บุคคลแห่งปี 2016 ของ “เคน นครินทร์” คือ “ตูน บอดี้สแลม”

ถ้าจะให้เลือกบุคคลแห่งปี 2016 ที่เป็นคนไทย ผมไม่ลังเลเลยที่จะเลือก “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “พี่ตูน บอดี้สแลม”

ไม่ใช่ว่าบุคคลอื่นๆ ไม่ได้ทำสิ่งที่น่าสนใจ สร้างแรงกระเพื่อม หรือรังสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรอกนะครับ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่พี่ตูนทำนั้นมีหลายมิติเหลือเกินให้เราได้พูดถึง

ปกติแล้วเวลานิตยสาร Time จัดอันดับ “100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก” (The 100 Most Influential People) ก็จะแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่ายว่าแต่ละคนทรงอิทธิพลในด้านไหน ไล่ตั้งแต่

Pioneers ผู้บุกเบิก ริเริ่มสร้างอะไรใหม่ๆ

Titans ยักษ์ใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อม

Artists ศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะ

Leaders ผู้นำทางความคิดหรือการเมือง

Icons ไอดอลที่คนอยากดำเนินรอยตาม

ไม่น่าเชื่อว่าพี่ตูนมีคุณสมบัติหลายอย่างเหล่านี้ในตัวคนเดียว

โดดเด่นในเรื่องบันเทิงหรือ…ก็ใช่

สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหรือ…จะมีใครกล้าเถียง

เป็นไอดอลของเด็กๆ…แน่นอน

ยอดเยี่ยมในเรื่องการช่วยเหลือสังคมหรือ…ก็จริง

สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วประเทศ…ลองดูการวิ่งของเขาดูสิ

โครงการ “ก้าวคนละก้าว” การวิ่งระยะทาง 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ-บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลา 10 วัน วิ่งวันละ 40 กิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับการวิ่งมาราธอนติดต่อกันโดยไม่หยุดพักจำนวน 10 ครั้ง ที่ทำไปเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพานในการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ขาดแคลน

เส้นชัยออกมาแล้วว่าอยู่ที่ตัวเงินประมาณ 70 ล้านบาท

แต่มากกว่านั้นเรายังได้เห็นปรากฏการณ์ของ “ตูน บอดี้สแลม” อีกหลายอย่าง

และผมคิดว่าเราไม่ควรมองข้าม แต่น่าจะนำมันมาขบคิดและต่อยอดร่วมกัน


1.เราได้เห็นว่า อย่าอายที่จะทำดี

แม้ว่าพี่ตูนจะเป็นนักร้องชื่อดังระดับประเทศ แต่หากวัดกันในแง่ของเวทีการช่วยเหลือสังคมหรือมูลนิธิต่างๆ ก็ถือว่าพี่ตูนยังเป็นน้องใหม่

การเริ่มต้นช่วยเหลือสังคมด้วยตัวเอง อาจจะมีให้เห็นบ้างจากการร่วมบริจาค ทำบุญ หรือลงไม้ลงมือเล็กๆ ตามแต่กำลังจะทำได้

การทำสิ่งยิ่งใหญ่ด้วยตัวเราเพียงคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งยุคนี้ที่การทำดี ถูกมองแง่ลบได้ว่าทำไปเพื่อสร้างภาพ

หลายคนอยากทำดี อยากช่วย ก็กลายเป็นถูกมองได้ว่าทำไปเพื่อ “เอาหน้า”

พี่ตูนก็คิดเช่นนั้นเหมือนในตอนแรก

เขาให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า

“ตอนแรกไม่ได้คิดใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะความเป็นคนขี้อาย เป็นคนกลัว กลัวคนบอกว่าเราทำดีเพื่อโปรโมตตัวเอง เอาหน้า กลัวจะโดนคนว่า โดนคนวิจารณ์ อยากทำเล็กๆ วิ่ง 400 กิโลเมตรนี่แหละ ไม่ต้องป่าวประกาศมากมาย ไม่ต้องออกสื่อ ไม่ต้องสัมภาษณ์”

เขาเผยความในใจว่ากลัวมาก

“กลัว…กลัวจริงๆ ที่จะโดนแบบนี้ เพราะเราอยากทำเรื่องนี้ด้วยความสบายใจที่สุด เราไม่ได้อยากมาอยู่ท่ามกลางผู้คน ให้คนตัดสินว่าเราทำเพื่ออะไร หรือมีผลประโยชน์ไหม เพราะถ้าทำแล้วเครียด เราจะไม่ทำ”

