และผู้ร่วมก่อตั้งอินเตอร์เน็ต กัฟเวอร์แนนซ์ โปรเจ็กต์ (ไอจีพี) ระบุว่าปัจจุบันมีประเทศที่พยายามกั้นอาณาเขตการไหลของข้อมูลและควบคุมบริการเหล่านั้นเอาไว้มากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นเป็นส่วนหนึ่งของการสปลิตเตอร์เน็ต ที่จะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน

มุลเลอร์ระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวสวนทางกับการข้ามพรมแดนของอินเตอร์เน็ตในยุคเริ่มต้นที่กลายเป็นนวัตกรรมให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้อย่างเสรี

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ดาต้า โลคอไลเซชั่นนั้นเริ่มเป็นที่สนใจนำไปใช้กันมากขึ้นหลังจาก “เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน” นักเคลื่อนไหว อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) ออกมาแฉนโยบายการสอดส่อง ที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกันเมื่อปี 2013

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฉันทามติของโลกในเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เคยมีมาถูกทำลายลง และทำให้รัฐบาลบางประเทศใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินนโยบายควบคุมและสอดส่องเนื้อหาในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น

อามี เว็บบ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้ก่อตั้งสถาบันฟิวเจอร์ทูเดย์ ระบุว่า ผลกระทบของสปลิตเตอร์เน็ต รวมไปถึงดาต้า โลคอไลเซชั่นนั้นจะส่งผลกระทบให้ทำธรุกิจได้ยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในหลายประเทศ

เว็บบ์ยกตัวอย่างถึงความพยายามของรัฐบาลออสเตรเลียในการควบคุมเนื้อหาด้วยการขอสิทธิเข้าถึงอุปกรณ์ที่ถูกเข้ารหัสเอาไว้ว่า นั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นนำธุรกิจหนีออกจากตลาดออสเตรเลียอย่างง่ายดาย

 

อย่างไรก็ตาม ด้านอิรา มากาไซเนอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บิล คลินตัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้อินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมไปทั่วโลก ยังคงมองปัญหานี้ในแง่ดี

โดยยังคงเชื่อว่าอีกหลายๆ ประเทศจะสามารถหาทางทำให้อินเตอร์เน็ตรอดพ้นจากการแตกออกเป็นเสี่ยงได้ และว่า ประเทศที่ตัดขาดข้อมูลออกไปนั้นจะได้รับผลเสียมากกว่า

มากาไซเนอร์ยืนยันว่า หากอินเตอร์เน็ตนั้นยังคงมีข้อได้เปรียบที่มากพอ

โลกก็จะยังคงถูกเชื่อมโยงเอาไว้ด้วยกันได้