จรัญ พงษ์จีน : ต่อลมหายใจ “ทีวีดิจิตอล” ด้วย ม.44 แก้อาการปรับตัวไม่ทันด้วยอนาล็อก?

จรัญ พงษ์จีน

คําสั่ง คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนหน้าเทศกาลสงกรานต์เพียงวันเดียว สร้างความโล่งอกโล่งใจให้กับอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มทีวีดิจิตอลและกลุ่มสื่อสารเป็นอย่างมาก

คงจำกันได้ว่า กลุ่มทีวีดิจิตอลเจอพิษ “ดิจิตอล ดิสรัปชั่น” หรือความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างฉับพลันรุมกระหน่ำจนเอียงกระเท่เร่มาหลายปี

นับตั้งแต่เข้าประมูลซื้อใบอนุญาตจาก กสทช.เมื่อปี 2556 จำนวน 24 ช่อง เป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่นับช่องทีวีพูลของเจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย ที่ล้มพับไปตั้งแต่ปีแรก ปรากฏว่าทีวีดิจิตอลประสบภาวะขาดทุนมากถึง 18 ช่อง มีแค่ 3 ช่องเอาตัวรอดพอมีกำไรมั่ง

ก่อนหน้านี้ คสช.เคยออกมาตรา 44 ให้กลุ่มทีวีดิจิตอลหยุดจ่ายหนี้ชั่วคราว แต่ไม่จบ ปัญหายังรุมเร้าไม่เลิก

กลุ่มคนดูหน้าจอทีวีน้อยลง บริษัทโฆษณาโยกงบฯ ไปใช้ในแพลตฟอร์มใหม่ๆ ผ่านทางมือถือ จอคอมพิวเตอร์

อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลดิ้นสุดฤทธิ์ทั้งลดค่าใช้จ่าย ปลดพนักงาน ปรับองค์กรให้กระชับ เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ยุบเลิกรายการที่ไม่ทำรายได้

ที่สุดกลุ่มทีวีดิจิตอลจึงแก้ปัญหาด้วยการยื่นข้อเสนอไปยังหัวหน้า คสช.เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2561 ขอให้แบ่งคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ เอาไปให้ กสทช.จัดประมูลทำเป็นคลื่น 5 จี แล้วเจียดเงินค่าประมูลมาช่วยเยียวยา

 

ส่วนกลุ่มโทรคมนาคมนั้น ตั้งแต่กลุ่มทรู เอไอเอสและแจ๊สแย่งกันประมูลคลื่น 4 จี เมื่อปี 2558 จนราคาไต่สูงสุดเป็นอันดับสองของโลก เกิดความปั่นป่วนเป็นอย่างมาก เพราะผลที่ตามมาทั้งสองค่ายไม่มีเงินมาลงทุนโครงข่ายใหม่ๆ แถมยังเจอกับดักในเงื่อนไขจ่ายค่างวดสุดท้ายปี 2563 ให้ กสทช.รวมเบ็ดเสร็จ 1.28 แสนล้าน

สำหรับค่ายดีแทค โดนแรงบีบทางการตลาด ต้องจำใจยื่นประมูลคลื่น 4 จี ในราคา 4 หมื่นล้าน

ทั้งกลุ่มทรู เอไอเอส และดีแทค มองเห็นอุปสรรคข้างหน้า นั่นคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับแบงก์บานเบอะ ค่างวดใบอนุญาต และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

ทางออกสุดท้ายคือ ทั้งทรูและเอไอเอสทำหนังสือยื่นถึงหัวหน้า คสช.เมื่อเดือนกันยายน ปี 2560 ขอให้ กสทช.ช่วยยืดเวลาการจ่ายเงินค่าใบอนุญาต จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ดีแทคยื่นตามอีกราย

 

นั่นเป็นที่มาของปมปัญหาอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคม

ช่วงระยะ 2 ปี คสช.มอบหมายให้ทีม ดร.วิษณุ เครืองาม ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล เรียกผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลโทรคมนาคม หน่วยงานต่างๆ เข้าไปหารือและประมวลผลในทุกด้านว่ามีเหตุผลความจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือไม่แค่ไหน