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาก้าวพ้นความกลัวคือ “อย่าอายที่จะทำดี”

“ผมคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง เล่าให้เขาฟังว่าผมจะทำแบบนี้ พี่ช่วยบอกต่อหน่อยได้ไหม พี่เขาก็ถามว่า อ้าว แล้วทำไมไม่ทำให้มันจริงจังไปเลยวะ เฮ้ย ทำดีไม่ต้องเขินดิ ทำดีไม่ต้องอาย ทำไปเลย พี่เขาก็บอกว่าถ้าเราทำตรงนี้ ทำเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วคนรู้เยอะๆ ได้เงินเยอะๆ ไปช่วยกันเยอะๆ มันก็ดีไม่ใช่เหรอ เราอุตส่าห์ลงแรงขนาดนี้ มันต้องได้ผลที่คุ้มค่าเหนื่อยสิวะ มันมีอยู่แล้วคนที่จะมองเราแบบนั้น แต่ไม่ต้องกลัว ทำไปเลย ถ้ามันจะได้ผลประโยชน์เยอะที่สุดกับปลายทางที่เราต้องการให้เป็น ผมก็คิดว่า เออ จริงว่ะ เราอุตส่าห์ตั้งใจขนาดนี้แล้ว อะ กลั้นใจ เอาก็เอา ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ไปเลยก็ได้ เพราะอยากให้คนรู้เยอะๆ เพื่อมาช่วยกันเยอะๆ”

ผลลัพธ์ก็ออกมาให้เห็นแล้วว่า ตลอดเส้นทาง พี่ตูนเหมือนเป็น “นักบุญ” ที่แสวงบุญก็ว่าได้ เพราะมีผู้คนออกมาช่วยกันบริจาคและให้เงินกันมากมาย จนคอของพี่ตูนห้อยไปด้วยธนบัตรมากมายราวกับนักร้องเพลงลูกทุ่ง

จริงอยู่ที่มีคนออกมาตั้งคำถามถึงการกระทำนี้ เพื่อนผมในเฟซบุ๊กหลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่าโครงการนี้เปิดช่องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ได้โอกาสมา “เอาหน้า” กันมากมาย

แต่หากเรามีเจตนาที่ดี มีการวางแผนที่ดี และมีหัวจิตหัวใจที่ดีจริงๆ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็ไม่ต้องอาย

ลองฟังสิ่งที่พี่ตูนกลัวที่สุดอีกครั้ง

“สิ่งที่ผมกลัวคืออะไรรู้ไหม กลัวว่าจะไปเดือดร้อนการจราจร คือไม่อยากให้มันเกิดภาพตรงนี้ ที่ผมบอกทุกคนว่าจะวิ่งคนเดียว เพราะว่าผมไม่อยากให้มันไปเดือดร้อนคนอื่น ที่อาศัยถนนในการสัญจร บางคนก็รีบ บางคนก็ป่วย บางคนก็ต้องการเดินทางอย่างสะดวกสบาย นั่นแหละเป็นสิ่งที่ผมกังวล”

ผมนั่งอ่านบทสัมภาษณ์แล้วก็รู้สึกได้ว่า…เรามาถึงยุคที่การทำดีเป็นเรื่องน่าอายได้อย่างไร?


2.เราได้เห็นนิยามใหม่ของคำว่า “เท่”

แต่ก่อน “ความเท่” ของดารา นักร้อง นักแสดง นักธุรกิจ หรือไอดอลต่างๆ ก็เป็นนิยามแบบหนึ่ง

หล่อ รวย มีไลฟ์สไตล์ แต่งตัวดี มีซิกซ์แพ็ก เซ็กซี่ ประสบความสำเร็จ เก่ง ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

แต่เราไม่ค่อยเห็นว่า ความเท่ = การช่วยเหลือสังคม

เราอาจจะเห็นอยู่บ้างว่า ดาราที่เป็นขวัญใจมวลชนมักจะเป็นคนดี น่ารัก นอบน้อม

แต่เราไม่ค่อยเห็นว่า ดาราคนไหนที่ “ช่วยเหลือสังคม” แบบเป็นรูปธรรมนั้นคือคนที่เท่

พี่ตูนทำให้นิยามความเท่ของเราเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

หมดยุคแล้วกับร็อกสตาร์ที่ต้องห่าม กินเหล้า เมายา พูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว เจ้าชู้

แต่ร็อกสตาร์ก็วิ่งเพื่อหาเงินช่วยโรงพยาบาลได้

ผมคิดว่าพี่ตูนจะช่วยจุดประกายความเท่นี่แพร่กระจายออกไปไม่มากก็น้อย

และเด็กที่เห็นว่าเขาเป็นไอดอล เมื่อเติบโตขึ้นมาก็น่าจะมีส่วนในการก่อร่างนิยามความเท่นี้ต่อไป

