ศัลยา ประชาชาติ : สมคิด-อาคม เคลียร์บัญชีลงทุน เข็นบิ๊กโปรเจ็กต์ข้าม 2 รัฐบาล ฝ่าสุญญากาศการเมือง

การเมืองไทยยังอยู่ใน “ศึกสามก๊ก”

ทั้งก๊กพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่อ้างเป็นพรรคแนวร่วมประชาธิปไตย

ก๊กพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกผลักเป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจ

และก๊กพรรค “ขั้วตัวแปร” มีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนอยู่กับที่ รอชี้ขาดให้ขั้วใด-ขั้วหนึ่ง พลิกจัดตั้งรัฐบาล

“ทุกพรรค คือขั้วตัวแปร ทุกเสียงมีความหมาย พรรคที่ได้ประโยชน์คือพรรคขนาดกลาง พรรคสะวิงโหวต พรรคตัวแปร” คือรหัสการเมืองที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เงาของผู้จัดการรัฐบาล ส่งสัญญาณถึงทุกฝ่าย

“ตอนนี้ทุกคนต้องอยู่ในความสงบ เสียงของทุกพรรคคาดเดาได้อยู่แล้ว รอดูความชัดเจน แต่ไม่ว่าใครเข้ามาก็อยากให้ทำงานสานต่อ” คือคีย์เวิร์ดหลังผลการเลือกตั้ง-อย่างไม่เป็นทางการ

พรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ยังอยู่ในสูตรการเมืองคณิตคิดในใจของว่าที่แกนนำรัฐบาล

เพราะนักการเมืองที่เก๋าเกมฉลาดพอที่จะยังไม่แสดงตัวชัดเจน จนกว่าจะมั่นใจในข้อเสนอที่ดีที่สุด ทำให้หัวหน้าพรรค “อนุทิน ชาญวีรกูล” ถูกดีลทั้งที่ลับ-ที่แจ้ง ได้รับข้อเสนอสารพัด ข่าวที่ปล่อยออกมามีถึง 3 ตำแหน่ง ทั้งนายกรัฐมนตรี-ประธานสภา และว่าที่ รมว.กระทรวงคมนาคม

สมคิด-คิดว่า “เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะบริหารงานได้อย่างไร เพราะไม่สามารถมีเสียงพอที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลหลายๆ พรรคก็ผ่านงบประมาณได้ รวบรวมเสียงได้รัฐบาลก็มีเงินใช้ แต่จะเดินหน้ายังไงอีกเรื่องหนึ่ง”

กระดานหุ้น ส.ส.ยังคงขึ้น-ลง ตามกระแสสะวิงของการจัดขั้วรัฐบาลที่ยังพลิกไป-มา

“นักการเมืองก่อนหน้าเลือกตั้งอย่างหนึ่ง พอได้แล้วก็อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็ต้องจบลงที่การพูดคุย วัฒนธรรมของโลกการเมืองคือการต่อรอง ไม่ต่อรองไม่ได้ คนจะเป็นนายกฯ ต้องไหว หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ขึ้นอยู่กับดวงของประเทศ”

 

เมื่อทั้ง 3 ก๊กยังครอบครองเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง “สมคิด” จึงยังไม่กล้าคำนวณ “ตอนจบ”

นอกจากบททดสอบ “ผู้จัดการรัฐบาล” แล้ว “สมคิด” ยังถูกท้าทายฝีมือการบริหารเศรษฐกิจช่วง “สุญญากาศ” 3 เดือนหลังจากนี้เป็นอย่างน้อย หรือจนกว่าจะมี “รัฐบาลใหม่” ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเมื่อไร เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจึงต้องเดินหน้าทั้งโกยรายได้เข้าประเทศผ่านการท่องเที่ยว-ปลุกนักลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้ “รัฐบาลต่อเนื่อง”

