คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เล่าเรื่อง มนตร์ของพราหมณ์ : ชนิดและความหมาย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“มนตร์” (คำนี้มาจากคำสันสกฤต มนฺตฺร ซึ่งผมถนัดใช้มากกว่าคำ “มนต์” ซึ่งมาจากคำบาลี มนฺต) พจนานุกรมราชบัณฑิตท่านว่า คําศักดิ์สิทธิ์ คําสําหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์ คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์

ในอินเดีย หากใช้โดยเคร่งครัดมีความหมายถึง “บทสวดในคัมภีร์พระเวท” เท่านั้น

หากแปลโดยพยัญชนะ หมายความว่าปรึกษาหารือก็ได้ แปลว่าคำสั่งก็ได้ หรือในพวกนักมีมางสา (นักปรัชญาฮินดูสำนักหนึ่ง เน้นเรื่องพิธีกรรมและความสำคัญของพระเวท) แปลว่าคำอ้าง

แต่ความเป็นจริงทั้งอินเดียและไทยก็ใช้มนตร์โดยความหมายที่กว้างขวาง คือถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์

นักการศาสนาฮินดูมักนิยมตีความ มนฺตฺร ว่าประกอบด้วยสองคำ คือ “มน” แปลว่าใจ และ “ตฺร” มาจากราก ไตฺร เป็นกิริยาศัพท์ หมายถึงรักษา ปกป้อง

มนตร์ จึงมีความหมายอย่างสวยงามว่า “เครื่องปกป้องจิตใจ”

คือท่องบ่นไว้ย่อมช่วยรักษาปกป้องใจไม่ให้ตกต่ำหรือเศร้าหมอง

 

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการใช้มนตร์ในกิจพิธีทางศาสนาทุกรูปแบบ ที่จริงรากฐานที่มาของมนตร์ก็เหมือนกับในอุษาคเนย์หรือที่อื่นๆ ทั่วโลก คือการ “สื่อสาร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Divine Being)

ดังนั้น มนตร์จึงต้องไม่ใช่วิธีการพูดอย่างธรรมดา แต่ต้องมีทำนอง หรือเป็นลักษณะการสวดขับ (chant) ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นเพลงดนตรีภายหลัง

ในอินเดียแบ่งมนตร์อย่างง่ายที่สุดออกเป็นสองแบบ คือ มนตร์ในภาษาสันสกฤต และมนตร์ภาษาถิ่นอื่นๆ

มนตร์ในภาษาถิ่น โดยมากเป็นมนตร์ของชาวบ้านซึ่งไม่รู้สันสกฤตอันเป็นภาษาหลวง และชาวบ้านเรียนสอนกันเอง ใช้ในพิธีกรรมของชาวบ้านและเทพท้องถิ่น อาจมีสันสกฤตปนๆ เปๆ บ้างเล็กน้อย

นอกจากชาวบ้านจะใช้ภาษาถิ่นเพราะไม่รู้สันสกฤตแล้ว อีกเหตุก็เป็นเรื่องชนชั้นทางภาษาด้วย เพราะสันสกฤตนั้นหวงไว้สำหรับคนชั้นสูง ไม่ให้ชาวบ้านใช้ แม้จะไม่ได้เป็นกฎทางศาสนาหรือเป็นข้อห้าม แต่ก็ถือกันอย่างนั้นโดยเฉพาะสมัยโบราณ (ตัวละครชาวบ้านในละครสันสกฤต มักต้องพูดภาษาถิ่นเสมอ ตัวพระ นาง หรือมนตรีพูดสันสกฤตกันหมด)

และด้วยเหตุนี้จึงมีนักปราชญ์นักบุญที่พยายามแต่งคำสวดขับในภาษาถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านได้ท่องจำ นานเข้าด้วยความไพเราะ แม้แต่พราหมณ์เองก็เอาไปใช้

อย่างบท “หนุมานจาลีสา” ในภาษาอวธี (ฮินดีโบราณ) ที่ชาวอินเดียเหนือชอบมากๆ หรือ ติรุมุไร และติรุปปาไวในภาษาทมิฬของนักบุญอัณฑาลอันโด่งดังในภาคใต้ของอินเดีย

ที่สืบเนื่องมายังสยาม จนแม้ทุกวันนี้พราหมณ์สยามยังสวดขับในพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวาย

ส่วนมนตร์สันสกฤต แบ่งออกได้เป็นสี่ประเภท คือ มนตร์พระเวท (ไวทิกมนตร์), มนตร์จากปุราณะ (เปาราณิกมนตร์) มนตร์ตันตระ (ตันตริกมนตร์) และมนตร์สันสกฤตที่นักบวชนักปราชญ์ประพันธ์ขึ้นใหม่

 

นอกจากความต่างด้านที่มาแล้ว คือ มนตร์แต่ละชนิดข้างต้นมีที่มาจากคัมภีร์ต่างๆ กัน ยังมีความแตกต่างด้านความเชื่อ ศักดิ์ และวิธีการใช้ด้วย