 

3.เราได้เห็นโมเดลการช่วยเหลือสังคมแบบใหม่

การวิ่งของพี่ตูนเป็นเพียงแค่ “สัญลักษณ์” หรือ “เครื่องมือ” ที่ช่วยกระจายปัญหาให้ไปถึงวงกว้างมากขึ้น ให้สังคมเห็นความสำคัญมากขึ้น

ที่สำคัญคือเมื่อศิลปินในฟากของวัฒนธรรมป๊อปกระโดดลงมาเล่นกับปัญหา ก็ยิ่งทำให้คนทั่วไปสนใจปัญหานี้มากขึ้น

หัวใจจึงไม่ได้อยู่ที่การวิ่ง แต่อยู่ที่การทำให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาให้มากที่สุด

“เราจะใช้การวิ่งนี้สื่อสารปัญหาที่มีอยู่ให้กับคนได้รับรู้ในวงกว้างที่สุด สาระไม่ได้อยู่ที่การวิ่ง 400 กิโลเมตร ไม่ต้องไปถึงเร็วที่สุด ไม่ต้องแข่งกัน แต่สาระคือเราใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือในการบอกกล่าวส่งสารออกไปว่าตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือและขาดแคลน”

เราไม่ค่อยเห็นโมเดลการช่วยเหลือในลักษณะที่ตัวศิลปินใช้ “ตัวเอง” เพียงลำพังคนเดียวในการระดมทุนสักเท่าไหร่

หากคนที่มีฐานเสียงของตัวเอง หรือมีแฟนคลับของตัวเองหันมาทำอะไรแบบนี้มากขึ้น ก็ถือเป็นอีกตัวเลือกในการช่วยเหลือสังคมหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย

ที่สำคัญ นี่คือเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมและมีผลลัพธ์ที่วัดผลได้จริง ตัวเงิน 70 ล้านนั้นบ่งบอกได้เป็นอย่างดี

 

4.เราได้เห็นการส่งต่อแรงบันดาลใจที่ไม่สิ้นสุด

ท้ายที่สุดการวิ่งของพี่ตูนคงจะไม่ได้หยุดลงแค่โรงพยาบาลบางสะพานได้รับเงินบริจาคแล้วก็จบ

แต่ผมคิดว่า “การให้” ในรูปแบบนี้กำลังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นต่างหาก

เราเห็นแล้วว่านักร้องคนหนึ่งไม่อายที่จะทำดี

เราเห็นแล้วว่าหากคนๆ หนึ่งมีความตั้งใจจริงๆ พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน (แต่ไม่เกินกำลังตัวเอง) มีวิธีการให้ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ และใช้ตัวเองในการลงมือทำโดยไม่เดือดร้อนใคร คนทั่วไปก็พร้อมที่จะเข้ามายื่นมือร่วมด้วย

จริงอยู่ที่ปัญหาของบ้านเรายังมีอีกมากมายที่รอการแก้ไข และเป็นความจริงมากทีเดียวที่หลายๆ ปัญหาในสังคมจำเป็นต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง

และจริงมากๆ ที่เราต้องไม่เอาแต่มอบความช่วยเหลือด้วย “เงิน” เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องหา “กลไก” หรือ “ระบบ” ที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

เราต้องการ “ปัญญา” มาแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ผมไม่ได้โลกสวยว่า ทุกคนสามารถเปลี่ยนโลกได้

แต่ก็ใช่ว่าคนธรรมดาคนหนึ่งจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย

โมเดลที่พี่ตูนคิดขึ้น แรงบันดาลใจที่สร้างขึ้น ประกายความหวังที่เขาจุดติดขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ต่อได้อีกมากมาย

ถึงที่สุดแล้วการวิ่งของพี่ตูนไม่ใช่แค่การก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่คือการส่งต่อแรงบันดาลใจที่ไม่สิ้นสุด

นี่คือการวิ่งผลัด

นี่คือการส่งไม้ต่อให้กับพวกเราทุกคน

นี่เป็นเหตุผลที่ผมยกตำแหน่งบุคคลแห่งปี 2016 ให้กับเขา

การให้ที่บริสุทธิ์

การให้ที่ไม่สิ้นสุด

การให้ที่มีความคิดสร้างสรรค์

พี่ตูนเริ่มก้าวแล้ว

พวกเราล่ะ เริ่ม “ก้าว” บ้างหรือยัง