เทศมองไทย : “สงกรานต์” ไม่ได้มีแค่เมืองไทย

ชาวกัมพูชาสาดน้ำใส่กันฉลองปีใหม่ของกัมพูชาในกรุงพนมเปญ เมื่อ 15 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา /เอเอฟพี

สงกรานต์ในเมืองไทยเป็น “วอเตอร์บอมบ์” กับ “สงครามแป้ง” ที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกก็จริง

แต่เทศกาลสงกรานต์ไม่ได้มีแค่เพียงในเมืองไทย ในลาว กัมพูชา แล้วก็พม่าหรือเมียนมา ล้วนฉลองสงกรานต์ ที่ถือเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของตนเองด้วยกันทั้งนั้น

ถึงจะไม่เรียกสงกรานต์เหมือนกันก็ตามที

เพื่อนบ้านของไทยโดยรอบฉลองปีใหม่ในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทั้งหมด อย่างเช่นในกัมพูชา เทศกาลปีใหม่ของที่นั่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ไปจบเอาในวันที่ 16 เมษายน

ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับในเมืองไทย

 

ถ้าเราไปไหนมาไหนในช่วงเทศกาลปีใหม่กัมพูชา คำพูดที่ได้ยินกันบ่อยมากที่สุดคือ “สุสะเดย์ ชนัม ทเมย” ที่เป็นคำอวยพรให้มีความสุขในการใช้ชีวิตตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นปี

ที่คล้ายคลึงกับประเพณีไทยอีกอย่างคือการตักบาตร ทำบุญ สร้างกุศล อุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้คนที่ล่วงลับไปแล้ว

และเป็นเทศกาลสำหรับเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนในต่างจังหวัด เพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวเช่นเดียวกัน

ปีใหม่ในกัมพูชายังเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองต่อเนื่องกันทั้ง 3 วัน ในย่านชนบทมักมีการจัดงานรื่นเริงเป็นจุดๆ เครื่องดื่มประเภทเหล้าเบียร์ ข้าวปลาอาหาร ขายดีเป็นพิเศษในช่วงนี้

ในหลายพื้นที่ยังมีการละเล่นที่นิยมเล่นกันแต่ดั้งเดิมในเทศกาลปีใหม่ให้เห็นอยู่ อย่างเช่น การเล่น “เตรส์ จอง แกร์” ที่วิธีเล่นคล้ายๆ กับหมากเก็บในบ้านเรา แต่แทนที่จะใช้ลูกหินหรือลูกแก้ว กลับใช้ลูกบอล (หาลูกบอลไม่ได้ ใช้มะนาวแทน) โยนขึ้นไปแล้วเก็บแท่งไม้หรือตะเกียบที่วางพิงอยู่กับกิ่งไม้แทน

ทำนองเดียวกับการละเล่นที่เรียกว่า “ชับ กอน เคลง” ที่ผู้เล่นคนหนึ่งจะถูกเปรียบเสมือนแม่ไก่ ปกป้องฝูงลูกไก่ ในขณะที่ผู้เล่นอีกคนเล่นเป็นอีกา พยายามจับลูกๆ ของแม่ไก่ไปเป็นอาหาร เป็นต้น

ในช่วงเทศกาลปีใหม่กัมพูชา พนมเปญจะเงียบเหงาผิดกว่าปกติ ร้านรวง ภัตตาคารปิดเงียบ ปล่อยให้พนักงานกลับบ้านเกิด รถราไม่ถึงกับติดขัดเหมือนเมืองไทยเพราะที่นั่นอาศัยรถโดยสารเป็นหลัก แล้วก็ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงกว่าปกติเล็กน้อยในช่วงเทศกาลเช่นนี้

เมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในกัมพูชาช่วงเทศกาลปีใหม่ เห็นจะเป็นเสียมเรียบ หรือเสียมราฐ ที่จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองกันเต็มที่ เรียกกันว่า “อังกอร์ สังกรานตะ เฟสติวัล”

เพียบพร้อมทั้งอาหาร ดนตรี การละเล่น แล้วก็พิธีกรรมและความสนุกสนานฉลองการเริ่มต้นปี

 