คสช.ประเมินสถานการณ์ถ้าไม่ช่วยทั้งสองอุตสาหกรรมมีหวังล่มสลายอย่างแน่นอน เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ “ดิจิตอล ดิสรัปชั่น” รุกคืบกระหน่ำอย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าที่เห็นในปัจจุบัน

ถ้ากลุ่มทีวีดิจิตอลล้ม คนตกงานระเนระนาด สื่อกระแสหลักทรุดเสื่อม ความน่าเชื่อถือศรัทธาหดหาย

สื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นกระแสรองจะเข้าครอบงำสังคมแทน

เช่นเดียวกับกลุ่มโทรคมนาคม “คสช.” ประเมินว่าจะไม่เข้าแข่งขันประมูลคลื่น 5 จี เพราะเงินไม่มี เงินที่ใช้ลงทุนคลื่น 4 จี ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน อีกทั้งกลุ่มโทรคมนาคมมองว่าคลื่น 5 จี ไม่ได้สร้างผลกำไรเนื่องจากเป็นคลื่นที่ใช้ประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตมากกว่า

หากไทยยังไม่มีคลื่น 5 จี จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างแน่นอน กลุ่มนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีคลื่น 5 จีรองรับ อย่างเช่นมาเลเซียหรือเวียดนาม ในขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาอย่างเข้มข้น

 

เมื่อประมวลข้อมูลชุดสุดท้ายแล้ว คสช.มั่นใจการออกมาตรา 44 ล่าสุดช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิตอลและกลุ่มโทรคมนาคม รัฐไม่เสียประโยชน์

ประการแรก การยืดหนี้ รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากกลุ่มโทรคมนาคมมีเงินมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จะต้องรับเงินค่างวดที่ยืดให้ทรู เอไอเอสไปจนถึงปี 2569 และปี 2572 สำหรับดีแทค รวมถึงค่างวดใบอนุญาตใหม่

ประการที่สอง คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ของทีวีดิจิตอล เมื่อแบ่งมาจัดสรรประมูลจำนวน 45 เมกะเฮิร์ตซ์ คาดว่าจะมีราคาราวๆ 75,000 ล้านบาท เงินนำไปชดเชยให้กับทีวีดิจิตอลจำนวน 13,000 ล้านบาท รัฐได้มากกว่าเสีย

สำหรับ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เห็นคล้อยตามคำสั่ง “คสช.”

ก่อนหน้านี้ “ฐากร” ได้มอบหมายนักวิชาการของสำนักงาน กสทช.วิเคราะห์ว่า หากประเทศไทยมีคลื่น 5 จีจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ผลการวิเคราะห์พบว่า คลื่น 5 จีจะเป็นประโยชน์กับภาคการผลิตเป็นโรงงานอัจฉริยะ หรือสมาร์ต แมนูแฟ็กเจอริ่ง ภาคการเกษตรทำให้เกิดเกษตรอัจฉริยะ ภาคการแพทย์สาธารณสุขจะเป็นสมาร์ต ฮอสพิทัล และสมาร์ต โลจิสติกส์ หรือภาคการขนส่งอัจฉริยะ

นักวิเคราะห์ของ กสทช.ยังชี้อีกว่า ถ้าประเทศไทยมีคลื่น 5 จีมาใช้ตามแผน ในปี 2578 จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึง 2.3 ล้านล้านบาท

เมื่อ คสช.มีคำสั่งออกมาเช่นนี้ “ฐากร” จึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.เตรียมแผนนำคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์มาประมูลในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อใช้งานในต้นปี 2564

เมื่อถึงเวลานั้น ไทยยกระดับประเทศเป็น 1 ในอาเซียนที่ใช้คลื่น 5 จี

ในสายตาของ “ฐากร” มองว่า ม.44 ล่าสุดถือเป็นการผ่าทางตันอุตสาหกรรม “ทีวีดิจิตอล” และ “โทรคมนาคม” ผลักดันให้ไทยก้าวเดินไปข้างหน้าเท่าทันโลก