ไวทิกมนตร์นั้น นักปราชญ์ถือว่ามีศักดิ์สูงสุด เพราะเป็นมนตร์จากพระเวท เป็นมนตร์ที่ใช้สวดท่องได้เฉพาะพราหมณ์และพวกทวิชา (วรรณะสูงทั้งสาม) เท่านั้น มีกฎเกณฑ์และระเบียบการใช้ชัดเจน

ที่สำคัญมนตร์ของพระเวทแต่ละบทนั้นกำหนดทำนองไว้เรียกว่า “สวระ” การจะท่องทำนองแบบไหนจะต้องต่อจากครูเท่านั้น เพราะแต่ละสำนักมีรายละเอียดสวระต่างกัน

สำนักเรียนที่สืบทอดทำนองอย่างนี้เรียกว่า “ศาขา” (สาขา) เช่น ครูของผมท่านเป็นพราหมณ์ศุกลยชุรเวท มาทยันธินีศาขา ซึ่งสวดในบทเดียวกันต่างจากพราหมณ์ศุกลยชุรเวท วาชสเนยิศาขา เป็นต้น

ไวทิกมนตร์มีพัฒนาการด้าน “ทำนอง” ตามแต่ละเวท นฤคเวทสวระมีเพียงเสียงสูงต่ำ ยชุรเวทเริ่มมีเสียงพิเศษ และ สามเวทกลายเป็นระบบโน้ตเจ็ดตัวอย่างเพลง

ส่วนมนตร์เปาราณิกมาจากคัมภีร์ปุราณะ คือพวกเทวตำนาน แม้จะเป็นสันสกฤตก็ไม่มีข้อห้ามเท่าไวทิก และไม่สงวนไว้สำหรับวรรณะสูง มนตร์ชนิดนี้จึงแพร่หลายมากที่สุด มนตร์ที่บรรดานักปราชญ์แต่งกันใหม่ก็มีลักษณะเดียวกัน

 

ตันตริกมนตร์นั้นซับซ้อนที่สุด เพราะมีต้นกำเนิดจากความเชื่อและวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน คือ “ตันตระ” แต่เข้าไปสู่ระบบภาษาสันสกฤต ตันตริกมนตร์นั้นถือเป็นมนตร์ “ลึกลับ” ที่ถ่ายทอดกันเฉพาะครู-ศิษย์

มนตร์ตันตริก มีระบบที่ไม่เหมือนมนตร์ทั้งสองแบบข้างต้น เพราะมีการใช้ “พีชพยางค์” หรือ ตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็น “พืช” (seed) หรือเมล็ดพันธุ์ของจิต และในทางภาษา คือหน่วยเล็กที่สุดของมนตร์ ก่อนจะกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ เช่น “คํ” ของ คำ “คณปติ” หรือ “หุมฺ” “ผฏฺ” ฯลฯ

โดย พีชพยางค์ เหล่านี้จะไม่มีการแปล และไม่มีความหมายตามหลักภาษา

ระบบตันตระถือว่า “พีชมนตร์” เหล่านี้ สร้างความสั่นสะเทือนและมีผลโดยตรงต่อจิตใจ จนอาจทำให้บรรลุ “สิทธิอำนาจ” บางอย่าง เช่น หูทิพย์ตาทิพย์ ไปจนถึงการบรรลุความหลุดพ้น

ในทางกลับกันก็เชื่อว่า หากใช้หรือท่องบ่นผิดวิธีก็อาจทำให้เกิดอันตรายหรือโทษภัยได้ การจะใช้มนตร์ตันตริกจึงต้องได้รับการ “อภิเษก” (empowerment) จากครูเสียก่อนและอยู่ในความดูแลของครู

ถือว่าการท่องบ่นมนตร์ตันตริกเป็นส่วนหนึ่งของ “สาธนา” หรือข้อปฏิบัติธรรม ที่รวมทั้งโยคะ การเพ่งนิมิต การใช้มณฑลหรือยันตร์ และอุปกรณ์พิธีกรรมต่างๆ

ตันตริกมนตร์มีทั้งในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานและมหายาน ในรูปของ “ธารณีมนตร์” และในศาสนาฮินดู เพราะวิถีตันตระ เป็นของชาวบ้านที่มีทั่วไปก่อนพุทธพราหมณ์ทั้งหลาย

ไว้มีโอกาสผมจะจาระไนถึงเรื่องตันตระยาวๆ ในโอกาสหน้า

 

น่าสนใจว่า เมื่อมนตร์เหล่านี้เข้ามาในสังคมไทยแล้วมันมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะการแปลมนตร์ของพุทธ-พราหมณ์ในภาษาไทย หรือประพันธ์ขึ้นใหม่เอง ซึ่งดูเหมือนจะมีน้อยมากๆ (ผมนึกออกแต่ของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่สวดกันในโรงเรียน ของพราหมณ์นึกไม่ออกเลย)

หรือเพราะเรามีทัศนคติเรื่องมนตร์ที่แตกต่างจากอินเดีย