“ช่วงนี้การท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสามารถทำให้การท่องเที่ยวประคองเศรษฐกิจไปได้ตลอด จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจไทย เพราะขณะนี้ทุกคนกำลังเฝ้ารอความชัดเจนทางการเมืองกันทั้งนั้น บางสิ่งบางอย่างอาจจะชะลอไปบ้าง แต่ถ้าได้เรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาก็จะช่วยได้”

สมคิด-ให้นโยบาย “ครึ่งปีของปีนี้ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกคนร่วมกัน เพื่อพยายามให้งานต่างๆ เดินไปข้างหน้า อย่าได้ชะลอ”

ทั้งขู่-ทั้งปลอบ “เป็นเรื่องปกติของนักลงทุน เมื่อไหร่มีการเลือกตั้ง เขาก็ต้องรอดูความชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องแสดงออกด้วยความสงบเรียบร้อย อย่าให้เกิดความกังวล เพราะจะกระทบถึงความเชื่อมั่น”

“การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการไปแล้วต้องเดินต่อไป ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 รถไฟทางคู่มาบกะเบา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีอีซีไม่มีชะลอ ขอความร่วมมือกับข้าราชการไปแล้ว ไม่งั้นมันก็ไม่ออก ไม่ออก ชะลอไม่ได้”

 

สถานะประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจช่วงรอยต่อ 2 รัฐบาล วาระงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งปกติต้องเข้าสภาในเดือนพฤษภาคม คงต้องชะลอไปก่อน แต่วงจรการเบิก-จ่ายสามารถใช้ได้ในเดือนตุลาคมตามปกติ รัฐบาลยังสามารถใช้งบฯ ประจำได้ ส่วนงบฯ ลงทุนให้เบิกจ่ายเป็นงบฯ เหลื่อมปี กว่าจะได้รัฐบาลใหม่ก็เดือนมิถุนายน

รัฐบาลจึงต้องเตรียมวาระสำคัญ “ประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม สำคัญมาก ทุกอย่างต้องเรียบร้อย หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิต เดือนเมษายน-มิถุนายน 3 เดือนนี้จึงมีความสำคัญและท้าทาย

ดังนั้น ความชัดเจนทางการเมืองต้องรออีกสักพัก ต้องสงบเรียบร้อย”

 

1ในเดิมพันการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่พ้นกระทรวงคมนาคม ที่มีเมนูลงทุน 1.29 ล้านล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาบเส้น 2 รัฐบาลว่า กระทรวงที่มีเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางบก ระบบราง น้ำและอากาศ ในระยะเวลา 8 ปี (2558-2565) ปัจจุบันมีโครงการต้องเร่งผลักดัน 21 โครงการ กว่า 1.29 ล้านล้านบาท

“เวลารัฐบาลที่ยังเหลืออยู่ไม่มาก จะพยายามเสนอโครงการที่พร้อมจะดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มากที่สุด เตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ เป็นโครงการที่ประชาชนรอคอยกันมานาน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องการ ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ”

แน่อนที่สุดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางอยู่ในโผโครงการที่ต้องเร่งรัด “ที่ผ่านมาได้ผลักดันแล้ว 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท พยายามเร่งให้จบโดยเร็วเพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบและเซ็นสัญญาก่อสร้างต่อไป”

ส่วนรถไฟไทย-จีนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 179,412 ล้านบาท กำลังทยอยเปิดประมูลงานโยธาให้เสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

รถไฟไทย-ญี่ปุ่น สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน 211 ก.ม. เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอบอร์ด PPP อนุมัติโครงการ ขณะที่สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 ก.ม. วงเงิน 508,637 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจากับญี่ปุ่นเพิ่มเติม โดยฝ่ายไทยยังยืนยันว่า ต้องการให้ญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนรูปแบบ G to G และร่วมกันรับผิดชอบ

เศรษฐกิจ-การลงทุน และการต่อรองทางการเมืองกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเข้มข้น บนรอยต่อ 2 รัฐบาล