เทศกาลปีใหม่ในลาวเริ่มต้นวันที่ 14 เมษายน ไปจบวันที่ 16 เมษายนเช่นเดียวกัน ชาวลาวถือวาระขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเวลาสำหรับเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือนให้เอี่ยมอ่อง ก่อนสวมเสื้อใหม่ผ้าใหม่ออกไปทำบุญ สรงน้ำพระด้วยเครื่องหอม เสร็จแล้วจึงเป็นการเล่นสาดน้ำ เพื่อดับร้อนในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี

คติที่น่าสนใจคือ คนลาวจะถือว่าวันที่ 15 หรือวันที่สองของเทศกาลปีใหม่ เป็นวันที่ไม่นับเป็นวัน คือเป็นวันที่ไม่ได้เป็นวันของปีเก่าแล้วก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปีใหม่ การทำความสะอาดบ้านเรือนจะทำกันในวันนี้

ผู้เฒ่าผู้แก่มักตักเตือนลูกหลานอยู่บ่อยๆ ว่า ห้ามงีบหลับกลางวันในวันที่ 2 ของเทศกาล เพราะจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า อีกปีข้างหน้าจะเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเอง

ปีใหม่ในลาวที่มีสีสันที่สุดเห็นจะเป็นที่หลวงพระบาง เพราะไม่เพียงมีการเฉลิมฉลองกันสนุกสนาน ยังมีการจัดขบวนแห่ “พระบาง” ตามประเพณีไปตามท้องถนนบน “ม้าทองคำ” ที่ประดับประดาอย่างเต็มที่ บริเวณหาดทรายริมโขง มักมีการก่อเจดีย์ทราย ผูกธงทิวหลากสี นัยว่าเพื่อเป็นเครื่องขับไล่วิญญาณร้าย ตกย่ำค่ำจะมีขบวนร่ายรำตามประเพณีเดิมไปตามท้องถนนอีกด้วย

ที่ขาดไม่ได้ย่อมเป็น “เทพีปีใหม่” ที่จะเลือกสรรสาวงามหนึ่งเดียวไว้ในแต่ละปี

ในเวียงจันทน์ มีขบวนพาเหรดเปี่ยมสีสันสดใสเช่นเดียวกัน ศูนย์กลางของเทศกาลอยู่ที่พระธาตุหลวง ที่จะมีการสรงน้ำพระถวายพวงมาลัยมะลิหรือดาวเรือง พร้อมเครื่องหอม ก่อนฝรั่งต่างชาติกับคนท้องถิ่นจะเล่นสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน

 

ในเมียนมา เทศกาลสงกรานต์ที่ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ของที่นั่นเรียกว่า “ถิงยาน” เป็นคำภาษาพม่า (เบอร์มีส) หมายถึงการเปลี่ยนใหม่ ถือเป็นเทศกาลสำหรับการสวดภาวนา ตักบาตรทำบุญตามวิหารวัดวาอาราม และเล่นสาดน้ำกัน

ชาวพม่าฉลองสงกรานต์หรือเทศกาลปีใหม่กันด้วยขบวนแห่ และของกินเฉพาะเทศกาล อาทิ ข้าวเหนียวปั้นคลุกมะพร้าวขูด ขนมปังเยลลี่ และข้าวเหนียวราดกะทิหวาน

หลังจากนั้นก็มีการเฉลิมฉลองด้วยเสียงเพลงและปาร์ตี้ เช่นเดียวกัน

เมืองที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวในเทศกาลปีใหม่เมียนมา คือย่างกุ้งกับมัณฑะเลย์ ที่มักมีการประกวดขบวนพาเหรดของแต่ละชุมชน

สลับกับการร่ายรำและดนตรีพื้นเมือง

ว่ากันว่าประเพณีปีใหม่ในช่วงสงกรานต์ใน 4 ประเทศนี้ ที่เมียนมาดูจะเคร่งครัดมากที่สุด รักษาประเพณีดั้งเดิมกันจนถึงการแต่งเนื้อแต่งตัวเลยทีเดียว

ส่วนที่ฉลองกัน “หลุดโลก” มากที่สุด ไม่ใช่ใครอื่น สงกรานต์ของไทยเรานี่เองครับ